สุจิตต์ วงษ์เทศ : สื่อไทยอ่อนแอ ทางสังคม-วัฒนธรรม

ฐากูร บุนปาน ผู้จัดการใหญ่ของเครือมติชน บอกถึงงานในอาชีพสื่อว่ามีหน้าที่ 2 อย่าง ได้แก่

อย่างแรก ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ถูกก็ต้องทักท้วง ติติง วิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ 2 ในเชิงธุรกิจก็ต้องไปกับตลาดด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ด้านหนึ่งทำธุรกิจก็ไหลไปกับตลาด ขณะเดียวกันตามบทบาทหน้าที่ก็วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะว่าอะไรเป็นเรื่องถูกเรื่องควร แล้วอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร

[มติชน ขึ้นปีที่ 42 ฉบับวันพุธที่ 9 มกราคม 2562 หน้า 8]

ผมเลื่อมใสในนิยามและคำอธิบายของฐากูร บุนปาน จึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในหน้าที่ของอาชีพสื่อ แต่อาจมีขาดตกบกพร่องบ้างช่วงหลังๆ ที่ลดน้อยถอยไปในการทักท้วง ติติง วิพากษ์วิจารณ์ ต่อไปนี้จะทำบ่อยๆ ไม่ถอยไม่ท้อไม่งอมืองอตีน เพราะ เวลาเหลือไม่มาก

Advertisement

อำนาจทั้งสี่

โลกอยู่ใต้ 4 อำนาจใหญ่ตั้งแต่ยุคหิน ต่อเนื่องถึงสมัยปัจจุบัน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจ 2.การเมือง 3.สังคม และ 4.วัฒนธรรม

จำแนกกว้างๆ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มเศรษฐกิจ-การเมือง และ (2) กลุ่มสังคม-วัฒนธรรม

Advertisement

โดยทั่วไปสังคมไทยอนุรักษนิยม แต่ในท่ามกลางสังคมอนุรักษนิยมนั้น สื่อไทยแข็งแรงทางเศรษฐกิจ-การเมือง แต่อ่อนแอทางสังคม-วัฒนธรรม

ทางเศรษฐกิจ-การเมือง สื่อไทยแข็งแรงด้วยการสั่งสมข้อมูลข่าวสารเชิงลึกจากทางการและไม่ทางการ โดยมีถ่วงดุลอำนาจรัฐทั้งอนุรักษนิยมและก้าวหน้า

ทางสังคม-วัฒนธรรม สื่อไทยอ่อนแออย่างยิ่งด้วยการสั่งสมข้อมูลข่าวสารผิวเผินจากทางการด้านเดียวเฉพาะสนองอำนาจรัฐอนุรักษนิยม แต่ปฏิเสธฝ่ายตรงข้าม

ดังนั้นสื่อไทยเลื่อมใสวัฒนธรรมของทางการ แล้วมองข้ามวัฒนธรรมไม่ทางการ

สื่ออนุรักษ์หนักข้อ

ทางการ วัฒนธรรมเป็นความเจริญงอกงามของอดีตที่ตกทอดถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องสืบทอดพิทักษ์รักษามิให้เสื่อมถอยด้อยลงไป ได้แก่ ความเป็นไทยเชื้อชาติไทย, ชุดไทย, นาฏศิลป์ไทย, ดนตรีไทย, มีสัมมาคารวะอาวุโส ผู้ใหญ่ผู้น้อย เป็นต้น

คำนิยามเหล่านี้ทางการใช้ครอบงำและกล่อมเกลาสังคมโดยผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่สมัยแรกๆ แล้วสืบเนื่องต่อมาสมัยหลังๆ จนทุกวันนี้โดยผ่านสื่อทั้งหลาย

บรรดาสื่อซึ่งส่วนมากอนุรักษนิยมจึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์และประเพณีพิธีกรรม แต่ล้ำสมัยทางเทคโนโลยีและชีวิตเสพสุขตามสมัยนิยมอย่างใกล้ชิด

ไม่ทางการ วัฒนธรรมเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยกัน และคนกับธรรมชาติ (รวมถึงเหนือธรรมชาติ) ไม่หยุดนิ่ง แต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

รวมความแล้วหมายถึงวิถีชีวิต กิน ขี้ ปี้ นอน อย่างถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย (หรือตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) ของคนทั้งในเมืองและไม่ในเมือง โดยไม่มีเชื้อชาติไทย เพราะคนไทยเกิดจากการประสมประสานนานาชาติพันธุ์

นิยามวัฒนธรรมของไม่ทางการ เป็นสิ่งสอดคล้องทางสากล แต่สื่อไทยมองข้าม เพราะ ไม่ไทย

จึงพากันเชิดชูประวัติศาสตร์ชาติไทย เพิ่งสร้างคลั่งชาติ เต็มไปด้วยสงครามกับเพื่อนบ้าน, โหยหาประวัติศาสตร์ไทย ชาตินิยม สุโขทัยราชธานีแห่งแรก ทั้งๆ ไม่มีหลักฐานวิชาการ, ฟูมฟาย นิยาย นางนพมาศลอยกระทงสุโขทัย ใครแตะต้องมิได้ ฯลฯ

เหล่านี้มีส่วนฉุดรั้งความก้าวหน้าของสังคมไทยทางเศรษฐกิจ-การเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image