เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ กว่า 40ปี บนถนนหนังสือกับรางวัลนราธิป เสรีภาพของหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพของประชาชน

เป็น “อาจารย์ปั๋ง” ของคนในแวดวงสื่อ ไม่เพียงในชายคา “มติชน”

เป็นผู้ใหญ่ใจดี รุ่มรวยอารมณ์ขัน และทุกครั้งที่มีงานอีเวนต์จะได้พบเห็นอาจารย์ปั๋งในชุดสูทสุภาพ ปรากฏตัวขึ้นในงานในนามของตัวแทนมติชน

ไม่เพียงแต่งานที่เกี่ยวข้องกับองค์กร แต่ยังรวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนพี่น้อง ไปจนถึงลูกๆ หลานๆ ใต้ชายคามติชน ตั้งแต่งานแต่ง งานอุปสมบท ไปจนถึงงานสวดพระอภิธรรม

กว่า 40 ปีบนเส้นทางการทำหนังสือพิมพ์ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ คนส่วนมากจะรู้จักในบทบาทของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน

Advertisement

เป็นคอลัมนิสต์วิพากษ์สังคมการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด รวมทั้งเป็นเจ้าของคอลัมน์ “วางบิล” ในมติชนสุดสัปดาห์ และยังเป็นลุงคอลัมนิสต์ใจดีที่คอยชี้แนะเรื่องราวต่างๆ ตักเตือน บอกเล่าข่าวสารเชิงประชาสัมพันธ์ให้กับ “น้องหนู” ทั้งหลาย ในคอลัมน์ “โลกสองวัย” หน้ามติชน “ประชาชื่น”

ด้วยประสบการณ์ที่โลดแล่นบนสนามข่าวมามาก สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทันทีที่มีการปรับเกณฑ์คัดสรรผู้เข้ารับรางวัลนราธิป จากที่ต้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป เป็น 75 ปีขึ้นไป ชื่อ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ก็ปรากฏขึ้น

“ผมก็เลยพูดเล่นๆ ว่าปีนี้ที่ผมได้รางวัลเพราะอายุถึงเกณฑ์” อาจารย์ปั๋งหัวเราะอย่างอารมณ์ดีระหว่างให้สัมภาษณ์

Advertisement

พูดถึง อ.ปั๋งจะนึกถึงวัดนวลฯก่อน เป็นเด็กวัดนวลนรดิศ และที่นี่ยังได้รู้จักคุณขรรค์ชัย บุนปาน และคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ?

ผมเรียนที่วัดนวลฯ ชั้นเตรียมอุดมปีที่ 1 แผนกวิทยาศาสตร์ เทียบเท่า ม.ปลายปัจจุบัน ผมเรียนอยู่ที่นั่นสอบที่นั่น คุณขรรค์ชัยเรียนวัดราชโอรสซึ่งไม่มี ม.ปลาย ก็ไปสอบเข้าที่นั่น ส่วนคุณสุจิตต์ เขาเคยเขียนเล่าว่าโรงเรียนวัดมกุฏฯไม่มี ม.ปลาย ก็ให้พระไปฝาก ผมกับสุจิตต์เรียนห้องเดียวกัน อยู่ห้อง ข. ส่วนขรรค์ชัยอยู่ห้อง ก.

ผมทำหนังสือตั้งแต่ ม.3-ม.4 จนถึง ม.6 (ม.3 ปัจจุบัน) แต่สองคนนั้นเป็นนักเขียน ขรรค์ชัยเริ่มเขียนกลอนในนิตยสารดาราไทยมาแล้ว ส่วนสุจิตต์นั่นชอบเขียน แต่ตอนนั้นรู้สึกยังไม่มีผลงานอะไร พอไปอยู่ที่นั่นต่างคนต่างเขียน ตอนสอบยังเขียนกลอนเลย (หัวเราะ) เรามันนักทำหนังสือ เขียนบ้างสนุกๆ เฮฮา ตอนนั้นใช้นามปากกา “จ่าบ้าน” เพราะเป็นหลาน “หลวงเมือง” น้าสำราญ ทรัพย์นิรันดร์

นามปากกา “จ่าบ้าน” หลาน “หลวงเมือง” เป็นคำพ้อง?

คำพ้องด้วย และเป็นความจริงด้วย “จ่า” ต้องต่ำกว่า “หลวง” เหมือนจ่าตำรวจ แต่ก็ยังสูงกว่า “พล” (ทหาร) ชอบ ใช้แล้วดูดี เป็นนามปากกาที่ใช้เป็นพักเป็นที แล้วมาทำหนังสือพิมพ์ก็ใช้บ้าง เคยใช้เขียนสนุกๆ สมัยเรียนหนังสือก็ใช้เขียนข่าวสังคม แต่ถ้าเขียนเรื่องอื่นจะคิดหานามปากกาเท่าที่คิดได้ตอนนั้น เคยใช้ “ทองทา” เขียนคอลัมน์เล็กๆ หรือที่เคยใช้เขียนเรื่องสั้นใน “ช่อฟ้า” ก็ “เรืองอุไร” อันนี้ไม่บอกที่มาที่ไป (หัวเราะ) เขียนลงในนิตยสารช่อฟ้านานแล้ว ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการไม่อยากใช้ชื่อจริง

นั่นเป็นการเขียนในหนังสือโรงเรียน เริ่มเขียนครั้งแรกจริงๆ ตอนไหน?

เริ่มเขียนเรียงความ ตอน ม.1 ครูอ่านแล้วเห็นว่าดีให้ไปอ่านที่หน้าชั้นเรียน มันก็เป็นแรงบันดาลใจเหมือนกันให้ชอบเขียนหนังสือ เพราะตอนเขียนเรียงความผมเริ่มอ่านหนังสือ น่าจะ ม.1-2 ตอนนั้นที่บ้านมีหนังสือเยอะ หลวงเมือง-น้าสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ตอนนั้นทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว มีหนังสือมาให้อ่านเยอะ ทั้งหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม

มี “หลวงเมือง” เป็นไอดอล?

ต้องบอกว่าเป็นอย่างนั้น แม้แต่สุจิตต์เองก็บอกว่าหลวงเมืองเป็นที่มาที่ไปของเราสามคน เพราะว่าต่อมาเวลามีงานหนังสือเขาจะให้เราสามคนทำ แล้วทั้งสองคนก็มีหัวในการทำหนังสืออยู่ ตอนหลังที่ทำหนังสือช่อฟ้า น้าสำราญเป็นคนให้เรียกขรรค์ชัยเข้ามาช่วยทำ ซึ่งตอนนั้นออกมาจากวัดนวลฯแล้วนะ ตอนนั้นตกหมดทั้งสามคน (หัวเราะ)

สอบตก?

เรืองชัย-ตก สุจิตต์-ตก ขรรค์ชัย-ตก แล้วเรืองชัยกับขรรค์ชัยก็เรียนซ้ำชั้นต่อที่วัดนวลฯอีก 1 ปี ขรรค์ชัยเรียนได้ครึ่งปีก็ไม่เรียนแล้ว ผมเรียนจนกระทั่งครบปีก็ยังตกอีก สุจิตต์ตกปีแรกไปหาที่เรียนใหม่ที่ผะดุงศิษย์พิทยา แล้วเขาเรียนได้จึงมาเรียนคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผมตกซ้ำชั้นก็พยายามจะไปสอบที่อื่น เพราะเรียนวัดนวลฯไม่ได้แล้ว ไปสอบวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จไม่ได้ แต่ยังคบกันอยู่ ก็ไปสอบที่สวนสุนันทาอีกปีนึง โดยไปจากวัดนวลฯพร้อมเพื่อน 3 คนรวมทั้งขรรค์ชัย ปรากฏว่าได้ที่สวนสุนันทา ดีใจแทบแย่

เริ่มงานที่เป็นเชิงอาชีพจริงๆ ที่ไหน?

ไม่ได้คิดว่าเป็นอาชีพหรือไม่อาชีพ แต่เป็นการทำงาน เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คิดว่าเป็นอาชีพ (หัวเราะ) ชอบทำงาน

ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของการทำงานเริ่มที่วัดนวลฯ แล้วเริ่มเข้มข้นขึ้นมาที่สวนสุนันทา เพราะคุณเสถียร (เสถียร จันทิมาธร) ชักจูงกัน คือมีวิธีคิดเดียวกัน การอ่านหนังสือ การทำหนังสือพิมพ์ พี่เถียรมีจิตใจเรื่องทำหนังสือพิมพ์มานาน

หลังจบจากสวนสุนันทามา ไปเป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี ตอนนั้นเริ่มเขียนเรื่องสั้นแล้ว ได้เรื่อง “ไอ้เณร” มาชุดนึง

อีกเวทีเรื่องสั้นสำคัญเลยคือ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์กับชาวกรุง สยามรัฐนี่ตอนแรกคุณประมูล อุณหธูป ควบคุมเรื่องอยู่และเป็นผู้คัดเลือกเรื่องสั้นที่ดีมาก และทำให้เรื่องของสุจิตต์ได้ลงที่นี่ คือ “ขุนเดช” ตอนนั้นผมอยู่แถวบางขุนเทียน ไปคลุกคลีตีโมงกันอยู่ สุจิตต์ก็เขียนเรื่องนี้ลงในกระดาษฟุลสแก๊ปแล้วยื่นให้ ความจริงเขาหวังว่าจะไปลงในช่อฟ้า ผมเป็นนักอ่าน ชอบอ่านเรื่องสั้นพวกหักมุม อ่านจบแล้วบอกว่าขอแก้นิดนึง ตัดบรรทัดสุดท้ายออก แล้วส่งไปสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ อีกไม่ถึงเดือนเรื่องของเขาได้ขึ้นปก เขียนว่า “เรื่องสั้นที่ต้องขอแนะนำให้อ่านเป็นพิเศษ” แล้วต่อมาสุจิตต์เลยเขียนชุด “ขุนเดช” ไปลงเป็นประจำ

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ใครผ่านตรงนั้นเท่ากับผ่านมหาวิทยาลัยเรื่องสั้น ณรงค์ จันทร์เรือง มนัส จรรยงค์ สุวรรณี สุคนธา ผ่านมาแล้ว รวมทั้งนักเขียนเรื่องเก่าๆ ขรรค์ชัยไม่รู้เคยผ่านมากี่เรื่อง ผมก็เคยผ่านสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ยุคที่?รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นผู้พิจารณาเรื่องสั้น เรื่องสั้นที่เป็นชิ้นเป็นอันเรื่องแรกคือ “นิทานงานศพ” ตอนนั้นพ่อเสียชีวิตก็เลยเขียนเรื่องสั้นส่งไปลง ถือว่าเป็นเรื่องแรกที่ทำให้คนรู้จัก

เขียนเรื่องมามากมาย มีประเภทไหนที่ยังไม่เคยเขียน นิยายรัก?

เรื่องรักก็เขียนได้ เคยเขียนเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นกับผู้ชายคนหนึ่ง” เป็น 4 ตอนลงในนิตยสาร “แมน” ตอนนั้นเคยรวมเป็นแฟ้มแต่มันหาย เรื่องเกี่ยวกับโสเภณีก็เคยเขียน ซึ่งนักเขียนสมัยก่อนที่เป็นผู้ชายนะ ส่วนหนึ่งจะต้องมีเขียนเรื่องเกี่ยวกับโสเภณีเรื่องนึง ผมเคยรวมเก็บไว้ 10 กว่าคน รวมทั้งของขรรค์ชัยด้วย แต่ไม่รู้หายไปไหน คือมันมักจะมีอะไรให้หยิบมาเขียน ส่วนใหญ่จะหยิบจากประสบการณ์มาเขียน และเห็นว่ามันเป็นชีวิตที่น่านำเสนอ

นักหนังสือพิมพ์จำเป็นต้องเรียนมาทางด้านหนังสือพิมพ์โดยตรง?

คำว่านักหนังสือพิมพ์ อาชีพหนังสือพิมพ์มาทีหลัง แต่ในเมืองนอกน่าจะมีมาก่อน พวกเรียนวารสารศาสตร์เรียนเพื่อการทำหนังสือพิมพ์ แต่นักหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่ว่าชาติไหนเกิดจากรักความเป็นธรรม ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม มักจะเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นคนจนหรือคนที่ด้อยกว่าถูกรังแก โดยเฉพาะกับตำรวจหรือข้าราชการ เพราะงานหนังสือพิมพ์เป็นงานที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเพื่อสิทธิเสรีภาพ ตอนหลังจึงบอกว่า “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพของประชาชน”

กับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ มองอย่างไร แตกต่างจากเมื่อก่อน?

ปัจจุบันนี้แทบจะไม่เห็นใครทำตัวเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะบางทีจากนักข่าวแล้วก็พอแล้วไปทำอาชีพอื่น ที่มาประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จริงๆ ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ไปไหนอาศัยตรงนี้ทำมาหากิน หมายความว่าเลี้ยงชีพชอบ คือไม่ไปทุจริต คดโกงใคร มักจะไม่ทำอะไรที่เป็นความผิดโดยเฉพาะกฎหมาย แต่ถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรมก็ต่อสู้


ปัจจุบันมีปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจ การโฆษณา?

นี่แหละที่เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความไขว้เขวเพราะตัวผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง เป็นเรื่องที่ใช้การพาณิชย์มาเป็นประโยชน์ในทางการทำข่าว แม้กระทั่งหลายครั้งหลายหนของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ บรรดาผู้ประกอบธุรกิจมักจะไม่สนับสนุนหนังสือพิมพ์ คือถ้าจะสนับสนุน ต้องสนับสนุนเราด้วย ตอนหลังในแวดวงโฆษณาจึงมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องพยายามอยู่ให้ได้จากการขายหนังสือพิมพ์ แล้วค่อยบอกผู้อ่านรับรู้ว่าเราอยู่ได้เพราะอะไร ส่วนสินค้าบางประเภทที่ยังอยู่ได้ เขายังเห็นว่าเป็นประโยชน์ในเรื่องการนำเสนอข่าว ในการนำเสนอข้อเท็จจริง

หัวใจของนักข่าวยังต้องเป็นเหมือนเดิม?

จริงๆ หัวใจของงานข่าวต้องเป็นเหมือนเดิม แต่วิธีการอาจจะยืดหยุ่นได้เพื่อให้เกิดสมดุลกัน ไม่ถึงกับได้ประโยชน์เสียประโยชน์ ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญ มันขึ้นกับว่าใครได้ประโยชน์อะไร การทำหนังสือพิมพ์ต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

สมัยก่อนมีวิธีการหาข่าวซีฟให้ได้ข่าวเดี่ยวอย่างไร?

ข่าวเดี่ยวมีอยู่ 2-3 ประเภท 1.ตัวนักข่าวไปเห็นเองและคิดว่าข่าวนี้ดี เช่นไปทราบเรื่องจากคนที่เกี่ยวข้อง อย่างยุคที่เราได้รับข่าวเกี่ยวกับเครื่องราชฯ คุณขรรค์ชัยทราบข่าวนั้นและบอกว่าเป็นข่าวเดี่ยว เก็บไว้และเจาะเข้าไปเรื่อยๆ และพบว่าการพิมพ์รายชื่อผู้ที่ได้รับเครื่องราชฯ ปลอมก็มี จับยัดก็มี ข่าวประเภทนี้รู้ประเด็นมาแล้วแตกออกไปเรื่อยๆ 2.คนอื่นเล่าให้ฟัง อาจจะไปอ่านเจอ หรือมาจากการสดับตรับฟังมาก ข่าวเดี่ยวที่เราชำนาญตรงนี้เพราะยุคหนึ่งเราทำงานจากการสัมภาษณ์นักการเมืองไม่ได้ เช่น สมัยออกเข็มทิศธุรกิจ เราก็ไปเอาเอกสารของทางการไปขยายความต่อ

ข่าวเดี่ยวขึ้นกับบุคคลที่เห็นอะไรเป็นข่าว หรือนักข่าวส่วนหนึ่งถ้าอยู่ภาวะปกติไปนั่งห้องอธิบดีบ้าง บางทีมีคนนำแฟ้มมาเสนอแล้ววางแบไว้ เรานั่งตรงข้าม ตาของนักข่าวที่บอกว่า ต้องเป็นตาเหยี่ยว จมูกมด ต้องอ่านหนังสือกลับหัวได้ เห็นว่ามีหัวตราครุฑแสดงว่าสำคัญ ดูว่าเรียนใคร จับใจความนิดๆ หน่อยๆ อาจเอาไปถามเจ้าตัว เขาก็เล่าให้ฟัง นี่คือ จากการชวนสนทนา หรืออาจจะได้จากการต้องรอนาน มันแล้วแต่ความอึด การรอ การถามประเด็น การทำการบ้าน

อย่างเจ๊วิภา (วิภา สุขกิจ) เป็นคนที่ทำข่าวเดี่ยวเก่งมาก เมื่อก่อนรองนายกฯบุญชู (บุญชู โรจนเสถียร) เดินมา จะเข้าไปถาม เอ๊ะ ท่าน เรื่องนี้ตกลงใช่มั้ยคะ พอบอกว่าใช่ ก็เขียนข่าวได้แล้ว เพราะมีเนื้อข่าวเตรียมอยู่แล้ว ฉะนั้น นักข่าวต้องทำการบ้านเยอะ ต้องอ่านเยอะ และหูต้องสดับตรับฟังตลอด

รางวัลนราธิป มีความหมายกับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อย่างไร?

ต้องโยงกลับไปก่อนว่าการที่สมาคมนักเขียนนำเสนอรางวัลนราธิปขึ้นมาเนื่องจากเห็นความสำคัญของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระองค์วรรณ ท่านเป็นทั้งวิชาการ นักจินตนาการ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ ซึ่งท่านทำหนังสือพิมพ์เอง ชื่อ ประชาชาติ ตอนนั้นตรงกับยุคสมัยคือ พ.ศ.2475 ท่านเห็นว่าหนังสือพิมพ์คือความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ท่านยกคำของลินคอร์น ที่ว่า ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และประชาธิปไตยคืออันนี้ และอธิปไตยมีประชาชนเป็นเจ้าของ ทำให้งานหนังสือพิมพ์เกี่ยวข้องกับเสรีภาพ เกี่ยวข้องกับสิทธิ เพราะฉะนั้นจึงตั้งรางวัลนี้มา

รางวัลนี้มีความหมายในแง่ที่ว่าเขายกย่องว่าเราเป็นคนที่ทำงานด้านนี้โดยใช้เป็นวิชาชีพจริงๆ ไม่ได้เอาไปไขว้เขวเป็นอย่างอื่นเทียบเท่ากับที่ท่านเคยทำไว้ มีความภาคภูมิใจว่ายังมีคนมองเห็นผลงานของเรา และเราก็ไม่เคยไปทำงานอย่างอื่น ภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้

เป็นห่วงสถานการณ์การอ่านของบ้านเรา?

เป็นห่วงอย่างมาก หมายถึงการอ่านหนังสือ แต่การอ่านอย่างอื่นๆ การใช้วิจารณญาณในการอ่านเขายังมีอยู่ เพียงแต่อ่านน้อยลง อ่านประโยคสั้นลง และอ่านมากเรื่องก็จริง แต่เรื่องต่างๆ เหล่านั้นเป็นเรื่องสั้นๆ อยากรู้เรื่องอะไรก็ไปเปิดหาในกูเกิล เช่น อยากรู้เรื่องรางวัลนราธิปก็เปิดหาในกูเกิล แต่ไม่สามารถรู้ในรายละเอียดอื่นๆ เช่น ไม่รู้ว่าท่านบัญญัติศัพท์อะไรไว้บ้าง เช่น คำว่า บรรณาธิกร ท่านก็เป็นผู้บัญญัติ

มองอย่างไรกับงานเขียนของคนรุ่นใหม่?

ผมอาจจะอ่านงานของเขาน้อย แต่เขามีจินตนาการที่ผิดแผกแตกต่างไปจากรุ่นผม เพราะเขาได้จินตนาการมาจากทางด้านวิทยาศาสตร์มาก ใช้เหตุผลในการเขียนมากกว่าใช้จินตนาการ เป็นทางศาสตร์มากกว่าศิลป์ แต่คนสมัยก่อนการเขียนจะเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ เช่น การใช้ถ้อยคำที่ไพเราะ คอลัมนิสต์บางคนอาจจะใช้ศัพท์แปลกๆ ถ้าเราตามเขาไม่ทัน เราจะไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร แต่ส่วนใหญ่ถ้าเขียนในลักษณะของความรู้ วิชาการ แม้แต่จินตนาการเอง จะตั้งบนหลักของเหตุและผลมากขึ้น

มีความเห็นอย่างไรกับสื่อหนังสือพิมพ์ปัจจุบันที่ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละเจ้าสองเจ้า?

ผมว่ามันอาจจะไม่เร็วอย่างที่เราคิด วันนี้สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ก็หายไปแล้ว หนังสือพิมพ์เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ได้ เพราะใช้จำนวนการพิมพ์ไม่มาก และยังมีโฆษณามาลง ทำให้พอจะเลี้ยงองค์กรอยู่ได้บ้าง ต่อไปก็อาจจะไม่มีคนที่มาประกอบวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง อาจจะนำเสนอเป็นโซเชียลมีเดีย

จนถึงวันนี้ยังมีคนอยากเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ มีคำแนะนำอย่างไร?

ต้องถามว่าเขาอยากเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่ว่าอยากเป็นก็เป็นได้ พูดคำนี้ก็เกินไปนะ (ยิ้ม) จริงๆ ต้องมีจิตวิญญาณของการเป็นนักข่าว คืออยากรู้อยากเห็นแล้วนำเสนอได้ถูกและครบ อย่าง มีคนมาร้องเรียนว่าตำรวจคนนี้ชอบรีดไถ เราจะสืบรู้ได้อย่างไร หรือถ้าจริงจะทำอย่างไร จะมีวิธีการนำเสนออย่างไรให้ผู้บังคับบัญชารู้ว่าตำรวจคนนี้ไม่ดี หรือต้องไปหาคนที่มากล่าวหาเขาอีกกี่คน มันมีอะไรอีกเยอะแยะที่จะเดินไปถึงตรงนั้นให้ได้ ไม่ใช่อยากเป็นก็เป็นได้

ทุกวันนี้ยังอ่านหนังสือ?

อ่านน้อยประเภทลง เดี๋ยวนี้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีและอินโนเวชั่น ซึ่งสองอย่างนี้เมื่อรวมกันแล้วทำให้ความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์เกิดขึ้นได้ เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทางสังคม และจะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกมากมาย เช่นผมยินดีกับการได้เห็นภาพยานสำรวจอินไซต์ไปลงบนดาวอังคารแล้วฝุ่นฟุ้งไปหมด รู้สึกว่าเราได้เห็นพร้อมกับคนที่นาซา นั่นเป็นความสำเร็จของมนุษย์ที่ต้องการจริงๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องกลับมาเรียนรู้จิตใจของเราด้วย มนุษย์เรามีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก การฝึกสมาธิให้จิตนิ่ง เมื่อจิตนิ่งแล้วจะเกิดปัญญา

นอกจากเขียนหนังสือมีงานอดิเรกอะไร?

นอกจากอ่านหนังสือก็เดินออกกำลังกาย แต่ระยะนี้ลูกสาวสั่งให้หยุดก่อน เพราะอากาศไม่ดี.


รางวัลนราธิป ความภาคภูมิใจของคนหนังสือ

เช้าวันเสาร์ที่ 26 มกราคมนี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กำลังจะมีงานสำคัญของคนแวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ การมอบรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ใน ประจำปี 2561

“รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์” ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2544 ปีที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก่อตั้งครบ 10 ปี ประจวบกับในปีเดียวกันนี้ เป็นปีครบรอบ 110 พรรษาของศาสตราจารย์ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (2435-2519) และครบรอบ 10 ปีที่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดย นายประภัสสร เสวิกุล นายกสมาคม จึงดำริให้มีรางวัลนราธิปขึ้น โดยความเห็นชอบของ ท่านผู้หญิง หม่อมราชวงศ์วิวรรณ เศรษฐบุตร ทายาทของพระองค์ในการเชิญพระนาม “นราธิปพงศ์ประพันธ์” มาเป็นชื่อรางวัล

รางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นรางวัลที่มอบให้นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโสผู้สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และผลงานเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวาง โดยในปี 2561 มีรายชื่อผู้เข้ารับรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ทั้งสิ้น 19 คน รวมทั้ง เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หนึ่งในบุคลากรคุณภาพที่ยืนหยัดอยู่คู่กับบริษัทมติชน มาตั้งแต่ยังเป็นหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ก่อนจะปรับเป็นเข็มทิศธุรกิจ จนมาเป็นหนังสือพิมพ์มติชน

สมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศฯ เปิดแท่นพิมพ์ (ซ้ายสุด-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์)

เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2486 ปัจจุบันอายุ 76 ปี เคยร่วมกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน ทำหนังสือมาตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตการทำหนังสือจริงจังเมื่อตอนที่เข้าไปทำนิตยสารช่อฟ้า ด้วยการดูแลเรื่องการจัดการพิมพ์ การจัดทำต้นฉบับ ตลอดจนลงมือปรู๊ฟเอง ภายหลังหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันแยกตัวออกมาจากบริษัท เดอะ เนชั่น จนกระทั่งหนังสือพิมพ์มติชนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ก็เข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการอย่างเต็มตัว

ปัจจุบันนอกจากตำแหน่งรองประธานกรรมการ บมจ.มติชน ยังคงเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด รวมทั้งคอลัมนิสต์ “วางบิล” ในมติชนสุดสัปดาห์.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image