อาศรมมิวสิก : คิริล เพเทรงโก : วาทยกรคนใหม่ของ BPO ความสำเร็จของคนเชยๆในโลกยุคใหม่ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

คิริล-กับวง-Bavarian-State-Orchestra.

เชื่อว่า ณ วันนี้ผู้รักดนตรีคลาสสิกหลายๆ คนที่ชื่นชอบวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรา (Berlin Philharmonic Orchestra) ที่ใครๆ ก็มักเอ่ยถึงได้อย่างมั่นใจว่าเป็นวงออเคสตราอันดับหนึ่งของโลกนั้น ก็ยังอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อของ “คิริล เพเทรงโก” (Kirill Petrenko) วาทยกรเชื้อสายรัสเซีย-ยิว, หน้าตาเจี๋ยมเจี้ยม, ร่างเล็ก บุคลิกหนุ่มบ้านนอกที่แทบจะไม่มีลักษณะทางกายภาพใดๆ ที่ชวนแก่การสะดุดตาหรือจดจำได้เลย เขาได้รับหน้าที่วาทยกรหลัก (Chief Conductor) ของวงดนตรีวงนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว

เรื่องของวงออเคสตราอันดับหนึ่งของโลกกับวาทยกรหลักคนใหม่ มันเกี่ยวข้องอะไรกับวงการดนตรีบ้านเรา ทำไมจึงต้องนำมาเขียนถึง ผู้เขียนคิดว่านอกจากมันคือเรื่องราวสำคัญของวงการดนตรีระดับโลกแล้ว มันยังสะท้อนและชวนให้เห็นความขัดแย้งในความแตกต่างบางอย่างในกระแสโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างต้องไหลไปตามกระแสให้ทัน อย่าฝืนการเปลี่ยนแปลง อะไรคือคำว่า “ต้องเปลี่ยนแปลง” อะไรคือ “ตามความนิยม” โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสับสนปรับตัวกันจนบางครั้งแทบจะไม่ได้ตั้งสตินี่แหละ ที่เรื่องราวของ คิริล เพเทรงโก กับวงออเคสตราอันดับหนึ่งของโลกได้สะท้อนความคิดอะไรบางอย่างให้กับพวกเราต้องหยุดคิด, ทบทวนกันได้เป็นอย่างดี

ในโลกตะวันตกวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกถือเป็นหนึ่งในองค์กรทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างมากและเป็นที่จับตามองในความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเลือกตั้งวาทยกรหลักคนใหม่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 ในครั้งนั้นถือเป็น “ข่าวใหญ่” ของวงการ ซึ่งสื่อบางแหล่งในยุโรปเปรียบว่าเสมือนการลงคะแนนเสียงลับ เพื่อเลือกพระสันตะปาปาเลยทีเดียว (วงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกเป็นวงที่บริหารงานแบบสหกรณ์ ที่นักดนตรีปกครองกันด้วยตัวเอง) และในทันทีที่มีการประกาศชื่อว่าเขาจะมารับตำแหน่งวาทยกรหลักในปลายปี พ.ศ.2561 แทนที่ เซอร์ไซมอน แรทเทิล (Sir Simon Rattle) นั้น พลันก็เกิดคำถามกับบรรดาสื่อในยุโรปและแฟนๆ ดนตรีคลาสสิกในทำนองที่ว่า “หมอนี่เป็นใครกันนะ?” ไม่เห็นมีใครรู้จักมาก่อนเลย

ในขณะนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จักเขาเลย ทำไมอยู่ๆ บุรุษโนเนมที่ดูจะเป็นม้านอกสายตาจึงกลายมาเป็น “ตาอยู่” คว้าตำแหน่งวาทยกรหลักของวงดนตรีคลาสสิกอันดับหนึ่งของโลกไปครองได้แบบพลิกล็อกช็อกวงการเช่นนี้

Advertisement

มิได้ช็อกเพียงแค่วงการเท่านั้น แต่ช็อกแม้กระทั่งสำหรับตัวเขาเองด้วยที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อนกับตำแหน่งสำคัญเช่นนี้

วิถีชีวิตสู่ความสำเร็จทางดนตรีของเขาเป็นเรื่องที่น่าศึกษาทั้งในแง่มุมของความสำเร็จทางดนตรีและความสำเร็จของคนในโลกยุคใหม่ที่ทุกคนพยายามแก่งแย่งพื้นที่สื่อ (แม้กระทั่งต้องสร้างพื้นที่สื่อของตัวเองขึ้นมา) เพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคมให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับ คิริล เพเทรงโก มิได้เป็นเช่นนั้น (และยังเป็นในแบบที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วอีกด้วย) เขาทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับศิลปะดนตรีเป็นหลัก และศิลปะดนตรีที่ว่านี้ก็คือการเป็นผู้อำนวยเพลงในโรงอุปรากร (Opera House) ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าการเป็นผู้อำนวยเพลงในการแสดงละครอุปรากร (Opera) นั้น คุณจะต้องทำงานอยู่ในหลุม (Orchestra Pit) ที่อยู่ด้านล่างเวที ซึ่งผู้ชมละครอุปรากรจะไม่ได้เห็นหน้าค่าตาอยู่แล้ว

และนั่นคือวิถีชีวิตทางอาชีพดนตรีของเขานับแต่เริ่มแรก และเขาก็ทำงานกำกับอุปรากรให้กับคณะอุปรากรในยุโรปมาโดยตลอด โดยมีการเป็นวาทยกรในซิมโฟนีคอนเสิร์ตเป็นงานรอง ซึ่งใครก็ตามที่ศึกษาถึงความยิ่งใหญ่ของบรรดาวาทยกรระดับโลกในตำนานทั้งหลายในอดีตนั้น

Advertisement
กับวง เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก

วิถีชีวิตทางอาชีพดนตรีของพวกท่านเหล่านั้นมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานกำกับการแสดงอุปรากรเสมอ เพราะการกำกับการแสดงละครอุปรากรเป็นงานกำกับดนตรีที่หนัก, เหนื่อยยากและมีความซับซ้อนมากกว่าการกำกับเพียงแค่วงออเคสตราในซิมโฟนีคอนเสิร์ตธรรมดาๆ และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นงานปิดทองหลังพระเพราะคุณจะต้องทำงานอยู่ใน “หลุม” หน้าเวทีตลอดเวลา โดยที่ไม่มีโอกาส “เสนอหน้า” ให้กับผู้ชมแบบผู้แสดงละครอุปรากรบนเวที (จะได้เห็นหน้าเพียงเล็กน้อยในช่วงมอบดอกไม้หลังการแสดงจบ) และก็งานปิดทองหลังพระนี่แหละที่ได้สร้างวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ให้กับโลกดนตรีเสมอมา (ยิ่งใหญ่ทางดนตรีอย่างแท้จริง) และนี่ก็คือพื้นเพ-ภูมิหลังทางอาชีพดนตรีของ คิริล เพ
เทรงโก จนมีสื่อบางแหล่งชี้ชัดให้เห็นว่า ตำแหน่งที่เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกนี้จะเป็นครั้งแรกในชีวิตทางดนตรีของเขาที่ไม่เกี่ยวพันกับอุปรากรเลยแต่เป็นงานทางด้านซิมโฟนีคอนเสิร์ตล้วนๆ

ซาราห์ วิลลิส (Sarah Willis) นักเป่าเฟรนช์ฮอร์น สุภาพสตรีของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก (ที่เธอทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของวงไปด้วยเสมอๆ) ดูว่าจะอธิบายถึงความสำเร็จของคิริลได้ชัดเจนที่สุดในบทสัมภาษณ์ที่เธอให้ไว้ในสื่อแห่งหนึ่ง

เธอบอกว่า “…คิริลเป็นคนที่ทำอะไรอย่างเงียบๆ ลับๆ ได้เป็นอย่างดี และทุกสิ่งที่เขาทำและเก็บงำเอาไว้นี้มันก็กลับกลายเป็นสิ่งมีค่าดั่งทองคำไปหมด เขาเป็นที่ยกย่องนับถือในวิชาชีพ แต่เขาก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ น้อยมาก เขาจึงไม่ได้เป็นที่น่าสนใจสำหรับสื่อมวลชน

ดังนั้น สำหรับหลายๆ คนนี่จึงดูเป็นตัวเลือกที่ไม่ปกติสำหรับใครก็ตามที่ยังไม่เคยฟังฝีมืออำนวยเพลงของเขามาก่อน แต่ฉันรับรองว่า ต่อจากนี้ไปคุณจะได้ยินเรื่องราวของเขาอีกมากมาย…”

เรื่องที่สะท้อนถึงบุคลิกความขี้อายของเขาได้อย่างน่าเอ็นดูก็คือ คลิปวิดีโอที่ซาราห์ วิลลิส สัมภาษณ์เขาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งเธอเล่าว่าต้องทั้งปลอบโยนและสัญญากับเขามากมาย “…ได้โปรดเถอะมาเอสโตร (Maestro) ฉันสัญญาว่าจะสุภาพและอ่อนโยนกับคุณให้มากๆ เลยนะ…” ท้ายที่สุดเมื่อทนต่อการรบเร้าไม่ไหว เขาก็มีข้อแม้ว่า “…ก็ได้ครับ แต่ถ้าอย่างนั้นคุณต้องยอมให้ ลาร์ส วอกท์ (Lars Vogt = นักเปียโน) มานั่งเป็นเพื่อนกับผมด้วยนะ…” นั่นแหละการสัมภาษณ์จึงเกิดขึ้นได้ (สามารถหาดูได้ในยูทูบ) กลายเป็นการพูดคุยกัน 3 คน โดยตลอดการสัมภาษณ์เราจะเห็น คิริลในมาด “นั่งหน้าเจี๋ยมเจี้ยม” สำรวมภาษากายอย่างน่าเอ็นดู

และเขาก็สารภาพอย่างเปิดเผยว่าเขา “อาย” (และประหม่า) จนแทบไม่กล้าจะพูดอะไรกับบรรดานักดนตรีในตอนแรกที่ได้ยืนอยู่หน้าวงดนตรีอันดับหนึ่งวงนี้

สำหรับผู้เขียนเองแล้วนี่ช่างเป็นคลิปสัมภาษณ์ที่ทั้งน่าขำขัน, น่ารักน่าชังใน “ความบ้านนอก” ความซื่อแบบบ้านๆ ของศิลปินผู้นี้ (ซึ่งขอเรียกว่า “ผู้ยิ่งใหญ่”) มันทั้งน่าขำ, น่ารัก และน่าปลาบปลื้ม, น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใสระคนกันไปในความเป็น “ของจริง” ที่ถ่อมเนื้อเจียมตนของศิลปินเช่นเขา คนที่แม้จะได้รับความสำเร็จยิ่งใหญ่ระดับโลกมาอยู่ในมือเต็มๆ แล้ว ก็ยังคงสามารถรักษาความอ่อนน้อมถ่อมตน, ความจริงใจเป็นธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่เสื่อมคลาย ลาภสักการะใดๆ จึงไม่อาจสั่นคลอนความบริสุทธิ์ในธรรมชาติในตัวเขาได้

ซาราห์ วิลลิส เล่าให้ฟังว่า เธอยังจำได้ดีถึงความรู้สึกในตอนแรกที่ได้เห็นเขาไปยืนอยู่บนแท่นอำนวยเพลงในครั้งแรก ในตอนเริ่มซ้อมวงและก็สามารถสัมผัสได้ว่ามีอะไรบางอย่างเป็นพิเศษเกิดขึ้นแล้ว และเพื่อนๆ ร่วมวง (เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก) ส่วนใหญ่ก็รู้สึกในแบบเดียวกัน สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีวาทยกรคนใหม่เข้ามาอำนวยเพลงก็คือ พวกเราจะพูดคุยกันเองในช่วงพักดื่มกาแฟว่า “…เราจะเชิญเขากลับมาดีไหม?…” แต่กับ คิริล เพเทรงโก แล้วคำถามเกิดในทำนองว่า “…เมื่อไหร่คุณจะกลับมาได้เร็วที่สุด?…”

ซาราห์เรียกประสบการณ์นี้หลายครั้งด้วยคำว่ามันคือ “…รักแรกพบ…” คำบอกเล่าของซาราห์เพิ่มเติมก็คือ “…ฉันคิดว่าเขาได้นำเอาความกระตือรือร้น, พลังอารมณ์อันเข้มข้น (Passion) ทั้งหมดในตัวเขามาสู่วงดนตรีของเรา มันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เขายังได้นำมาซึ่งระเบียบวินัยอีกมากมาย ฉันไม่เคยเห็นเขาเลิกซ้อมวงเร็วกว่ากำหนดแม้เพียงสัก 1 วินาที คุณรู้ไหม? พวกนักดนตรีในวงมีความสุขกันมากแค่ไหนที่จะได้เลิกซ้อมเร็วขึ้นสัก 5 นาที และคิริลก็นำพวกเราไปสู่ระดับ (การซ้อม) ที่เหนือกว่า ฉันคิดว่าความสามารถในการทำเช่นนั้นได้เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับพวกเรา…”

ก่อนการรับตำแหน่งที่เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก คิริล เพเทรงโก ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะอุปรากรแห่งบาวาเรียน (Bavarian State Opera) ซึ่งนอกจากจะเชี่ยวชาญในด้านการกำกับอุปรากรที่เป็นงานหลักแล้ว ในยามที่วงดนตรีของคณะอุปรากรนี้ (The Bavarian State Orchestra) แยกตัวออกมาแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ตต่างหากนั้น กลับกลายเป็นวงออเคสตราที่บรรเลงดนตรีซิมโฟนีคอนเสิร์ตได้อย่างเป็นเลิศ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วในตอนที่ เซอร์ ไซมอน แรทเทิล กำลังจะอำลาวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก เขาได้นำวงไปทัวร์คอนเสิร์ตที่กรุงลอนดอน ณ หอแสดงดนตรี “รอยัลเฟสติวัลฮอลล์” ในบทเพลงเอกคือซิมโฟนีของ “อันโตน บรูคเนอร์” (Anton Bruckner) และห่างกันเพียงสองวัน คิริล เพ
เทรงโก ก็นำเอาวงบาวาเรียนสเตทออเคสตราที่เขาปลุกปั้นมาจนมาตรฐานขึ้นขีดสุดไปแสดงที่หอแสดงดนตรี “บาร์บิคัน” (Barbican Hall) ในอีกมุมหนึ่งของกรุงลอนดอน สื่อในกรุงลอนดอนมองว่านี่เป็น “การประชัน” กันกลายๆ หรือเปล่า แต่แน่นอนที่สุดว่าเป็นการบรรเลงของวงดนตรีที่มาตรฐานถึงขีดสุดด้วยกันทั้งคู่ แต่สำหรับวงบาวาเรียนสเตทนั้น เป็นที่ฮือฮาและกล่าวขวัญถึงอย่างสูง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในการแสดง “กึ่งประชัน” ในครั้งนี้ แต่ในทุกๆ ครั้งที่เขาแยกตัวออกไปทัวร์คอนเสิร์ตภายใต้การอำนวยเพลงของ คิริล เพเทรงโก

ผู้เขียนเองศึกษาติดตามเรื่องราวของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกมายาวนานพอสมควร ณ จุดนี้เริ่มมองเห็นภาพรวมอะไรบางอย่างที่น่าคิด แน่นอนที่สุดวงดนตรีวงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวงอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน (ในวงการดนตรีคลาสสิกวงอันดับหนึ่งของโลกอาจมิได้มีเพียงวงเดียว) วาทยกรประจำของวงได้ชื่อว่าเป็นตำนานแห่งยุคสมัยทั้งสิ้น และวาทยกรประจำวงนี้ก็มีแนวทาง, ความถนัดตลอดจนบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไปต่างๆ นานา

ผู้เขียนมองว่าแนวทางในการคัดเลือกวาทยกรประจำนั้นเขามิได้เพ่งเล็งแค่ ความสามารถเพียงด้านเดียว แต่มักจะคำนึงถึงบริบทในด้านอื่นๆ อยู่เสมอด้วย ในสมัยของ แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน (Herbert von Karajan) วาทยกรผู้เฉิดฉาย ในช่วงหลังสงครามโลกเยอรมันกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม วงดนตรีนี้จึงอาจต้องมีพันธกิจเชิงการเมืองบางอย่างในยุคสมัยนั้น เทคโนโลยีการบันทึกเสียงกำลังพัฒนาและกลายเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่การแสดงดนตรีคลาสสิกให้แพร่หลายไปทั่วโลกทางอ้อม
วาทยกรที่เก่งด้านสื่อ, เทคโนโลยีและการประชาสัมพันธ์ เช่นคารายานดูจะมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่และพัฒนาการของวงที่เหมาะสมแก่กาลสมัยเป็นที่สุด เวลาล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 21 ในวันนี้บริบททางโลกและสังคมเปลี่ยนไป วงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกผ่านสภาพการต่อสู้ ดำรงอยู่ที่จำต้องคำนึงถึงบริบทอื่นๆ มายาวนาน เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมั่นคงแล้ว เหตุผลใหญ่, พันธกิจสำคัญก็คือเพื่อเหตุผลความเป็นเลิศทางดนตรีล้วนๆ การขายบุคลิก, รูปลักษณ์อะไรบางอย่าง หรือความสามารถพิเศษด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดนตรีจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป

คิริล เพเทรงโก บุรุษบุคลิกภาพบ้านๆ ผู้เปรียบเสมือนเจ้าเงาะนี่แหละ (เขาผมหยิกแบบเจ้าเงาะเสียด้วย) ที่นางรจนา เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก เห็นถึงพระสังข์ทองที่ซ่อนรูปอยู่ภายในเลือกเขามาใช้ได้อย่างถูกกาลเทศะ ความเป็นเลิศทางดนตรีก็ต้องเลือกผู้ที่เป็นเลิศทางดนตรีมาใช้ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลอื่น

ผู้เขียนคิดว่าความสำเร็จของเพเทรงโกสะท้อนปรากฏการณ์แห่งโลกยุคใหม่ที่ยังคงย้อนแย้งและแง่มุมที่เราอาจมองข้ามไป โลกยุคใหม่ที่ทุกคนเฝ้าแต่คิดคำนึงถึงแต่คำว่าปรับตัวจนไม่อยู่นิ่ง, เฝ้าแต่พากัน “ปรับตัว” กันจนหาแก่นแท้ในตัวเองกันไม่เจอ สุดท้ายคนที่หาแก่นแท้ของตัวเองไม่เจอนั่นแหละที่จะอยู่ไม่รอด (ไม่ว่าจะยุคสมัยใด) เพเทรงโกผู้มีบุคลิกที่อาจดูเชยๆ หรือล้าสมัยจึงเป็นตัวอย่างของคนที่แน่ชัดในตัวเอง รู้ถึงความสามารถและความถนัดที่แท้จริงของตัวเอง ไม่เสียเวลา, เสียสมาธิไปกับคำว่าปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย (ยุคที่ใช้สื่อโฆษณาในการอำพรางเนื้อหา-คุณค่าที่แท้จริง)

ความมุ่งมั่นแน่วแน่นี้เอง ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในขั้นนี้ได้

บทสรุปจึงอาจมาถึงเพียงประเด็นสั้นๆ ที่ว่าหาคุณค่าในตัวเองให้พบเถิด เราจะมีราคาเป็นที่ต้องการเอง และก็จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและสง่างามในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image