คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ฟังก่อนตัดสินใจ

นั่งฟังแกนนำพรรคการเมืองรวม 10 พรรคตอบคำถามเรื่องเหลื่อมล้ำแล้วรู้สึกคึกคัก

ฤดูกาลเลือกตั้งทำให้เกิดความคึกคักเช่นนี้นี่เอง

เป็นความคึกคักที่เกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายผู้นำเสนอนโยบาย และฝ่ายผู้ฟังที่ต้องไปตัดสินใจกาบัตรในคูหา

ที่หอประชุม มศว เมื่อวันก่อนทาง มศว จัดเวทีใหญ่เชิญแกนนำพรรคการเมือง 10 พรรคไปชุมนุม

Advertisement

ถ่ายทอดไอเดียเกี่ยวกับทางแก้ความเหลื่อมล้ำ

มีทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ

Advertisement

นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย และ นายอนุกูล แพรไพศาล จากพรรคเสรีรวมไทย

แต่ละพรรคการเมืองมีเวลาไม่มากในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทมติชนบอกว่า เป็นการจุดประกาย เพื่อนำไปสานต่อ

แต่ละพรรคที่นำเสนอมีแนวคิดและแนวทางในการแก้ไขเป็นของตัวเอง

พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอ 7 ประเด็นนำไปสู่การแก้ไข

ประกอบด้วย 1.ต้องมีเป้าหมายกระจายรายได้เป็นสิ่งสำคัญ 2.ต้องจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

3.จัดการปัญหาการผูกขาด 4.มีระบบสวัสดิการ 5.บริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข และการศึกษา ต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น

6.พัฒนาระบบภาษี และ 7.บังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม การเมืองไม่มีประโยชน์ทับซ้อน

พรรคเพื่อไทยชูการสร้างรายได้ ผลักดันข้าวตันละ 10,000 บาทขึ้นไป

เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 350 บาทต่อวัน ชวนปลูกป่าพารวย เป็นต้น

และปรับปรุงระบบการศึกษา

พรรคชาติไทยพัฒนา ผลักดัน สสร.การศึกษา ดึงคนอายุน้อยกว่า 60 ปีไปร่างแผนการศึกษาใหม่

สร้างอนาคตให้ตัวเอง

พรรคชาติพัฒนา ชูแนวทางเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยการเพิ่มแหล่งน้ำ พัฒนาดิน สร้างผลผลิตมีประสิทธิภาพ

พรรคอนาคตใหม่ อาสาเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใหญ่ที่จะไปดึงเอาอำนาจและผลประโยชน์จากคนกลุ่มน้อย แต่มีอำนาจมาก แล้วนำมากระจายไปทั่วประเทศ

ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคเสรีรวมไทย ก็ได้นำเสนอแนวคิด

ทุกพรรคมีแนวทางที่จะทำงานตอบโจทย์สังคม

ฟังรวมๆ แล้ว การลดความเหลื่อมล้ำ ต้องลดการผูกขาด พัฒนาการศึกษา กระจายอำนาจ และอื่นๆ

ตอนท้ายมีคำถามเชิงรูปธรรม เรื่องรถเมล์กับรถไฟไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดิน และการเดินทางในเมืองใหญ่

น่าสนใจตรงที่แกนนำแต่ละพรรค มีคำตอบที่เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ

ฟังแล้วสนุก เพราะลีลาการนำเสนอแต่ละคนไม่ธรรมดา

แม้เวลาจะน้อยไปนิด แต่ทุกคนก็สรุปสิ่งที่อยากถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจ มองเห็นภาพ

การได้ฟังแนวคิดแนวทางเช่นนี้ทำให้ซึมซับความคิดของแต่ละพรรค

ก่อนการตัดสินใจเลือกพรรคไหน จึงควรได้ฟังแต่ละพรรคพูดในแต่ละเรื่อง

เปิดหูรับฟังหลายๆ เวที

สำหรับเวทีของมติชน นอกจากที่ มศว เป็นโต้โผจัดแล้ว ยังจะเปิดอีก 1 เวทีในวันที่ 30 มกราคม

คราวนี้จัดที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ

มี สรกล อดุลยานนท์ กับ อดินันท์ เหมือนยัง เป็นพิธีกร

เริ่มการเสวนาตั้งแต่เวลา 09.00 น.ถึงเที่ยงกว่าๆ

หัวข้อการเสวนายังคงเป็นเรื่องเลือกตั้ง แต่ให้ช่วยกันมองข้ามไปหลังเลือกตั้ง

ช่วยกันมองในหัวข้อ ?เลือกตั้ง 2562 จุดเปลี่ยนประเทศไทย?

ครั้งนี้มีแกนนำพรรคการเมืองรวม 8 พรรคมาร่วม ประกอบด้วย

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ

ใครสนใจอย่าลืมลงทะเบียนผ่านทาง ?คิวอาร์โค้ด? แต่เนิ่นๆ

จะเข้ามาส่องคิวอาร์โค้ดทางหน้าเว็บไซต์มติชน www.matichon.co.th หรือจะเปิดหาในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันก็ได้

เพราะหนังสือพิมพ์ตรงโฆษณางานเสวนา ได้ถ่ายรูป ?คิวอาร์โค้ด? เอาไว้ให้แล้ว ใครอยากจองที่นั่งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือส่องคิวอาร์โคด แล้วเข้าสู่ระบบรับสมัครได้เลย

หลายคนคงเคยลงทะเบียนด้วยระบบนี้กันแล้วในหลายงานที่มติชนจัด

ครั้งนี้ลองลงทะเบียนดูอีกสักครา แต่เปลี่ยนบรรยากาศจากความรู้ทางเศรษฐกิจ มาลองฟังความรู้ทางการเมือง

หาข้อมูลจากไอเดียแกนนำพรรคการเมือง เพื่อใช้ในการตัดสินใจ

ตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง

ตัดสินใจเลือกอนาคตตัวเอง ตัดสินใจเลือกอนาคตประเทศ

ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง ทุกคนน่าจะรับฟังไอเดียพรรคการเมืองมากๆ

ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image