‘องเชียงสือ’ กษัตริย์เวียดนาม เต็มใจมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร?!?

องเชียงสือเข้าเฝ้าฯรัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ภาพนี้ถูกแขวนในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อสำรวจพงศาวดารไทยในยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ยุคก่อนสมัยใหม่” จะพบว่าหลายครั้งมีการกล่าวถึงการเข้ามา “พึ่งพระบรมโพธิสมการ” ของกษัตริย์จากราชสำนักข้างเคียง ซึ่งส่วนมากเป็นการเข้ามาพึ่งพิงด้วยเหตุแห่งการณ์ “แพ้สงคราม” หรือการตกเป็น “องค์ประกัน”

ตัวอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้งคือการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมการของ “เหงียนฟุกแอ๋งห์” หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “องเชียงสือ”

“องเชียงสือ” พระนามของกษัตริย์เวียดนาม ทายาทคนเดียวที่เหลืออยู่ของตระกูลเหงียน ประสูติเมื่อปี ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) เป็นบุตรคนที่ 3 ของเหงียนฟุกลวน ที่ต่อมาจะกลับไป “ปราบดาภิเษก” เป็นปฐมจักรพรรดิราชวงศ์เหงียนที่ปกครองพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเวียดนามทั้งหมดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

ตามคำเล่าลือและในความรับรู้ของคนทั่วไป “องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนามลี้ภัยเข้ามาสยามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสยาม นั่นคือ “เรื่องเล่ากระแสหลัก” ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

ส่วนในหลักฐานทางการของไทย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ระบุเกี่ยวกับการเข้ามาสยามของกษัตริย์ต่างแดนพระองค์นี้ว่า องเชียงสือเข้ามาสยามโดยการรับเลี้ยงจากขุนนางสยาม ดังปรากฏในหลักฐานชิ้นนี้ว่า

“…ฝ่ายแผ่นดินเมืองญวน องไกเซินเจ้าเมืองกุยเยินยกกองทับมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือเจ้าเมืองยกพลทหารออกต่อรบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย ภาบุตรภรรยาแลขุนนางสมักพักพวก ลงเรือแล่นหนีมาทางทะเล ขึ้นอาไศรยอยู่บนเกาะกระบือ ในปีขานจัตวาศกนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาชลบุรีพระระยองออกไปตระเวนสลัดถึงเกาะกระบือ ภบองเชียงสือๆ เล่าความให้พระยาชลบุรี พระระยองฟังว่า องเชียงสือเปนบุตรองเทิงกวาง เปนหลานเจ้าเมืองเว้ บ้านเมืองเสียแก่ฆ่าศึกหนีมาจะเข้าไปพึ่งพระบารมี พระยาชลบุรี พระระยองรู้ความแล้ว จึ่งชวนองเชียงสือให้เข้ามากรุง…”

แล้วในมุมมองของเวียดนามเป็นเช่นไร?

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ.2562 สุเจน กรรพฤทธิ์ ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าว ในบทความชื่อว่า “ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป ‘องเชียงสือ’ ในหลักฐานเวียดนาม” ซึ่งเป็นการให้ภาพขององเชียงสืออย่างที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อน

หากย้อนไปเมี่อครั้งก่อนที่องเชียงสือจะเข้ามาสยาม เวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การเมืองภายใน เมื่อขบวนการเต็ยเซินสะสมกำลังและคุกคามตระกูลเหงียนที่เว้ ทำให้ต้องย้ายราชธานีมาอยู่ที่ซาดิ่งห์ บริเวณปากแม่น้ำโขง

สถานการณ์นี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับรัฐใกล้เคียงคือสยาม กัมพูชา และฮาเตียนเปลี่ยนไป จากเดิมที่เวียดนามต้องขับเคี่ยวกับสยามเรื่องการครอบครองกัมพูชาและฮาเตียน กลายเป็นต้องหันมาเป็นมิตรกับสยามเพื่อต่อต้านเต็ยเซิน และรักษาเขตอิทธิพลของตนไว้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เวียดนามกับสยามอยู่ในสถานะ “มิตร” มิใช่ “ศัตรู”

ภาพวาดจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) ที่แพร่หลายในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนาม ผู้เขียนยังไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ภาพนี้ถูกติดไว้ที่พระราชวังเมืองเว้ และอีกหลายสถานที่ซึ่งเป็นที่ระลึกถึงจักรพรรดิซาลองในเวียดนาม


หลักฐานชั้นต้นของเวียดนาม บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักรด่ายนาม (เล่ม 1) เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลจักรพรรดิมิงห์หม่างของราชวงศ์เหงวียน เขียนโดย “ก๊วก สื่อ กว๋าน” หน่วยงานที่มีหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ราชสำนักได้บันทึกเกี่ยวกับการไปแผ่นดินสยามขององเชียงสือ เมื่อ ค.ศ.1784 เอาไว้ ซึ่งแตกต่างไปจากที่หลักฐานของไทยเคยให้ไว้

ทั้งนี้ หลักฐานเวียดนามชิ้นนี้มิได้กล่าวถึงการไปพบกับขุนนางสยาม หรือการยอมตนเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด กลับให้ความสำคัญในประเด็นที่ว่า “ค.ศ.1784 กษัตริย์ (องเชียงสือ) ไปสยาม…กษัตริย์ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป” ดังที่หลักฐานชิ้นนี้ให้คือ

“พอเข้าสู่ปี 1784 ‘(องเชียงสือ) พ่ายศึกที่สมรภูมิเบ๋นแหง (B?n Ngh?/เมืองใกล้อ่าวสยาม) จูวันเตี๊ยบ (Chu V?n Ti?p/แม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งขององเชียงสือ) เดินทางไปขอความช่วยเหลือกษัตริย์สยาม (รัชกาลที่ 1) ทรงเห็นชอบ…รับสั่งให้แม่ทัพท้าดซีดา (Th?t Xi ?a/เป็นชื่อยศของแม่ทัพสยาม) นำทัพเรือไปฮาเตียน ส่งสารแจ้งว่ามาเสริมกำลัง แต่จริงๆ คือจะช่วยกษัตริย์ (องเชียงสือ) ให้ไปสยาม วันเตี๊ยบนำพระราชโองการ (รัชกาลที่ 1) กลับมากับทัพสยาม’ จากนั้นองเชียงสือเดินทางมาที่เมืองลองเซวียน พบแม่ทัพสยามที่พยายามทูลเชิญ”

บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักรด่ายนาม เล่ม 1 ที่เล่าเรื่องราวขององเชียงสือเอาไว้จากมุมมองของราชสำนักเหงียน


นอกจากนี้หลักฐานดังกล่าว นอกจากจะบันทึกการไปแผ่นดินสยามขององเชียงสือไว้แล้ว ยังได้บันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างองเชียงสือกับสยามเมื่อปี ค.ศ.1778 อันเป็นสมัยกรุงธนบุรี รวมถึงศึกกัมพูชา เมื่อปี ค.ศ.1781 อันเป็นที่มาของความสัมพันธ์ลับระหว่างองเชียงสือกับแม่ทัพใหญ่ของสยามในสมัยกรุงธนบุรี

กลางปี ค.ศ.1778 เมื่อองเชียงสือรับตำแหน่งอ๋องเต็มตัว ได้ส่งทูตไปกรุงธนบุรีเปิดการติดต่อกับราชสำนักสยามในฐานะมิตร โดยปีนั้น “องเชียงชุน” พระปิตุลาคนหนึ่งขององเชียงสือหนีเต็ยเซินไปที่กรุงธนบุรีกับหมักเทียนตื๋อ เจ้าเมืองฮาเตียน พร้อมผู้ติดตามอีก 53 คน องเชียงสือทรงห่วงใยพระปิตุลาและต้องการพึ่งกำลังของสยาม ดังนั้นในเดือน 6 จึงรับสั่งให้เซิมและติ๋งห์ไปสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

แผนที่รวมอาณาจักรด่ายนามฉบับเต็ม วาดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แสดงเมืองสำคัญเป็นอักษรเวียดนามโบราณ และมีการระบุหัวเมืองสำคัญของสยามไว้บางส่วน


ต่อมาในปี ค.ศ.1781 เมื่อเกิดศึกกัมพูชา อันเป็นศึกครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าตากสิน เป็นสถานการณ์ที่นำมาสู่การผลัดแผ่นดินจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพฯระหว่างศึกกัมพูชานั้น เกิดการเจรจาในสนามรบระหว่างแม่ทัพสยามและแม่ทัพเวียดนาม ตามที่หลักฐานเวียดนามบันทึกไว้ว่า

แม่ทัพเวียดนามไปยังค่ายทหารสยาม แม่ทัพสยามได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทั้งสองฝ่ายต่างปรึกษาหารือกันและแสดงความจริงใจด้วยการเสพสุราพร้อมกับหักลูกธนูสาบาน

รายละเอียดทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในบทความ “ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป ‘องเชียงสือ’ ในหลักฐานเวียดนาม” ซึ่งสาเหตุว่าทำไมองเชียงสือไม่เต็มพระทัยมาสยาม รวมถึงประเด็นการปรึกษาหารือลับของแม่ทัพเวียดนามกับแม่ทัพสยาม ผู้อ่านสามารถติดตามได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคมนี้

ประเด็นการเข้ามาสยามขององเชียงสือยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน แม้ว่าหลักฐานไทยและเวียดนามจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าหลักฐานใดถูกหลักฐานใดผิด เพราะตราบใดที่ยังมีการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image