สร้างเซฟตี้โซนในบ้าน ปลูกต้นไม้ลด ‘พีเอ็ม 2.5’ ในวันที่ฝุ่นร้ายครองเมือง

เป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง เมื่อฟ้าปิด ลมไม่ไหวติง ทำให้ปริมาณของฝุ่นในยุคที่กำลังก่อร่างสร้างเมือง ทั้งอาคารที่พักอาศัยที่ผุดกันเป็นดอกเห็ดรายวันตามย่านเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่านและกำลังจะผ่าน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ยังไม่นับฝุ่นควันจากไอเสียและโรงงานอุตสาหกรรมอีกมากมายที่ทวีขึ้นอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะฝุ่นขนาดจิ๋วเพียง 2.5 ไมครอน ที่สามารถเล็ดลอดการดักจับของขนจมูกเดินทางทะลุทะลวงเข้าสู่กระแสเลือด

หันมาดูค่ามลภาวะในอากาศของกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร พบว่า ดัชนีมลภาวะ กทม.ไต่อันดับขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จากอันดับ 74 ในปี 2558 มาปี 2561 อยู่ที่อันดับ 71 มาถึงปีนี้เดือนมกราคมทะยานสูงไปถึงอันดับที่ 9

โดยปกติถ้าเป็นฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้น แต่ถ้าเล็กขนาด 10 ไมครอน (พีเอ็ม 10) ลงไป โดยเฉพาะเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) จะลอยไปลอยมาอยู่ในอากาศนาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่เพียงกับระบบทางเดินหายใจ ยังรวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ไปถึงหลอดเลือดสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว

ฉะนั้น กรณีที่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน การสวมหน้ากาก เอ็น 95 เป็นสิ่งจำเป็น หรือถ้ายังหาซื้อไม่ได้ หน้ากากอนามัยชนิดธรรมดาแต่ซ้อน 2 ชั้น หรือชั้นเดียวแต่ซ้อนด้วยทิชชูอีก 2 แผ่น ช่วยได้มาก ส่วนคนที่อยู่ในบ้าน ถ้าบ้านไม่ได้อยู่ริมถนน การปิด-เปิดประตู/หน้าต่าง ต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ช่วงพีคที่พีเอ็ม 2.5 หนาแน่นสุดส่วนมากจะเป็นช่วงเช้าๆ หรือเย็นๆ ฉะนั้น ผู้ที่นิยมเดินหรือวิ่งออกกำลังกายควรงดไปก่อน

Advertisement

ส่วนบ้านที่อยู่ริมถนนในเขตพื้นที่สีแดง จะถือโอกาสนี้ปิดบ้านไปพักร้อนชายทะเล หรือต่างจังหวัดสักพักก็ดี หรือไปอาศัยบ้านญาติก็ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ นอกจากปิดประตูปิดหน้าต่าง ถ้ามีเครื่องฟอกอากาศจะช่วยได้มาก แต่ต้องเป็นเครื่องฟอกอากาศที่มีฟิลเตอร์ดักจับฝุ่นขนาดเล็กจึงจะเป็นประโยชน์ เพราะไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ ถ้าสเปกเครื่องไม่ได้แจ้งว่าสามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วได้ก็ไม่ช่วยอะไร

ที่สำคัญคือ การสวมหน้ากาก เอ็น 95 ตลอดเวลาไม่ใช่สิ่งดี!

Advertisement

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สรุปให้ฟังในงานแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยความร่วมมือกันของ 5 คณะ คือคณะแพทยศาสตร์ อายุรศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ และว่า

ยิ่งถ้าคิดว่าการสวมเอ็น 95 แล้วจะปลอดจากฝุ่นจิ๋ว จึงคาดปิดปากจมูกตลอดเวลารวมถึงเวลานอน หรือสวมวิ่งออกกำลังกายตามปกติ อาจถึงกับเสียชีวิตได้ เพราะการสวมหน้ากากเอ็น 95 ทำให้ต้องหายใจแรงขึ้น ผลคือ ถ้าสวมนานเข้าจะทำให้รู้สึกเหนื่อย ระบบการหายใจต้องทำงานหนักขึ้น

ปลูกต้นไม้ดักฝุ่น
มาตรการระยะยาว แต่ได้ผลเลิศ

ความที่สภาวะอากาศเช่นนี้ที่จะวนกลับมาทุกปีในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม อยู่ที่ว่าจะสามารถกระจายตัวไปได้อย่างรวดเร็วแค่ไหน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยควบคุมคุณภาพอากาศให้เหมาะสม คือการปลูกต้นไม้เพื่อดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลในระยะยาว

มีผลการวิจัยถึงประสิทธิภาพในการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ของต้นไม้ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะไม้พุ่มและไม้ใบกว้าง จากการติดตามตัวเลขในสหรัฐ โดย U.S. Forest Service และสถาบัน Davey พบว่าต้นไม้ในเมืองสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 1 คนต่อปี ซึ่งตัวเลขที่ได้จากมหานครนิวยอร์กสูงถึง 8 คนต่อปี โดยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่ถูกดูดซับโดยต้นไม้อยู่ในช่วง 4.7 เมตริกตันต่อปี ในเมืองซีราคิวส์ จนถึง 64.5 เมตริกตันต่อปี ในเมืองแอตแลนต้า

รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ฟังว่า ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันของเราได้รับผลกระทบจากการพัฒนาค่อนข้างมาก พื้นที่ในเมืองมีการก่อสร้างมีการรุกล้ำเข้ามามากมาย สิ่งที่ลดน้อยไปมากคือพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะช่วยปกป้องความรุนแรงจากสภาวะแวดล้อมที่ผิดแผก โดยเฉพาะฝุ่นที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในรายงานสรุปการทำวิจัยของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า พืชทุกชนิดสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ผิวใบและสิ่งปกคลุม โดยงานวิจัยในหลายๆ ประเทศ พบว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยทั่วไปสามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ได้ประมาณ 100 กรัม เช่น ต้นไม้ใหญ่ในกรุงปักกิ่งสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ประมาณ 300 กรัมต่อปี ต้นไม้ที่โตเต็มที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถ

ดักจับฝุ่นละอองได้ถึง 1.4 กิโลกรัม ซึ่งปริมาณการดักจับฝุ่นจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของฝุ่นละอองด้วย

“ปกติพื้นที่สีเขียว 1.5 ไร่ รองรับ 1,000 คน ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวของเราลดน้อยลงไปมาก ปัจจัยที่จะช่วยปกป้องเราก็ลดน้อยลงไปด้วย เราจึงต้องใช้พืชพรรณต่างๆ เข้ามาช่วย จากการศึกษาเราพบว่า พืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติบรรเทาฝุ่นที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ในระดับหนึ่ง เราอาจจะต้องสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ทั้งในแนวตั้งและแนวดิ่ง อาจจะสร้างในรูปแบบของกรีนรูฟ ใครที่อยู่คอนโดมิเนียม อาจจะต้องใช้พืชกระถางที่เป็นไม้พุ่ม โดยเฉพาะพืชที่มีผิวใบที่มีขน ที่มีความสามารถในการดักจับฝุ่นละออง”

ไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น
เครื่องกรองอากาศสีเขียวใกล้ตัว

ทางด้าน ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย ซึ่งทำวิจัยร่วมการใช้พืชพรรณเพื่อการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ กล่าวเสริมว่าต้นไม้เป็นสิ่งกำบัง ดักจับมลพิษทางอากาศที่ดี ในต่างประเทศเราพบว่ามีการศึกษาทั้งในจีนและยุโรปหลายประเทศ

จากการศึกษาพบว่า พืชแต่ละชนิดสามารถดักจับฝุ่นได้อย่างน้อย 10-90% ขึ้นกับชนิดของพืช ไทยเรามีพรรณพืชมากกว่า 10,000 ชนิด แต่เราหยิบมาใช้น้อยมาก

“ผมอยากให้คนไทยสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นไม้กระถาง ไม้เลื้อย สวนแนวตั้ง ซึ่งนอกจากตะขบฝรั่งที่ช่วยได้จริง เพราะใบมีความเหนียว เนื่องจากขนต่อมที่มีลักษณะเหนียวช่วยดักจับฝุ่นละอองได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ

“สำหรับพืชของไทยมีหลายพันธุ์ เช่น อินทนิล เล็บมือนาง พวงชมพู อัญชัน ฯลฯ นอกจากกันฝุ่นยังเพิ่มออกซิเจนในอากาศ ทำให้ภูมิทัศน์ในบ้านเรือนเราสวยงาม ส่วนไม้ยืนต้น มี โมกมัน ชงโค ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไม้ที่เราคุ้นเคย เวลาเราเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง เราเอาพื้นที่สีเขียวกลับไปคืนได้มั้ย อย่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างได้ดีที่สุด”

สำหรับชนิดของใบพืชที่เหมาะสมในการดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนนั้น นอกจากพืชที่มีใบลักษณะเรียวเล็ก ใบหยาบ มีขนและเหนียวของไม้ยืนต้น เช่น ตะขบฝรั่ง เถากันภัย กันภัยมหิดล เล็บมือนาง พวงประดิษฐ์ เป็นต้น ควรเลือกพืชที่มีลักษณะลำต้นและกิ่งก้านที่พันกันอย่างสลับซับซ้อน เช่น คริสตินา ข่อย ไทรย้อยใบแหลม ไทรเกาหลี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้ช่วยบรรเทาฝุ่นได้จริง แต่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ตราบใดที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการจัดการที่ต้นตอของการเกิดฝุ่นอย่างจริงจัง ปัญหาของฝุ่นครองเมืองจะยังวนเวียนกลับมาทุกปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image