แดดเดียว : ใช้สิทธิ-มีเฮ

เป็นอันชัดเจนแล้วว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.2562

หลังจากเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาหลายครั้ง ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เกิดรัฐประหาร คือ 2557 มาจนนาทีท้ายๆ

จนเรื่องการเลื่อนเลือกตั้งกลายเป็นมุขหรือโจ๊กที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ

พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศใช้แล้ว มีผลมาตั้งแต่ 23 ม.ค. ทำให้ข้อกำหนดต่างๆ ในเรื่องการหาเสียง มีผลบังคับใช้

Advertisement

จากวันที่ 23 ม.ค.เป็นต้นมา การขยับเคลื่อนไหวของ

ผู้สมัครต้องระมัดระวัง ไม่แน่ใจต้องพลิกกฎหมาย ระเบียบดูให้ชัวร์

ถูกร้องเรียน พลาดท่าขึ้นมา แทนที่จะได้ไปสภา อาจจะต้องไปที่อื่นที่มิชอบแทน

Advertisement

ในเทศกาลนี้ ใครมีเวลา น่าจะหยิบ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับล่าสุดมาอ่าน ควบคู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 และระเบียบของ กกต.

มีรายละเอียดยุ่บยั่บน่าสนใจ แล้วจะได้รู้ว่าการเล่นการเมือง ตั้งพรรค หรือจะเป็น ส.ส.ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่่องง่ายๆ

มีขั้นตอนกระจุกกระจิกมากมาย กว่าจะฝ่าด่านมะขามเตี้ย มะขามเทศ เข้าไปนั่งในสภาได้ น่าจะหมดยาแก้ปวดไปหลายขวด

ถ้าอ่านแล้วจำได้ เก็บเอาไว้คุยกับเพื่อนในวงกาแฟ หรือวงสังสรรค์เครื่องดื่มชนิดอื่นๆ รับรองว่าจะกลายเป็นคนมีหน้ามีตา อาจจะได้รับการยกย่องให้เป็น “กูรู” ก็ได้

เมื่อประกาศวันเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ หรือเรียกแบบฝรั่งๆ ว่า “ปาร์ตี้ลิสต์”

วันที่ 4-8 ก.พ.นี้ ผู้สมัครเป็น ส.ส.พรรคต่างๆ จะไปยื่นใบสมัครตามสถานที่กำหนด

หลังจากนั้น พรรคต่างๆ จะยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคละ 150 คน และยื่นชื่อว่าที่นายกฯ 3 คน

แต่การยื่นไม่ใช่ยื่นส่งๆ แล้วหลบไปหาเสียง แต่มีรายละเอียดอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องคุณสมบัติ ทั้งอายุ และประวัติ จะต้องไม่เข้าข่ายต้องห้าม

แลไปข้างหน้า เมื่อผ่านวันที่ 8 ก.พ.ไป การเมืองไทยน่าจะมีสีสันขึ้นอีกมาก

เพราะถึงวันนั้น จะได้รู้กันชัดๆ ว่า ใครลงพรรคไหน แล้วนายกฯในบัญชีรายชื่อของพรรคต่างๆ มีใครบ้าง

อย่าง “นายกฯตู่” ถึงแม้จะพูดกันมาตลอดว่า คงจะ “ไปต่อ” โดยเป็น 1 ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ

แต่ไม่ได้มีใครยืนยันได้ 100% จนกว่าจะมีชื่อของบิ๊กตู่ ในบัญชีชื่อนายกฯเข้าจริงๆ

ดังนั้น ถ้ามีชื่อของบิ๊กตู่ปรากฏอย่างนั้นจริงๆ การต่อสู้ทางการเมืองจะมี “รสชาติ” เพิ่มขึ้นอีกมาก

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นแชมป์ในสนามเลือกตั้งมาก่อน ก็น่าสนใจเช่นเดียวกันว่า จะส่งใครเป็นเบอร์ 1 ในบัญชีนายกฯ

ต้องเข้าใจว่า พรรคนี้เขาสู้กันแรง โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า ใครจะเป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 หรือเบอร์รองของพรรค

แคนดิเดตที่ช่วงชิงกันอยู่ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อีกพรรคที่ประกาศชัดแล้ว คือ ปชป.เจ้าเก่า เที่ยวนี้คงส่ง “เสี่ยมาร์ค-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไปชิงนายกฯเป็นไปตามระเบียบของพรรค

“ตัวเลือก” ในเก้าอี้นายกฯจากพรรคระดับหัวแถว จึงมีไม่กี่คน คือ บิ๊กตู่, เจ๊หน่อย, ชัชชาติ, อภิสิทธิ์

แต่การเมืองจะไปเอาแน่แบบตายตัวคงไม่ได้ ชื่อเหล่านี้อาจจะได้ลุ้นเก้าอี้นายกฯ หรือไม่ได้ลุ้นอะไรเลยก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

เพราะรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล ยังเปิดทางให้ “คนนอก” ที่ไม่ได้มีชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรค เข้ามาเป็นนายกฯได้

นั่นคือภาพกว้างๆ ในอนาคตของการเลือกตั้ง

เฉพาะหน้าตอนนี้ เป็นช่วงเวลาของการหาข้อมูลความรู้ สำหรับการเลือกตั้ง 24 มี.ค.

อย่างแรกๆ คือ บัตรเลือกตั้งรอบนี้ จะมีใบเดียว

ไม่ได้มี 2 ใบ แยกเป็น ส.ส.เขตหนึ่ง บัญชีรายชื่อหนึ่ง เหมือนที่ผ่านๆ มา

สำหรับคนที่ต้องไปใช้สิทธิจะยุ่งยากอยู่บ้าง เพราะเมื่อก่อนเข้าคูหาจะได้บัตร 2 ใบ อาจจะชอบผู้สมัครคนนี้

แต่ชอบพรรคนั้น ลงคะแนนได้ 2 ทางด้วยกัน แต่ครั้งนี้ กติกาเปลี่ยนแปลงไปมาก ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนไหน 1 คะแนน จะไปที่ ส.ส.เขตคนนั้น และอีก 1 คะแนน ไปที่พรรคของผู้สมัครคนนั้น เรียกว่าเป็นระบบ “ออโต” อย่างที่ชอบเรียกกัน

เมื่อกติกามาแบบนี้ การลงคะแนนก็ต้องกาเฉพาะที่เขาให้กา อย่าไปขีดเขียนเพิ่มเติม เดี๋ยวจะเสียของไปเสียเปล่าๆ

เพราะเลือกตั้งรอบนี้ ไม่ใช่ง่ายๆ กว่าจะเกิดขึ้นได้ เสียเวลาไปถึง 5 ปี คนทั้งประเทศ และนานาชาติ ร่วมกันเรียกร้องถึงเกิดขึ้น

เป็นธรรมชาติของ “อำนาจ” ไม่ว่าใครได้ไปแล้ว ย่อมใช้อย่างเพลิดเพลิน ถ้าประชาชนไม่เรียกร้อง เขาก็ตีเนียน นั่งยาวๆ ไป

ดังนั้น เมื่อโอกาสเปิดให้ ก็ต้องไปใช้สิทธิกันอย่างพร้อมหน้า อย่าประมาทว่า มีแค่คะแนนเดียวในมือจะทำอะไรได้

คะแนนเดียว บัตรใบเดียวก็ไม่เกี่ยง เลือกตามที่ใจสั่ง สมองสั่ง รับรองมีเฮแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image