อาศรมมิวสิก : มานูเอล ลีทเกนฮอสท์ มนุษย์ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ความฝันที่กว้างไกล และชีวิตที่งดงาม : โดย สุกรี เจริญสุข

มานูเอล ลีทเกนฮอสท์ (Manuel Lutgenhorst) เกิดที่เมืองมิวนิก เยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2491 เริ่มทำงานสร้างสรรค์ด้วยการออกแบบฉาก ออกแบบเสื้อผ้า และออกแบบแสง ในการทำละครให้เมืองต่างๆ ในเยอรมนี ต่อมาได้รับเชิญไปทำงานเป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้กำกับละครที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2521) ได้ร่วมงานกับศิลปินที่หลากหลาย ระหว่างปี พ.ศ.2523-2527 ได้ทำงานหลายแบบ จากละครไปถึงงานที่เป็นโอเปร่า ทั้งในบรอดเวย์และงานอื่นๆ ในนิวยอร์ก มีผู้ว่าจ้างให้ทำงาน กระทั่งได้รับรางวัลที่สำคัญ (Village Voice Obie Awards) หลังจากนั้น คุณมานูเอลมีความพยายามที่จะทำงานทดลองมากขึ้น การออกสำรวจนำผลงานไปทดลองแสดงในประเทศแถบเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ

ในปี พ.ศ.2527 คุณมานูเอลออกเดินทางนำละครไปสู่ตลาดใหม่ เพื่อค้นหาวัฒนธรรมนานาชาติ เริ่มจากอินเดีย โดยคุณมานูเอลเป็นผู้ผลิตและกำกับละครเรื่อง “รีเควส คอนเสิร์ต” ร่วมกับศิลปิน ซาเวียร์ เคิร์ทซ์ (Xavier Kroetz) โดยใช้ละครเพื่อเปิดสถานะทางสังคมของผู้หญิงในเอเชีย เปิดการแสดงที่เมืองมุมไบ เมืองมาดราส และเมืองกัลกัตตา ระหว่างปี พ.ศ.2529-2531 ได้นำผลงานไปแสดงที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และที่กรุงโซล เกาหลี ซึ่งคุณมานูเอลได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน เกอเธ่ เอเชีย

ปี พ.ศ.2530-2532 คุณมานูเอลได้สร้างผลงานหลายชิ้นกับดาราดังของอินโดนีเซีย โดยเปิดแสดงที่กรุงจาการ์ตา เมืองยอร์กยา และเมืองบาหลี ในปี พ.ศ.2531 ได้รับการทาบทามให้ไปออกแบบพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศเกาหลี และงานพิธีเปิดฟุตบอลโลก พ.ศ.2545 ที่กรุงโซล ขณะเดียวกัน คุณมานูเอลได้สร้างงานละครอีกหลายเรื่องกับคณะละครมิชู (Michoo) ในเกาหลี

ปี พ.ศ.2532 คุณมานูเอลได้สร้างบ้านศิลปินขึ้นที่เมืองโบนา บาหลี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศิลปินทั่วโลกร่วมกัน 40 คน จาก 7 ประเทศ โดยอาศัยพื้นที่ดินบริเวณบ้านของนักเชิดหุ่น มาเด สิจา
(Made Sija) ระหว่างปี พ.ศ.2535-2539 คุณมานูเอลได้จัดตั้งองค์กรชื่อ บีบีบี (Bali, Berlin, and Bangkok) โดยการสนับสนุนของสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน (เกอเธ่) ต่อมาได้ร่วมมือกับคณะละครสองแปด (พ.ศ.2530) ร่วมงานกับ ยุทธนา มุกดาสนิท สร้างละคร “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ได้ทำงานออกแบบฉาก เสื้อผ้าชุดนักแสดง ทั้งในภาพยนตร์ ละคร และการแสดงดนตรี

Advertisement

ปี พ.ศ.2541 คุณมานูเอลได้ค้นพบพื้นที่ของชีวิตใหม่ ที่เชียงใหม่ “พื้นที่อันว่างเปล่า” (Empty Space) โดยได้ร่วมงานกับสถาบันดนตรีในพม่า สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน (เกอเธ่) และศิลปินไทย เป็นต้น

คุณมานูเอล ได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2560 ที่บ้านเกิด เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี หลังจากต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดอยู่ 4 ปี รวมอายุได้ 69 ปี

คุณมานูเอล ลีทเกนฮอสท์ เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ได้ทุกนาที มีมิติของความฝันที่กว้างไกลมีแรงบันดาลใจที่ทรงพลังมาก ทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข มีชีวิตที่ไร้ข้อจำกัด สามารถที่จะใช้ศักยภาพโดยไม่มีขอบเขต สามารถที่จะนำพลังบวกมาพัฒนาใช้กับผู้ร่วมงานกันได้ คุณมานูเอลมีความสามารถที่จะเรียกพลังบวกของคนที่ร่วมงาน เอาออกมาใช้ได้อย่างเหลือเชื่อจริงๆ

Advertisement

เมื่อปี พ.ศ.2534 ผู้เขียนได้นำนักศึกษาปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมดนตรี ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ออกภาคสนาม สำรวจดนตรีที่เกาะบาหลี จึงได้ร่วมงานสำรวจและร่วมแสดงดนตรีกับคุณมานูเอลอย่างใกล้ชิด และมีความผูกพัน รักในน้ำใจกันมาตั้งแต่นั้น

ได้ร่วมมือกันบันทึกเสียงวงดนตรีชาวบ้านที่เกาะบาหลีหลายสิบวง รวมทั้งการบันทึกเสียงกบร้อง เมื่อฝนตกหนักผ่านไป ตกค่ำกบที่อาศัยในทุ่งนาหลายร้อยตัว ต่างส่งเสียงร้องดังสนั่น ผู้เขียนและคุณมานูเอลก็ออกไปบันทึกเสียงกบร้อง ตั้งชื่อไว้ว่า “Frog Symphony” โดยกบเริ่มร้องจากหนึ่งตัว แล้วก็จะมีอีกหลายตัวร้องผสมโรง จากเสียงเบาไปหาเสียงดัง แล้วค่อยๆ เบาลงในที่สุด ใช้เวลาประมาณ 16 นาที (ชาวบ้านได้อธิบายว่า กบมันผสมพันธุ์กัน) ซึ่งเป็นทรัพย์สินและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

คุณมานูเอลได้ทำให้เข้าใจและรู้สึกว่า ประเทศด้อยพัฒนาอย่าง “อาเซียน” นั้น เป็นยาจกที่นั่งอยู่บนถุงทอง คือ มีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ร่ำรวยมาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ คุณมานูเอลมองเห็นว่าไม่มีพื้นที่สำหรับจัดการแสดง ไม่มีผู้อำนวยการที่จะจัดการงานวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีเงินจากท้องถิ่น ไม่มีเงินสำหรับงานสร้างสรรค์ เงินของรัฐนั้นใช้ไปในทางสุรุ่ยสุร่าย ไร้ประโยชน์ และไร้คุณค่า ส่วนศิลปินที่มีฝีมือนั้นก็ขาดการสนับสนุน ขาดความช่วยเหลือ รัฐมองไม่เห็นคุณค่า และไม่มีราคา

ให้ดูตัวอย่างของการจัดงาน (ททท.) ที่สวนลุมพินี (เริ่มงานวันพุธที่ 23 มกราคม 2562) เป็นงานวัดที่ไร้รสนิยม เสียงอึงมี่แสบหู ท่ามกลางมลภาวะที่แสบตา อากาศที่แสบจมูก กินอาหารที่น่ากลัวต่อสุขภาพ ชาวบ้านที่ออกกำลังกายในสวนลุมพินีก็ลำบาก และทำให้จิตใจหดหู่ ซึ่งใช้งบประมาณรัฐ จัดงานระยะสั้น ทำอย่างนี้ทั้งปีทั้งชาติ และดำเนินกิจกรรมทั่วราชอาณาจักร ในขณะที่โลกเขาขายความมืด ขายความเงียบ ขายความสงบ และขายธรรมชาติ แต่ (ททท.) รัฐไทยก็ขายสิ่งที่ล้าหลังไปเสียสิ้น

จากมิติของคุณมานูเอล ทำให้ผู้เขียนตั้งปณิธานว่า จะสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมขึ้นให้จงได้ จะหาทุนเพื่อการสนับสนุนศิลปินให้มีโอกาสในการสร้างผลงาน แล้วจะสร้างศิลปินรุ่นใหม่ให้มีความสามารถสูง ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินนานาชาติได้ นอกจากจะพัฒนาเรื่องฝีมือและความสามารถแล้ว จะต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษาและเทคโนโลยีในเวลาเดียวกันด้วย

ได้เริ่มต้นสำรวจหอแสดงดนตรี พื้นที่ทางวัฒนธรรมในประเทศไทยทั้งหมด พบว่า มีพื้นที่อยู่จำนวนมาก แต่ขาดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ขาดคุณภาพ และมีศักยภาพต่ำ พื้นที่ส่วนใหญ่มีการออกแบบที่เชย ใช้เทคโนโลยีที่ล้าหลัง ไม่มีความพร้อมในการจัดแสดงใดๆ เป็นได้แค่ “เศรษฐีบ้านเช่า” ให้เอกชนมาเช่าพื้นที่จัดงาน ในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะสร้างพื้นที่การแสดงขึ้นมาใหม่ โดยมุ่งสร้างให้มีพื้นที่ระบบเสียงที่ดี มีความสวยงาม มีองค์ประกอบในระดับนานาชาติเกิดขึ้น

ตั้งใจว่า เมื่อได้สร้างพื้นที่เสร็จ ก็จะเชิญคุณมานูเอลมาทำโอเปร่าสักเรื่องหนึ่ง ในปี พ.ศ.2549 คุณมานูเอลได้เสนองานใหม่ ที่เป็นโอเปร่า เรื่อง “ฟอลคอน” (Phaulkon) คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์

เมื่อได้อ่านเรื่องแล้วก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่องของราชสำนัก เรื่องสงครามแย่งชิงระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร ใช้เวลา และต้องใช้นักแสดงที่มีฝีมือสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องจ้างคนเขียนเพลงโอเปร่าทั้งเรื่อง ใช้วงซิมโฟนีออร์เคสตร้าบรรเลง ต้องใช้นักร้องที่มีความสามารถสูง ต้องเป็นโอเปร่าที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะจะต้องขายให้กับสากล เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว จึงตัดสินใจว่าต้องชะลอโครงการเอาไว้ก่อน ต่อเมื่อพร้อมแล้ว ก็จะทำเรื่องฟอลคอนนี้ให้สำเร็จ

ในปี พ.ศ.2556 ทราบข่าวว่าคุณมานูเอลไม่สบายและย้ายไปรักษาตัวที่บ้านเกิด ก็ได้แต่ภาวนาว่า ขอให้ได้ทำงานร่วมกันอีกสักครั้งหนึ่ง (ก่อนตาย) เพราะหลงรักน้ำใจและความตั้งใจของคุณมานูเอล ปลายปี พ.ศ.2560 ผู้เขียนก็หมดภาระ หมดบทบาท และหมดหน้าที่ลง จากฐานะของคนที่เคยมีความพร้อมในการสร้างงาน มีศักยภาพในการจัดการ จนกลายเป็นคนที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ทำอะไรอีกต่อไป ตัดสินใจทิ้งทุกเรื่อง ทิ้งทุกรายการ และทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยวางแผนไว้

รวมทั้งโอเปร่าเรื่องฟอลคอน ของคุณมานูเอลด้วย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ก็ได้รับการติดต่อจากภรรยาของคุณมานูเอล แจ้งว่า คุณมานูเอลได้เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากติดต่อกันไม่ได้ จึงไม่ได้แจ้งให้ทราบ คราวนี้จะมีการจัดงานรำลึกถึงคุณมานูเอล ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ 2562 มีมิตรรักเพื่อนเก่าจัดนิทรรศการแสดงผลงานของคุณมานูเอล เพื่อเปิดให้คนรักศิลปวัฒนธรรมได้ศึกษา รำลึกถึงคุณงามความดีของคุณมานูเอล

ผู้เขียนก็รู้สึกค้างคาใจมาก ที่ไม่สามารถจะใช้พื้นที่เพื่อการแสดงที่ดีๆ ได้ ไม่สามารถใช้ศักยภาพความเป็นเลิศของคนไทยให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคม ศิลปะดนตรีไม่สามารถส่องแสงสว่างให้แก่สังคมได้ จากเดิมนั้น เป็นความไม่มีอะไรเลย เมื่อสร้างพื้นที่ให้มีขึ้นแล้ว ก็ยังหวนกลับไปสู่ความไม่มีอะไรอีกด้วย กล่าวคือ สังคมไทยมีผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ศิลปินไทยขาดพื้นที่แสดง ทำให้ศิลปินขาดโอกาสในการพัฒนา ไม่มีผู้ชมหรือผู้สนใจ ไม่มีผู้สนับสนุน ไม่มีงบประมาณที่จะสร้างผลงาน

เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศปัจจุบัน ถูกนำไปใช้กับงานพิธีกรรม งานแสดงเพื่อประกอบการใช้อำนาจจนหมด ทั้งงบของราชการและงบของเอกชน งานที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์สำหรับสติปัญญาและเพื่ออนาคต กลับไม่มีหรือมีน้อยเต็มที สังคมไทยจึงมีแต่ช่าง “ช่างเถอะ ช่างมัน” ไม่มีศิลปินที่สร้างสรรค์

การจัดงานเพื่อรำลึกถึงคุณมานูเอลครั้งนี้ เสมือนการไว้อาลัยให้แก่โลกอนาคต การไว้อาลัยให้แก่พลังบวก การไว้อาลัยให้แก่โลกของจินตนาการ โลกของความคิดสร้างสรรค์และพลังของแรงบันดาลใจ อีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ที่จะมีคนกล้าและคนบ้า อย่างคุณมานูเอล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image