ภูพระบาท ภูพาน บ้านผือ อุดรธานี แอ่งอารยธรรมสยาม ไทย-ลาว สองฝั่งโขง

หินตั้งดั้งเดิมในศาสนาผี ถูกแปลงเป็นเสมาหินในศาสนาพุทธ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี เป็นที่ราบสูงเชิงเขาภูพาน (ปลายด้านตะวันตก) มีภูเขาเตี้ยๆ กระจัดกระจายทั่วไป จึงมีหลักแหล่งของคนอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ยุคเดียวกับบ้านเชียง) ต่อเนื่องถึง จ. หนองบัวลำภู และ จ. หนองคาย

[ผือ เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง ภาคกลางเรียก ปรือ เป็นไม้เกิดในที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ต้นสามเหลี่ยม นิยมใช้ทำสาด (ทอเสื่อ) เรียกสาดผือ]

ทิวเขาภูพานเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เช่น สมุนไพร, น้ำ ฯลฯ เป็นต้นน้ำโมง ไหลขึ้นทางเหนือ ผ่าน อ. ท่าบ่อ จ. หนองคาย ลงแม่น้ำโขง

อ. บ้านผือ เป็นแอ่งอารยธรรมสำคัญของชาวสยามดึกดำบรรพ์ เช่น ภูพระบาท (ที่ไทยกำลังส่งข้อมูลขอเป็นมรดกโลก แต่ยังไม่ผ่านการรับรอง)

Advertisement

ภูพระบาท

ภูพระบาทเป็นชื่อภูเขาเตี้ยๆ ในเขต อ. บ้านผือ มีรอยพระพุทธบาท 2 แห่ง คือ พระบาทบัวบาน กับ พระบาทบัวบก

มีผู้คนตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยโดยรอบบริเวณภูพระบาท ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีหลักฐานโบราณคดีสำคัญคือ หินตั้ง เป็นแท่งหินปักบอกเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี

ราวหลัง พ.ศ. 1000 พุทธศาสนาแพร่หลายมาถึงบริเวณนี้ หินตั้งก็ถูกปรับเปลี่ยนจากศาสนาผี ให้เป็นเสมาหินในศาสนาพุทธ

Advertisement

เขตภูพระบาท (อ. บ้านผือ จ. อุดรฯ) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐเวียงจัน ซึ่งเดินทางติดต่อโดยลำน้ำโมง

[เวียงจันเป็นรัฐเก่าแก่ยุคทวารวดี ร่วมสมัยกับรัฐหลั่งยะสิว (นครปฐมโบราณ) เป็นศูนย์กลางของขบวนแห่ชาวสยาม (เสียมกุก) ที่ปราสาทนครวัด]

บริเวณเชิงเขาโดยรอบภูพระบาท เคยเป็นหลักแหล่งของเชื้อวงศ์ล้านช้างเวียงจัน มีนิทานตำนานเรื่องเจ้าปางคำกับพระครูโพนสะเม็กยอดแก้ว (ยาคูขี้หอม)

ปัจจุบันบริเวณรอบเชิงภูพระบาท เป็นชุมชนชาวพวน (จากเชียงขวาง) ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่ยุคปลายอยุธยา ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภูพระบาท เป็นชื่อใหม่ที่ทางการใช้เรียกรวมๆจากเดิมมี 2 ชื่อต่อเนื่องกัน คือ ภูพระบาทบัวบาน กับ ภูพระบาทบัวบก

เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว ของกลุ่มชนดั้งเดิมทั้งสองฝั่งโขง มีหินตั้งปักอยู่ทั่วไป

ครั้นรับศาสนาพุทธ ราวหลัง พ.ศ. 1000 ก็ปรับเปลี่ยนหินตั้งเป็นเสมาหิน ยกย่องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐเวียงจัน ที่มีอำนาจเหนือดินแดนแถบนั้น

ราว 50 ปีมาแล้ว เป็นที่รู้ทั่วกันว่าพระสงฆ์จากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลมักธุดงค์ไปนั่งวิปัสสนาบนภูพระบาท แสดงให้เห็นความสำคัญร่วมกันของคนลุ่มน้ำโขงโดยไม่จำกัดชาติพันธุ์

“ภูพระบาท” แห้วขึ้น “มรดกโลก”

[มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 หน้า 7]

สถานที่ในนิทานท้องถิ่นสมมุติขึ้นจากเรื่องอุสา-บารส แล้วทำโดยดัดแปลงแท่งหินธรรมชาติที่ถูกกัดกร่อนจากลมและฝน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
สถานที่ในนิทานท้องถิ่นสมมุติขึ้นจากเรื่องอุสา-บารส แล้วทำโดยดัดแปลงแท่งหินธรรมชาติที่ถูกกัดกร่อนจากลมและฝน บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ช่วงกลางปี 2559 คณะกรรมการมรดกโลกจะประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 40 ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี พร้อมประกาศรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

สำหรับไทยที่ผ่านมาได้เสนอรายชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ. อุดรธานี เข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

ทั้งนี้ สำหรับการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกประเมินเอกสาร และส่งเอกสารไปให้สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของยูเนสโก และตรวจสอบเอกสาร แต่เนื่องจากเอกสารยังไม่สมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสารตามที่ ICOMOS ได้ขอให้จัดทำเอกสารเพิ่มเติม 8 รายการ

อาทิ อธิบายคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของภูพระบาทเพิ่ม การกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อภูพระบาท การนำตำนานพื้นบ้านมาประกอบยังไม่โดดเด่นพอ และเสมาหินมีความแตกต่างจากแหล่งอื่นๆ อย่างไร เป็นต้น

ซึ่งแม้ปีนี้จะส่งไม่ทันการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 40 แต่กรมศิลปากรจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อส่งให้ทันในปีถัดไป

แอ่งอารยธรรมไทย-ลาว สองฝั่งโขง ที่ภูพระบาท ภูเขาลูกเตี้ยๆ ในทิวเขาภูพาน อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี (ห่างจากสุสานเผานั่งยางราว 35 กิโลเมตร) (ภาพจากหนังสือ Phu Phrabat Spirit of the Sacred Mountain ของกรมศิลปากร)
แอ่งอารยธรรมไทย-ลาว สองฝั่งโขง ที่ภูพระบาท ภูเขาลูกเตี้ยๆ ในทิวเขาภูพาน อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี (ห่างจากสุสานเผานั่งยางราว 35 กิโลเมตร) (ภาพจากหนังสือ Phu Phrabat Spirit of the Sacred Mountain ของกรมศิลปากร)

รัฐราชการด้อยประสิทธิภาพ

ภูพระบาท (อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี) ปีนี้ยังไม่ได้มรดกโลก แล้วไม่รู้จะได้ปีไหน?

เพราะนักวิชาการกรมศิลปากร ทำไม่ทันเรื่องเอกสารเพิ่มเติม ส่งคณะกรรมการมรดกโลก ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 40 กลางปีนี้ที่นครอิสตันบูล ตุรกี (มติชน ฉบับวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2559 หน้า 7)

กรมศิลปากรใช้เวลาไปแล้ว 10 ปี ทำเอกสารอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมา และคุณค่าของภูพระบาท โดยมีคณะนักวิชาการหลายคณะเปลี่ยนมาเปลี่ยนไป ทั้งนักวิชาการในกรมเอง กับจ้างพิเศษจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ ใช้งบฯ เท่าไรไม่ปรากฏ?

ปีสุดท้ายหมดเวลา 10 ปีที่กำหนด ก็รวบรัดจัดส่งแบบเอาหน้ารอดให้คณะกรรมการมรดกโลก

ผลคือ ไม่ผ่าน ต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีก แสดงว่าที่ทำส่งไปใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้ไม่หมด

ภูพระบาทไม่ผ่านมรดกโลก มีเหตุจากประสิทธิภาพทั้งวิชาการและบริหารจัดการ ของราชการที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนปลาย

ซึ่งมิได้มีแห่งเดียวในไทย แต่มีที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง หรือจะว่าไปก็ทั้งระบบราชการ อันเป็นที่รู้กันว่าไม่ทันสมัยจนได้ใบเหลืองใบแดงจากยุโรปและอเมริกา มีรายการอยู่ใน กราฟิกมติชนรายวัน (ฉบับวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2559 หน้า 1) ดังนี้

1. ใบเหลือง EU มาจากประมงผิดกฎหมาย, ขาดรายงาน, ไร้ควบคุม

2. ใบแดง ICAO มาจากปัญหาการบิน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

3. เทียร์ 3 มาจากสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิป รีพอร์ต)

4. บัญชี PWL มาจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้แทนการค้าสหรัฐที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image