บ้านปลายเนิน มรดก ‘กรมพระยานริศฯ’ ในวิกฤต ‘โลกไม่เหมือนเดิม’

ท่ามกลางการจราจรขวักไขว่บนถนนพระรามที่ 4 กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งแผ่นดินนี้ยังถูกเรียกว่า “สยาม” สถาปัตยกรรมงดงามถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ว่างเปล่าย่านคลองเตยเพื่อเป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผู้ได้รับสมัญญานาม “นายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์” และ “สมเด็จครู” ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาทางศิลปะแก่ชนรุ่นหลังโดยเรียนรู้ผ่านผลงานมหาศาลที่ตกทอดเป็นสมบัติของชาติ

“พระตำหนักปลายเนิน” หรือ “วังคลองเตย” คือ ที่ประทับสุดท้ายแม้ในวันสิ้นพระชมน์ ประกอบขึ้นด้วยอาคารหลายหลังซึ่งล้วนเป็นขุมคลังของวิชาความรู้ เป็นโบราณสถานอัตโนมัติโดยไม่ต้องประกาศขึ้นทะเบียนใดๆ

ผลงานทรงคุณค่ามากมายถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

Advertisement

ปัจจุบัน “บ้านปลายเนิน” เป็นที่พักอาศัยของทายาทราชสกุล “จิตรพงศ์” อีกทั้งสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัติวงศ์ ซึ่งสนับสนุนนักเรียน นักศึกษาด้านศิลปะแขนงต่างๆ ทั่วประเทศมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

มีบทบาทและความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยปี สะสมและสั่งสมประวัติศาสตร์ที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวินาที พร้อมๆ กับโลกที่หมุนเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ที่ในวันนี้อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อเกิดโครงการสร้างคอนโดมbเนียมสูง 36 ชั้น ห่างอาคารอนุรักษ์เพียง 17.50 เมตร

หลักหมื่นในโลกออนไลน์ร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org คัดค้านการสร้างตึกสูงประชิดรั้วบ้านที่เคยเป็นวังเก่าแก่

Advertisement

การเจรจาร่วม 3 ฝ่ายระหว่างทายาท, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการ ไม่เป็นผล

ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ พระนัดดา เข้ายื่นหนังสือต่อ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภ กทม.เรียกร้องสั่งยุติแผนการก่อสร้างเพราะห่วงผลกระทบทั้งจากแรงสั่นสะเทือน รวมถึงการถมที่ดินโดยรอบ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่รอบข้างกลายเป็นที่ต่ำ เสี่ยงน้ำท่วมในภายหลัง ยังไม่รวมมลพิษทางเสียง ฝุ่น ควัน

ต่อมา หม่อมราชวงศ์กัลยา ติงศภัทิย์ ทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ เปิดเผยว่า ทราบมติของคณะกรรมการ คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ว่า “อีไอเอ” (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ผ่านแล้ว โดยเปิดใจยอมรับว่า “กังวลมาก” อย่างไรก็ตาม จะเดินหน้ารวบรวมข้อมูลจากคำแนะนำของหลากหลายฝ่ายเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

ต่อไปนี้คือ ส่วนหนึ่งของเรื่องราวอันเป็นภาพซ้อนทับของอดีตอันงดงาม ปัจจุบันซึ่งยังอยู่สถานการณ์ชวนหวั่นไหวและอนาคตที่ยังไม่แน่นอน

‘สมเด็จครู’ศิลปินไม่ติดกรอบ

กรมพระยานริศฯ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2406 ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ทรงเป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์

นอกเหนือจากผลงานการรับราชการเป็นเสนาบดีสนองพระเดชพระคุณในหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงโยธาธิการ, พระคลัง, กลาโหม และกระทรวงวัง ยังทรงสร้างผลงานสำคัญในด้านศิลปกรรม งานช่าง ประณีตศิลป์งดงามเลื่องลือ อีกทั้ง นาฏศิลป์และวรรณกรรมมากมายจนไม่อาจกล่าวได้หมดสิ้น อาทิ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, พระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ประพันธ์เพลงเขมรไทรโยค, เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี, พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, องค์แม่พระธรณีบีบมวยผมเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา, พระปฐมบรมราชานุสรณ์ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า, ภาพพระอาทิตย์ชักรถในพระที่นั่งบรมพิมาน, พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งกลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน, ประพันธ์โคลงประกอบภาพพระราชพงศาวดาร ลายพระหัตถ์โต้ตอบบุคคลต่างๆ ต่อมามีการตีพิมพ์ในชื่อ “สาส์นสมเด็จ” คลังความรู้มหาศาลที่คนไทยต้องอ่าน

ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2506 อันเป็นปีที่ 100 ของการประสูติ โดยหนึ่งในแบบอย่างสำคัญคือการไม่ยึดติดกรอบโบราณ สร้างสรรค์ และผสมผสานจนเกิดแนวทางใหม่ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าทรงเป็นศิลปินมิกซ์มีเดียคนแรกของไทย

ตำหนักไทยและความวิเศษของสิ่งเล็กๆ

ตำหนักแรกของวังปลายเนิน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับหลังทรงย้ายจากวังท่าพระ ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจากประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จึงหาซื้อที่นาริมคลองแปลงหนึ่งที่ตำบลคลองเตยซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ สร้างตำหนักจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2457

ต่อมา มีการซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ.2507 เปลี่ยนด้านล่างให้แข็งแรงเพื่อรองรับของล้ำค่าจากวังท่าพระ นอกจากนี้ ยังแต่งสวนให้สวยงาม มีทางระบายน้ำธรรมชาติ บ่อน้ำ เนินเขา เพื่อเป็นฉากละคร

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการบูรณะอีกครั้ง นำทีมโดย ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และ ผศ. ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี โดยทำงานร่วมกับรุกขกร นักออกแบบระบบไฟฟ้า แสงสว่าง ภูมิสถาปนิก และวิศวกรงานระบบระบายน้ำ ด้วยความตั้งใจให้แล้วเสร็จพร้อมจัดงานวันนริศประจำปี 2562 ในวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ โดยผู้รับรางวัลนริศและคณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนิน มีการแสดงต่อสาธารณชน และในวันรุ่งขึ้นคือ 29 เมษายนของทุกปี มีการเปิดให้เข้าชม ได้รับความสนใจล้นหลาม โดยใน พ.ศ.2560 มีผู้เยี่ยมชมถึง 2,000 คน

ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ เล่าลงลึกถึงรายละเอียดกระทั่งส่วนของบันได ซึ่งกรมพระยานริศฯทรงออกแบบเอง โดยในการบูรณะครั้งนี้ตกลงกันว่าจะไม่เปลี่ยนไม้เดิมออก ในอนาคตจะให้ผู้มาเยี่ยมชมขึ้นบันไดด้านหลังแทน

“สิ่งที่ตื่นเต้นมากคือนาทีที่ลอกสีออก พบว่าเนื้อในเป็นไม้สักทอง อีกความวิเศษคือที่มุมเรือนไทยเจอชันนะโรง เป็นแมลงที่ป้องกันไม่ให้ปลวกขึ้นบ้าน ช่วยผสมเกสรในสวน แต่ละรังผสมชนิดต้นไม้ไม่เหมือนกัน ชันนะโรงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกคือสวน”

ชีวิตช่วงสุดท้าย เสียงร่ำไห้ กับเศษเล็บในขวด

กรมพระยานริศฯทรงใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายโดยประทับอยู่บนห้องบรรทมชั้น 2 ของ “ตำหนักตึก” กระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษาได้ 83 ปี

ตำหนักดังกล่าว เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2474 เป็นอาคาร 2 ชั้น มีแผนผังเป็นรูปตัวแอล ชั้นบนทางทิศเหนือเป็นห้องบรรทม ส่วนอื่นๆ ใช้เป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ และหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาครั้งยังทรงพระชนม์

วัตถุต่างๆ ภายในตำหนัก ไม่เพียงล้ำค่าด้วยความเป็นโบราณวัตถุ หากแต่มีความหมายลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น ข้าวของบางส่วนยังคงอยู่ในจุดเดิมตั้งแต่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ แม้เพียงเรื่องราวเล็กๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เศษเล็บที่กรมพระยานริศฯทรงตัดไว้ในขวด ผ้าเช็ดหน้า พระเกศา และพระอัฐิเจ้านายราชสกุลจิตรพงศ์ยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับศิลปวัตถุมากมาย

ไม่เพียงสิ่งของที่จับต้องได้ หากแต่เรื่องเล่าที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก ก็เป็นสมบัติล้ำค่าในความทรงจำ เฉกเช่นเหตุการณ์ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2490 เมื่อกรมพระยานริศฯสิ้นพระชนม์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งอยู่ในที่นั้นร้องไห้และใช้ศีรษะโขกกับผนังของตำหนักตึก ให้ภาพสะเทือนใจที่ถูกเล่าต่อกันสืบมาถึงความผูกพันที่มีต่อ “ปริ๊นซ์นริศ” ผู้เป็นที่รักและเคารพยิ่ง

หัวโขนปริศนา ผลผลิตล้ำค่าแห่งความสร้างสรรค์

หนึ่งในศิลปวัตถุล้ำค่าทีได้รับการเปิดเผยล่าสุด คือหัวโขนซึ่งถูกเก็บรักษาไว้เป็นเวลาเนิ่นนาน กระทั่งถูกนำมาจัดแสดงและ “ตีความ” ใหม่ ด้วยลักษณะเป็นพญายักษ์กายสีทอง ปากขบ ตาโพลง เขี้ยวดอกมะลิ สวมมงกุฎยอดชัย มีกรรเจียกจรอย่างอสูร มี 9 เศียร ชั้นบนสุดเป็นหน้าพรหม สร้างความสงสัยว่าเป็นเศียรของตัวละครใด เพราะแม้ลักษณะคล้ายทศกัณฐ์ แต่ปากทศกัณฐ์ต้องแสยะ เขี้ยวโง้ง ไม่ใช่ปากขบ เขี้ยวดอกมะลิเช่นนี้

กระทั่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นทศกัณฐ์ในวัยเด็ก ก่อนไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระฤษีโคบุตร โดยอาจสร้างขึ้นด้วยพระดำริของกรมพระยานริศฯ ด้วยความคิดสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยม อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ ซึ่งก็นับเป็นเสน่ห์และความท้าทายให้ขบคิดไม่รู้จบ

เปิดแผนแม่บท อนาคตบ้านปลายเนิน

ท่ามกลางวาทกรรม “มรดกชาติ” สังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าหากเป็นมรดกของคนไทย เหตุใดไม่เปิดเป็น “สาธารณะ”

ประเด็นนี้ ดูเหมือนทายาทรุ่นที่ 4 ไม่ได้เพิกเฉย หากแต่มีความพยายามสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อสังคมโดยวางแผนจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุที่ทรงสะสม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังเตรียมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ ตำหนักตึก เรือนคุณย่า เรือนละคร รวมถึงตำหนักไทยที่เริ่มต้นดำเนินการแล้ว โดยตั้งใจเปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมสาธารณะให้ค้นคว้าในอนาคต

ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ เปิดแผนในใจว่า บ้านปลายเนินมากมายด้วยโบราณวัตถุที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ เปรียบเหมือน “ไทม์แคปซูล” ของกรมพระยานริศฯ ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาเปิดแคปซูลนี้แล้ว โดยมีการปรับปรุงบ้าน เตรียมหา “มุมมองใหม่” ให้ศิลปวัตถุ

“บ้านปลายเนินในอนาคตจะเล่าว่าท่านทรงงานตรงไหน กินอะไร ใช้ของอะไร อ่านอะไร เป็นคอนเซ็ปต์ในอนาคตที่จะนำเสนอให้รู้ว่าทำไมท่านถึงมีความสามารถเช่นนี้”

ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบ้านปลายเนินจะคงอยู่ให้สังคมไทยได้ศึกษาเรียนรู้สืบไปแม้ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image