อัพเดตชีวิตนักธุรกิจไทยในสหรัฐ ยุคที่มี Mr.President ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ จิดาภา ก๋งอุบล – นาม มิห์ เล

ปลายปีที่ผ่านมาคู่รักหวานชื่นคู่หนึ่งเหินฟ้าจากเมืองลุงแซม ไปจัดงานวิวาห์ที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม แขกเหรื่อแวดวงนักธุรกิจร่วมงานกันอย่างคึกคัก ก่อนจะควงแขนกันมาฮันนีมูนที่เมืองไทย ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของฝ่ายหญิง

หนึ่งในบรรดาผู้ร่วมแสดงความยินดีกับบ่าวสาวทั้งสองคือ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน

เธอชื่อ “ทิวลิป” จิดาภา ก๋งอุบล” เป็นลูกสาวนักธุรกิจที่เมืองไทย ชัยวัฒน์ ก๋งอุบล กับ คุณแม่-พัสรา อดีตข้าราชการกรมสรรพากร มีพี่ชาย 1 คนคือ เธียร์ ก๋งอุบล

ศิษย์เก่าโรงเรียนทิวไผ่งาม ก่อนจะไปศึกษาต่อที่อเมริกาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งถึงปีที่หก ที่โรงเรียน Lake Braddock Secondary School รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สาขาการตลาดและการท่องเที่ยวและบริการ

Advertisement

ปัจจุบันนอกจากอยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งจะสำเร็จการศึกษาในเดือนพฤษภาคมนี้ เธอยังเป็นผู้บริหารร้าน “พัสรา” (Pasara) ร้านอาหารไทยซึ่งเปิดดำเนินการมานานถึง 20 ปีแล้ว ปัจจุบันมี 2 สาขา ที่เวอร์จิเนียและวอชิงตัน ดี.ซี.

ส่วนเขา ทายาทไมลินห์ (Mai Linh) กรุ๊ป บริษัททรานสปอร์เตชั่นอันดับต้นๆ ของประเทศเวียดนาม ทำธุรกิจรถโค้ช รถแท็กซี่ มีรถให้บริการมากกว่า 15,000 คัน มีพนักงานมากกว่า 30,000 คน ครอบคลุม 63 จังหวัดของเวียดนาม

“นาม มินห์ เล” (Nam Minh Le) เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีธุรกิจอยู่ทั้งในสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม ล่าสุด ขยายสู่ธุรกิจโรงแรม โดยเปิดโรงแรมที่โฮจิมินห์ และที่เมืองหวุงเต่า ประเทศเวียดนาม

Advertisement

และแล้วกงล้อแห่งโชคชะตาหมุนพาให้เธอและเขามาพบรักกันที่สหรัฐอเมริกา โดยมีเพื่อนของทั้งสองฝ่ายเป็นสะพานเชื่อมนานถึง 6 ปีกว่าจะลั่นระฆังวิวาห์

สบโอกาส 2 วันก่อนที่คนทั้งคู่จะบินกลับอเมริกา “มติชน” ได้รับเกียรติเข้าพบ พูดคุยอย่างเป็นกันเองที่บ้านพักใจกลางมหานครกรุงเทพฯ อัพเดตชีวิตนักธุรกิจไทยในสหรัฐในวันที่มีประธานาธิบดีชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์


เกิดที่เมืองไทย คุณพ่อคุณแม่อยู่เมืองไทยมีธุรกิจที่เมืองไทย ไปเปิดร้านอาหารที่อเมริกาได้อย่างไร?

ถ้าพูดถึงเรื่องร้านอาหาร ตอนแรกครอบครัวไปเที่ยวที่สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นทิวลิปน่าจะอยู่ ป.6 ส่วนพี่ชาย (เธียร์ ก๋งอุบล) อยู่มัธยม พอไปเที่ยวแล้วพี่ชายรู้สึกว่าชอบและอยากไปเรียนหนังสือที่นั่น คุณพ่อคุณแม่ก็เลยบอกว่าโอเค ถ้าอยากไปเรียนหนังสือก็จะสนับสนุนเต็มที่ เลยให้ไปทั้งสองคนพี่น้อง

พอไปถึงคุณแม่ตัดสินใจว่าจะอยู่เป็นเพื่อนลูกก่อนสัก 1-2 ปีแรก เผื่อว่ามีอะไรติดขัดจะได้ช่วยเหลือลูกได้ แต่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอะไรทำเกิดเบื่อ เลยคิดลองเปิดร้านอาหารดู ด้วยความที่คุณแม่เป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว และมีฝีมือในการทำอาหาร ทีแรกก็คิดว่าจะทำร้านอาหารเล็กๆ มีที่นั่งสัก 20-30 ที่นั่ง ไปๆ มาๆ ก็ค่อยๆ ขยายสาขาเป็น 2 3 4 5 6 7 ขยายไปเรื่อยๆ ในเวอร์จิเนียและนอกเมืองเวอร์จิเนีย โดยแต่ละร้านจะตั้งชื่อไม่เหมือนกัน เช่น ร้านทองไทย ร้านไทยเฮ้าส์ ฯลฯ

กระทั่งเมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว มาเปิดอีกสาขา โดยใช้ชื่อ “พัสรา” (Pasara) ซึ่งเป็นชื่อของคุณแม่เอง หลังจากนั้นสาขาต่อๆ มาจึงใช้ชื่อ “พัสรา” ทั้งหมด ส่วนร้านเล็กๆ ที่อยู่ต่างเมืองก็ปิดไปเพื่อที่จะได้ไม่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกันเอง และเก็บไว้เฉพาะสาขาใหญ่ๆ มีที่เวอร์จิเนียและวอชิงตัน ดี.ซี. ฉะนั้น ณ ตอนนี้คนจะรู้จักร้านเราในชื่อ “พัสรา”

ช่วยคุณแม่ทำงานที่ร้านอาหารตั้งแต่เมื่อไหร่?

ช่วยธุรกิจของทางบ้านตั้งแต่เรียนจบ จริงๆ ช่วยมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนเรียนมัธยม ทำตั้งแต่เสิร์ฟอาหาร คือทำงานเหมือนเด็กฝรั่งทั่วไปที่หลังเลิกเรียนจะทำงานหารายได้พิเศษ ทิวลิปก็เหมือนกัน พ่อกับแม่จะไม่ได้ให้เงิน เราต้องหาเงินเอง ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องทำงานหาเงินเองตั้งแต่เด็กๆ โดนปลูกฝังมาว่าทำงานแล้วดี ทำงานแล้วได้เงิน พอหาเงินได้ด้วยตัวเองอยากได้อะไรก็สามารถซื้อได้โดยที่ไม่ต้องไปรบกวนขอพ่อแม่ จุดเริ่มต้นของธุรกิจก็เลยมาจากการที่เราชอบทำงานตั้งแต่เด็กจนถึงมัธยม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ยังทำอยู่ แต่ ณ ตอนนี้ช่วยที่บ้านทำร้านอาหารเต็มตัว

ในส่วนของคุณพ่อคุณแม่ก่อนที่จะไปเปิดร้านอาหารที่อเมริกา มีธุรกิจที่เมืองไทยอยู่แล้ว?

ที่เมืองไทยคุณพ่อทำธุรกิจหลายอย่างมาก ทำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทำเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นที่ปรึกษาของหลายบริษัท เป็นดีลเลอร์ขายรถยนต์ คุณพ่อชอบทำธุรกิจ ส่วนคุณแม่แต่ก่อนเป็นข้าราชการกรมสรรพากร แต่มีฝีมือในการทำอาหาร แม่เล่าว่าชอบทำอาหารตั้งแต่เด็กๆ


ปัจจุบันรับผิดชอบดูแลร้านอาหารที่อเมริกาเองทั้งหมด?

ทิวลิปดูแลธุรกิจร้านอาหารเต็มตัวมานานแล้ว แต่ตอนนี้เพิ่งแต่งงานกับสามีเป็นนักธุรกิจเวียดนาม เราก็ได้กลับมาเมืองไทยและประเทศเวียดนาม ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ว่ามีความสวยงามไม่เหมือนวัฒนธรรมตะวันตกที่เราเติบโตมา และทำให้รู้ว่าประเทศไทยคือรากเหง้าของเรา เวียดนามก็คือรากเหง้าของสามี จริงๆ แล้วประเทศของเราทั้งสองคนยังมีอะไรดีๆ อีกหลายอย่างที่สามารถจะนำความรู้ความสามารถของเราทั้งคู่กลับมาพัฒนาประเทศได้ และยังมีช่องทางธุรกิจอีกหลายอย่างที่คนที่นี่อาจมองข้ามเพราะอยู่จนชิน แต่เราอยู่ที่อื่นเป็นระยะเวลานาน พอกลับมาก็มองเห็นว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มาก เราน่าจะทำได้ และน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีในอนาคต

ร้านอาหารที่อเมริกาปัจจุบันผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

ดีมากค่ะ ธุรกิจร้านอาหารไม่ว่าประเทศไหนคิดว่าค่อนข้างยากที่จะเปิดเป็นระยะเวลานานได้ เพราะมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าอาหารอร่อยอย่างเดียว สถานที่ การบริการ ทุกอย่างเกี่ยวข้องหมด ที่ร้านมีลูกค้ามาใช้บริการตั้งแต่ตอนร้านเพิ่งเปิดใหม่ๆ ลูกค้าบางคนมาตั้งแต่ลูกยังแบเบาะจนตอนนี้ลูกโตแล้ว เขาจะส่งโปสการ์ดวันคริสต์มาสมาอวยพรทุกปี ส่งรูปลูกมาให้ดูว่าตอนนี้ลูกอายุเท่านี้แล้วนะ มันเป็นความผูกพันที่ทำให้รู้ว่าเราเปิดมานานมากแล้ว เรามีฐานลูกค้าที่แน่นหนามาก

สหรัฐอเมริกามีร้านอาหารไทยจำนวนมาก ทำอย่างไรร้านอาหารของเราจะเป็นที่รู้จักและดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ?

อย่างที่บอกว่าคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าเราเปิดร้านอาหารดี คิดราคาถูกเพียงแค่ 1-2 ปีแรกแล้วขึ้นราคา หรือค่อยเปลี่ยนวัตถุดิบ-ลดคุณภาพ แต่ร้านเราจะคิดเสมอว่า เราทานอาหารอย่างไรเราก็ทำขายให้ลูกค้าแบบนั้น ถ้าเราอยากทานของดี คนอื่นก็อยากทานของดีด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคุณภาพ วัตถุดิบอาหาร สูตรการทำอาหารต่างๆ ทุกอย่างจะเหมือนเดิมตลอดไม่เคยเปลี่ยน

เมนูเด็ดๆ ที่เป็นเสน่ห์ปลายจวักเชิญชวนลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ?

ถ้าเป็นเมนูเด็ด ใช้คำว่าที่คนรู้จักในอาหารไทยดีกว่า (หัวเราะ) หนีไม่พ้นผัดไทย ผัดกะเพรา อย่างที่ร้านใครๆ ก็จะบอกว่า มาที่ร้านต้องมากินผัดไทย ซึ่งแต่ละร้านจะมีสูตรที่ไม่เหมือนกัน ซอสผัดไทยก็จะไม่เหมือนกัน ของที่ร้านเป็นสูตรของคุณแม่ทั้งหมด ลูกค้าบางคนที่ทานอาหารไทยบ่อยๆ ก็จะรู้ว่าของเราไม่เหมือนกับร้านอื่น อาจจะไปทานที่อื่นกลับมาแล้วคิดว่าทานที่นี่ดีกว่า

ทำอาหารเป็นด้วยใช่ไหม?

ทำเป็นค่ะ (หัวเราะ) ทำเป็นแล้วก็เป็นนักชิมด้วย (ส่งยิ้มหวานให้สามี)

ทราบว่าได้การ์ดอวยพรจากประธานาธิบดีสหรัฐด้วย?

ใช่ค่ะ ได้การ์ดอวยพรวันเกิดและการ์ดอวยพรวันแต่งงาน

มาอย่างไร ส่งมาทางไปรษณีย์หรือให้คนเอามาให้?

ส่งมาทางไปรษณีย์ จริงๆ แล้ว คุณอาของสามีทำงานอยู่ในทำเนียบขาว ดูแลเรื่องการเดินทาง ความปลอดภัยทั้งหมดของประธานาธิบดี ไม่ว่าจะเปลี่ยนประธานาธิบดีกี่คนก็อยู่ตำแหน่งนี้เหมือนเดิมที่ทำเนียบขาว ยกตัวอย่าง เวลาที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะเดินทางไปประเทศไหนก็แล้วแต่ คุณอาก็จะต้องขึ้นแอร์ฟอร์ซวันไปก่อน เพื่อที่จะไปเตรียมงานทุกอย่าง แล้วก็กลับมารับประธานาธิบดีเพื่อเดินทางไปด้วย

ที่ร้านมีโอกาสได้ต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย?

ไม่ได้มาค่ะ (หัวเราะ) เพราะถ้าประธานาธิบดีมาจะต้องวุ่นวายมาก จะต้องปิดร้าน 1-2 วันก่อนที่เขาจะมา จะต้องมีคนมาเช็กระเบิด คือเราจะไม่ได้ขายใครเลยนอกจากประธานาธิบดีคนเดียวเท่านั้น (หัวเราะ)

แล้วมีสั่งอาหารไปไหม?

เป็นที่สาขาวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่แน่ใจว่าใครมาสั่งไปทาน แต่ว่าเขาสั่งกลับบ้าน เท่าที่จำได้น่าจะเป็นเมนูผัดไทย ต้มยำ ผัดกะเพรา ต้มข่าไก่อะไรประมาณนี้ (หัวเราะ)

จริงๆ เขาเคยบอกอยู่ว่าอยากให้เราไปทำอาหารที่นั่น แต่ทุกอย่างต้องผ่านซิเคียวริตี้ ขั้นตอนมาก ก็เลยคิดว่าเราทำอาหารให้คนทั่วไปทานดีกว่า (หัวเราะ)

อเมริกาเมื่อเปลี่ยนประธานาธิบดีส่งผลกระทบกับธุรกิจ?

มีค่ะ เพราะมีการเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนกฎหมายต่างๆ บางทีเปลี่ยนชั่วข้ามคืน ซึ่งบางทีในฐานะนักธุรกิจบางทีเราก็ตั้งตัวไม่ทัน เกิดการสะดุดทางธุรกิจอยู่เหมือนกัน

ยังมีโอกาสที่คนไทยจะไปธุรกิจที่นั่น?

ณ ตอนนี้ ถ้าประธานาธิบดีทรัมป์ยังดำรงตำแหน่งอยู่คิดว่ายาก เพราะเขามีความเป็นชาตินิยม อเมริกาต้องมาก่อน คนต่างชาติไม่ว่าจะชาติไหนก็ทำตัวลำบาก ณ ตอนนี้

อเมริกาเมื่อก่อนเคยอ้าแขนต้อนรับนักธุรกิจเวียดนาม ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ด้วย?

(นาม) สำหรับผมไม่ค่อยกระทบ เพราะเริ่มธุรกิจมานานมากแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นั่นไปแล้ว

แต่สำหรับคนที่เข้าไปอยู่ใหม่ ส่งผลกระทบแน่นอน เพราะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาก ทั้งเรื่องของการขอวีซ่า ตอนนี้ยากมาก

บอกว่าจะกลับมาทำธุรกิจที่ไทยและเวียดนาม เริ่มคิดตั้งแต่เมื่อไหร่?

คิดมาตั้งหลายปีแล้ว เพราะเรามีมุมมองที่อาจจะไม่เหมือนกับคนไทย เราอาจจะมีมุมมองที่คนที่นี่มองไม่เห็น เลยมีความคิดว่า นอกจากที่นี่เป็นบ้านแล้ว โอกาสที่จะเติบโตทางธุรกิจยังมีสูง และเราเป็นคนไทยทำธุรกิจที่เมืองไทยอย่างไรก็ง่าย เหมือนเราอยู่บ้าน

แล้วจัดสรรระบบการทำงานอย่างไร ทั้งที่อเมริกา ที่ไทยและเวียดนาม?

(หัวเราะ) ร้านอาหารที่อเมริกาเราวางระบบไว้ลงตัวหมดแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่บริหารงานโดยตรง แต่มีคนที่ไว้ใจได้ และมีระบบที่เราเชื่อถือได้ สามารถควบคุมมาตรฐาน ควบคุมทุกอย่างได้

ตอนนี้เรายังไม่ได้ลิมิตตัวเองว่าอยู่ประเทศไหนประเทศเดียว เพราะเราสองคนก็ยังอายุน้อยอยู่ เรายังมีแรง มีความสามารถ สามารถทดลองดูก่อนว่าที่ไหนมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จสูง ไม่อยากจะปล่อยโอกาสให้ผ่านไป ในเมื่อเรามีความโชคดีที่จะไปทำธุรกิจที่เวียดนามก็ได้ หรือเมืองไทยก็ได้หรืออเมริกาก็ได้ ก็ต้องใช้โอกาสตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ อย่างไรคุณนามก็รู้จักคนที่เวียดนามมาก ครอบครัวก็รู้จักคนเยอะ เราก็รู้จักระบบที่เมืองไทย และที่อเมริกาเราสองคนก็รู้จัก

ปัจจุบันนอกจากเรียนหนังสือ ดูแลธุรกิจร้านอาหาร ได้ช่วยธุรกิจของสามี?

ตอนนี้ยังค่ะ ทางบ้านคุณนามเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว ที่บ้านเขามีธุรกิจรถแท็กซี่ รถทัวร์ และอยู่ในงานบริการ ตรงกับที่ทิวลิปทำ และตอนนี้เขาทำโรงแรมที่โฮจิมินห์ซิตี้

(นาม-หัวเราะก่อนจะบอกว่า) เราวางแผนจะกลับไปช่วยงานที่บ้านทำธุรกิจด้านทรานสปอร์เตชั่น แต่ขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจตัวเองด้วย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 3 โรงแรมในโฮจิมินห์ซิตี้ และที่หวุงเต่า

(ทิวลิป) คือคุณพ่อของคุณนาม ซึ่งทำธุรกิจไมลินห์ทรานสปอร์เตชั่น เห็นว่าเรามีร้านอาหาร ก็อยากให้ไปเปิดร้านอาหารที่โฮจิมินห์ซิตี้ด้วย

ทำธุรกิจที่เวียดนามกับไทย ที่ไหนยากกว่ากัน?

(นาม) มันมีความแตกต่างกัน เช่น เรื่องของวัฒนธรรมที่ต่างกันบ้าง ในไทยผมยังไม่เคยทำธุรกิจ

(ทิวลิป) มันมีหลายสิ่งที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความต่าง รัฐบาลของสองประเทศ ระบบความคิด กฎหมายก็ยังไม่เหมือนกัน แต่ถ้าให้เปรียบอเมริกา ไทย เวียดนาม อย่างไรเสียเวียดนามกับไทยก็คล้ายกัน

มีมุมมองในการเลือกทำธุรกิจอย่างไร?

ทิวลิปไม่ได้ทำธุรกิจหลายประเภท จะคลุกคลีมากสุดคือร้านอาหาร แล้วทีหลังคือด้านบริการ ด้านทรานสปอร์เตชั่นและด้านโรงแรมของสามีมากกว่า แต่ในความคิด คิดว่าแต่ละคนก็มีเซนส์อยู่แล้ว คืออย่างแรกเลยเราต้องมีแพชชั่น เราต้องชอบ ถ้าทำอะไรถึงรู้ว่าเราจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราไม่ชอบ เราก็จะทำได้ในระดับหนึ่งแต่มันจะไม่ได้ดี แต่ถ้าเราชอบเรามีแพชชั่นจะมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่า

แพชชั่นกับเป้าหมาย อะไรสำคัญกว่ากัน?

(สบตาสามีให้ตอบก่อน) สำหรับผมคิดว่า แพชชั่นสำคัญกว่า

(ทิวลิป) ก็คิดเหมือนกัน เพราะในระหว่างทางไปถึงสู่เป้าหมาย ถ้าเราไม่เอนจอย ถ้าเจออุปสรรคเราอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ถ้าเรามีแพชชั่น ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรก็แล้วแต่เราก็จะสามารถผ่านพ้นมันได้

ชอบชีวิตที่ไหนมากกว่ากัน?

ถ้าเป็นตอนนี้ให้พูดจากใจ อย่างไรเราก็ยังเป็นคนไทยอยู่ เราก็ชอบเมืองไทย อย่างสามีเป็นคนเวียดนาม ไปอยู่ 9 ปี ถามว่าชอบอเมริกามั้ย เขาก็ชอบอเมริกา แต่เขาก็ชอบเวียดนามมากกว่า ชอบเมืองไทยมากกว่า แต่ทิวลิปคิดว่าพอเราไปอยู่ต่างประเทศ ยังไงเราก็ยังรู้สึกว่าประเทศไทยคือบ้าน ถึงชอบต่างประเทศแค่ไหน เรากลับมาเมืองไทยทุกครั้งก็ยังรู้สึกผูกพัน ยังรู้สึกที่นี่แหละที่เราจะต้องกลับมาอยู่

ยังสนุกกับการทำร้านอาหาร?

สนุกแต่ก็อยากจะทำธุรกิจอย่างอื่นด้วย อย่างที่มองๆ ไว้คือ ลองทำธุรกิจที่สามีทำด้วย เช่น โรงแรม แต่ก็ยังอยู่ในสายบริการเหมือนเดิม ร้านพัสราตอนนี้เหลือ 2 สาขา จาก 4 สาขา เป็นการเตรียมตัวเพื่อที่จะกลับมาทำธุรกิจที่เวียดนามกับเมืองไทยหลังจากเรียนจบแล้ว จะได้ไม่ต้องกังวลอะไรมาก

มีเรื่องอะไรที่สนใจพิเศษ เช่น งานอดิเรก?

(พยักเพยิดให้สามีตอบ) กอล์ฟ และ (ยิ้มกว้างก่อนตอบ) ช้อปปิ้ง เป็นงานอดิเรกที่เธอชอบที่สุด (หัวเราะ)


จาก”คุณหนู”สู่นักธุรกิจร้านอาหาร

เท่าที่จำความได้คุณพ่อคุณแม่ให้ทำงานตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นอายุประมาณ 7 ขวบ คุณพ่อทำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก็ให้เราเป็นคนเดินไปจ่ายเงินพนักงานทุกคน น่าจะประมาณ 300-400 คน มีพี่อีกคนเดินอยู่ข้างหลังคอยถือสมุดให้ เรายื่นเงินให้พนักงานและให้เขาเซ็นรับ ต้องทำอย่างนั้นตลอด รู้สึกสนุกดีเพราะได้ทำอะไรแปลกๆ เขาคงอยากปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ให้เรารู้จักทำงาน ให้รู้ว่าพ่อกับแม่ทำงานเหนื่อยแค่ไหนกว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัว หาเงินส่งเราเรียนหนังสือ และปลูกฝังว่า ถ้าอยากได้อะไร ซื้อได้ แต่ต้องทำงานหาเงินเอง

ถาม-ความที่เป็นเด็กก็ต้องอยากเล่น มีอิดออดบ้างไหม?

ไม่นะคะ เพราะไม่ได้ทำทุกวัน ทำแค่วันเสาร์-อาทิตย์ มีความรู้สึกว่าสนุกดี ถ้าทำทุกวันคงไม่ไหว พอโตขึ้นมาหน่อยตั้งแต่ ม.1 หลังจากเลิกเรียนก็ทำงานเกือบทุกวัน เป็นงานที่ร้านอาหาร ส่วนงานบ้านเราก็ต้องทำอยู่แล้ว ทั้งซักผ้าเอง ทำความสะอาดห้อง ถูบ้านเอง ถ้าอยู่เมืองไทยยังมีพี่เลี้ยง มีแม่บ้านคอยทำให้ทุกอย่าง แต่พอไปอยู่อเมริกาทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ต้องรับผิดชอบตัวเอง ทำเองทุกอย่าง

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เราจะต้องสามารถช่วยเหลือและพึ่งตัวเองได้ตั้งแต่เด็กๆ มีความคิดว่าเราจะทำอย่างไรถ้าเกิดไม่มีพ่อแม่อยู่คอยช่วยเหลือเราแล้วเราจะทำอะไรเองได้ไหม

ได้รับการปลูกฝังว่าต้องทำงาน เพราะถ้าวันนึงทุกอย่างเปลี่ยนไป เราไม่มีสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้จะทำอย่างไร คุณพ่อคุณแม่จะพูดอย่างนี้ตลอด เราจึงค่อนข้างที่จะซาบซึ้งในเงินที่หามาได้ นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พยายามปลูกฝังเราเรื่องคุณค่าของเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image