แดดเดียว : ทุจริตแบบ‘ดีๆ’

ถ้าพูดเรื่องการเมืองขึ้นมาในวงสนทนาที่ไหนสักแห่ง ก็จะมีใครสักคน เอ่ยถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยสีหน้าชิงชังสุดขีด พร้อมกับโยงเข้าหานักการเมือง

แล้วถ้าคุยกันต่อไป ก็อาจจะได้ยินว่า เพราะนักการเมืองขี้โกง เขาเลยไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทในบ้านเมือง ให้อยู่กันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ก็ดีแล้ว ไม่เห็นเดือดร้อนตรงไหน

ความเห็นของ “คนดีๆ” อย่างนี้ มีให้เห็นได้ทั่วไป จนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ แต่ที่จริงไม่ปกติ

วันก่อน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประกาศว่า ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของปีล่าสุด คือ 2018 ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เป็นลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

Advertisement

คะแนนที่ว่านี้ ลดลงจากปีก่อนที่ได้ 37 คะแนน อยู่อันดับที่ 96 ของโลก

มีคนเอาเรื่องนี้ไปถามบิ๊กตู่ ว่าคะแนนแบบนี้ รัฐบาลจะต้องวางมาตรการอะไรเพิ่มเติมไหม ได้รับคำตอบว่าไม่ต้อง วางไว้หมดแล้ว เพียงแต่มาดูว่าที่อันดับตกลง ตกตรงไหนอย่างไร

ท่านนายกฯบอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่องค์กรตรวจสอบมองคือการเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยมองว่าอาจตรวจสอบได้หรือไม่ แต่ขอยืนยันว่าเห็นว่าตรวจสอบได้ทุกองค์กร แต่เมื่อผลตรวจสอบออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับกัน ไม่ใช่ไม่ยอมรับ แล้วก็มีปัญหากันอีก

Advertisement

เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ความโปร่งใส คงอยู่ประมาณนั้น คือยืนยันว่าไม่มีปัญหา ตรวจสอบได้ จบไหม แล้วจะมาเอาอะไรกันอีก

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีบทความในหน้าประชาชื่นนี่เอง เขียนถึงการเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัด ในหัวข้อ “Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร” เชิญศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ชื่อโยชิฟูมิ ทามาดะ มาพูด

อาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่า การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ แต่การต่อต้านการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่กว่า เมื่อมีการทำลายประชาธิปไตย โดยอ้างว่าเป็นสาเหตุของการทุจริต

และอีกตอนระบุว่า “การทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง และถึงที่สุดก็ปฏิเสธการเมือง เพื่อลบความชอบธรรมจาก 1.สิ่งที่คู่ต่อสู้ทางการเมืองกำลังกระทำอยู่ 2.กระบวนการหรือพฤติกรรมที่ตนเองไม่ชอบ ร้ายกว่านั้นคือ ด่าการทุจริตจนถึงรังเกียจการเมือง โดยมีแนวโน้มด่านโยบายอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบทางการเมืองว่าเป็นการทุจริต”

อาจารย์โยชิฟูมิระบุว่า กระแสต่อต้านการทุจริตทั่วโลกรุนแรงขึ้นใน 30 ปี หลังปี 2540 เป็นต้นมา เมื่อไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกมองการทุจริตเป็นศัตรูของธรรมาภิบาล จึงรับหน้าที่ต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีส่วนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะไม่อยากเสียเปรียบนักธุรกิจที่ทุจริต

และกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศมากขึ้น เมื่อองค์กรระหว่างประเทศช่วยอุดหนุนการต่อต้านการทุจริตบางพวก นักวิชาการกับเอ็นจีโอที่หากินกับงานนี้จนกลายเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง

และ “คอร์รัปชั่นเกิดเป็นศัตรูใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์จึงต้องมีศัตรูใหม่เพื่อจับมือกันต่อสู้ เพื่อผู้ดำเนินการจะเกิดศีลธรรม”

คำกล่าวของอาจารย์ท่านนี้ ทำให้เห็นที่มาที่ไปของการปราบทุจริต โดยเฉพาะในไทยได้ชัดเจนและเป็นกระบวนการ

ต่อต้านกันเป็นล่ำเป็นสันมาก จัดอีเวนต์กันสนุกสนาน กลายเป็นธุรกิจที่ขึ้นหน้าขึ้นตา งบประมาณสะพัด แถมยังดูเท่ อาจจะให้สัมภาษณ์ด่าโน่นด่านี่ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นดีจังเลย

สุดท้ายเลยปฏิวัติกันไป หลังรัฐประหาร กิจกรรมหลายอย่างต้องเลิกไป แต่กิจกรรมต้านโกง ยังยืนยงคงกระพัน ที่มารวมตัวกัน ยืนเข้าแถวทำท่าต้านโกง ถ่ายรูปออกสื่อกันนั่นเอง

ส่วนผลของการต่อต้านทุจริต ก็คือตัวเลขที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสทำออกมา รวมถึงข่าวคราวต่างๆ ที่ปรากฏเป็นระยะ โดยมีเสียงโห่ต้อนรับตลอด

เรื่องนี้ เป็น “การบ้าน” ซึ่งโดยหลักการ รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง น่าจะต้องเข้ามาจัดการเป็นเรื่องแรกๆ

ปัญหาคือ หลังเลือกตั้ง เราจะได้รัฐบาลใหม่หรือไม่ หรือว่าจะได้รัฐบาลที่เขาได้ “ดีไซน์” กันไว้แล้ว

เรื่องที่ต้องจัดการ ก็คือ หาทางยุติหรือระงับ “ธุรกิจต้านโกง” หรือการต้านโกงแบบโกงๆ นี้ให้ได้

ต้องยกเลิก หรือแก้กฎหมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “ที่มา” ของกรรมการในหน่วยงานปราบทุจริต ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดเวลา

เพื่อยุติการปราบโกงเป็นบางเรื่อง ปราบเป็นบางกลุ่ม ที่ทำให้การปราบโกง กลายเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์เอาไว้ฟาดฟันห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามไป

และควรสร้างระบบให้ความรู้แก่คนในสังคมว่า การโกงอย่างที่น่ากลัว คือการโกงเอาอำนาจของส่วนรวมไปเป็นตัวเอง จะเรียกว่าเป็นการทุจริตทางการเมืองก็ว่าได้

เราด่านักการเมืองว่าซื้อเสียงเข้าสู่การเมืองเพื่อกอบโกย แต่ไม่ค่อยด่าคนที่มาฉกเอาอำนาจไปดื้อๆ แล้วทำอย่างเดียวกับที่นักการเมืองโกงๆ ทำ แถมยังยอมรับและชื่นชมกันอีกว่าเสียสละ

หรือธุรกิจที่ทำมาหากินเกือบจะผูกขาดโดยไม่แยแสสนใจเพื่อนมนุษย์ นี่ก็เป็นการฉ้อฉลอีกอย่างหนึ่ง พอสักพักก็ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ ท่องคาถาต้านทุจริตกันเสียทีหนึ่ง

ถึงตอนนี้ ต้องถือว่ามาไกลเกินไปแล้ว ต้องหาทางกลับให้ได้ หรือกลับไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนความคิดความเชื่อแบบนี้ให้ได้

ไม่งั้นก็เหมือนกับตั้งอกตั้งใจอยู่ในฝุ่นโกง โดยไม่คิดจะเปลี่ยนเอาอากาศดีๆ มาหายใจกันเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image