อาศรมมิวสิก : ดนตรีช่วยพัฒนา เด็กดาวน์ซินโดรม : โดย สุกรี เจริญสุข

ชาวบ้านทั่วไปที่พบเห็นเด็กที่มีอาการผิดปกติ ก็จะเรียกว่า “ขาดหุ้น” คือมีหุ้นส่วนของความเป็นคนไม่ครบ ไม่สมประกอบ หรือเรียกว่า “เอ๋อ” คือไม่ครบองค์ประกอบที่จะเป็นเด็กที่สมบูรณ์ ขาดส่วนตั้งแต่พัฒนาการของร่างกาย สมอง อารมณ์ สังคม และจิตใจ พัฒนาการช้าไม่เท่าเทียมกับเด็กมาตรฐานทั่วไป เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกไม่ครบส่วน หากเป็นชาวบ้านทั่วไปที่มีฐานะยากจน เด็กจะถูกทอดทิ้งให้โตอย่างยถากรรม ได้แต่ให้ข้าวให้น้ำ ให้อาหาร ไม่ได้ไปโรงเรียน ถูกเพื่อนล้อเลียน ถูกเพื่อนแกล้ง พ่อแม่อับอาย เด็กก็จะถูกเก็บซ่อนเอาไว้ในบ้าน ไม่ต้องการให้ใครเห็น บางครั้งเด็กเอ๋อจะถูกปล่อยให้อยู่ในหมู่บ้าน เผชิญชีวิตตามลำพัง

เด็กที่มีอาการเอ๋อในภาษาของหมอเป็นโรคดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) คือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ ร่างกายดูจากภายนอกผิดธรรมชาติ มีลักษณะพัฒนาการแตกต่างไปจากเด็กปกติ อาทิ ใบหน้าแบน หัวเล็ก หูผิดรูปผิดร่าง ปากเล็ก ตาเรียว ตาเฉียง เอียง คอสั้น แขนสั้น ตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน มีเชาวน์ปัญญาต่ำ

พ่อแม่ที่มีการศึกษา มีฐานะในความเป็นอยู่ ก็พยายามที่จะหาโอกาสพัฒนาลูกที่มีความบกพร่องให้ได้รับการกระตุ้นและพัฒนาให้มากที่สุด แต่เนื่องจากการศึกษาของไทยยังด้อยอยู่ ไม่มีความรู้ ไม่มีศึกษา และไม่ค้นคว้า ขาดความพยายาม จึงไม่มีคำตอบ แถมยังตั้งข้อรังเกียจอีกต่างหาก จึงทำให้เด็กที่มีความบกพร่องหรือเด็กผิดปกติไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ผู้เขียนมีน้องสาวเป็นเด็กผิดปกติและต้องเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 11 ขวบ มีญาติ มีลูกของเพื่อน และมีเพื่อนของลูก เป็นเด็กที่มีความบกพร่องหรือเด็กผิดปกติ หมอนั้นรักษาได้แต่ร่างกายและการใช้ยารักษา แต่เด็กที่เอ๋อ ไม่มียาที่จะรักษาให้หายได้ เพราะเด็กขาดหรือบกพร่องทางพันธุกรรม

Advertisement

วันหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2545 เพื่อนก็พา “ลูกของเพื่อน” มาปรึกษาว่า “ดนตรีจะช่วยอะไรได้บ้าง” ซึ่งก็อึ้งและไม่มีคำตอบให้ เพราะทั้งชีวิตมีแต่เล่นดนตรีให้คนที่สมประกอบฟัง ไม่เคยคิดที่จะใช้ดนตรีในมิติอื่นๆ

พ่อแม่นั้นมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน ต้องทำจิตใจ รักษาจิตใจของตัวเองและคนรอบข้าง ต้องใช้เงินตระเวนหาความรู้ ต้องออกจากงานเพื่อจะใช้เวลาที่มีอยู่ในการศึกษาหาทางช่วยเหลือลูกให้มีสภาพที่ดีขึ้น โดยไม่ถูกทอดทิ้ง พ่อแม่ยังมีความหวัง และไม่สิ้นหวัง
จึงได้ตัดสินใจรับเด็กเอ๋อเข้าเรียนดนตรีในระดับมัธยมศึกษา หาครูพิเศษประกบ หาวิธีพิเศษจัดการเพื่อให้เด็กสามารถอยู่ในโรงเรียนได้ ใช้ดนตรีซึ่งเป็นเสียงที่ไพเราะงดงามกระตุ้นสมอง การฝึกดนตรีจะช่วยกระตุ้นร่างกาย กระตุ้นความรู้สึก เพื่อจะช่วยค้นหาแนวทางที่จะช่วยให้เด็กเอ๋ออยู่กับโลกที่ดีกว่า

สำหรับเด็กเอ๋อนั้น มีความสามารถพิเศษอย่างน่าทึ่ง เมื่อค้นพบว่า เด็กมีความสนใจในดนตรี อยากฟังดนตรี อยากเล่นเครื่องดนตรี และค้นพบว่าเด็กอยากเรียนดนตรีชิ้นใดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี (ดีดสีตีเป่า เขย่าชัก ขูดดูดกวน) พบแล้วเห็นประจักษ์แล้วว่าชอบ ก็หาครูพิเศษสอนให้เรียนเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ แล้วต้องทำความเข้าใจกับครู หาระบบเพื่อสนับสนุนการศึกษาที่จะอยู่ร่วมกัน โดยทำความเข้าใจกับเพื่อนนักเรียน หาความช่วยเหลือจากเพื่อนนักเรียน บอกกับเพื่อนนักเรียนให้รับรู้ว่า ไม่มีใครอยากเป็นเด็กเอ๋อ แต่เมื่อเราเป็นเพื่อนร่วมโลกกันแล้ว เราต้องช่วยเหลือกัน และให้เพื่อนได้ช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด
เมื่อปี พ.ศ.2546 นัช หาญพาณิชย์พันธ์ เข้าเรียนโครงการเตรียมอุดมดนตรี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเรียนเป่าฟลุต เมื่อจบระดับเตรียมอุดมดนตรีแล้วได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาดนตรี ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นัชเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถสูง ร่วมเล่นกับวงดนตรีอาชีพ แสดงงานในเทศกาลดนตรีมากมาย

Advertisement

ในปี พ.ศ.2550 ศุภอนงค์ ปัญญาสิริมงคล (ณูณู) เข้าเรียนหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมดนตรี วิชาขับร้องเพลงสากล และได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาขับร้องเพลงสากล กระทั่งจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2556 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปี พ.ศ.2556 ภาพิมล ธำรงธนกิจการ (มิน) เข้าเรียนในระดับปริญญาตรี สาขาดนตรีไทย ตีขิมและดีดจะเข้ เธอเรียนจบปริญญาตรีดนตรี เมื่อปี พ.ศ.2559 ซึ่งทั้งสองคนออกไปอยู่กับโลกได้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่มีความสุขเป็นที่สุด

ในปี พ.ศ.2559 ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ (วุฒิ) เข้าเรียนในหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี ซึ่งเข้าเรียนในเครื่องมือไวโอลิน ต่อมาวุฒิค้นพบว่าชอบตีกลองมากกว่า พ่อแม่นั้นต้องซื้อเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ให้วุฒิครบเท่าที่วุฒิต้องการ วุฒิตีกลองในรถ ตีกลองในห้องนอนกระทั่งหลับคากลอง วุฒิเรียนจบหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งกำลังเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีต่อไป

วุฒิเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ที่มีความสามารถพิเศษดนตรีอย่างเหลือเชื่อ วุฒิมีความกล้าหาญที่จะแสดงออกทางดนตรี วุฒิพูดจาฉะฉาน โต้ตอบได้เป็นอย่างดี วุฒิมีความสามารถที่จะเล่นในวงดนตรีร่วมกับนักดนตรีคนอื่น กระทั่งเล่นร่วม (รับเชิญ) กับวงดนตรีอาชีพ ร่วมแสดงกับนักร้องชื่อดังแห่งยุค (เป๊ก ผลิตโชค) ซึ่งเป็นดาราในดวงใจของวุฒิ

จากวันนั้นถึงวันนี้ (พ.ศ.2545) เป็นเวลา 18 ปี ซึ่งพอจะมีองค์ความรู้เรื่องดนตรีกับเด็กเอ๋อตอบกับพ่อแม่และสังคมไทยได้บ้างว่า เด็กเอ๋อไม่ต้องอยู่อย่างยถากรรมอีกต่อไป แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องลงทุนศึกษา ให้โอกาส ทุ่มเทเวลาให้กับเด็ก ต้องอาศัยพ่อแม่ที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก ทุกอย่างในชีวิตที่มีต้องมอบให้กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักและความเข้าใจ คนที่เกี่ยวข้องรอบข้างต้องเข้าใจและให้ความช่วยเหลือด้วยอย่างเต็มใจ

การที่เด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ได้เรียนดนตรี ไม่ได้ประสงค์ให้เขาเป็นนักดนตรีเอกของโลกหรือเป็นนักดนตรีอาชีพ เพียงแต่ดนตรีได้ช่วยชีวิตเด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ให้อยู่ร่วมกับโลกที่ซับซ้อนได้

มีตัวอย่างภาพยนตร์หลายเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ อาทิ ไอแอมแซม หรือสุภาพบุรุษปัญญานิ่ม (I am Sam) ฟอร์เรสท์ กัมพ์ หรืออัจฉริยะปัญญานิ่ม (Forrest Gump) เป็นต้น ซึ่งสร้างพลังให้กับพ่อแม่อย่างมหาศาลที่จะต่อสู้เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสอยู่กับสังคมให้ได้

องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับดนตรี สามารถช่วยเหลือเด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) เป็นองค์ความรู้ที่ติดอยู่กับตัวบุคคล ไม่ได้อยู่ในตำรา อาทิ อาจารย์สุรัติ ประพัฒน์รังษี สอนฟลุต อาจารย์แนนซี่ เว่ย สอนขับร้องเพลงสากล อาจารย์สหรัฐ จันทร์เฉลิม สอนจะเข้ อาจารย์ไกรสิทธิ์ สุวรรณเหล่า สอนตีกลอง และอาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ เป็นอาจารย์ที่สอนดนตรีบำบัด มีหน้าที่ประกบเด็กและศึกษาพฤติกรรมของเด็กเอ๋อที่เรียนดนตรี ซึ่งอาจารย์เหล่านี้เป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อำนาจและพลังของเสียงดนตรี เมื่อเข้าไปอยู่ในตัวเด็ก เสียงดนตรีผ่านเข้าสู่ร่างกายทางรูขุมขน พลังของเสียงที่เข้าไปจะมีอำนาจขยายให้ทุกส่วนของร่างกาย สมอง ความรู้สึก จิตใจพองโต เป็นมิติที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้น จะพัฒนาได้มากแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการค้นพบของพ่อแม่ “ยิ่งเด็กยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งได้” พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) จึงต้องเอาใจใส่ค้นหาความถนัดของลูกให้เร็วเพื่อการศึกษาบำบัด

หากพ่อแม่ผู้ปกครองอยากติดตามณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ (วุฒิ) และวงดนตรีของเขา สามารถเข้าไปค้นหาชื่อของณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ (วุฒิ) ได้ในยูทูบ (youtube.com) หรือติดตามงานแสดงของเขา

อย่าว่าแต่เด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) เด็กธรรมดาของไทยก็ยังได้รับการดูแลน้อยในทุกด้าน ยกเว้นเด็กช้างเผือกเท่านั้นที่ได้รับการอุ้มชูว่าเป็นคนเก่ง หากสังคมหันมาสนใจเด็กที่ด้อยโอกาสและเด็กที่เป็นผู้ขาดหุ้น ไม่ครบส่วนก็ยิ่งหนักลงไปอีก

หากมีบริษัทสร้างภาพยนตร์ลองศึกษาเพื่อสร้างปัญญาใหม่ให้แก่สังคมไทย โดยอาศัยเด็กที่มีอยู่ในสังคมไทย ความสามารถและองค์ความรู้ของเด็กดาวน์ซินโดรม
(Down Syndrome) เหล่านี้ อาจจะเปิดโลกใบใหม่ให้แก่ครอบครัวไทย เพราะมีเด็กดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) อีกมากมายในประเทศนี้และภูมิภาคนี้ ที่ไม่มีโอกาส ไม่ได้รับการเลี้ยงดูและเอาใจใส่เท่าที่เด็กควรได้รับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image