แดดเดียว : การเมืองที่ต้อง‘ล้อ’

ไม่ต้องเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ก็รู้ว่าไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ของฟุตบอลประเพณี 2 สถาบันนี้ ก็คือ ขบวนพาเหรดล้อการเมือง และการแปรอักษรบนอัฒจันทร์

ส่วนฟุตบอลนั้น แล้วแต่รสนิยมความชอบ เพราะระยะหลัง มีการนำเอานักฟุตบอลระดับดาวเด่นทีมชาติมาลงสนาม เพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น

ในเรื่องของการล้อการเมือง แต่ละปี แต่ละครั้ง สองฝ่ายจะคิดมุขเด็ด สะท้อนสังคม การเมืองและแซวกันเองเจ็บๆ แสบๆ แซ่บๆ แบบคนหนุ่มคนสาวปัญญาชน

โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองแล้งไร้เสรีภาพ ใครก็พูดอะไรไม่ได้ ขบวนล้อการเมืองและการแปรอักษรในฟุตบอลประเพณี จะมาทำหน้าที่พูดแทน แซวแทน

Advertisement

ให้ผูู้คนได้หัวเราะ และยิ้มแย้มกันอย่างมีความหวังในสติปัญญาไหวพริบ และความสนใจเข้าใจปัญหาบ้านเมืองของปัญญาชนคนรุ่นใหม่

เรื่องของขบวนล้อการเมือง หรือแปรอักษรล้อการเมือง เป็นข่าวระดับหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ในยุคเฟื่องฟู ยังไม่มีนิวมีเดียเข้ามาอย่างสมัยนี้ แต่มาถึงยุคนี้เข้าจริงๆ ก็ยังเป็นที่สนใจ อาจจะเพราะบรรยากาศทางการเมืองที่ขาดการวิพากษ์วิจารณ์

บอลประเพณีเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2477 และวันที่ 9 ก.พ.2562 คือวันนี้ จะเป็นครั้งที่ 73

Advertisement

ยาวนานพอที่จะทำให้สังคมเฝ้ารอดูมุขใหม่ๆ ของปัญญาชนจากสามย่านและท่าพระจันทร์

ที่สำคัญก็คือ สภาพการเมืองที่ทำให้การแสดงออกของปัญญาชนเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูและฟัง

ลองไปไล่ พ.ศ.ดู จะพบว่าฟุตบอลประเพณีจัดขึ้นในปีที่ประเทศอยู่ในสภาพเผด็จการหลายครั้งหลายหนด้วยกัน บางช่วงยาวนานมาก เช่น หลัง พ.ศ.2500 ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีจอมพลถนอม กิตติขจร มารับไม้ต่อ

ก่อนจะเกิดการลุกฮือขับไล่ของนักศึกษาประชาชน ในเดือนตุลาฯ 2516

ที่ยาวนานรองลงมา ก็น่าจะเป็นช่วงนี้ คือหลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน หากนับถึงเดือน พ.ค.นี้ จะครบ 5 ปี

ในช่วงบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เวทีต่างๆ เปิดกว้าง สื่อและประชาชนทั่วไปมีสิทธิเสรีภาพ สามารถคิด เขียน แสดงออก ขัดแย้ง เห็นต่าง หยอกล้อ แซว ถากถางกิจการบ้านเมืองได้ ความสนใจต่อฟุตบอลประเพณีก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง

แต่ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในอีกบรรยากาศหนึ่ง การแสดงออกถูกปิดกั้น ด้วยประกาศ คำสั่งของผู้มีอำนาจ ที่เทียบเท่ากฎหมายที่ออกโดยสภา มีข้อหาภัยสังคม ข้อหาคอมมิวนิสต์ ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงต่างๆ เอาไว้ยัดเยียด แจกแถมให้คนเห็นต่าง

ฟุตบอลประเพณีจะเป็นช่องทางเล็กๆ ให้ความจริง ในฟอร์มของการล้อเลียน ประชดประชัน ได้ฉายส่องออกมา พอผ่อนคลายไปได้บ้าง

แต่ระยะหลังๆ ช่องทางเล็กๆ ทำท่าจะตีบตันเข้าไปอีก เพราะมีกระแสข่าวว่า ทางผู้มีอำนาจอาจจะไม่ขำกับการล้อเลียนการเมืองของคนหนุ่มคนสาว

จัดแจงให้คนมาสอดส่องการจัดขบวนแห่ล้อการเมือง จะล้อใคร หนักเบาแค่ไหน มุขเป็นอย่างไร

พยายามเข้ามาเซ็นเซอร์ หรือถ้ามีจังหวะสกัดได้ ก็จะสกัดไปเลย

บางปีถึงกับเข้ามาใส่เสื้อเชียร์ของสถาบัน ปะปนเข้าไปในสนามกับชาวจุฬาฯ ธรรมศาสตร์เขาเลย เพื่อจะเบรกการล้อเลียน

การถ่ายทอดทางทีวี ดูเหมือนจะเลี่ยงๆ ไม่ถ่ายขบวนล้อเลียนและการแปรอักษรที่มีข้อความที่เรียกเสียงฮาแรงๆ

เข้าใจได้ว่า เป็นธรรมชาติของผู้มีอำนาจ ที่ไม่ชอบการตรวจสอบ ไม่ชอบให้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ไม่ชอบการสะท้อนความจริงเกี่ยวกับตนเอง ในมุมที่ตัวเองไม่ชอบ

การล้อเลียน เสียดสี ที่จริงเป็นการตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์ อย่างหนึ่ง โดยใช้อารมณ์ขัน ทำให้การตรวจสอบนั้น ไม่รุนแรงแข็งกร้าวจนเกินไป และสะท้อนภาพเหตุการณ์บางอย่างออกมาพร้อมกัน

ใครก็ตามที่เข้ามามีอำนาจ เข้ามาใช้อำนาจ ซึ่งที่จริงเป็นของประชาชน จะต้องยอมรับในกฎเกณฑ์ว่า ต้องยอมให้ประชาชน ให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ บางครั้งบางหนจะเป็นตัวตลก ชอบไม่ชอบก็ต้องใช้ไหวพริบแก้ปัญหากันไป

ที่สนุกคือ เมื่อเผชิญกับความพยายามเซ็นเซอร์ หรือแทรกแซง ทางนิสิตนักศึกษาก็มีอารมณ์ขัน ตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ซุกซ่อนหรืออำพรางบางขบวนเอาไว้ ให้ไปโผล่ในสนามให้ฮากันตรงนั้น ซึ่งจะไปยื้อยุดกันตรงนั้นก็จะดูไม่เหมาะสม

ปีนี้ ถ้าดูสถานการณ์ จะพบว่ามีเรื่องราวที่เป็นวัตถุดิบให้เอาไปล้อเลียนได้เป็นกระบุงโกย ถ้าวัดเป็นขบวนอาจจะยาวเป็นสิบกิโลเมตรก็ได้ หรือแปรอักษรกันมือหงิกแน่

ไม่ว่าจะเป็นมุขเรื่อง “นาฬิกา”, การหลุดอารมณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ การแก้ปัญหาต่างๆ อย่างแค่เรื่อง “ฝุ่น” ก็คิดได้สารพัดแล้ว

นี่ยังไม่นับเรื่องเลือกตั้ง ที่มีกฎกติกาพิลึกพิลั่นหัวมังกุท้ายมังกร

เลยเกิดการไหวตัว เตรียมเซ็นเซอร์ล่วงหน้ากันมากหน่อย

สำหรับผู้มีอำนาจ การต่อสู้กับอารมณ์ขันเป็นเรื่องยากสุด

แต่ถ้ามีอารมณ์ขันเสียหน่อย แล้วใช้อารมณ์ขันเข้าสู้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image