กว่าจะพบ ‘อวัธยปุระ’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ พลิกอดีต เมื่อป่ารกกลายเป็นการค้นพบครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ภาพมุมสูงโบราณสถานพานหิน ศาสนสถานเนื่องในความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู

นับเป็นทริปพิเศษอย่างแท้จริงสำหรับรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ในเดือนแรกของปี 2562 ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ควงแขนไปยังอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี บ้านเกิดของสุจิตต์ซึ่งมากมายด้วยโบราณสถานเก่าแก่ อีกทั้งยังเป็นสถานที่แห่งความทรงจำซึ่งทั้งคู่เคยร่วมกันขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร ในปี 2509

10 โมงเช้า เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงานพร้อมกันที่โบราณสถานพานหิน อำเภอศรีมหาโพธิ ปรากฏว่ามีเซอร์ไพรส์จาก พิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยภริยา อังคณา หัตถกิจโกศล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางมาเยี่ยมชมการบันทึกเทปรายการ โดยเข้าพูดคุยกับสองกุมารสยามและยืนฟังข้อมูลต่างๆ อย่างสนใจ

ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องเมืองมโหสถ ปราจีนบุรี โดยมีพิบูลย์ หัตถกิจโกศล พ่อเมืองปราจีนฯและภริยาร่วมรับชมใกล้ชิด

งานนี้ สุจิตต์สบโอกาส ออกอาการ “อ้อน” ท่านผู้ว่าฯ ขอให้ช่วยผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์รวดเดียว 4 ข้อ ได้แก่ สนับสนุนการปลูกกัญชาบริเวณรอบคูเมืองมโหสถเพื่อสนับสนุนสมุนไพรให้แก่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น, เติมน้ำในสระแก้ว สระขวัญ และสระมรกตให้เต็ม, สร้างประติมากรรมพระวิษณุจำลองไว้ที่โบราณสถานพานหิน ซึ่งปัจจุบันของจริงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) ปราจีนบุรี โดยเหลือเพียงส่วนพระกรและพระหัตถ์เท่านั้น และย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง มายังบริเวณวัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถซึ่งเป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทคู่จำลอง ยุคทวารวดี เนื่องจากโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวล้วนพบในแถบนี้ ไม่ใช่ในตัวเมือง

ผู้ว่าฯพิบูลย์ ยิ้มรับ ก่อนกล่าวว่า เพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีราว 6-7 เดือน พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีสิ่งดีๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานในยุคทวารวดีซึ่งอายุนับพันปีมาแล้ว รวมถึงเมืองโบราณศรีมโหสถซึ่งมีอโรคยศาลา เชื่อมโยงกับแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

Advertisement

“ปราจีนบุรีของเรามีของดีมากมายทางรายการได้เดินทางมาถ่ายทำที่นี่ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์บริเวณนี้อย่างต่อเนื่อง ใครสนใจสิ่งเก่าๆ อยากให้ติดตามรายการนี้” ผู้ว่าฯปราจีนบุรีกล่าว พร้อมพูดคุยถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถานดังกล่าว และให้ความสนใจชมการบันทึกเทปตลอดการถ่ายทำที่โบราณสถานพานหิน

การขุดค้นพานหินโดยคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2509 ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมด้วย
รอยพพุทธบาทคู่ (จำลอง) ให้ชาวบ้านปิดทองที่วัดสระมรกต

ด้านขรรค์ชัย หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน ก็เล่าเสริมอย่างมีสีสันว่า ตนเคยเดินทางมาขุดค้นที่โบราณสถานพานหินตั้งแต่ พ.ศ.2509 ขณะเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนั้นยังมีลักษณะเป็นเนิน มีป่าไผ่ขึ้นปกคลุม ชาวบ้านและโรงเรียนในท้องถิ่นตื่นตัวกันมาก เพราะเป็นการขุดค้นครั้งใหญ่ พบโบราณวัตถุสำคัญมากมาย ถนนหนทางยังเป็นกรวด การสำรวจต้องเดินเท้า พักค้างแรมเป็นเดือนที่บ้านสุจิตต์ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่บ้านด่าน ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ บางส่วนพักบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ ปัจจุบันโบราณสถานพานหินได้รับการพัฒนาขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้กรมศิลปากรดูแลภูมิทัศน์โดยรอบด้วย ไม่ใช่เฉพาะตัวโบราณสถานเท่านั้น

ในวันเดียวกันนี้ ขรรค์ชัยและสุจิตต์พร้อมด้วยทีมงาน ยังเดินทางไปบันทึกเทปยังโบราณสถานอีกหลายแห่ง โดยไม่ลืมบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้ฟินกันเช่นเคย

“ขณะนี้เราอยู่ที่อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี บนต้นน้ำบางปะกงซึ่งจะไหลออกอ่าวไทยที่ฉะเชิงเทรา คำว่าปราจีนบุรีแปลว่าทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ แต่สมัยก่อนตอนที่ยังเด็ก ชาวบ้านเรียก เมืองประจิม แปลว่าทิศตะวันตกของเขมร ชื่อเมืองปราจีนบุรีถูกตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมา รัชกาลที่ 5 เสด็จมาที่โบราณสถานพานหินและหลุมเมือง ซึ่งขุดลึกลงไปในศิลาแลง รวมถึงประทับรอยพระราชหัตถเลขา จปร. ด้วย” สุจิตต์เล่า แล้วพาชวนชมพื้นที่โดยรอบก่อนย้อนเล่าความหลังครั้งยังหนุ่มแน่น

สระแก้วสุดตระการตาด้วยภาพสลักช้างและมกรบนศิลาแง

“พานหินคือส่วนที่ตั้งอยู่ข้างบน ทำด้วยศิลาแลง ตอน ร.5 เสด็จ ยังเป็นเนินดิน จริงๆ แล้วส่วนที่เรียกพานหิน ไม่ใช่พานแต่เป็นส่วนบนของสถาปัตยกรรมโบราณ เมื่อพังทลาย ก็ยุบร่วงลงมา ผมเกิดห่างจากตรงนี้ราว 20 กม. ได้ยินคนพูดถึงตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยมาดู จนกระทั่ง พ.ศ.2509 ผมและขรรค์ชัย ตามอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มาสำรวจ จน ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านพานักศึกษาโบราณคดีมาขุดค้น ราว 2 สัปดาห์ พบพระหัตถ์พระนารายณ์ ถือสังข์ แสดงว่าที่นี่เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเมืองมโหสถซึ่งห่างออกไปราว 20 กม. ถ้าหากยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์คงคล้ายๆ กับเทวสถานที่เกาะชวา บาหลี อินโดนีเซีย”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์เดินชมพานหินซึ่งวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ 50 กว่าปีก่อนอย่างมากมาย จากนั้น มุ่งสู่ “สระแก้ว” สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วิจิตรตระการตาด้วยภาพสลักรูปช้างและมกรบนศิลาแลงแกร่ง ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ชวนย้อนจินตนาการถึงพิธีกรรมเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว ซึ่งสุจิตต์ออกปากว่า “มหัศจรรย์” โดยเชื่อว่าตรงนี้เป็นตาน้ำซับจึงมีการขุดสระไว้ รูปช้างตรงกลางและมกร 2 ข้างคือสัตว์ที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ คาดว่าเป็นพื้นที่สำหรับทำพิธีขอฝนโดยกษัตริย์ยุคโบราณกาล

“สระแก้ว ตั้งอยู่นอกเมืองมโหสถ ซึ่งเป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ขอบเขตพื้นที่ 472ไร่ ชื่อเมืองนี้ตั้งโดยลาวพวนซึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่นี่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นเรื่องที่อยู่ในทศชาติชาดก สมัยเด็กชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า เมืองพระรถ จากนิทานพระรถเมรี ลาวอยู่ไหน พระรถเมรีก็ไปด้วย ส่วนชื่อเดิมจริงๆ ของเมืองนี้มีหลักฐานบนภาชนะสำริดว่า เมืองสังโวค เป็นภาษาเขมร แปลว่าภาชนะศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ อวัธยปุระ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ไม่แพ้ เมืองมโหสถเป็นส่วนหนึ่งของสถานีการค้าทางทะเลของอาณาจักรกัมพูชาในอดีต

ต้นโพธิ์และวิหารคดแห่งแรกของไทยที่สร้างตามอย่างลังกา

จากนั้น ไปแวะที่ “วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ” ที่เชื่อมโยงเรื่องราวลึกซึ้งเกี่ยวกับ “มหาเถรศรีศรัทธา” เชื้อวงศ์สุโขทัย ร่วมสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ผู้ออกธุดงค์ไปลังกา 10 ปีแล้วนำหน่อโพธิ์กลับมาแจกจ่ายไปปลูกที่นั่น ที่นี่ สอดคล้องกับหลักฐานการเรียกชื่อ “ดงศรีมหาโพธิ์” ที่ปรากฏหลักฐานอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงปลายอยุธยามาแล้ว

“ผมเป็นเด็กวัดต้นโพธิ์ เรียนประถมก็ที่โรงเรียนวัดต้นโพธิ์ สำหรับผมสิ่งสำคัญของโพธิ์ต้นนี้อยู่ที่วิหารคดรอบต้นโพธิ์ ซึ่งเดิมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง นักโบราณคดีเห็นพ้องกันว่าเป็นวิหารคดที่เก่าสุดในไทย เลียนแบบลังกา มีที่นี่ที่เดียว”

สุจิตต์ กับศิวลึงค์ยาวสุดในไทยที่วัดต้นโพธิ์

ยังไม่ทันหายตื่นตะลึงกับข้อมูลวิหารคดวัดต้นโพธิ์ สุจิตต์ก็ทำหน้าที่เจ้าบ้านต่อไป โดยชวนแฟนๆ รายการข้ามถนนสายเล็กๆ ไปยังอีกฝั่งของวัดเพื่อชม “ศิวลึงค์” 2 เมตร 72 เซนติเมตร ยาวที่สุดในไทย แล้วไปต่อกันที่ “วัดแสงสว่าง” อันเป็นที่ตั้งของเจดีย์แบบพวน เชียงขวางทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่านี่คือเจดีย์มอญ

ไขปมเจดีย์พวนวัดแสงสว่าง ที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเจดีย์มอญ

“แถวนี้เคยถูกเรียกว่า โคกมอน มาจาก ชื่อต้นขัดมอน หรือต้นไม้กวาด ขึ้นอยู่ทั่วไป ไม่ใช่โคกมอญ ต่อมายุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม คลั่งความเป็นไทย เลยเปลี่ยนชื่อเป็นโคกไทยมาจนถึงทุกวันนี้”

ปิดท้ายทริปด้วยสถานที่สำคัญทั้งต่อประวัติศาสตร์ไทย และต่อความทรงจำในใจของสองเพื่อนซี้ นั่นคือ “รอยพระพุทธบาทคู่” วัดสระมรกต ซึ่งถูกพบจากการขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2528 จากทุนทรัพย์ที่ได้จากการ “ทอดกฐิน” โดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ชื่อว่า ขรรค์ชัย บุนปาน

ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะนำมาซึ่งการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในวงการโบราณคดีที่เปิดเผยความเชื่อมโยงอย่างแจ่มชัดกับวัฒนธรรมลังกา

“แม่ผมบอกอยากทอดกฐิน ตายละ! ทำไงดี เลยไปปรึกษาขรรค์ชัย ตอนนั้นมติชนกำลังขายดี ขรรค์ชัยบอก สบาย! เอาวัดไหนล่ะ สุดท้ายเลือกวัดสระมรกต ซึ่งเป็นวัดใหม่ เพิ่งตั้ง แถวนี้แต่ก่อนเป็นดง ป่าคลุมหมด แม่เคยพามาหาหน่อไม้ป่า พอเข้าเรียนโบราณคดีเลยรู้ว่านี่คือเนินโบราณสถาน วัดมาตั้งทีหลัง มีพระรูปเดียว เป็นเพื่อนผมเอง (หัวเราะ)”

พานหิน ในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร โดยมีชาวบ้านในพื้นที่คอยช่วยตัดหญ้า เก็บขยะสม่ำเสมอ

เงินที่ได้จากการทอดกฐิน ถูกหารครึ่ง มอบให้ ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้นเพื่อขุดค้นเนินดิน ทำให้พบรอยพระพุทธบาทคู่แห่งเดียวในไทย สลักบนศิลาแลงธรรมชาติแบบเดียวกับลังกา มีลวดลายธรรมจักร บริเวณกึ่งกลางพระพุทธบาทมีรอยไขว้คล้ายสวัสดิกะ สุจิตต์เชื่อว่าทำไว้ใส่หลุมปักฉัตรเหมือนในลังกา ถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ.1300 ตามหลักฐานในศิลาจารึกสระบัวล้า ปรากฏนาม “พุทธสิระ” สร้างไว้คู่เมืองเมื่อวันพุธ แรม 1 ค่ำ เดือน 7

จารึกดังกล่าวยังมีวสันตดิลกฉันท์เก่าสุดในไทย เป็น คาถากระทะน้ำมัน ขรรค์ชัยยังให้ทุน โรหณะ ธีระ อาจารย์ ม.โคลัมโบ ที่อยากศึกษาอิทธิพลลังกาในไทยเดินทางมาที่นี่

“เขาบอกว่าคาถานี้ คนลังการู้จักดี แต่งมาตั้งแต่ต้นพุทธกาล ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนายุคทวารวดีเชื่อมโยงกับลังกาสูงมาก ต่อมาอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากเขมรแผ่มา จึงสร้างศาสนสถานมหายานทับซ้อนรอยพระพุทธบาท คือ อโรคยาศาล ตรงนี้คือ สุคตาลัย หรือศาสนสถานประจำอโรคยาศาล มีการประดิษฐานพระไภสัชยคุรุ ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้าแพทย์ให้คนป่วยกราบไว้ และไปบำบัด”

จบรายการด้วยข้อมูลแน่นปึ้กแต่เข้าใจง่ายสไตล์ขรรค์ชัย-สุจิตต์เช่นเคย ส่วนทริปหน้าจะไปทอดน่องกันที่ไหน อย่าพลาดติดตามกันได้ทุกอังคารสุดท้ายของเดือน ผ่านเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี เวลาเดิมบ่ายสอง ต้องจ้องแบบอย่าเผลอกะพริบตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image