เดินไปในเงาฝัน : เพียงแค่‘หยุด’ก็พบ‘ความสุข’ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ตอนช่วงปีใหม่มีแหล่งข่าวเอาหนังสือมาให้อ่านหลายเล่ม ส่วนใหญ่มักเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
ผมไม่รู้เหมือนกันว่าคนยุคปัจจุบันเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร?
ทำไมถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมาก?

ในหนังสือเล่มนี้มีอยู่คนหนึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนเช่นกัน แต่ตอนหลังรักษาหาย เพราะใช้คำว่า “หยุด” เป็นเครื่องมือนำทาง

ทั้งนั้น เพราะตัวเขาเป็นครีเอทีฟในวงการโฆษณา มีรางวัลการันตีความสำเร็จในอาชีพมากมาย ที่สำคัญ ตลอดช่วงชีวิตของเขามีหน้าที่ที่ต้องคิด คิด คิด และก็คิด คิด คิด

เพื่อให้งานที่ “คิด” ออกมาโดนใจลูกค้า

Advertisement

ทุกงานที่เขา “คิด” ล้วนถูกยอมรับจากลูกค้า และถูกยอมรับจากบริษัทโฆษณาของเขาเอง ไม่เท่านั้น ทุกงานที่เขา “คิด” ยังทำให้เขาประสบความสำเร็จในวิชาชีพ

จนเขาเริ่มมองไปข้างหน้า

เขาบอกตัวเองว่าสิ่งที่เขาคิดไม่ควรอยู่เฉพาะแค่ในประเทศไทย หากสิ่งที่เขาคิดจะต้องถูกพิสูจน์ในระดับโลก เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานบริษัทโฆษณาในหลายประเทศแถบยุโรป

Advertisement

บางประเทศในเอเชีย

ซึ่งเขาก็ประสบความสำเร็จอีก

จนเขาบอกตัวเองว่า…เขาควรจะกลับมาเมืองไทยได้แล้ว โดยกลับมาทำงานยังบริษัทเดิม แต่ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้นกว่าเพื่อนรุ่นๆ เดียวกัน

เขาถือเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตคนหนึ่ง

แต่แล้วจู่ๆ เขากลับออกมาเปิดบริษัทโฆษณาเอง เขากลายเป็นผู้บริหารเต็มตัว เขาแบกความรับผิดชอบทั้งชื่อเสียงของบริษัท และสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จทางธุรกิจไว้ในมือเพียงคนเดียว

จนเขาคิดงานไม่ออก

คิดยังไงก็คิดไม่ออก

เพราะสมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ไม่ทำงาน ถามว่าทำไมเขาถึงเป็นเช่นนี้? คำตอบคือเขาเครียด เพราะแบกรับภาระทุกอย่างไว้ในมือเพียงคนเดียว

เขาปรึกษาหมอ

หมอแนะนำให้เขา…หยุดคิด

เพราะชีวิตคุณคิดมาตลอด แต่ต่อนี้ไปคุณต้องหยุดคิดได้แล้ว หัดปล่อยวางเสียบ้าง แล้วโรคซึมเศร้าของคุณจะค่อยๆ หายไป

ซึ่งก็เป็นจริง

ถามว่าคนที่ผมเล่าให้ฟังนี้คือใคร?

คำตอบคือ “นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว”

ถามต่อว่าจากหนังสืออะไร?

คำตอบคือ “เรียนรู้คุณค่าแห่งชีวิต” ที่มี “สถาบันอาศรมศิลป์” เป็นผู้จัดพิมพ์

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ยังมีอีกคนหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง เธอชื่อ “ภาริอร วัชรศิริ” อายุเพียง 27 ปี ซึ่งเมื่อก่อนเธอมีชีวิตปกติธรรมดาเหมือนหญิงสาวทั่วไป

ตื่นเช้าไปโรงเรียน

กลับมากินข้าว อ่านหนังสือ ไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าบ้าง เพราะเธอมีแม่เป็นผู้ดูแลทุกอย่างภายในบ้าน แต่เมื่อวันหนึ่งแม่ของเธอกลับล้มป่วยด้วยเส้นเลือดในสมองแตก

จนกลายเป็นอัมพฤกษ์

ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเธออยู่เพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เธอจึงต้องเปลี่ยนตัวเองจาก “ผู้ได้” มาเป็น “ผู้ให้” ด้วยการช่วยเหลือแม่ทุกอย่าง

เธอยอมรับว่าตอนนั้นมีความทุกข์มาก

ทั้งยังเคยพูดจาไม่ดีกับแม่ออกไปว่า…แม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม เมื่อทำอะไรไม่ได้แล้ว

แต่ “แม่” กลับตอบเธอว่า…ก็อยู่เพื่อแกไง

คำพูดของ “แม่” เช่นนี้เอง ที่ทำให้ “ภาริอร” เปลี่ยนความคิดทันที เพราะขนาดแม่ซึ่งอยู่ในสภาพเช่นนี้ ยังอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อเธอ

แล้วเธอล่ะ?

“ภาริอร” คิด และก็คิด คิด คิด

จนพบตำตอบในความเป็นจริงว่า…แม่คงไม่มีทางหายอย่างแน่นอนแล้ว แต่การที่แม่มีพัฒนาการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นติดกระดุมเสื้อได้ กินยาง่าย หรือกินข้าวหมดจาน ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว

เธอจึงเปลี่ยนจากความทุกข์มาเป็นความสุข

พร้อมกับแสวงหาความสุขให้ตัวเอง ด้วยการดูแลแม่ ดูแลตัวเอง และพยายามทำให้ทุกวันมีความหมายกับชีวิต เธอไม่อยากคิดเรื่องความฝัน

ไม่คิดถึงแม้แต่เป้าหมาย

แต่เธอกลับเลือกที่จะแสวงหาความสุขกับปัจจุบัน

จนเธอกลับมาเป็นหญิงสาวที่ร่าเริงอีกครั้งหนึ่ง

เพราะเธอเข้าใจชีวิตจริงมากขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image