รัตนา แซ่เล้า อำนาจนิยมใน’การศึกษาไทย’ สังคมที่กล่อมให้คนเชื่อง

รัตนา แซ่เล้า

คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะบอกว่า หนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังและยาวนานมากที่สุดประเด็นหนึ่งของประเทศไทยคือการศึกษา

ผ่านการพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เพื่อจะพบว่าเรายังยืนอยู่ที่เดิม หรืออาจขยับก้าวขึ้นมาไปยืนในจุดที่ผิดเพี้ยนไปจากทางที่ควรจะเป็น

ดร.รัตนา แซ่เล้า อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือหนึ่งในผู้ที่เห็นปมปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจนมากที่สุดคนหนึ่ง

รัตนา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ก่อนจะต่อในระดับมัธยมปลายที่ Lester B Pearson United World College of the Pacific, Victoria ประเทศแคนาดา และระดับปริญญาตรีโครงการอังกฤษอเมริกันศึกษา ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

ปี 2549 ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ เธอจึงไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการพัฒนาการศึกษาจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) และปริญญาโทด้านการทำวิจัยสังคมและการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในระดับปริญญาเอก รัตนาจบด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองการศึกษา (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน เธอเป็นอาจารย์ประจำวิชาการเมืองไทยและวิชาสังคมและเศรษฐกิจการพัฒนาไทย ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกับที่เธอจบปริญญาตรีมา

Advertisement

นอกไปจากนี้ เธอยังเป็นเจ้าของหนังสือ A Critical Study of Thailand’s Higher Education Reforms: The Culture of Borrowing ซึ่งได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอังกฤษอย่าง Routledge

ถัดไปจากบรรทัดนี้ คือทัศนคติและความเห็นที่เธอมีต่อระบบการศึกษาไทย ว่ากำลังบ่มเพาะอะไร และควรเคลื่อนไปในทิศทางใดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

มองว่าการศึกษาไทยสิ้นหวัง?

ต้องแยกส่วนของสถาบันกับส่วนของเด็ก ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราทำกลุ่มยูไนท์ ไทยแลนด์ เอาอุปกรณ์ศิลปะไปจัดกิจกรรม 15 ที่ทั่วประเทศ เจอเยาวชนไทยในรูปแบบต่างๆ ทำให้เห็นว่าเด็กไทยมีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ อยากพัฒนาตัวเองสูงมาก แต่ความสิ้นหวังคือสถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะโรงเรียน มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ เพราะอำนาจนิยมในทุกระดับ ผู้ใหญ่จะมองว่าความเป็นเด็กนั้นโง่เสมอ เด็กไม่ได้โง่ เขาไร้เดียงสา แต่นโยบายไทยพูดตลอดเวลาว่า Ranking เราต่ำ มหาวิทยาลัยไทยแย่ ภาษาอังกฤษเราต่ำในอาเซียน แปลว่าเด็กไทยโง่ภาษาอังกฤษ คำพูดเหล่านี้ควรจะเลิกนะคะ เพราะการด่าคนอื่นว่าโง่นั้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นคน เด็กจะโตมาได้อย่างไรถ้าเขารู้สึกว่าเขาโง่ คนทุกคนต้องการแรงใจ จะได้มีความตั้งใจเรียนกับทำกิจกรรม

การศึกษาไทยควรเคลื่อนไปทางไหน?

เริ่มจากมหา’ลัย การทำประกันคุณภาพถ้าเลิกไม่ได้ก็ต้องลดจำนวน ทุกวันนี้เรามีหลายหน่วยงานทั้ง สมศ. กพร. สกอ. ออกกฎชี้วัดเยอะแยะมาก เป็นร้อยตัว แทนที่อาจารย์จะเอาเวลาไปสอน ไปอ่านหนังสือหรือทำวิจัย ก็ต้องมาทำเอกสาร เฉลี่ยแล้วประมาณปีหนึ่งเราเสียเวลา 1 เดือนเต็มให้คนข้างนอกมาตรวจ ทั้งที่ 1 เดือนนี้เอาไปทำอะไรที่มีความหมายกับชีวิตได้

นอกจากนี้ การทำประกันคุณภาพยังเป็นอาณานิคมทางความคิด เราต้องตอบสนองตัวชี้วัดทั้งหมด แทนที่จะมาคิดว่าทำอย่างไรให้นักเรียนเราสนุกมีความสุขที่สุดใน 3 ชั่วโมงที่เรียนกับเรา ก็ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจะมีเอกสารเยอะๆ ตัดแปะๆ ไป จนเกิดอาณานิคมตัดแปะ ยังไม่พูดถึงว่าตัวชี้วัดนั้นมีหรือไม่มีคุณภาพ

แล้วจะประเมินอย่างไร?

ควรเลือกตัวชี้วัดที่จำเป็นที่สุด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมานั่งคุยกัน อย่าสั่งซ้ำซ้อน แล้วจากนั้น มหาวิทยาลัยจะไปพัฒนาตัวเองอย่างไรก็ควรให้อิสระเขา อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นตัวชี้นำทางความคิด เป็นพื้นที่ในการสร้างอิสรภาพ อ.ปรีดี พนมยงค์ ก็บอกว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นบ่อน้ำแห่งปัญญา แต่ขอโทษนะคะ ทุกวันนี้เราเป็นบ่อถังขยะของกระดาษ

ขอยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่เคยทำงานด้วย ทุก 6 เดือนเราจะต้องเข้าไปในระบบประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัย เขาจะถามว่าที่ผ่านมาสอนกี่วิชา เราก็อัพโหลดเพาเวอร์พอยต์ของเรา อัพโหลดเปเปอร์ที่ตีพิมพ์แล้วหรือที่กำลังเขียนอยู่ขึ้นไป ก็จบ ระบบประเมินคุณภาพไม่ได้ผิดโดยตัวเอง แต่ระบบอำนาจนิยมของไทยที่ทุกคนต้องการมีบทบาทและอยากมีความสำคัญเลยออกกฎมาเยอะๆ เป็นเสือกระดาษ รู้สึกว่าถ้าฉันออกกฎเยอะอำนาจฉันก็เยอะ

ต้นตอของปัญหาระบบการศึกษาไทย?

อย่างแรก คนไทยเห่อฝรั่งและเห่อทุกอย่างที่ข้างนอกเป็น คือ The Culture of Borrowing ใครมีอะไรเราก็อยากมีด้วย แล้วเราก็ลอกทุกคน นักนโยบายไทยก็มักจะบอกว่า นโยบายการศึกษาไทย Made in Thailand ชอบใช้ความเป็นชาตินิยมบอกว่าเราไม่ได้เลียนแบบใคร แค่ประยุกต์ของทุกคนให้เป็นของไทยๆ สรุปก็ออกมามั่ว คือระบบตรรกะมันต่างกัน ถ้าเราเลียนแบบระบบตรรกะของญี่ปุ่น คือมี Discipline, Clean, Order, Top Down แต่ถ้าคุณไปเลียนแบบของอเมริกา คือมี Decentralized, Empowered, Local Level แต่ถ้าคุณไปเอาทุกอันมารวมกันมันก็ขัดกันเอง

บรรยากาศบ้านเมืองมีส่วนให้การศึกษาไทยไม่ก้าวหน้า?

แน่นอนค่ะ (ตอบเร็ว) การศึกษาคือการมีอิสรภาพทางความคิด มีการคิดเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามได้ สร้างสรรค์ได้ คำว่า “อำนาจนิยม” ไม่ได้มีแค่รัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารเป็นส่วนหนึ่ง แต่อำนาจนิยมของไทยนั้น คือ ความเป็นผู้ใหญ่ที่ดูถูกเด็กแทรกซึมอยู่ในทุกระดับ ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ไม่ดีนะคะ แต่ตราบใดที่เราคิดว่าทุกอย่างมากับอายุ เราไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ๆ เลย นอกจากนี้ ยังมีการ Discrimination หรือการเหยียด การกดขี่ เช่น ถ้าเราเจอเด็กออทิสติก ก็จะมีคนไปกดไปเหยียดเขาว่าโง่ เป็นต้น เขาอาจมีความผิดพลาด แต่การดูถูกว่าโง่ก็เป็นการดูถูกความเป็นเพื่อนมนุษย์ของกันและกัน

ทุกวันนี้ทุกคนพูดในสิ่งที่คนหนึ่งอยากฟังเพื่อให้ตัวเองได้เติบโตทางอำนาจหน้าที่การงาน นโยบายของไทยทุกวันนี้ คำว่า Reform คือ เหล้าเก่าในขวดใหม่ เอาคำสวยหรูมาแปะในกระดาษและไม่มีความหมาย

เข้าใจว่านโยบายมีความตั้งใจที่ดี แต่กระบวนการถูกบีบคั้นด้วยอำนาจและความทะเยอทะยานของทุกคนที่อยากนั่งตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราต้องไปนั่งตรงนั้น ต้องพูดเอาใจคนที่ใหญ่กว่า ก็ไม่เกิดการถกเถียง ความต้องการของคนและอำนาจนิยมบีบคั้นให้เราไม่มีอิสรภาพทางความคิด

สถานะมหาวิทยาลัยไทยในเวทีโลกเป็นอย่างไร?

จริงๆ มีความหวังอยู่หลายที่ แต่ต้องมีการจัดระบบที่ดีกว่านี้ ต้องเลิกอยากจะมีอันดับสูงๆ แต่ต้องค้นหาตัวเองว่า ต้องการพัฒนาใดแล้วโฟกัส คณะเกษตรอยากพัฒนาเรื่องพันธุ์ข้าวโพด อีกที่หนึ่งบอกว่าอยากพัฒนาการประมง คุณต้องหาตัวเอง ประเทศไทยมีการประเมินที่ให้คะแนนอัตลักษณ์ แต่คนไม่เข้าใจ ถ้าคุณเริ่มค้นหาตัวเองอย่างจริงจัง อันดับก็จะขยับขึ้นเอง แต่ทุกวันนี้เหมือนจะผิดโจทย์หรือเปล่า

เหมือนมีเด็ก 2 แบบ เด็กที่บอกว่าชอบวาดสีน้ำ จะวาดให้ดีที่สุด เรียนไปเรื่อยๆ จบออกมาเขาอาจไม่ได้เกียรตินิยม แต่เขามีทักษะสีน้ำที่มหัศจรรย์มาก ขณะที่เด็กอีกคนหนึ่ง ตามใจอาจารย์ทุกคน เรียนให้ได้เกรด 4 จบมาเกียรตินิยมแต่เหมือนปลากระป๋อง โลกปัจจุบันไม่ได้แข่งว่าคุณต้องดีทุกเรื่อง คุณดีเรื่องเดียวก็พอแล้ว ระบบการศึกษาไทย ยุคหนึ่งเราอยากเป็นอย่างยุโรป แบบอังกฤษเป็นสุภาพบุรุษ อีกยุคเราก็อยากต่อสู้แบบอเมริกัน อีกยุคอยากแข่งวินัยแบบญี่ปุ่น สับสนไหม เหมือนเป็นวัยรุ่นไม่โตเสียที (หัวเราะ) ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ

โตมาในการศึกษาไทย เคยเจออะไรแย่ๆ ไหม?

เรียนเยอะไป (ตอบเร็ว) ยังไม่เข้าใจเลยเปลี่ยนวิชาแล้ว โครงสร้างเราอยากได้เด็กสมบูรณ์แบบ รอบรู้ทุกเรื่อง แต่มันโอเคจริงๆ เหรอ เหมือนเพลง All of Me ของจอห์น เลเจนด์ ที่บอกว่า “Perfect Imperfections” คือแม้ไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็สมบูรณ์แบบได้ แต่ประเทศนี้อยากได้คนที่รู้ทุกเรื่อง ให้ลูกเรียนบัลเลต์ตอน 3 ขวบ 4 ขวบเรียนเปียโน 7 ขวบเรียนฮิพฮอพ เด็กก็ไม่เก่งสักทาง เราเองก็ด้วยนะ (หัวเราะ)

ชอบการศึกษาของประเทศไหน?

แคนาดาค่ะ เป็นระบบ International Baccalaureate (IB) ที่เด็กต้องเรียนทุกสาขาวิชา 7 แบบ เช่น สาขาศิลปะจะเรียนดนตรีหรือภาพยนตร์อะไรก็ได้ เลขก็มี เลขง่าย-ยาก-ยากมากๆ เด็กทุกคนในโรงเรียนจะไม่มีใครเรียนเหมือนกันทั้ง 7 หมวด

ตอน ม.5 ได้ทุน United World Colleges ไปแคนาดา ตอนอยู่ไทยก็เป็นเด็กเรียนเก่งระดับหนึ่งนะ (ยิ้ม) แต่พอไปโน่นเรารู้สึกเป็นกบในกะลามาก ไม่เก่งสักอย่าง เช่น ได้เกรด 4 ภาษาอังกฤษแต่ไม่รู้เรื่องวรรณกรรม พอไปอยู่โน่นเลยทำให้รู้ว่าชอบวิชาประวัติศาสตร์ ตอนอยู่ไทยก็ท่องไปเรื่อยๆ 14 ตุลาเกิดวันที่นี้ แต่อยู่โน่นเราต้องเขียนว่าทำไมเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา การตั้งคำถามมันต่างกัน การที่เราไปตรงโน้นตั้งแต่อายุ 16 นับเป็นรากฐานที่ดีที่ทำให้เรียนปริญญาโทปริญญาเอกได้ดี เพราะเราต้องเรียนด้วยตัวเอง สองปีสอบครั้งหนึ่ง อาศัยวินัยเยอะ

ทำยังไงมหาวิทยาลัยไทยจะเปิดกว้างกว่านี้?

มหาวิทยาลัยควรเปิดให้นักเรียนทำกิจกรรมมากขึ้น ต้องมีเงินส่วนกลางที่ให้ทุกปี 5-10 ล้านบาท ให้เด็กเขียนโครงการมา ไม่ต้องทำในนามชมรมก็ได้ การอ่านหนังสือแค่รับรู้ แต่การทำจะทำให้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ไม่ต้องให้เงินเยอะ ปีนี้สนใจจะไปออกค่ายจับกบ ดูงงๆ ก็เอาเงินไปหมื่นนึง จับกบมาแล้วทำอะไรต่อ เลี้ยง 2 ปี พอกบโตก็ให้อีก 2 หมื่น ต้องมีอิสระให้เด็กได้ค้นหาสิ่งที่อยู่ในหัว เราเป็นเด็กกิจกรรมมาตลอด ธรรมศาสตร์ให้โอกาสเราได้ค้นหาตัวเอง เคยจัดโต้วาทีภาษาอังกฤษร่วมกับสหภาพยุโรป ตอนนี้เขาทำมาเป็นปีที่ 11 แล้ว คนอื่นเขาเห็นว่าดีก็ทำต่อ แต่ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเอาเงินไปทำอะไร ผู้บริหารไปดูบอล ไปดูทำไม

อีกส่วนหนึ่งทุนวิจัยควรมีมากกว่านี้ ระบบการขอต้องง่ายกว่านี้ ทุกวันนี้จะขอทุนวิจัยต้องส่งเอกสาร 20-30 หน้า เอาเวลาเขียน 30 หน้า ไปทำวิจัยเลยดีไหม

ระหว่างการทำวิจัยกับสอนนักศึกษาให้น้ำหนักส่วนไหนมากกว่า?

โดยส่วนตัวคิดว่าสอน 40 เปอร์เซ็นต์ และวิจัย 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราทำวิจัยกับอาจารย์คนอื่นในอาเซียนเยอะ เวลาไปเก็บข้อมูลแล้วกลับมาสอนจะหนักแน่นขึ้น อย่างช่วงน้ำท่วมหลายปีที่แล้ว เราลงพื้นที่กับเวิลด์แบงก์ไปอยู่ลพบุรี 3 อาทิตย์ เก็บข้อมูลกับชาวบ้าน พอต้องมาสอนวิชา Development เราก็เล่าเรื่องนี้ให้เขาฟังได้ ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัยสัก 60 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต แล้วสอน จะทำให้เด็กมีความหนักแน่นทางวิชาการ ไม่ใช่นักวิจัยนั่งเทียนสูบบุหรี่นั่งมองแม่น้ำว่าสุไหงโก-ลกเป็นแบบนี้ ถ้าคุณไม่ลงไปจะรู้ไหม

การเมืองภายในมหาวิทยาลัยส่งผลต่อการทำวิจัยไหม?

ส่งผลค่ะ แต่ไม่ได้เจอทุกคนเท่าๆ กัน ถ้าคุณทำวิจัยสังคมศาสตร์เกี่ยวกับอำนาจรัฐ ทหาร ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง คุณโดนเต็มๆ แต่ถ้าคุณทำวิจัยเรื่องการเพาะพันธุ์ไม้ก็ไม่เกี่ยว ทุกวันนี้การเมืองในมหาวิทยาลัยค่อนข้างดุเดือดทุกที่ที่สัมผัสมา ใครๆ ก็อยากมีชื่อในการตีพิมพ์ ผู้บังคับบัญชาก็จะบอกว่าถ้าจะเอาทุนต้องใส่ชื่อให้ด้วย อย่างนี้เรียกว่าลอกหรือโกง

นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นสังคม เป็นหน้าที่ด้วยไหม?

สิทธิของเขา คำว่านักวิชาการสิ่งสำคัญที่สุด คือ อิสรภาพทางความคิด ถ้าเขาคิดว่าการทำวิจัยเรื่องชุมชน แล้วเขาไปพูดสนับสนุน นั่นคือความต้องการของเขา คุณควรนับถือ เช่นเดียวกับนักศึกษา สังคมกว้างและหลากหลาย มีพื้นที่ให้คนเยอะแยะ ถ้าเราเป็นเนิร์ดชอบนั่งในห้องสมุดอยู่คนเดียวก็ปล่อยให้ทำเถอะ เดี๋ยวจะเขียนหนังสือให้เสร็จเอง ถ้าอีกคนอยากไปกวาดถนนให้สิ่งแวดล้อมดี ก็เป็นสิทธิของเขา ตราบใดที่เขามาสอน 6 ชั่วโมง 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สังคมไทยทุกวันนี้ใจแคบมาก คิดว่าเป็นนักวิชาการควรสอนกับวิจัย มันไม่จริง ทุกคนมีชีวิตของตัวเอง

กรณีการปิดกั้นเสวนาวิชาการส่งผลถึงเรื่องอื่นไหม?

สังคมต้องเปิดกว้าง บางเรื่องยังไม่เป็นเรื่องเลยก็ปิดแล้ว แค่เห็นคำว่า “ความคิด” ก็แตกตื่น เซ็นซิทีฟไปไหม เป็นสังคมที่อ่อนไหว ขนาดเราเป็นภูมิแพ้ทุกอย่างเรายังไม่เปราะบางขนาดนั้นเลย ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่แม้กระทั่งนักวิชาการเอง มักโทษคนอื่น เราโตมาทั้งชีวิตก็โทษว่าเมืองไทยทำให้เราเชื่อง แต่ทุกวันนี้บอกเลยว่าเราทำตัวเองให้เชื่อง เพราะมันง่าย จะได้อยู่รอด เรายังไม่ต้องก้าวไกลไปเวทีโลก เริ่มจากกล้าตั้งคำถามก่อน กล้าคิด กล้าครีเอทีฟ กล้าแสดงออกทางความคิดโดยไม่ผ่านความรุนแรง ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ไทยเสี้ยมสอนให้นักเรียนนักศึกษาเกลียดชัง เขียนหนังสือที่เต็มไปด้วยเลือด

เราบอกนักศึกษาตลอดเวลาว่า ห้ามตายเพื่อใครนอกจากพ่อแม่ อยากบอกว่า 1.อย่าทำให้ตัวเองเชื่อง 2.อย่าสร้างความรุนแรง 3.อย่าโทษคนอื่น 4.ความเกลียดชังไม่ช่วยให้อะไรเกิดขึ้น 5.เมืองไทยต้องการสันติภาพ ไม่ว่าคุณอยู่ศาสนาใดหรือไม่มีศาสนา ขอให้เคารพในความเป็นคนของคนอื่น ให้เกียรติคนอื่นในสิทธิเสรีภาพของเขา ถ้าเขาไม่กินหมูก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปบังคับ เขาไม่ผิด ถ้าฉันไม่กินเนื้อก็อย่ายุ่งกับฉัน ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน สังคมจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ชีวิตจริงเป็นทุกอย่างเบลอเป็นสีเทา ไม่มีที่บอกว่ารัฐถูกแล้วนักเรียนผิด รัฐมีหน้าที่ในการสร้างกฎระเบียบ ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ในบรรทัดฐานเดียวกัน รัฐมีหน้าที่ในการสร้างการดูแลความปลอดภัย แต่รัฐไม่มีหน้าที่ในการบังคับอิสรภาพทางความคิดของทุกคน นักเรียนมีหน้าที่ไปโรงเรียน แต่นักเรียนไม่ต้องชอบทุกวิชาที่เรียน ตกบ้างก็ได้ เราเคยอยากเป็นเด็กเรียนเก่ง อยากเป็นคนที่สังคมชื่นชม อยากเป็นคนที่เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ถึงจุดหนึ่งเราไม่อยากเป็น

Perfection is flat, boring.

รัตนา แซ่เล้า
รัตนา แซ่เล้า

เสรีภาพทางวิชาการ-อย่าตั้งคำถามในดินแดนต้องห้าม

พูดเรื่องการศึกษากับรัตนาแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการที่สถานการณ์ทุกวันนี้มีความเด่นชัดอันจะเห็นได้จากเหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมา

ยิงคำถามถึงความน่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ รัตนาตอบกลับอย่างรวดเร็วว่า “น่าเป็นห่วงมาก”

“เรากำลังจำกัดแม้กระทั่งความคิดซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ระบบสร้างกลไกหลายอย่างขึ้นมาเพื่อให้คนไม่กล้าคิด กลัวที่จะคิด กลัวที่จะพูด ถ้าอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่ไม่มีแม้แต่อิสรภาพในการคิด แล้วจะทำวิจัยที่ดีได้ยังไง

“ทุกวันนี้ระบบของเรามีคำถามต้องห้ามหลายเรื่อง เมื่อคุณอยู่ในแดนต้องห้าม ก็คล้ายๆ อยู่ในแดนสนธยา ตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องถาม ตัวอย่างเช่น ห้ามตั้งคำถามถึงอำนาจของอธิการบดี ถ้าคุณตั้งคำถามเกี่ยวกับกลไกการคอร์รัปชั่นของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอบีซี คุณคิดว่าเอบีซีจะให้เงินทุนคุณสองหมื่นบาทไหม”

รัตนาอธิบายต่อไปว่า ทุกวันนี้เราเชื่องด้วยตัวเราเอง แม้เราจะโทษว่าสังคมไทยทำให้เราเชื่อง ทั้งด้วยกลไกอำนาจของรัฐและตลาดที่บีบคั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณทำให้ตัวคุณเชื่องเอง ถ้าคุณปลดแอกอิสรภาพทางความคิด กล้าคิดกล้าถาม จะมีทางออกในการระบายมากมาย

“ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว กลัวทุกอย่าง กลัวสื่อเอาไปพูด กลัวใครมาอุ้ม เราก็เปิดเนิร์สเซอรี่เถอะ อย่าเปิดมหา’ลัยเลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image