อาศรมมิวสิก : ‘ณัฐพงษ์ วีระพันธุ์ นักดนตรีไทยคนแรกในวง Chicago Symphony Orchestra’ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

“The Big 5” เป็นคำที่เกิดขึ้นและใช้เรียกกันในหมู่คนรักดนตรีคลาสสิกทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960 (ยุคทองของดนตรีในทุกแขนง) ซึ่งคำว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 5” ในที่นี้ก็หมายถึง วงออเคสตราในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด 5 วง นั่นเอง

นั่นก็คือ ชิคาโกซิมโฟนีออเคสตรา, บอสตันซิมโฟนีออเคสตรา, นิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิก, ฟิลาเดลเฟียออเคสตรา และคลีฟแลนด์ออเคสตรา

แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 50 ปี มีวงออเคสตราเกิดขึ้นใหม่ในอเมริกาหลายวง และบางวงก็มีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น เรียกได้ว่าดีมากขึ้นทั้งจำนวนวงและคุณภาพจนยากแก่การชี้วัดจัดอันดับ อีกทั้งมีนิตยสารดนตรีและไม่ใช่ดนตรี ได้จัดอันดับวงออเคสตราในอเมริกากันอีกหลายครั้ง ซึ่งในทุกๆ ครั้งวงออเคสตรา “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 5” นี้ก็จะต้องติดอยู่ในอันดับต้นๆ อยู่เสมอ จนพอจะกล่าวได้ว่าคำว่า “The Big 5” นี้ยังคงไม่อาจลบเลือนและเป็นที่ยอมรับกันอยู่ลึกๆ ในหัวใจคนรักดนตรีคลาสสิกทั้งที่อเมริกาและทั่วโลกมาจนทุกวันนี้

เรื่องราวที่นำมาเขียนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันในวันนี้ไม่น่าจะเป็นข่าวทางดนตรีที่สำคัญใดๆ เลย หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น, จีน หรือเกาหลี เพราะต้องยอมรับว่าวงการดนตรีบ้านเขาพัฒนากันไปไกลมากจนมีนักดนตรีในประเทศเหล่านี้ผ่านการสอบคัดเลือก เข้าไปนั่งอยู่ในวงออเคสตราชั้นนำทั้งในอเมริกาและยุโรปมากมาย ในช่วงราว 20-30 ปีมานี้ เหล่าอาตี๋, อาหมวย (จนปัจจุบันกลายเป็นอาแปะ, อาซิ้มกันไปแล้ว) ผมดำๆ ตาตี่ๆ ได้เข้าไปร่วมนั่งบรรเลงในวงออเคสตราชั้นนำของโลกจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ครั้นหันมาย้อนดูในวงการดนตรีบ้านเรา ก็ได้แต่พากันเฝ้าฝันว่าเมื่อใดที่เราจะมี “คนไทยคนแรก” ที่จะได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางดนตรี เข้าไปปักธงนั่งบรรเลงในวงชั้นนำระดับโลกให้ได้น่าชื่นใจกับเขาบ้าง

Advertisement

ความรู้สึกก็อาจคล้ายๆ กับฝันให้นักฟุตบอลชาวไทยได้เข้าไปร่วมเป็นทีมนักเตะในสโมสรฟุตบอลชั้นนำในยุโรปนั่นเอง

จนเมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ทางวงชิคาโกซิมโฟนีออเคสตราได้ประกาศผลการสอบคัดเลือก “นักดนตรีสำรอง” (แบบที่มักเรียกกันว่า “Substitute on call”) ในกลุ่มทรัมเป็ต (Trumpet) 3 คน หนึ่งในนั้นมีชื่อนักเป่าทรัมเป็ตชาวไทยนามว่า “ณัฐพงษ์ วีระพันธุ์” รวมอยู่ด้วย ซึ่งแฟนๆ ดนตรีคลาสสิกทั่วโลกมักจะรู้ๆ กันดีว่าชิคาโกซิมโฟนีฯนั้นนอกจากจะเป็นหนึ่งในวงออเคสตราชั้นนำของโลกแล้ว ยังขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นวงที่มีกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (Brass Section) ที่ยอดเยี่ยมโดดเด่นที่สุดในระดับตำนานเล่าขาน และถ่ายทอดผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่น

ความโดดเด่นใน “เสียงชิคาโก” (Chicago Sound) ที่แฟนเพลงคาดหวังอยู่ลึกๆ จากวงนี้ส่วนหนึ่งก็คือความยิ่งใหญ่, งดงาม, โอ่อ่า, ทรงพลังอำนาจในบทเพลงแนวโรแมนติกขั้นสูงทั้งหลาย ที่มาจากกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (หรือกลุ่มแตร) ของวงดนตรีชั้นเลิศวงนี้ ณัฐพงษ์ วีระพันธุ์ กลายเป็นชาวไทยคนแรกที่ผ่านการคัดเลือก (อันแสนยากเย็น) เข้าไปเป็นหนึ่งในตำนาน “Chicago Sound” เป็นผลสำเร็จนี่จึงเป็นการปักธงความสำเร็จทางดนตรีคลาสสิกระดับโลก ที่กล่าวได้ว่าประเทศไทยเรายังไม่เคยมีนักดนตรีคนใดผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของ “วงออเคสตราระดับโลก” แบบนี้มาก่อน

Advertisement

เรื่องราวความสำเร็จของณัฐพงษ์ในครั้งนี้เป็นแบบอย่างได้ดีทั้งในด้านวิถีแห่งดนตรีและวิถีแห่งชีวิต หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง ณัฐพงษ์ได้เข้าศึกษาต่อทางดนตรีที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิถีชีวิตดนตรีในระดับนานาชาติเริ่มต้นขึ้นหลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาได้รับทุนการศึกษาต่อที่สถาบันดนตรี “Yong Siew Toh Conservatory of Music” ที่ประเทศสิงคโปร์ และที่สถาบันแห่งนี้เอง ที่เป็นจุดหักเหในชีวิตที่เป็นทั้งด้านลบและด้านบวกที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างไม่น่าเชื่อ เขาเริ่มเปลี่ยนเทคนิควิธีการและทัศนคติในการเล่นทรัมเป็ตที่ทำให้เกิดปัญหาโดยไม่รู้ตัว ด้วยวิธีการเล่นที่ใช้พละกำลังอย่างหักโหม, ตึงเครียด สะสมแรงบีบคั้นทีละน้อยๆ จนเริ่มรู้ตัวว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยิ่งเกิดขึ้นในชีวิตแล้ว วิถีการเล่นทรัมเป็ตของเขาอาจจะนำไปสู่ทางตันได้ในไม่ช้า

เขารวบรวมความพยายามที่พอจะมีเหลืออยู่พร้อมความเชื่ออย่างมุ่งมั่นที่ว่า วงชิคาโกซิมโฟนีฯที่มีตำนาน “Chicago Brass Sound” ที่เขาได้ยินกิตติศัพท์มายาวนานนั้น จะต้องมีหนทางสว่างในการแก้ไขปัญหานี้ ต้องนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ๆ คนเก่งให้ได้มากที่สุด หลังจากความพยายามแบบ “ก๊อกสุดท้าย” มันก็ได้นำพาตัวเขาไปสู่เมืองชิคาโกในฝันได้อย่างไม่ราบรื่นนัก เขาได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันดนตรีในเมืองชิคาโกเพียง 60% (เนื่องจากผลการสอบคัดเลือกที่ไม่งดงามนัก) เขาต้องพาครอบครัวไปดิ้นรนเพื่อหางานทำหารายได้เสริมเพื่อมาสมทบทุนค่าเล่าเรียนอีก 40%

นี่คือช่วงชีวิตที่ต้องลำบากดิ้นรนต่อสู้ทั้งในการดำรงชีวิตและการต่อสู้ทางดนตรี ณัฐพงษ์ใช้เวลาแก้ไขปรับเปลี่ยนเทคนิคในการเล่นทรัมเป็ต ณ สถาบันดนตรีแห่งเมืองชิคาโก 5 ปี จนจบการศึกษาทั้งในระดับปริญาโทและประกาศนียบัตรเป็นที่เรียบร้อย

หลังจบการศึกษาปัญหาหนักก็ตามมาอีก นั่นคือเรื่องสถานที่ฝึกซ้อม เพราะเมื่อจบการศึกษามาแล้วเขาต้องหาสถานที่ฝึกซ้อมต่อให้ได้ (ทรัมเป็ตเป็นเรื่องดนตรีที่มีเสียงดังมากจึงยากแก่การหาสถานที่ฝึกซ้อม) ในช่วงระหว่างหางานประจำทางดนตรีไม่ได้นั้น เขาต้องไปทำงานเป็นพ่อครัวอยู่ในร้านอาหารและขอสลับเวลาพักกับเพื่อนเพื่อไปฝึกซ้อมทรัมเป็ตในห้องเก็บของ หรือการต้องไปหาพื้นที่ซ้อมในพื้นที่ว่างชั้นบนสุดของหอสมุดกลางของเมืองในยามจำเป็น และแม้แต่การจำเป็นต้องซ้อมในรถโดยเปิดเครื่องทำความร้อนเพื่อเอาชนะความหนาวเย็นจัดของสภาพอากาศ ไม่มีข้ออ้าง, ไม่มีหลักกการใดๆ ที่จะมาสร้างความลังเล เขาต้องดิ้นรนทุกวิถีทางทั้งการหาพื้นที่ฝึกซ้อมและการหารายได้เลี้ยงชีพ

ในช่วงกลางปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมานี้เอง การก้าวข้ามสู่ความฝันครั้งใหญ่ในชีวิตเดินทางมาถึงจุดของมัน เขาได้เข้าร่วมในการสอบคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกนักดนตรีตัวสำรองในกลุ่มทรัมเป็ตของวงชิคาโกซิมโฟนีออเคสตรา แน่นอนที่สุดว่ามันเป็นการแข่งขันอย่างสูงทางวิชาชีพดนตรีในระดับสากล ความฝันครั้งสำคัญในชีวิตที่ตัวเขาเองเฝ้ารอคอยมานาน มันเป็นกระบวนการคัดเลือกนักดนตรีที่สูงด้วยมาตาฐาน, ความเข้มงวดและยุติธรรมด้วยระบบที่เรียกกันว่า “ไม่เห็นหน้า” (Blind Audition)

ณัฐพงษ์เล่าว่า นอกจากจะไม่ให้กรรมการได้มีโอกาสเห็นหน้าผู้เข้าสอบแล้ว นักดนตรียังจะต้องเดินบนพรมอย่างหนาที่ปูลาดไว้ เพื่อป้องกันเสียงส้นรองเท้ากระทบพื้นซึ่งมันอาจบ่งบอกถึงเพศของผู้เข้ารับการสอบคัดเลือก ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องทัศนคติกีดกันทางเพศใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ห้ามส่งเสียงพูดเด็ดขาด กรรมการและผู้เข้ารับการคัดเลือกติดต่อผ่าน “คนกลาง” ที่จะส่งเสียงถาม-ตอบมาจากด้านหลัง ปิดโอกาสทุกทางที่จะให้คาดเดา-ล่วงรู้ได้ว่า “ใครเป็นใคร”

สำหรับข้อคลางแคลงใจในฉันทาคติที่อาจเกิดขึ้นในบางกรณี ระหว่างกรรมการกับผู้เข้าคัดเลือกซึ่งอาจอยากช่วยเหลือลูกศิษย์ให้เข้ามานั่งร่วมวงในทีมเดียวกันนั้น

ณัฐพงษ์ให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า “…อาจารย์คงไม่กล้าเสี่ยงที่จะช่วยเหลือเอาลูกศิษย์ที่ด้อยความสามารถเข้าไป แล้วไปนั่งบรรเลงจนเกิดความผิดพลาดขึ้นในนามวงทั้งวง ซึ่งนั่นเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ที่อาจารย์ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว…” ซึ่งผู้เขียนก็อยากจะเสริมว่าด้วยเกียรติภูมิและความยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพขององค์กรทางดนตรีระดับนี้ ย่อมต้องระมัดระวังมิให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบอย่างแรงในการบรรเลงคอนเสิร์ตจริง และกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของวงที่ได้สร้างสั่งสมมานานนับร้อยปี คงไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกของเขาในวันที่ได้รับอีเมล์แจ้งผลการสอบคัดเลือก อันเป็นเสมือนคำตัดสินชี้ชะตาชีวิตและความฝันที่เขาทุ่มเทอย่างหนักเพื่อแลกโอกาสมานานหลายปี

เขาบอกกับผู้เขียนสั้นๆ ว่า “…แทบไม่อยากจะเปิดดูเลยครับพี่…”

งานครั้งแรกกับวง CSO เป็นคอนเสิร์ตดนตรีประกอบภาพยนตร์ ซึ่งมีผลงานของจอห์น วิลเลียมส์ รวมอยู่ด้วย ซึ่งแฟนๆ ดนตรีจะต้องไม่ลืมว่าดนตรีประกอบภาพยนตร์ ของจอห์น วิลเลียมส์ นั้นมีการเขียนแนวการบรรเลงของกลุ่มเครื่องลมทองเหลืองอย่างหรูหราโอ่อ่าเพียงใด และหนักหนาสาหัสมากสำหรับผู้เล่น เขาได้รับมอบหมายให้บรรเลงทรัมเป็ตแนวที่สาม ซึ่งจอห์น วิลเลียมส์ มีวิธีแบ่งเบาความเหนื่อยของแนวเดี่ยวทรัมเป็ต โดยการเขียนแนวเดี่ยวแบบแบ่งครึ่งกันระหว่างทรัมเป็ตแนวที่หนึ่งและแนวที่สาม นั่นก็คือเขาต้องรับบทโซโลร่วมกับหัวหน้ากลุ่มอย่างทัดเทียมกันในงานแรกนี้นับเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ น้องใหม่ฝึกงานที่โหดหินเอาเรื่องทีเดียว

เขากลับมาพร้อมความวิตกในใจอยู่บ้างว่า “…เขาจะเรียกเรากลับไปเล่นอีกไหมหนอ…” คำตอบที่ได้รับก็คือการเรียกเข้าร่วมทีมกับ CSO ในงานสำคัญๆ อีก 4-5 ครั้งติดตามมา อาทิ การบรรเลงในเทศกาลดนตรีหลักของวงคือ “Ravinia Festival” ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม, การได้ร่วมบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีหมายเลขหนึ่ง ของรัคมานินอฟ ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “Thomas Sondergard”, การบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีหมายเลขสามของ “แอรอน คอปแลนด์” และซิมโฟนีหมายเลขหนึ่ง ของ “กุสตาฟ มาห์เลอร์” ภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรสุภาพสตรีชื่อดัง “มาริน อัลซอป” (Marin Alsop) ซึ่งเมื่อถามถึงการบรรเลงภายใต้การนำของวาทยกรสตรีผู้นี้ เขาพูดเพียงสั้นๆ ว่า “ดนตรีของเธอแข็งแกร่งมากครับ”

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง ณัฐพงษ์ถูกเรียกตัวเข้าร่วมงานสำคัญกับ CSO อีกครั้งในการออกตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศญี่ปุ่นภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรหลักผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกนั่นคือ “ริคาร์โด มูติ” (Riccardo Muti)

เสร็จจากการทัวร์คอนเสิร์ตในญี่ปุ่นกับ CSO ณัฐพงษ์กลับมาเยี่ยมเมืองไทย เขาได้รับเชิญออกตระเวน ให้การสอน-อบรมศิลปะการเล่นทรัมเป็ตขั้นสูง (Masterclass) ให้กับนักเรียนดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง สร้างความฮือฮา และสร้างแรงบันดาลใจให้กับบรรดานักเรียนทรัมเป็ตรุ่นน้องมากมาย ด้วยความใฝ่ฝันที่อยากจะประสบความสำเร็จให้ได้เช่นเขา หลายคนมีความเห็นว่าอยากให้เขากลับมาอยู่เมืองไทยนานๆ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดความรู้สิ่งดีๆ ให้กับคนรุ่นใหม่

แต่…ผู้เขียนเองกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะสิ่งแวดล้อมจำเป็นต่อการรักษามาตรฐานและพัฒนาการทางดนตรีในระดับปัจเจกบุคคลมาก

ณัฐพงษ์เองต้องเข้มแข็งและเข้มข้นทางดนตรีด้วยตัวเองให้ได้เสียก่อนจึงจะสามารถถ่ายทอดสิ่งดีๆ มาสู่คนรุ่นใหม่ๆ ได้ การมาอยู่ในสารขัณฑ์ประเทศที่ดนตรีคลาสสิกไม่เป็นที่นิยม, ยอมรับมากพอแบบในจีน, ญี่ปุ่น หรือเกาหลี นั่นย่อมทำให้ตัวเขาเองอาจประสบสภาวะถดถอยในระยะยาว และนั่นก็คงไม่มีอะไรจะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปเป็นแน่ เปลี่ยนใจเป็นมาร่วมเชียร์ให้เขาได้อยู่ร่วมงานในฐานะ “คนไทยคนแรก” (ที่หวังว่าไม่ใช่ “คนเดียว”) ในวง CSO ไปได้นานๆ และช่วยเชียร์ให้เขาได้ขยับเลื่อนตำแหน่งเป็นนักดนตรีประจำวงเสียยังจะดีกว่า และหาโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดบ้างเพื่อถ่ายทอดวิชาเป็นครั้งคราว

เอ…จบด้วยบทสรุปแบบนี้ผู้เขียนจะถูกประณามว่ามีทัศนคติแบบ “คนไม่รักชาติ” หรือเปล่านี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image