ผู้เขียน | ชมพูนุท นำภา |
---|---|
เผยแพร่ |
ฉากหน้าของอาชีพเชฟมือทองในสายตาผู้คนอาจมองว่าหรูหรา แต่เบื้องหลังนั้นหนักหนากว่าที่คิด
ย้อนกลับไปในวัยเพิ่ง 16 หย่อนๆ เลือดคนหนุ่มสูบฉีดเร็วและแรง ชายหนุ่มจากปักษ์ใต้กำลังได้สัมผัสโลกใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคยระหว่างทำงานพิเศษในร้านอาหาร ความตื่นตาตื่นใจในห้องครัวนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
จากนักเรียนช่างไฟฟ้าอนาคตรุ่ง เกรดเฉลี่ย 3.8 ตัดสินใจหยุดการศึกษาของเขาไว้เพียงชั้น ปวช. แล้วกระโจนเข้าสู่โลกอาหารที่หลงใหลนอกห้องเรียนนับจากนั้นมา
ชีวิตในครัวต้องเริ่มจากศูนย์ด้วยการเป็นเด็กเข็นผัก แล้วหมั่นฝึกฝนฝีมือด้วยความมุมานะ ทั้งยังต้องอดทนต่อคำเยาะเย้ยถากถางจากเพื่อนร่วมงาน มุ่งมั่นพัฒนาฝีมือ จนได้โอกาสไปทำงานต่างประเทศหลายครั้ง เก็บเกี่ยวประสบการณ์โชกโชนจนแข็งแกร่ง
จากวันนั้นถึงวันนี้ “อ๊อตโต้-ประภาศน์ ปาณะวีระ” วัย 38 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านอาหาร “เครซี่ บี @สวนผึ้ง” ล่าสุดคว้าแชมป์ท็อปเชฟไทยแลนด์ ซีซั่น 2 มาหมาดๆ ก่อนหน้านั้น ได้แชมป์รายการแม็คโคร โฮเรก้า 2016 เป็นสองแชมป์ที่การันตีถึงความเป็นยอดฝีมือที่แท้จริง
ในห้วงเวลาที่เทรนด์อาชีพเชฟมาแรงแซงโค้ง เราได้พูดคุยกับเชฟอ๊อตโต้ถึงถนนสายเชฟกว่า 20 ปี ที่พานพบเรื่องราวหลากหลาย ทั้งเลวร้ายที่สุด และ ดีที่สุด รวมถึงอุปสรรคขวากหนามของวิถีการเป็นเชฟ ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
อะไรที่ทำให้ชีวิตผกผันมาอยู่ในโลกของอาหาร?
พื้นเพผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไปโตที่ชุมพร พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก คุณย่าเป็นคนหาดใหญ่ ส่วนพ่อไปตั้งรกรากอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ช่วง ม.1 ออกจากบ้านมาอยู่กรุงเทพฯคนเดียว ต้องดูแลตัวเองหลังเลิกเรียนจะไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ตอนนั้นยังไม่ได้ชอบการทำอาหาร จนเข้าเรียนช่างไฟฟ้า อยู่ ปวช.ปี 3 มีเพื่อนแนะนำให้ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในโรงแรม เขาจ้าง 3 เดือน พอทำเสร็จคนในครัวเขาเห็นแววว่าจะทำงานหนักได้เลยชวนให้ทำต่อ
เริ่มจากเป็นเด็กเข็นผักที่โรงแรมแชงกรี-ลา แล้วเราได้เข้าไปเห็นในครัว ได้เห็นของแปลกใหม่ที่ปกติเราไม่มีโอกาสได้กิน พอเราได้เห็น ได้ลอง ได้ชิม ได้สัมผัส มันตื่นตาตื่นใจ ผมว่าอาหารเป็นศิลปะที่มีอะไรดึงดูด ผมชอบตรงนี้จริงๆ ถึงขนาดว่าทิ้งทุกอย่าง ทิ้งเรียนเลย ตอนนั้นอีกเทอมเดียวจะจบ ปวช.ก็ทิ้งเลยเพื่อจะมาทำงาน
ชีวิตช่วงนั้นเป็นยังไงบ้าง?
เรากระตือรือร้นมาก จะแอบดูว่าพี่ๆ เชฟว่าทำอะไรกัน ตอนนั้นเขาหวงวิชากัน เราก็ใช้วิธีเอาตัวเข้าแลก ถามว่ามีอะไรให้ผมช่วยไหมครับ ระหว่างนั้นตาก็มองดู สมองก็จำ แล้วมาจดใส่สมุดเล็กๆ ไว้ทีหลัง เวลาผ่านไป 1 ปี จะมีการเทิร์นโปรเป็นสต๊าฟ แต่ละครัวจะส่งแคนดิเดตไป ปรากฏว่าเราไม่ได้ เลยไปสมัครที่ พลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ ได้เป็นสต๊าฟที่นั่นรับผิดชอบบุฟเฟต์ตอนเช้า มีหน้าที่เตรียมของ ทำได้ซักพักก็ขอเชฟลองทำ ได้ทำวันละอย่างให้เราครีเอตเมนูเอง ทำอยู่ 1 ปี ก็ได้รับความไว้วางใจให้เลื่อนขั้น
การทำงานมีอุปสรรคอะไรไหม?
มีอยู่แล้วครับ คนอื่นเขาเห็นว่าเชฟมาโอ๋เราเยอะ แต่ที่โอ๋ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนชอบประจบนะ แต่เพราะการทำงานของเรา อย่างทุกคนไปกินข้าวหมด เหลือผมแอบนั่งกินข้าวอยู่หลังครัว พอมีออเดอร์ก็ลุกไปทำ เชฟก็เลื่อนตำแหน่งเลื่อนเงินเดือนให้สูงกว่าคนอื่นเลยโดนเขม่นตรงนี้
แล้วพี่ที่ทำงานบางคนเรียนตรงสายอาหารมา จะมีอีโก้ที่สูงมาก ถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ ใครจะมาเก่งกว่าตัวเองไม่ได้ ซึ่งผมไม่ได้เรียนมา ผมก็จะด้อยกว่าเขา แต่เรามีความพยายาม คือ หน้าด้านที่จะทำ ไม่สนใจใครจะด่ายังไง เคยถูกตราหน้าว่าไม่มีทางจะสูงกว่าเขาไปได้ ผมก็บอกใส่หน้าเขากลับไปว่าผมต้องไปไกลกว่าให้ได้ เป็นครั้งแรกที่ผมพูดออกมา
ถนัดและชอบทำอาหารแบบไหน?
ช่วงอยู่พลาซ่า แอทธินี ตอนนั้นเริ่มทำอาหารยุโรปเป็น และเริ่มมั่นใจในตัวเองว่าทำอาหารได้ ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ในงานล้วนๆ ทั้งดูรุ่นพี่ทำและลองทำ ลองอยู่ครัวขายจริงๆ ก็เริ่มช่ำชอง ส่วนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็ตอนมาทำที่โฟร์ซีซั่น คือ ชอบทำอาหารฟิวชั่น เป็นการผสมผสาน เปลี่ยน 2 สัญชาติมาอยู่ด้วยกัน เปลี่ยนหน้าตา รูปลักษณ์ใหม่ สีสันฉูดฉาด ซึ่งต่างจากยุคนั้นที่อาหารไม่ฉูดฉาด ส่วนมากจะเน้นอลังการ เน้นใหญ่ เน้นเยอะ แต่ที่โฟร์ซีซั่น มีความฉูดฉาด พอร์ชั่นเล็กๆ การจัดจานที่สวยขึ้น มีการวาดขีดเขียน เราได้จากที่นั่น ยิ่งทำให้เรามั่นใจขึ้น ทีนี้มีเปิดรับสมัครที่ไหนเราลองดู
ได้ยินว่าเชฟเคยทำงานต่างประเทศด้วย?
ไปอังกฤษเป็นที่แรก รู้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าเขาเปิดรับสมัคร ก็เลยลองสมัครดู รออยู่หลายเดือนถึงติดต่อกลับมา ตอนนั้นมีเชฟรอสัมภาษณ์ 30-40 คน แต่ละคนเสือ สิงห์ กระทิง แรดทั้งนั้น เราก็ไม่ได้กลัวนะ ทั้งที่ผมเพิ่งอายุ 17 ปี เขาให้โจทย์เราเซตเมนูอาหารไทย ผลปรากฏว่าเราได้ ก็ทำพาสปอร์ตแล้วไปเลย
ช่วงนั้นเป็นวัยที่ไฟกำลังลุกโชน ไม่สนใจโลก ผมอยู่คนเดียวมานาน ทำอะไรคิดเอง ตัดสินใจเอง อยากไปไหนก็ไป บอกตัวเองว่าถ้าไม่ยิ่งใหญ่จะไม่กลับมา แล้วมันมีความกล้าขึ้นเรื่อยๆ มีความอยาก กระหายขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่รู้หรอกจะมีอะไรเกิดขึ้น ขอให้ได้ไปก่อน
ชีวิตการทำงานอังกฤษสวยหรูเหมือนที่ใจฝันไหม?
ที่อังกฤษอยู่นิวคาสเซิล เป็นโรงแรมเก่า 300 ปี มารีโนเวตใหม่ อยู่นอกเมือง ต้องนั่งรถอีกประมาณ 1 ชั่วโมง พอได้ไปอยู่จริง มันไม่เหมือนกับตอนเซ็นสัญญาที่เมืองไทย ทุกอย่างแย่ลงมาก ทั้งเรื่องเงินค่าตอบแทน การกินอยู่ใช้ชีวิต ก่อนไปบอกว่าได้อาหาร 3 มื้อ ได้ชั่วโมงละเท่านี้ๆ พอมาอยู่จริง เหมือนเขาปล่อยเกาะ อาหารเหลือ 2 มื้อ และต้องให้กินหลังจากลูกค้ากินเสร็จแล้ว สถานการณ์มันเริ่มหนัก เราต้องใช้เงินตัวเอง เป็นเงินที่เราต้องเก็บไว้ เอาไปซื้อของจนหมด
การอยู่อังกฤษ ภาษาก็ไม่ได้ดีมาก อยู่ก็จะลำบากนิดหนึ่ง ต้องทำงานทุกอย่างไม่ใช่เป็นเชฟอย่างเดียว วันไหนไม่มีลูกค้าก็ต้องไปทำห้องน้ำ ขัดกระจก และทำอะไรอีกเยอะแยะ บางทีก็ต้องย้ายไปทำอีกโรงแรมหนึ่งที่อยู่ในเครือ แล้วทำตั้งแต่ตี 5 เลิกงานเที่ยงคืน ทำอย่างนี้เป็นเดือน เงินก็ไม่ให้ตามชั่วโมง ทำอยู่ได้ 8 เดือน ตัดสินใจชวนพี่คนไทยอีกคนออกมาแล้วเข้าไปหางานในลอนดอน ถือเป็นช่วงชีวิตที่เลวร้ายที่สุด แต่ก็ได้ความแข็งแกร่งจากตรงนี้ คือ แม้เราจะเป็นต่างชาติแต่ไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างเขา
พอมาลอนดอนได้ทำร้านอาหารไทย เป็นร้านดังอยู่เหมือนกัน แต่ตำแหน่งเชฟไม่มีให้ลง ก็ได้ไปขานออเดอร์ ปรากฏว่าโดนคนไทยด้วยกันที่เป็นคนดูแลให้เงินไม่ตรง คนที่อยู่โดนเยอะไม่กล้าพูด แต่เราไม่ยอมคน ผมเขียนหาเจ้าของเลยว่าทุกคนอยากได้เงินส่งกลับบ้าน แต่คนที่ให้ดูแลพวกเราเอาเงินไปทำอะไรไม่รู้ วันรุ่งขึ้นเจ้าของให้ทุกคนไปเปิดแบงก์หมด โอนเงินเข้าตรง
พอสะสางปัญหาได้ผมสะพายกระเป๋าไปหาร้านใหม่ เป็นร้านอาหารไทยอยู่คริสตัล พาเลซ ที่ร้านนี้ขายดีมากๆ ห่อป่อเปี๊ยะวันละ 500-1,000 ตัว สะเต๊ะเสียบวันละพันไม้ เงินดีมาก รวมๆ ต่อเดือนผมได้เป็นแสนบาทไม่รวมทิปนะ ทุกอย่างไปได้ดีร้านจะให้ทำต่อ แต่ต้องกลับเมืองไทยทำเอกสาร สุดท้ายเอกสารไม่ผ่าน รวมๆ แล้วทำอยู่อังกฤษ 2 ปีครึ่ง
“…ที่ญี่ปุ่นเคยมีคนญี่ปุ่นมากิน แล้วเราไปดร็อปรสชาติให้ลดลง เพราะกลัวเขาเผ็ด
เขาบอกเลยว่าเราดูถูกอาหารตัวเอง
ในเมื่อมาทำอาหารตัวเองก็ต้องคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้
เผ็ดก็คือเผ็ด ไม่ใช่เพื่อจะเอาใจใคร….”
ยังมีประสบการณ์ทำงานต่างประเทศที่ไหนอีก?
พอกลับมาเมืองไทยก็ไปอยู่ที่แกรนด์ไฮแอท กลับมาทำอาหารยุโรป เพราะเป็นทางของเรา ทำได้ประมาณ 5 ปี ได้เลื่อนตำแหน่ง พอดีกับที่โรงแรมจะเปิดร้านอาหารไทยที่เมืองตากอากาศของอียิปต์ พอเขารับสมัคร มีผมยกมือคนเดียว เพราะเคยอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว เลยไม่กลัว เราชอบการเปลี่ยน ความแตกต่าง เพิ่มเติมชีวิตเราให้มากขึ้น
ปรากฏว่าที่อียิปต์หนักหน่วงมาก คือ ที่นั่นเชฟคนไทย 1 คน มีลูกมือเป็นชาวอียิปต์ 3 คน ทุกคนเป็นมุสลิม ทีนี้ช่วงที่ต้องละหมาดทุกคนก็ไปพร้อมกัน ผมก็ต้องวิ่งทั้งเตาผัด 3 เตา เตาทอด 2 เตา ทีนี้ร่างกายไม่ไหว หนักเกินไป เลยกลับเมืองไทย
พอกลับเมืองไทยก็ไปสมัครโฟร์ซีซั่นที่เชียงใหม่ ทำอยู่ 1 ปี ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นซีเนียร์เชฟ เราไม่ต้องทำงานหน้าเตามาก ทำแต่งานออฟฟิศ วันๆ ทำเอกสาร คือ อยู่หน้าเตาน้อยลง แล้วเราเป็นสายบู๊ ชอบอยู่กับความวุ่นวาย เลยสมัครไปญี่ปุ่นอีกรอบ ไปอยู่ร้านอาหารไทยที่โกเบ มีคนญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ ตอนนั้น 27 ปี แล้วต้องอยู่กับคนที่อายุมากกว่า อยู่เมืองไทยผมก็มีลูกน้องอายุ 50 ปี แล้วเป็นอะไรที่อยู่ยาก ที่เมืองไทยพออายุน้อยกว่ามาเป็นหัวหน้าคนไม่ค่อยเชื่อถือ พอไปญี่ปุ่นก็เจออารมณ์เดียวกัน อายุน้อยแต่ตำแหน่งสูงขึ้นก็โดนเขม่น โดนว่านู่นนี่นั่น จนแบบ เฮ้ย ทำไมต้องทำเราขนาดนี้ เราก็มาทำงาน ก็อยากช่วย พอโดนเสร็จ เขาก็ไปเป่าหูเจ้านายว่าเราไม่ดี ผมก็เลยออกไปอยู่อีกร้านหนึ่งที่โอซาก้า รวมๆ อยู่ญี่ปุ่น 5 ปี
ที่ญี่ปุ่นเราได้เรื่องการใช้ชีวิต วัฒนธรรม เคยมีคนญี่ปุ่นมากิน แล้วเราไปดร็อปรสชาติให้ลดลง เพราะกลัวเขาเผ็ด เขาบอกเลยว่าเราดูถูกอาหารตัวเอง ในเมื่อมาทำอาหารตัวเองก็ต้องคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ เผ็ดก็คือเผ็ด ไม่ใช่เพื่อจะเอาใจใคร
อยู่ญี่ปุ่น 5 ปี ร่างกายเราไม่ไหวแล้ว ร่างกายเราพัง ทำงานพีคมาก ร้านที่ผมอยู่ไม่ใหญ่มาก แต่ต้องรันให้ได้คนเยอะที่สุด ต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย แล้ววันหนึ่งก็ขายดีมาก ร่างกายพัง พอดีมีจุดพลิกผัน คือคุณพ่อตามหาผมทั่วประเทศ ขณะที่ผมเดินสายอยู่ทั่วโลก สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับบ้าน เพราะรู้สึกว่าพอแล้ว พร้อมจะกลับบ้านแล้ว ก็เลยโทรหาพ่อ
กลับบ้านครั้งนี้ คือ การกลับมาอยู่อย่างถาวร?
มันมีจุดเปลี่ยน ตอนนั้นอายุ 32 ปี แล้วพ่อแนะนำลูกสาวเพื่อนที่เป็นเจ้าของรีสอร์ตที่สวนผึ้งให้ผม ทีนี้เราก็คุยกันถูกคอ คุยๆ ในออนไลน์ กลับมาก็แต่งงานเลย หยุดการผจญภัย มาอยู่สวนผึ้ง เปิดร้านอาหารก่อนอายุ 35 ปี ตามที่เราฝันมาตลอด
ที่จริงที่บ้านไม่อยากให้เปิดร้านอาหาร เพราะร่างกายผมพังแล้ว กล้ามเนื้อหลังอักเสบ ซึ่งพวกนี้เชฟทุกคนต้องเป็น และไม่หายขาด กระดูกข้อล่างๆ เคลื่อน เพราะยืนทั้งวัน วันละ 10 กว่าชั่วโมง และต้องยกของหนัก อย่างหม้อเหล็ก 20 กิโลกรัม ถ้ามีน้ำอีกก็หนักอีกหลายเท่า แล้วครัวฝรั่งสูง ต้องยกลอย ร่างกายก็พังหมด แต่ด้วยเราอยากทำ ดื้อ ผมขอทำร้านเล็กๆ มันคือฝัน มันคือความต้องการของเรา ก็เลยเปิดร้านสเต๊กเฮ้าส์เล็กๆ ชื่อ เครซี่ บี @สวนผึ้ง อยู่ในรีสอร์ตโบ๊ทเฮ้าส์ของแม่แฟน
ภาพภายนอกเชฟดูดีแต่ที่จริงงานหนักมาก?
ครับ ชุดเท่จริง ดูดีจริง แต่เรื่องจริงไม่ใช่ เป็นเชฟต้องใจรัก อดทน ถึงจะอยู่กับมันได้
เปิดร้านตามฝันแล้วทำไมยังต้องมาแข่งขัน?
เวทีแข่งขัน มันคือการกระตุ้น มันจุดไฟให้เราอีกรอบ จากที่ทำไปวันๆ แต่นี่คือการจุดไฟให้เราลุกขึ้นอีกครั้ง เพราะสัญชาตญาณเราเป็นคนไม่ยอมใคร ไม่ยอมคน ชอบการแข่งขัน ชอบความท้าทาย พอได้แข่งไฟมันกลับมาอีกครั้ง รายการแม็คโคร โฮเรก้า ผมแข่งทุกปีนะ ปีที่ 4 ถึงได้แชมป์
บางคนพอได้สูงสุดแล้วหยุด ไม่อยากจะเสีย แต่ผมไม่ ได้แชมป์แล้วก็ยังแข่งต่ออีก อย่างที่บอกผมมาแข่งไม่ใช่แค่ได้รางวัล แต่ได้ประสบการณ์ ได้วิชากลับไป เทคนิคใหม่ๆ กลับไป คนอื่นใช้อะไร อุปกรณ์ใหม่ๆ ตื่นตาตื่นใจ โจทย์ใหม่ๆ กติกาที่เขาแทรกเข้ามาทำให้พัฒนาตัวเราไปเรื่อยๆ ทุกปีโจทย์มันแปลกขึ้นเรื่อยๆ กรรมการก็โหดขึ้นเรื่อยๆ มันมีความท้าทายกับเรามากขึ้น มันทำให้เราไม่อยู่นิ่ง คิดนอกกรอบไปอยู่เรื่อย
จากการแข่งขันกลายเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้?
ใช่ ผมใช้วิธีพวกนี้มาพัฒนาตัวเอง เหมือนเป็นการเรียนรู้นอกโรงเรียนที่ไม่มีใครสอน เราต้องไปหาเอง นี่คือการขวนขวายของผม
ชีวิตถือว่าสำเร็จแล้วยัง?
ก็สำเร็จส่วนหนึ่ง ตอนนี้ผมได้ร้านอาหารแล้ว ส่วนการแข่งขันแม็คโคร โฮเรก้า คิดว่าปีนี้จะเป็นปีสุดท้าย เพราะมาทีไรรุ่นเด็กๆ เจอพี่ๆ ก็ห่อเหี่ยว เพราะกลัว (หัวเราะ)
ชีวิตยังอยากทำอะไรอีก?
อนาคตอยากทำคุกกิ้งคลาสเล็กๆ แต่ตอนนี้ผมเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมอยู่ สอนมา 6 ปีแล้ว เอาประสบการณ์จริงสอนเขา ผมปิดหนังสือสอนนะ ไม่ได้สอนตามตำรา เด็กปี 1 สอนพื้นฐาน ปี 4 สอนแนะแนว ว่าจบไปจะเป็นอะไร คุณจะไปอยู่โรงแรมยังไงให้ทุกคนรักคุณ จะอยู่ร้านอาหารยังไงให้ราบรื่น เพราะผมผ่านมาแล้ว เลวร้ายที่สุดผมก็ผ่านมา ดีที่สุดก็ผ่านมา ก็กล้าจะสอนเขาได้ ไม่ใช่อ่านหนังสือมาสอนเขา
แนะนำอย่างไรเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเชฟ?
ผมจะบอกว่าที่มาเรียนเพราะอะไร ตอนนี้อาชีพเชฟเป็นอาชีพที่คนอยากเป็น มีการออกสื่อมากขึ้น มีโรงเรียนสอนมากขึ้น ทั้งนี้ก็อยู่ที่ตัวคนนั้นด้วยว่ารักชอบทำไหม วันหนึ่ง 10 ชั่วโมงไม่ได้นั่งนะครับ บางทีเริ่มงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็นไม่ได้นั่งเลย ถ้าคนไม่ได้รักหรือชอบจริงๆ ทนไม่ไหวหรอก
บางคนจบมาปุ๊บขึ้นนำหน้าชื่อตัวเองเลยว่าเชฟ แต่สำหรับผม ผมว่าไม่ใช่ คำว่าเชฟกว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น ยุคก่อนเขาไม่สอนกันเลยนะ สูตรแต่ละสูตรตายกับตัวเองเลย แต่ผมให้หมด ผมเป็นเชฟรุ่นกลางถึงใหม่แล้ว คือ ถ้าเราทำให้เขารู้ เราก็เหนื่อยน้อยลง
ตอนนี้ผมใช้ชีวิตอย่างนี้ คือ สู้มาด้วยตัวเอง ทำในสิ่งที่เรารัก คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจตั้งแต่แรกว่าทำไมเลิกเรียนมา ผมไม่ได้จบปริญญาไม่ได้จบอะไรมา ผมมีแค่ใบ ปวช.เอง แต่ว่าผมสามารถมาได้ขนาดนี้
“ผมภูมิใจในตัวเอง”
ความฝันของเด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่น เครซี่ บี @สวนผึ้ง
“เครซี่ บี @สวนผึ้ง” เป็นร้านสเต๊กเฮ้าส์เล็กๆ ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นความฝันที่เกิดขึ้นจริงด้วยน้ำพักน้ำแรงของเด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่้น ปัจจุบันร้านเปิดให้บริการมา 7 ปีแล้ว มีเมนูหลัก คือ “สเต๊ก” เมนูเสริมเป็นจำพวกพาสต้า การันตีความอร่อยด้วยถ้วยรางวัลที่จัดวางเรียงแน่นเต็มร้าน
เมนูที่ไม่ควรพลาด คือ “สเต๊กไก่แรปเปอร์” หรือไก่ม้วน เป็นเมนูที่ค้นพบระหว่างการแข่งขันรายการแข่งขันแม็คโคร โฮเรก้า ที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของร้านในที่สุด กรรมวิธีจะเก๋มากมายด้วยเพราะใช้การม้วนอย่างเดียว โดยนำไส้อั่ว สะโพกไก่พันด้วยเบคอน เป็นการผสมผสานรสชาติไทยๆ กับสไตล์ตะวันตกได้อย่างถึงรสถึงชาติ
ก้าวต่อมาเชฟอ๊อตโต้ทำแบรนด์ซอสสเต๊กของตัวเอง เป็น “บาร์บีคิวซอส” ที่ตัดสินใจทำ เพราะลูกค้าที่มารับประทานจุดประกายความคิดว่า “ทำไมไม่ทำอะไรที่ตื่นก็ได้เงิน หลับก็ได้เงิน” เลยนึกขึ้นได้ว่าตนเองมีสูตรซอสอร่อย ปัจจุบันทำแบบออเดอร์บายออเดอร์ ตลาดตอบรับด้วยดีมา 2 ปีแล้ว
“ทุกวันนี้ผมทำอะไรไม่เป็นแล้วนอกจากอาหาร เรียนช่างไฟฟ้ามา แต่ให้ต่อสวิตช์ไฟตอนนี้ชอร์ตนะ (หัวเราะ) ตอนนี้มุ่งมั่นแต่อาหาร วันไหนไม่มีลูกค้าก็จะนึกเมนูใหม่ๆ ในหัวสมองตลอด เพราะถึงจุดหนึ่งเราจะไม่ทำอาหารเหมือนคนอื่น”
“มองว่าอาหารมันเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เหมือนศิลปะเปลี่ยนไปได้ตลอด ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ”