‘รามานุจัน’ อัจฉริยะเบื้องหลัง ‘อินฟินิตี้’

การกำเนิดของ “อัจฉริยะ” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การ “ค้นพบ” อัจฉริยะนั้นยากยิ่งกว่า

เอ่ยชื่อของ ศรีนิวาสะ รามานุจัน คนส่วนใหญ่คงปฏิเสธว่าไม่รู้จัก ต่อให้ใบ้ว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ก็อาจจะยังนึกไม่ออก

แต่เมื่อศึกษาประวัติของรามานุจันแล้วจะพบความน่าอัศจรรย์ในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง จนน่านึกเสียดายว่าคนมีความสามารถน่าจะได้รับการสนับสนุนและยอมรับมากกว่านี้

รามานุจัน (22 ธันวาคม 1887-26 เมษายน 1920) เป็นชาวอินเดีย จากแคว้นมัทราส (เจนไน) ทางตอนใต้ของอินเดีย เกิดในครอบครัววรรณะพราหมณ์ที่ยากจน โดยมีความเชื่อในศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด

Advertisement

ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ สังคมอินเดียไม่ได้มีการศึกษาคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวางเท่าในยุโรป ขณะที่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ การแสดงตัวถึงความสนใจและเชี่ยวชาญในคณิตศาสตร์ของรามานุจันดูจะไม่เป็นประโยชน์ และถูกดูแคลนในสายตาชาวอังกฤษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอย่างรามานุจันที่ผ่านการศึกษาพื้นฐานและทำการศึกษาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง ฟังดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่จะไปบอกคนอื่นว่าเขาสามารถคิดค้นทฤษฎีคณิตศาสตร์ได้

เขาเริ่มรู้จักคณิตศาสตร์เมื่ออายุ 10 ปี เป็นจุดที่ทำให้ได้เริ่มแสดงพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ เมื่อได้รับหนังสือตรีโกณมิติของ เอส.แอล.โลนีย์ ก็อ่านจบในอายุ 12 ปี ได้รับรางวัลด้านคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมากมายแล้วยังค้นพบทฤษฎีของตนเองและพิสูจน์ทฤษฎีเอกลักษณ์ของออยเลอร์ได้ ขณะอายุ 17 ปี ทำวิจัยเรื่องสมการของเบอร์นูลีย์และค่าคงตัวของออยเลอร์-แมสเชโรนี

Advertisement

ได้รับทุนการศึกษาต่อที่วิทยาลัยรัฐในคัมบาโคนัมแต่ถูกถอนทุนเพราะนอกจากคณิตศาสตร์แล้วเขาสอบวิชาอื่นตกหมด ในสภาพสังคมที่ไม่พร้อมสนับสนุน เขาเป็นได้เพียงเสมียนในท่าเรือมัทราส แต่ความหลงใหลทางวิชาการไม่สามารถหยุดได้ เขาส่งตัวอย่างทฤษฎีไปยังศาสตราจารย์ 3 คนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ

(ซ้าย) ถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ชื่อภาษาไทยว่า "อัจฉริยะโลกไม่รัก" (ขวา) ศรีนิวาสะ รามานุจัน
(ซ้าย) ถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ชื่อภาษาไทยว่า “อัจฉริยะโลกไม่รัก” (ขวา) ศรีนิวาสะ รามานุจัน

จดหมายที่อัดแน่นไปด้วยสมการของเสมียนทมิฬในประเทศใต้การปกครองเป็นที่สนใจของ ศาสตราจารย์ จี.เอช.ฮาร์ดี้ จนได้เชิญรามานุจันไปร่วมงานที่เคมบริดจ์

ระหว่างใช้ชีวิตที่เคมบริดจ์ รามานุจันต้องเผชิญกับแรงกดดันอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ขณะที่มีสถานะด้อยกว่าในฐานะที่มาจากประเทศใต้การปกครอง แต่ในที่สุดก็ได้เป็นสมาชิกราชสมาคมแห่งลอนดอนและสมาชิกวิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ รามานุจันเผชิญกับอาการของโรคซึมเศร้า และล้มป่วยก่อนจะกลับไปเสียชีวิตที่บ้านเกิดในปี 1920 ด้วยอายุเพียง 32 ปี

ตลอดชีวิตรามานุจันสร้างผลงานทางคณิตศาสตร์กว่า 3,900 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเอกลักษณ์และสมการ แม้บางทฤษฎีจะผิดหรือซ้ำกับที่มีคนเคยคิดค้นมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง ทฤษฎีที่สำคัญของเขา คือ ทฤษฎีจำนวน, ความไม่มีที่สิ้นสุดหรืออนุกรมอนันต์ (Infinity), เศษส่วนต่อเนื่อง โดยงานของเขาสามารถนำมาเป็นส่วนในการวิจัยคำนวณเรื่องหลุมดำ, ทฤษฎีเส้นเชือก และทฤษฎีความโน้มถ่วงควอนตัม

ชีวประวัติของรามานุจัน ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสือ The Man Who Knew Infinity โดย โรเบิร์ต คานิเกล ในปี 2550 สำนักพิมพ์มติชน นำมาตีพิมพ์ในชื่อ”รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ” แปลโดย นรา สุภัคโรจน์ และในปีนี้นำกลับมาพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 3

อีกด้านหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์โดยผู้กำกับ แมทธิว บราวน์ ในชื่อภาษาไทยว่า “อัจฉริยะโลกไม่รัก” นำแสดงโดย เดฟ พาเทล, เจเรมี ไอรอนส์ และเดวิกา บีเซ่ ซึ่งกำลังฉายในโรงภาพยนตร์ขณะนี้

นำชัย ชีววิวรรธน์ - ภาณุ ตรัยเวช
นำชัย ชีววิวรรธน์ – ภาณุ ตรัยเวช

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ รอง ผอ.ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อดูท้ายพจนานุกรมศัพท์คณิตศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตได้รวบรวมชื่อนักคณิตศาสตร์ไว้ 157 คน มีชื่อ รามานุจัน เป็น 1 ใน 5 รายชื่อคนเอเชียที่ติดอันดับ

“ความเก่งของคนบางครั้งต้องอาศัยโชคชะตาช่วย มีจังหวะที่จะได้พบกับคนอื่น การที่รามานุจันเขียนจดหมายหาศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ ถ้าฮาร์ดี้ไม่สนใจชีวิตรามานุจันก็จะเปลี่ยนไปอาจต้องเป็นเสมียนไปตลอดชีวิต แล้วทฤษฎีของเขาอาจถูกค้นพบในอีก 100-200 ปีหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว หนังเรื่องนี้มีหลายประเด็นมาก รามานุจันเป็นอัจฉริยะ เขาไมได้เรียนในระบบแต่สามารถคิดทฤษฎีเองได้ การอยู่ในสังคมอินเดียแล้วต้องเจอความเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางวัฒนธรรมเมื่ออยู่ในอังกฤษ เป็นส่วนช่วยผลักดันเขาอย่างยิ่ง

“ไม่บ่อยครั้งที่จะมีหนังเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ ผู้สร้างหนังจึงต้องสร้างจากมุมมองคนทั่วไป มองรามานุจันในแง่ที่เป็นคนที่มีชีวิตมีตัวตน ผู้กำกับเล่าว่าหลังจากที่ได้อ่านหนังสือแล้วรู้สึกอยากนำมาสร้างหนังทันที เชื่อว่าผู้สร้างหนังคงมีฝีมือที่จะทำให้ผู้ชมรับรู้พลังที่เขาได้รับจากหนังสือในลักษณะเดียวกัน” ดร.นำชัยกล่าว

อีกความเห็นจาก ดร.ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนและอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับชีวประวัตินักคณิตศาสตร์คนหนึ่งที่ไม่ได้มีการฝึกฝนตามหลักสูตรตะวันตก รามานุจันใช้ชีวิตอยู่ในยุคอาณานิคมทำให้ชีวิตค่อนข้างหนัก ยุคนั้นอินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ คนอังกฤษเองก็จะมีอคติที่เชื่อว่าคนจากประเทศใต้การปกครองไม่สามารถจะคิดทฤษฎีอะไรขึ้นได้

“รามานุจันเป็นคนน่าสนใจ มีการศึกษาทฤษฎีด้วยตนเอง เป็นเรื่องน่าทึ่ง ความรู้ของเขาแหกไปจากทฤษฎีทั่วไป แต่เวลาอธิบายให้คนในต่างวัฒนธรรมฟังก็จะมีอุปสรรค เพราะรามานุจันมีศรัทธาในศาสนามาก ทฤษฎีบางอย่าง เขาเชื่อว่าพระเจ้าส่งสารกับเขา ถ้าอ่านหนังสือจะเข้าใจวัฒนธรรมอินเดียซึ่งสอดแทรกอยู่ ผมมองว่าความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก และระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์” ภาณุกล่าว

ความน่าสนใจหนึ่งตามที่ภาณุได้ชี้ไว้คือเรื่องศาสนาและวิทยาศาสตร์ เหตุหนึ่งที่งานของรามานุจันไม่เป็นที่ยอมรับในช่วงแรกเมื่อไปถึงเคมบริดจ์ เป็นเพราะเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีที่เขาคิดค้นขึ้นนั้นเป็นจริง กระทั่งเขาได้เปิดเผยกับศาสตราจารย์ฮาร์ดี้ว่า ทฤษฎีต่างๆ ที่เขาเขียนนั้นเป็นเพราะพระแม่ลักษมีป้อนตัวเลขใส่ปากเขา เขาเพียงแต่ถ่ายทอดสารที่ได้รับจากพระเจ้า

เรื่องนี้สั่นคลอนความรู้สึกของนักคณิตศาสตร์ผู้เที่ยงตรงในหลักการอย่างฮาร์ดี้มาก และที่สำคัญเมื่อศาสตราจารย์ฮาร์ดี้เป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า การให้เหตุผลนี้ของรามานุจันจึงเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้

อย่างไรก็ดี สุดท้ายศาสตราจารย์ฮาร์ดี้และรามานุจันได้ทำงานร่วมกันหลายชิ้น จนภายหลังมีการพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีต่างๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นจริง เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์สำหรับการเป็นคู่หูของศาสตราจารย์จากวิทยาลัยทรินิตี้อันลุ่มลึกด้วยวิทยาการ กับชายหนุ่มจากหมู่บ้านเล็กๆ ในอินเดีย

เช่นที่ศาสตราจารย์ฮาร์ดี้เคยเปิดเผยไว้ว่า สำหรับชีวิตนักคณิตศาสตร์ การได้ร่วมงานกับรามานุจันนั้นเป็นเรื่องโรแมนติกเพียงเรื่องเดียวในชีวิตของเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image