เมืองโบราณแม่ต้าน คือเมืองฉอดจริงหรือไม่ในทรรศนะของจิตร ภูมิศักดิ์

แม่น้ำเมย แม่น้ำที่แบ่งระหว่างไทย-พม่า ถ่ายภาพจากเมืองแม่ต้าน ทิวทัศน์บริเวณนี้นับว่าสวยมาก

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า แม่สอด จ.ตาก คือ เมืองฉอดของพ่อขุนสามชน ผู้มาต่อรบกับพ่อขุนรามคำแหง

อย่างไรก็ดี กว่ากึ่งศตวรรษมาแล้วที่เมืองโบราณที่บ้านแม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้รับการตั้งข้อสังเกตโดยนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ว่าอาจเป็นเมืองฉอด หนึ่งในนั้นคือ จิตร ภูมิศักดิ์ นักภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์นามอุโฆษ

เมืองแม่ต้าน เมืองโบราณใหญ่สุดริมแม่น้ำเมย

เมืองแม่ต้าน หรือเมืองเก่าห้วยลึก เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี มีคูน้ำคันดินถึง 3 ชั้นล้อมรอบ ยกเว้นด้านทิศใต้-ตะวันตกที่ติดริมแม่น้ำเมยจึงใช้แม่น้ำเป็นปราการตามธรรมชาติ น่าเสียดายที่ถนนและการพัฒนาเมืองทำให้คูน้ำคันดินหายไปบางส่วน ซึ่งควรต้องเร่งอนุรักษ์กัน

Advertisement

ภายในเมืองประกอบด้วยวัดจำนวน 8 แห่ง ก่อด้วยอิฐทั้งหมด หากเดินภายในเมืองจะพบเศษถ้วยชามสังคโลกสุโขทัย ล้านนา จีน พม่า และกล้องยาสูบดินเผา ที่สำคัญคือ ในปี พ.ศ.2502 มีรายงานว่านักโบราณคดีกรมศิลปากรได้สำรวจพบพระพุทธรูปแบบเชียงแสนอีกด้วย

โชคร้าย ชะตากรรมของเมืองนี้คล้ายกับเมืองโบราณหลายๆ แห่งที่ถูกลักลอบขุดค้น ทำให้สูญเสียข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไปอย่างมาก

กำแพงเมืองแม่ต้าน เป็นกำแพงดินขนาดใหญ่ บางส่วนถูกถนนตัดผ่าทำลายไปแล้ว


ใน พ.ศ.2502 นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะสำรวจโบราณสถานได้มาสำรวจว่าเป็นศิลปะในสมัยใด โดยการแจ้งจากคณะพลร่มหัวหินที่มารักษาการ ผลปรากฏว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเมืองที่ก่อสร้างในสมัยใด เพียงแต่สันนิษฐานจากแผ่นอิฐจากเศษวัสดุ เศษพระพุทธรูป ถ้วยชาม รูปทรงของโบราณสถาน พบการบูรณะมา 3 สมัย คือ สมัยเชียงแสน (ล้านนา) สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา

Advertisement

ข้อสันนิษฐานเรื่องยุคสมัยของธนิต อยู่โพธิ์ มีส่วนถูกอยู่ไม่น้อยและน่าค้นคว้าเพิ่มเติมในอนาคต เนื่องจากโบราณสถานของเมืองเก่าห้วยลึกนี้แทบทั้งหมดยังคงถูกปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ดังนั้น จึงมีหลักฐานที่รอการค้นพบอีกมาก

เมื่อไม่นานมานี้มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองแม่ต้าน โบราณวัตถุที่พบมีทั้งสมัยสุโขทัยและล้านนา แต่อายุโดยรวมแล้วไม่เก่าไปถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ส่วนในทรรศนะของชาวบ้านเชื่อว่า เมืองเก่าห้วยลึกนี้มีอายุกว่า 800 ปี แต่จากการเดินสำรวจของผู้เขียน รูปแบบของโบราณสถาน เช่น วัดห้วยลึก และโบราณวัตถุอื่นๆ ประกอบกันแล้ว ควรจัดอยู่ในสมัยล้านนา มีอายุราว พ.ศ.2000-2300 โดยเมืองนี้มีบทบาทเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในเขตลุ่มน้ำเมย

วัดห้วยลึก วัดโบราณที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-23

พระกล้าหาญ พระนักอนุรักษ์และพัฒนา

ในบรรดาวัดทั้งหมดของเมืองแม่ต้าน มีเพียงวัดห้วยลึกที่ได้รับการขุดค้นขุดแต่งและบูรณะโดยสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย และมีพระกล้าหาญ อาสโภ หรือ “ตุ๊หาญ” (ตุ๊ เป็นคำเหนือแปลว่า พระ) เป็นพระนักอนุรักษ์ผู้คอยดูแลโบราณสถานต่างๆ

ผลจากการขุดค้นพบเจดีย์ประธาน ซึ่งพังทลายเหลือเฉพาะส่วนฐาน วิหารขนาดใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน จากแผนผังและรูปทรงสะท้อนชัดว่าเป็นศิลปกรรมแบบล้านนา ใกล้กันกับวิหารมีอุโบสถขนาดเล็ก มีเสมาล้อมรอบ 8 ทิศ ทำจากหินกรวดแม่น้ำที่เป็นแท่งยาว ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของเสมาแบบล้านนา กลุ่มโบราณสถานทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว

แต่กว่าที่กรมศิลปากรจะเข้ามาสำรวจเมืองนี้อย่างจริงจังอีกครั้งนั้น พระกล้าได้เป็นผู้ที่เข้ามารื้อฟื้นเมืองนี้อีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.2548 ท่านพร้อมด้วยคณะนักเรียน โรงเรียนท่าสองยางวิทยาคม ได้ร่วมกันแผ้วถางเพื่อเปิดป่าที่รกทึบ ซึ่งปกคลุมโบราณสถานออก โดยเริ่มจากวัดห้วยลึก (โบราณสถานบ้านแม่ต้าน) เป็นวัดแรก ให้โล่งเตียนเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องของโรงเรียนและชาวบ้านทั่วไป

หลังจากนั้นจึงได้แผ้วถางพื้นที่และดูแลทั้งเมืองเรื่อยมา ทำให้โบราณสถานต่างๆ ได้รับการปกป้อง ไม่ถูกบุกรุก อีกทั้งท่านยังได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบไว้ที่วัด ซึ่งท่านตั้งใจว่าในอนาคตจะสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำหรับคนท่าสองยางอีกด้วย

พระกล้าหาญ อาสโภ พระนักอนุรักษ์ผู้พัฒนาและดูแลเมืองโบราณแม่ต้าน อ.ท่าสองยาง


ข้อเสนอของจิตร ภูมิศักดิ์

ในหนังสือสังคมไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ให้ความเห็นต่อเมืองแม่ต้าน อ.ท่าสองยาง นี้ไว้ว่า “…รัฐฉอดหรือเมืองฮอดนั้นประมาณกันว่าอยู่ที่บริเวณอำเภอแม่สอด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองจังหวัดตากเดี๋ยวนี้; ที่ประมาณอย่างนั้นเพราะชื่อแม่สอดยังเป็นชื่อเดียวกับฉอดอยู่ (ภาษาไทยพายัพออกเสียง ฉ เป็น ส หมด).

แต่มาในระยะราว พ.ศ.2500 นี้ ได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่มากเมืองหนึ่งในป่าทึบริมแม่น้ำเมย ที่บ้านแม่ต้านทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองตาก มีทรากโบราณวัตถุและพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเป็นอันมากแสดงว่าเป็นเมืองใหญ่ในยุคสุโขทัย, จึงทำให้นักโบราณคดีตั้งข้อสงสัยว่าที่นั่นอาจจะเป็นเมืองฉอดของพ่อขุนสามชน….

อย่างไรก็ดี เมืองร้างที่พบใหม่ที่ตำบลแม่ต้านนั้นอาจจะเป็นเมืองอื่นที่มิใช่ฉอดก็ได้ เพราะยังมีเมืองในแถบนี้อีกหลายเมืองที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกสุโขทัย แต่เรายังค้นไม่พบว่าอยู่ที่ใดแน่…” (หน้า 286-287, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโส ได้เคยเสนอว่า มีความเป็นไปได้ว่าเมืองเมียวดี ทางฝั่งพม่านั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นเมืองฉอด เพราะว่ามีร่องรอยของกำแพงเมืองและคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยม อีกทั้งยังพบเศษเครื่องถ้วยสุโขทัยอีกด้วย (ในหนังสือเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย)

อย่างไรก็ตาม ทั้งแม่สอดและเมียวดีก็ไม่ได้พบโบราณสถานที่พอจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นเมืองบริวารของสุโขทัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอการค้นคว้าต่อไปในอนาคต

จิตร ภูมิศักดิ์ นักประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์


จุดกระจายสินค้าโบราณ ของป่าและเครื่องถ้วย ให้ชาวเขาโบราณ

ห่างไปไม่กี่สิบกิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือพื้นที่บ้านแม่ระเมิง ซึ่งเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ยากแก่การเข้าถึง ประชากรส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง ทว่าพื้นที่แห่งนี้กลับมีความสำคัญต่องานโบราณคดีอย่างมาก เพราะพบหลุมฝังศพและพื้นที่พิธีกรรมของชาวเขาโบราณจำนวนมาก

หลุมฝังศพและพื้นที่พิธีกรรมที่ทำเป็นเนินดินรูปวงกลมพบกระจายอยู่ทั่วไปตามยอดดอย เรียกได้ว่าสามารถเห็นได้ตามถนนบางเส้นทาง น่าเสียดายที่ถูกลักลอบขุดไปเสียแล้ว แต่จากเศษภาชนะดินเผาที่ยังพบหลงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับคำบอกเล่าของคนที่เคยขุดและภาชนะดินเผาที่ยังเก็บกันไว้ พบว่าภาชนะดินเผาพวกนี้คือของแบบเดียวกันกับที่พบที่เมืองแม่ต้าน

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ในอดีต เมืองแม่ต้านคงเป็นเมืองที่ขายเครื่องถ้วยให้กับพวกชาวเขาโบราณ ส่วนชาวเขาโบราณคงเอาสินค้าของป่า เช่น น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ลงมาแลกกับคนในเมือง

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล นักศึกษาปริญญาเอกที่โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้ให้ความเห็นว่า การพิจารณาศึกษาการเติบโตของเมืองโบราณใกล้ภูเขานั้นควรต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการค้าของกลุ่มชนบนภูเขาด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าใจเศรษฐกิจการค้าของเมืองในที่ราบได้ รวมถึงการแพร่กระจายของศาสนาพุทธที่ขึ้นไปในเขตพื้นที่สูง

ไหจากแหล่งเตาสุโขทัยที่พบที่เมืองแม่ต้าน

ควรพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว

น่าเสียดายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตาก ยังไม่ให้ความสนใจและความสำคัญกับเมืองเก่าห้วยลึกเท่าที่ควร มีคนกระซิบผู้เขียนมาว่า เพราะ ททท.มองว่าพื้นที่ท่าสองยางนี้ยังอยู่ห่างไกลและอันตรายเกินไป ซึ่งผู้เขียนคิดว่าอาจเป็นเพราะ ททท.ติดภาพเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่ทหารพม่ายังคงปราบปรามชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนอยู่ ทำให้พื้นที่นี้ไม่น่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว พื้นที่ชายแดนสงบขึ้น ท่าสองยางเป็นที่เงียบสงบ ธรรมชาติยังสมบูรณ์ และมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในขณะที่แม่สอด กระทั่งเมืองตากเองก็ไม่มี

ขอสรุปสั้นๆ ว่าเมืองแม่ต้านมีศักยภาพอะไรบ้างด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

ประการแรก เป็นเมืองโบราณที่ยังมีความดิบ ดิบในแง่ที่ยังไม่ถูกทำลายเสียหายจากการพัฒนาเมืองมากนัก ทำให้โบราณสถานยังมีความบริสุทธิ์อยู่มากภายใต้แมกไม้ใหญ่ อีกทั้งยังมีทิวทัศน์สวย เพราะอยู่ริมแม่น้ำเมย

ประการที่สอง เป็นเมืองที่สามารถจุดประกายของการค้นคว้าและถกเถียงให้กับเยาวชนเกี่ยวกับปัญหาเมืองฉอดได้

ประการที่สาม อยู่ไม่ห่างจากแม่สอด จึงเหมาะต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในเขตนี้ ซึ่งยังไม่มีเมืองโบราณให้ท่องเที่ยวกัน

เมืองแม่ต้านคือหนึ่งในเมืองโบราณสำคัญของลุ่มน้ำเมยที่จะช่วยเชื่อมต่อให้เข้าใจพัฒนาการของบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งนับเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา สุโขทัย และชุมชนโบราณบนพื้นที่สูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image