อาศรมมิวสิก : อาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ รับรางวัลเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : โดย สุกรี เจริญสุข

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคมในสาขาต่างๆ โดยมอบรางวัลผ่านองค์กรของสังคม ได้แก่ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย มูลนิธิวิมุตตยาลัย มูลนิธิดวงประทีป และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
ในอดีตที่ผ่านมา (11 ปี) มีผู้ที่ได้รับรางวัลด้านดนตรี ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอกชูชาติ พิทักษากร (2550) สุเชาว์ หริมพานิช (2551) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล (2552) สุจิตต์ วงษ์เทศ (2553) ยูโซะ อุมาร์ (2554) สมบัติ สิมหล้า (2555) ทองใส ทับถนน (2556) ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (2557) ณรงค์ ปรางค์เจริญ (2558) วงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา (2559) และคณะนักร้องประสานเสียงมิตรสัมพันธ์กรุงเทพฯ (2560)

สำหรับรางวัลสุกรี เจริญสุข เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี ประจำปี พ.ศ.2561 ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข มีมติที่จะมอบรางวัลให้แก่ อาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ ครูสอนดนตรีเด็กชนเผ่าต่างๆ โรงเรียนบ้านเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง (ดอยแม่สลอง) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 อาจารย์อัญชลีต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาวงขับร้องประสานเสียงของเด็กนักเรียนชนเผ่า ซึ่งเธอได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างที่ดีในฐานะของครูดนตรี

ทำไมต้องวงขับร้องประสานเสียง

เพราะว่า เด็กร้องเพลงได้ทุกคน เด็กทุกคนมีเสียง การลงทุนน้อย ไม่ต้องซื้อเครื่องดนตรี

Advertisement

แต่ความจำเป็นที่ซับซ้อนและลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือ เด็กแต่ละเผ่าต่างก็มีภาษาพูดเป็นของตนเอง เด็กทุกเผ่าพูดภาษาไทยไม่ชัด เด็กไม่รู้จักเพลงชาติไทย เด็กไม่ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เด็กไม่ได้ร้องเพลงไทยหรือเพลงสากล เพราะเด็กแต่ละเผ่าก็จะร้องเพลงของตัวเอง ดังนั้น วงขับร้องประสานเสียงจะช่วยให้เด็กพูดภาษาไทยชัดขึ้น เด็กได้เรียนรู้ว่ามีเพลงประจำชาติและมีเพลงอื่นๆ ในโลกใบนี้ นอกเหนือไปจากเพลงของชนเผ่า เพลงจะทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในความรู้ใหม่ที่ได้จากการร้องเพลง

และที่สำคัญก็คือ เพลงเป็นภาษาใหม่ที่เด็กจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ใช้ภาษาเพลงเดียวกันได้

วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่า จัดตั้งขึ้นโดยอาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้บริหารโรงเรียนบ้านเทอดไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา วงขับร้องประสานเสียงเด็กชนเผ่าประกอบด้วยนักเรียนที่มาจากเด็กชนเผ่าต่างๆ รวม 7 เผ่าเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะขับร้องเพลงเดียวกัน อยู่ในวงขับร้องเดียวกัน อาทิ เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงไทย และเพลงสากล ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านบทเพลง

Advertisement

วงขับร้องประสานเสียง ได้สอนให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ความแตกต่าง เรียนรู้ความกลมกลืน ความลงตัว ความหลากหลาย ความพร้อมเพรียง ความสามัคคี ความรับผิดชอบ และได้รับความเพลิดเพลินด้วย เมื่อเป็นเด็กที่ต่างเผ่า ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม สิ่งที่สำคัญคือ การฝึกซ้อมอย่างจริงจัง การได้มีโอกาสแสดง ซึ่งเด็กจะต้องฝึกฝน มีน้ำใจที่ดีต่อกัน มีการช่วยเหลือกัน มีความรักที่เกิดขึ้นในการฝึกซ้อม ทุกคนต้องลงทุน (แรงกายและความรับผิดชอบ) ที่จะทำงานให้ส่วนรวมสำเร็จ

วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่า ผู้นำขับเคลื่อนโดยอาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ สำหรับเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งได้ฝึกซ้อมและทำกิจกรรมแสดงดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง 9 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวงขับร้องประสานเสียงที่ดีที่สุดในประเทศไทย อาจารย์อัญชลีได้ทำหน้าที่สอนดนตรี มีความรักมีความพยายามที่จะใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์การสอน เธอใช้ประโยชน์จากดนตรีในการพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กชนเผ่าให้ได้มากที่สุด

วันคืนเปลี่ยนไป เด็กในวงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่าก็เปลี่ยนไป เด็กอาจจะอยู่ในวงขับร้องได้ 3 ปี เด็กก็ต้องออกจากวง เด็กไปเรียนที่โรงเรียนอื่นหรือออกไปประกอบอาชีพ เด็กรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ อาจารย์อัญชลีก็ต้องฝึกนักเรียนใหม่ ที่น่าสนใจมากก็คือ วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่าได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง อาจารย์อัญชลีเองก็มีประสบการณ์มากขึ้น นักเรียนในโรงเรียน บุคลากร เพื่อนร่วมงาน และคนในจังหวัด ต่างก็ให้ความเชื่อถือ ทำให้วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่าได้รับรางวัลและสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน ทุกคนมีส่วนร่วมและมีหน้ามีตา วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่ากลายเป็นต้นแบบของการทุ่มเททำงาน แขกไปใครมาก็จะใช้บริการวงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่า

“ดนตรีไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีชนชั้น ไม่มีพรมแดน ดนตรีสำหรับเด็กทุกคน”

อาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ ไม่ได้เรียนวิชาเอกดนตรีมาก่อน เมื่อเธอต้องออกไปเป็นครูสอน เธอถูกมอบหมายให้สอนวิชาดนตรี เธอต้องไปสอนดนตรีก็เพราะว่าไม่มีใครที่จะสอนดนตรีให้กับเด็ก เมื่อเธอไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเป็นต้นทุน ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เริ่มต้นศึกษาและเรียนรู้ดนตรีด้วยตัวเธอเอง เพื่อนำความรู้ไปสอนให้กับเด็ก เธอพบว่าการขวนขวายหาความรู้ เพื่อนำความรู้ไปสอนเด็ก เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไม่รู้จะพึ่งใคร ก็จำเป็นจะต้องพึ่งตนเอง ครูจึงต้องเรียน ต้องรู้ เธอเชื่อว่า “ครูจะต้องเป็นผู้รู้ จึงจะชี้ให้กับเด็กได้” รู้แล้วจึงจะชี้

อาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ เริ่มต้นโดยการไปหาคนที่รู้ดนตรีมากกว่า เธอนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง โดยสอนให้เด็กโดยตรง เมื่อผู้รู้แนะนำอะไรมา เธอก็รับเอาไปทำหมด เธอทำตัวเป็นถ้วยชาที่ว่างเปล่า คอยเติมเต็มความรู้ใหม่ เธอสามารถที่จะเติมน้ำชาได้ทุกเมื่อ แล้วน้ำชาเหล่านั้นก็ตกไปถึงตัวเด็กโดยตรง เพราะด้วยความไม่รู้ จึงทำให้เธอทำงานได้สำเร็จ

วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่าได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เห็นผลงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยที่วงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่าได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของโรงเรียน เป็นตัวแทนของอำเภอ เป็นตัวแทนของจังหวัด ได้ร่วมแสดงในงานต่างๆ เพราะได้รับการคัดเลือกจากความสามารถให้เป็นตัวแทนออกไปแสดงจนเป็นที่รู้จักทั่วไป

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนสนับสนุนอาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ ผู้ก่อตั้งวงขับร้องประสานเสียงนักเรียนชนเผ่า โรงเรียนบ้านเทอดไทย สำนัก
งานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ซึ่งอาจารย์อัญชลีจะเป็นตัวอย่างของครูดนตรี ผู้ทำความดีเพื่อเด็กและเพื่อสังคม ในด้านการส่งเสริมดนตรี อย่างน้อยก็จะเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป

โรงเรียนบ้านเทอดไทยนั้น เดิมชื่อบ้านหินแตก เป็นพื้นที่สีแดง เป็นบ้านที่ซ่องสุมกองกำลังของขุนส่า (จาง ซีฟู, 2477-2550) หัวหน้าชนเผ่าไทใหญ่ ในพม่า ผู้ควบคุมกองกำลังติดอาวุธ เพื่อที่จะกอบกู้เอกราชของไทใหญ่ ขุนส่าเป็นพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ของโลก (ฝิ่น) ใช้เงินเพื่อซื้ออาวุธ วิธีที่หาเงินได้รวดเร็วคือการค้ายาเสพติด การสร้างกองกำลังและซื้ออาวุธไว้นั้น แม้ไม่รู้ว่าจะรบกับใครแล้วก็ตาม อาวุธก็ยังต้องซื้ออยู่ดี ซึ่งปัจจุบันอำเภอแม่ฟ้าหลวงกลายเป็นแหล่งปลูกชา กาแฟ ที่สำคัญของไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อหมู่บ้านใหม่จาก “บ้านหินแตก” เป็น “บ้านเทอดไทย” และมีโรงเรียนบ้านเทอดไท เพื่อสอนเด็กชนเผ่าให้เรียนรู้หนังสือและทำมาหากิน

ในวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562 คณะกรรมการมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จะขึ้นไปมอบรางวัลสุกรี เจริญสุข ให้แก่ อาจารย์อัญชลี เมฆวิบูลย์ ถือว่าเป็นผู้ที่ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี ประจำปี พ.ศ.2561 ที่โรงเรียนบ้านเทอดไทย จังหวัดเชียงราย

เป็นครั้งแรกที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยกรางวัลไปมอบให้แก่อาจารย์อัญชลีถึงโรงเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image