โลกที่ไม่บังเอิญของ ‘ซันเต๋อ’ กับเซอร์ไพรส์ในกระเป๋านักวาดภาพประกอบ

“ช่วงนี้อ่านหนังสือธรรมะ เขินเลย (ยิ้ม) เพราะอยากรู้วิธีการทำบุญที่ถูกต้อง” พูดแล้วก็หยิบปึกกระดาษที่มีข้อความบนปกว่า บุญ ไม่น้อยกว่า 2 คำขึ้นจากกระเป๋าใบโต

ไม่ถึงกับขัด “ลุค” แต่ก็ชวนให้แปลกใจ นี่อาจเป็นเซอร์ไพรส์อย่างแรกจาก “ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล” ที่วัยรุ่นรู้จักมักคุ้นในชื่อ “ซันเต๋อ” นักวาดภาพประกอบผู้มาแรงแซงหลายโค้งบนถนนศิลปะร่วมสมัยในเมืองไทยด้วยความเรียบง่ายแต่มีไอเดียให้ผู้ชม “คิดต่อ”

ศิลปินหนุ่มผู้นี้ยังเล่าถึงแผนระยะใกล้ว่า “ที่ผ่านมาไม่เคยคิดปฏิบัติธรรม เพราะเป็นคนรักสบาย แต่เดี๋ยวศุกร์นี้จะไปลอง (หัวเราะ)”

วงเล็บว่า ยิ้ม และ หัวเราะ ถูกใช้ถี่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพราะระหว่างสนทนาช่างมากมายด้วยอวัจนภาษาดังกล่าว ซึ่งอาจให้ความรู้สึกที่แตกต่างภาพจำของความ เงียบ-เหงา-มินิมัล ที่ถูกนิยามว่าเป็นสไตล์และลายเซ็นของเขา

Advertisement

ครีเอตผลงานสร้างชื่อมากมาย ทั้งในและนอกประเทศ อาทิ “Zero Decibel” (ซีโร่ เดซิเบล) นิทรรศการเดี่ยวว่าด้วยเรื่องราวของความเงียบ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าภูมิใจที่สุด เพราะมาจากความคิดตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าตัวเอง ต่างจากภาพประกอบตามสั่งอีกทั้งงานในบริษัทโฆษณาที่เคยทำอยู่นานก่อนตัดสินใจบินไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา กระทั่งกลับมาอยู่ไทยถาวรโดยจับมือเพื่อนๆ ที่เคยอยู่นิวยอร์กด้วยกันก่อตั้งแบรนด์ “Suntur Store” ณ สยามดิสคัพเวอรี่ที่ฮิตหนักมากแทบทุกไอเท็ม

เพลย์เทปประวัติชีวิตย้อนกลับไปเมื่อ 29 ปีก่อน เด็กชายซันเต๋อ ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน เกิดในครอบครัวข้าราชการ เป็นเด็กหลังห้องที่สอบไม่ตก จบปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ รั้ววังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เชื่อว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ แต่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ถึงอย่างนั้นก็ “ลงมือทำ” เต็มความสามารถจนคว้าคำนามว่าความสำเร็จมาครอบครอง

Advertisement

โปรเจ็กต์ล่าสุด ที่รับรองว่ามีเซอร์ไพรส์ยิ่งกว่าบรรทัดแรกของบทสัมภาษณ์นี้ คือผลงานที่แตะมือกับ “มติชน” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 28 มีนาคม-7 เมษายนนี้ ที่ไม่ได้มีแค่การออกแบบภาพประกอบบูธ แต่รวมถึงข้าวของจิปาถะที่มากกว่าความเก๋ อีกทั้งงานดีไซน์ปกหนังสือถึง 2 เล่มโดยยังไม่บอกชื่อให้เตรียมร้องว้าวกันล่วงหน้า


ก่อนจะถึงวินาทีนั้น มาทำความรู้จักผู้ชายคนนั้นให้มากขึ้นอีกนิด แล้วจะยิ่งเซอร์ไพรส์

ผลงานถูกให้คำจำกัดความว่า ‘มินิมัล’ บุคลิกงานกับตัวจริงเหมือนกันไหม เพราะศิลปินบางคน ผลงานกับบุคลิกไม่เหมือนกันเลย?

จริงๆ แล้วผมไม่ได้มินิมัลทุกงาน ต้องดูโจทย์ก่อนว่าควรวาดเยอะหรือน้อย มีหลายงานที่วาดเยอะมาก แต่บางงานทิ้งสเปซได้ ขึ้นอยู่กับว่างานนั้นเหมาะสไตล์ไหน สเปซไม่ใช่แค่ช่องว่าง มันสามารถสื่อสารอะไรได้หลายอย่าง ให้คนที่ดูงานคิดต่อได้

ส่วนตัวชอบงานมินิมัล อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใส่เข้าไป ไม่ชอบอะไรรกๆ การแต่งตัวหรือสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็เหมือนกัน ในรถผมไม่มีของเลย คนขึ้นมา งง ว่าทำไมไม่มีอะไรเลย

ผมไม่เคยพูดออกไปว่าตัวเองทำงานมินิมัลหรืองานเหงา แต่คนที่มาดูงานจะบอกว่ามันเป็นแบบนั้น แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดว่ามันเหงาขนาดนั้น มีบางรูปที่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ถึงวาดออกมา หรือบางรูปอยู่ในหัวมาหลายวันแล้วก็คิดว่าจะหาทางเอาออกมายังไง เลยเอาความคิด ระบายออกมาเป็นภาพ

แล้วเป็นคนขี้เหงาไหม ถึงขนาดหว่อง กาไวหรือเปล่า?

ไม่ๆๆๆ (หัวเราะ) เราก็มีอะไรต้องทำเยอะ เพื่อนก็มีเยอะ ออกไปปาร์ตี้ ไม่ได้เหงาขนาดนั้น แต่มีบางโมเมนต์ปิดบ้านแล้ว กลางคืนแล้ว ไม่รู้จะออกไปไหน มันก็คงเหงาเป็นบางเวลา ผมคิดว่าทุกคนเหงาหมดนะ แต่จัดการกับความเหงาได้หรือเปล่า และผมว่าตัวเองจัดการกับมันได้ ตอนอยู่นิวยอร์กโชคดีมีเพื่อนคนไทยที่นู่นเยอะ ไม่ได้เหงาแบบร้องไห้ เพราะอยู่ด้วยความสนุก แต่เหงากว่าไทย อยู่ที่นี่เรามีตัวตน มีคนรู้จักงาน ที่นู่นคือทิ้งทุกอย่างไปเริ่มใหม่ มีเรื่องนอยด์หลายอย่าง อาจจะค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย ผมไม่ได้ใช้เงินที่บ้าน หาเอง ใช้เอง ไหนจะค่าเช่าบ้าน ไหนจะต้องส่งเงินกลับมาผ่อนบ้านที่ไทยอีก อยู่นิวยอร์กมีการแข่งขัน เราไม่ใช่คนที่จะได้งานเสมอไป งานส่วนใหญ่ที่ทำที่นู่นก็เป็นงานที่ได้จากเมืองไทย ภาษาก็ไม่เก่ง

ชอบมินิมัลทำไมไม่ไปญี่ปุ่น แต่เลือกไปนิวยอร์กซึ่งเป็นเมืองที่มีสีสันมาก สนุกมาก แสงสีเยอะมาก?

ก็จริง (หัวเราะ) ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผมชอบที่สุด ไปกี่ครั้งก็ชอบ ของกินก็ดี งานศิลปะก็ดี แต่ตอนนั้นเลือกนิวยอร์กเพราะอยากไปอเมริกาด้วยแหละมั้ง รู้สึกว่ามันไม่ได้ไปง่ายๆ มิวเซียมดี มีศิลปินดังหลายคนมาแสดงงาน งานที่นิวยอร์ก ไม่มินิมัลเลย มันมันส์ มันเยอะ! แต่งานผมไม่ได้ไหลไปตามงานพวกนั้น พยายามหาทางที่งานเราจะโดดเด่นท่ามกลางงานที่ดูเยอะๆ

พบสไตล์ตัวเองตอนไหน?

อธิบายไม่ถูก เพราะทำงานหลายสไตล์ แต่ถ้าชอบงานไหน จะรู้เลยว่าเรามั่นใจ เหมือนแต่งตัวแบบนี้แล้วมั่นใจ มันไม่ได้ต่างกันเลย

ตอนลาออกจากงานซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ ใช้เวลาคิดนานไหม ครอบครัวว่าอย่างไร ?

พี่อยากออกหรือยังครับ (หัวเราะ) จริงๆ งานโฆษณาเป็นงานที่ผมชอบ แต่ที่อยากออกเพราะมีอีกอาชีพหนึ่งที่เรามีความสุข คือวาดภาพประกอบ เลยลองทำ 2 งานนี้ควบคู่กัน ตอนนั้นถามตัวเองว่ากล้าออกไหม ก็ไม่กล้านะ ไม่ค่อยชอบเสี่ยง คิดแค่ว่ามันเป็นเหตุผลที่ดีที่จะลาออก ทั้งกับตัวเองและกับหัวหน้า ว่าจะทิ้งสิ่งที่คนอื่นมองว่ามั่นคง แล้วยังไม่ได้คิดด้วยว่าไปนิวยอร์กกลับมาจะทำโฆษณาอีกไหม จะอยู่นานหรือเปล่า คิดแค่ว่าลองไป อยู่ไม่ได้ก็กลับ

แล้วพอไปถึง หลักๆ ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน?

เที่ยว (หัวเราะ) เรียนภาษา เรียนเพนติ้ง ภาพประกอบแฟชั่น จบเป็นคอร์สสั้นๆ เหมือนไปเปิดโลก สนใจอะไรก็เรียน ตอนอยู่นู่นได้ลองทำงานที่ศิลปินทำจริงๆ คือเพนต์ ก่อนหน้านั้นทำคอมเมอร์เชียลมาตลอด ช่วงเวลานั้นทำให้ได้วาดในสิ่งที่อยากวาดพอดี แล้วขนผลงานกลับมาไทย

พื้นฐานครอบครัวเป็นข้าราชการ แล้วมาทำงานสายศิลปะ เขาโอเคไหมตั้งแต่ตอนเลือกคณะสอบเข้ามหาวิทยาลัย?

บ้านผมเป็นแบบ…จะเรียนอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่ถึงเขาไม่โอเคผมก็ทำอยู่ดี เพราะเรารู้ตัวว่าไปทำอย่างอื่นไม่ได้ วิชาอื่นเราไม่เก่งเลย ตอนเรียนเป็นเด็กหลังห้องที่เอาตัวรอดได้ เป็นคนสมาธิสั้นด้วย ไม่ได้ชอบเรียนเท่าไหร่ แต่จะไม่ยอมให้ตัวเองสอบตก ไม่เคยคิดว่าต้องได้เกรด 4 แต่คิดว่าทำยังไงไม่ให้สอบตก ผมมีวิธีของตัวเอง สมมุติวิชาวิทยาศาสตร์สอบบทที่ 3 4 5 แล้วบทที่ 5 ยาวมาก ก็ไม่อ่านบทที่ 5 คือเอาแค่พอผ่าน ก็อยากได้คะแนนดีๆ นะ แต่ไม่ได้มีแพสชั่นในการเรียนเยอะ มันอาจเริ่มจากความขี้เกียจด้วย ที่ทำให้งานเราเป็นแบบนี้…(นิ่งคิด)…อาจจะนะ (หัวเราะ)

เป็นที่รู้กันว่าการสอบเข้ามัณฑนศิลป์ ไม่ได้ง่าย แสดงว่ามีแพสชั่นด้านนี้แทน?

นี่คือจุดเปลี่ยนเลย เพราะอยากเข้ามากๆ แต่รู้ตัวไม่เก่งวิชาการ การสอบมีทั้งวาดรูปและวิชาการ เอาคะแนนมารวมกันดูว่ามันผ่านไหม ช่วงนั้นอ่านหนังสือและฝึกวาดรูปไปด้วย ช่วง ม.ปลายหลังเลิกเรียนนั่งรถไปติวทุกวัน แต่ละวันรอคอยช่วงเย็นที่จะได้ไปวาดรูป

มองผลงานตัวเองย้อนกลับไป คิดว่ามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง?

สมมุติว่ามองงานเป็นเด็กคนหนึ่ง เด็กคนนี้โตขึ้นเรื่อยๆ รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป แต่จริงๆ ก็ยังเป็นเด็กอยู่ เหมือนคุณมองตัวเอง 10 ปีที่แล้ว ว่าทำไมเราแต่งตัวเชยขนาดนี้ ผมมองงานตัวเองเป็นอย่างนั้นเลย เชย ไม่สวย แต่ตอนนั้นพอใจงานตัวเองมากๆ

มีจุดอ่อนที่ตัวเองมองเห็นไหม แก้ไขอย่างไร?

เป็นคนวาดภาพเหมือนไม่เก่ง สกิลไม่ถึง เลยจำเป็นต้องใช้สไตล์มาช่วยให้เรามีตัวตน เพราะฉะนั้นงานผมจะไม่ใช่แบบที่สัดส่วนเป๊ะ แต่วาดภาพที่เกือบเหมือนจริง อาจจะดูเป็นการ์ตูน ซึ่งจะมองเป็นจุดอ่อน หรือจุดเด่นก็ได้ ส่วนจุดเด่นคือ ชอบระบายสี ผมว่าผมเลือกสีเก่ง หลักการคือใช้เซนส์อย่างเดียวเลย

เป็นคนเชื่อหมอดู จริงไหม?

ไม่ได้เชื่อขนาดนั้น แต่ดู อาจจะไมได้ดูเยอะเท่าคนอื่น แต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจไมได้ อย่างตอนจะไปอเมริกา ก็ไปถามว่าวีซ่าจะผ่านไหม ส่วนสถานทูตก็ต้องถามอยู่แล้ว แต่ถามหมอดูก่อน (หัวเราะ) เผื่อไม่ผ่านแล้วหมอดูมีวิธีแก้ แล้วก็เพิ่งจะมาศึกษาเรื่องบุญบาปมากขึ้น

ทำไมหันมาสนใจธรรมะ มีจุดเปลี่ยนอะไร?

ผมว่าธรรมะ มันมีเหตุผลของมัน มันเป็นอะไรที่ “จริง” ผมเชื่อเชื่อเรื่องชาติภพ ไม่ใช่ว่าเกิดมาชาตินี้ พอตายแล้วก็หายไป เลยค่อยๆ ศึกษาว่าทำไมเขาถึงมีหลักธรรมว่าห้ามฆ่าสัตว์ พอศึกษามากๆ ก็อิน ทำบุญเยอะ ส่วนเรื่องผีไม่เคยเจอ ได้ยินแต่เสียง ไม่รู้ว่าเป็นผีไหม แต่เอาเป็นว่าเชื่อแล้วกันว่าผีมีจริง

ถ้าคิดว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว จะขับเคลื่อนชีวิตไปอย่างไร ความมีชื่อเสียงในวันนี้มาจากพรหมลิขิตบันดาลชักพา?

ถึงจะเชื่ออย่างนั้นแต่ก็ไม่ได้ปล่อยชีวิตตัวเอง เรา “ทำ” มากกว่า แต่ผมเชื่อว่าในโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ เช่น ผมเกิดมาเป็นลูกพ่อแม่ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทำไมเราถึงได้งานชิ้นนี้ หรือได้เรียนที่นี่ สมัยก่อนไม่เคยคิดนะ เพิ่งมาคิดได้ช่วงหลังๆ ว่า จริงด้วย เราต้องมาเรียนที่นี่เพราะต้องมาเจอเพื่อนคนนี้ ต้องมีเรื่องให้ทะเลาะหรือช่วยเหลือเรา

ลายดังของแบรนด์อย่าง I’m OK แต่มีนิ้วไขว้ สะท้อนบุคลิกหรือนิสัยลึกๆ ของตัวเองไหม เช่น เก็บความรู้สึก ช่างคิด กวนนิดหน่อย?

คิดว่าเป็นการได้อิทธิพลการออกแบบอะไรอย่างนี้มาจากงานโฆษณา งานผมจะไม่ได้แบน สวยอย่างเดียวไม่มีความหมาย แต่มีแก๊ก มีกิมมิก

ทำแบรนด์ SUNTUR กับเพื่อน กังวลไหม มีเส้นแบ่งอย่างไร เพราะหลายคนแตกหักจากความขัดแย้งทางธุรกิจ?

ไม่ได้คิดอะไรมาก (หัวเราะ) คือเราทำกันแบบสบายๆ แต่ละคนมีงานประจำแล้วแบ่งเวลามาทำโปรเจ็กต์นี้ร่วมกัน เพื่อน 2 คนปล่อยให้ผมทำงานออกแบบไปเลย เขาอาจคอมเมนต์บ้างว่าช่วยปรับอันนี้ได้ไหม เราก็ปรับ คุยกันแบบเพื่อน ไม่ได้เอาผลกำไรมาตั้ง ไม่ได้กดดัน เราแบ่งงานกันทำ คนนี้บริหารจัดการ คนนี้ทำการตลาด คนนี้ขาย ผมทำแค่งานออกแบบโดยต่อยอดงานลงไปอยู่ในของใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าเป็นงานเฟรม มีแค่คนเดียวที่สามารถซื้องานได้ บางคนอยากได้งานมากกว่าแค่เฟรมไปติดบ้านรูปเดียว เลยออกมาเป็นเคสโทรศัพท์ เป็นของเล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นสินค้าเยอะมาก เคสโทรศัพท์ กระเป๋าตังค์ แก้วน้ำ ตอนนี้ทำคอลเล็กชั่น ขอให้ฉันโชคดี ไม่ได้ใช้รูปวาด แต่เป็นข้อความอย่างตอนที่เป็นก๊อบปี้ ไรเตอร์ ขายดีสุดคือประเป๋าผ้า เราไม่เคยขายของมาก่อน ก็เอาหลักจากงานโฆษณามาใช้ คือทำยังไงให้ของเราน่าสนใจ ให้เป็นเบรนด์ที่มีตัวตน เพื่อนก็เลยบอกว่า งั้นเอาชื่อซันเต๋อเป็นชื่อแบรนด์ไปเลยเพราะคนรู้จัก ออนไลน์ก็ขาย มีจัดอีเวนต์ มีไปออกบูธด้วย

 นอกจากรายได้แล้ว เป็นการเติมเต็มความรู้สึก?

ครับ รู้สึกว่าเติมเต็มเรานะ เพราะเป็นงานที่ออกแบบเอง ถ้าพูดในมุมอาชีพ คนที่จะมาจ้างงาน บางทีเขาไปเห็นโปรดักต์ว่างานเราอยู่บนสินค้าแล้วโอเค ก็มาจ้างทำสำหรับสินค้าของเขา เลยเป็นสิ่งที่ซัพพอร์ตอาชีพเราด้วย รายได้นี่ไม่เคยแบ่งเงินกันเลย เอาเงินทีได้ไปเที่ยวด้วยกัน และยังทำกันแค่ 3 คน

มีไอดอลไหม เป็นนักวาดภาพประกอบเหมือนกันหรือเปล่า?

หลายๆ อาชีพให้แรงบันดาลใจเราได้หมด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำงานเหมือนเราไม่ใช่เฉพาะคนวาดรูป เป็นนักร้อง ดารา ผู้กำกับได้หมด อย่างเต๋อ นวพล ซึ่งเป็นผู้กำกับหนัง ผมก็ชอบมาก รู้สึกว่าหนังเขามีแก๊ก มีอะไรให้คิด ก็ติดตามผลงาน ส่วนเพลง ฟังหมด แต่ชอบเพลงช้า

ตอนนี้ดังแล้ว ยังรับงานเยอะเหมือนเดิมไหม?

เป็นคนไม่ค่อยปฏิเสธงาน เคยผ่านช่วงที่รับหมด ไม่เลือก ใช้เวลาหลังกลับบ้าน 4-5 ทุ่มหลัง ทำถึงตี 4 เครียดมากถึงขนาดจะอ้วก หลังๆ เลยคิดว่าไม่ต้องรับทุกงานก็ได้ บางโจทย์ที่รู้สึกว่าทำไปก็คงไม่ใช่งานที่เราภูมิใจ บางโจทย์ที่ไม่อยากทำ คือพวกงานที่ไม่ได้ปล่อยไอเดีย ก็ลองเรียกราคาสูงหน่อย ให้คุ้มค่าที่เราต้องเครียด ถ้าเขาสู้ เราก็พร้อมจะสู้ (หัวเราะ)

มาถึงจุดนี้อยากบอกวัยรุ่นที่กำลังจะตัดสินใจในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะคนที่ไม่มั่นใจว่าจะไปทางไหนดี?

เราเองก็เป็นคนไม่มั่นใจเหมือนกัน ก่อนอื่นก็ต้องลองทำ เช่น ตอนทำงานโฆษณา ผมก็ลองทำงานภาพประกอบไปด้วย แล้วลองโชว์งาน จะเป็นคำตอบเองว่าสามารถทำมันได้จริงหรือเปล่า เราจะมีความมั่นใจขึ้นเอง


ตอนถูกทาบทามจาก “สำนักพิมพ์มติชน” ให้ออกแบบบูธ และของพรีเมียมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้รับโจทย์อย่างไร?

รู้สึกว่าถ้าลูกค้ามองเห็นว่างานเราเหมาะแล้ว ผมก็เชื่อว่าทำได้ โจทย์หลักๆ เป็นของพรีเมียมที่ทำแจกในงาน และตกแต่งบูธ ของพรีเมียมสำหรับผมไม่ยาก เพราะทำมาเยอะ หลักๆ คือคิดว่าทำยังไงให้ของมันน่าใช้ ให้คนที่ได้ไปไม่เอาไปทิ้ง แต่เอาไปใช้ ใส่ความเป็นสไตล์ของเราเข้าไป

สำหรับบูธ ทางมติชนปล่อยให้ทำอิสระสไตล์ผม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนชอบทำงานที่มีกรอบ เพราะหาทางไปได้ ถ้าไม่มีกรอบให้เลย ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่มีอะไรเกาะเลย งานที่มีโจทย์ มีกรอบจะหาวิธีซิกแซกได้

งานที่คิดออกมาสื่อว่าหนังสือเหมือนเพื่อนเรา หลักๆ ออกแบบ 5 คาแร็กเตอร์ ซึ่งใน 5 คาแร็กเตอร์ มีข้อความที่เข้ากับรูป เป็นรูปคนกับหนังสือในแบบต่างๆ โดยจะไปอยู่ในโปรดักต์ รวมถึงการตกแต่งบูธด้วย อันนี้ต้องไปดู (ยิ้ม) ตอนคิดงานก็หยิบหนังสือลองมาวางแล้วคิดว่ามันช่วยอะไรเราบ้าง อย่างคนขี่หนังสือ เหมือนหนังสือพาเราไปในโลกต่างๆ อีกรูปคือหนังสือเหมือนจั่วบ้าน คอยปกป้องเรา อีกภาพคือหนังสือทำให้เรานอนหลับฝันดี เพราะอ่านหนังสือก่อนนอน และหนังสือยังเป็นเหมือนบันไดด้วย

ส่วนไหนยากที่สุด มีข้อจำกัดไหม?

ภาพปกหนังสือ ผมออกแบบ 2 ปก ยากกว่าบูธ เล่มหนึ่งเป็นชื่อนักปราชญ์ชาวตะวันตก ตอนแรกจับอะไรมาใช้ไม่ได้เลย ยกเว้นรูปหน้าเขาซึ่งยังเป็นยุคงานเพนต์อยู่เลย หนังสือเล่มนี้ เอาหลักการของคนคนนี้มาให้คนอ่านได้ศึกษา เลยวาดเป็นรูปคนที่มองเข้าไปในกระจกให้เราศึกษาเขา อีกเล่มแนวการเมืองมาก ก็ออกแบบไปตามชื่อหนังสือซึ่งเป็นโจทย์ แล้วมาดูว่าจะวางไดเร็กชั่นยังไงให้สะอาด

ได้มาออกแบบปกหนังสือการเมืองอย่างนี้ ถามจริงๆ อินการเมืองไหม?

ติดตามบ้าง แต่อย่าถามว่าเลือกใครนะ (หัวเราะ).

 

นับ 1 ถึง 7 รู้จักซันเต๋อแบบ (ไม่) เซอร์ไพรส์

1. ชื่อ “ซันเต๋อ” เป็นชื่อหลวงจีนในหนังจีนกำลังภายใน พ่อตั้งให้เพราะชอบเต๋อ เรวัฒน์ พุฒินันทน์

2. สีที่เป็น “ตัวเอง” ในอดีตคือพาสเทล ปัจจุบันคือสีสดแบบคุมโทนและมีสเปซ เหตุผลที่เปลี่ยนไป เจ้าตัวบอก ก็อารมณ์เดียวกับการใส่เสื้อผ้า

3. อยากเป็นนักวาดภาพประกอบมาก แต่ไม่รู้จะทำยังไง เลยโชว์งานผ่านไอจีถี่ๆ ทุกวัน บอกว่าเป็นการโยนงานไปบนอากาศเผื่อมีคนเห็น กระทั่งได้งานแรกเป็นภาพโปสเตอร์ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งปิดตัวไปแล้ว

4. มีความประสงค์จะออกแบบพระพิฆเนศสักครั้ง เพราะนับถือ

4. ชอบปาร์ตี้กับเพื่อน เน้นคุย ไม่ใช่แนวเต้น ไม่ค่อยไปดูคอนเสิร์ต เพราะไม่ชอบคนเยอะ ข้อเสียที่มองตัวเอง คือ ไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้าเยอะ ไปอยู่อเมริกาเลยไม่ได้เพื่อนเพิ่มสักเท่าไหร่

5. หนังสือในความทรงจำคือนิตยสารที่อ่านตอนมัธยม ได้แก่ สารกระตุ้น และโอโอเอ็ม ซื้อทุกฉบับ และคิดว่าตัวเองได้วิธีการวางกราฟิกมาจากนิตยสารแบบนี้ คือเรียบๆ น้อยๆ

6. “ไปๆๆ” คือคำตอบของคำถามที่ว่า 24 มีนาฯ จะไป “เลือกตั้ง” ไหม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image