อาลัย ‘อุชเชนี’ และบทกวีที่มีเพื่อเพื่อนมนุษย์

(ซ้าย) หนังสือ ขอบฟ้าขลิบทอง พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ (ขวา) อุชเชนี

1.

“มิ่งมิตร                                   เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน          ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม
ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม  ที่จะขมขื่นลึกในหมึกมน”

เป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของบทกวี ขอบฟ้าขลิบทอง จากปลายปากกาของ อุชเชนี หรือ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2536 เจ้าของน้ำเสียงอ่อนหวานในบทกวีซึ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงระยะเวลารอยต่อระหว่างการปกครองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่ามกลางบรรยากาศเร่งเร้าและเรียกร้องให้ประชาธิปไตยก่อตัวขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง

งานเขียนของเธอไม่รุนแรง ไม่ปลุกเร้า ไม่กร้าวกร้าน แต่งดงามและเปี่ยมไปด้วยพลัง-นั่นเองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานเขียนของเธอยืนยงอยู่จนทุกวันนี้ กระทั่งเมื่อเธอจากไปด้วยวัย 97 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ปฏิเสธได้หรือ ว่านี่คือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของวงการวรรณกรรมไทย

Advertisement

‘หัวใจ’ ของงานเขียนของอุชเชนี ใช่หรือไม่ว่าคือความเข้าอกเข้าใจความทุกข์ตรมของคนยาก

“คุณอุชเชนีเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร ‘โลกหนังสือ’ ผมเป็นคนสัมภาษณ์ท่านเองเลย” สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิแห่งโลกวรรณกรรมรำลึกความหลังเมื่อเขามีโอกาสสัมภาษณ์นักกวีหญิงแห่งยุคสมัยลงนิตยสารโลกหนังสือเมื่อ 36 ปีที่แล้ว “จำได้ว่าตีพิมพ์เดือนมีนาคม ตรงกับช่วงวันสตรีสากลพอดี เราจึงทำฉบับเกี่ยวกับผู้หญิงและได้ไปสัมภาษณ์ท่าน”

“จำได้ว่าท่านพูดว่าชอบเขียนเรื่องคนจน เพราะเรื่องนี้ฝังลึกในจิตใต้สำนึกของท่านซึ่งเป็นคาทอลิก ท่านมีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องพูดถึงคนที่เสียเปรียบ คนด้อยโอกาส”

Advertisement

อุชเชนียังมีอีกนามปากกาหนึ่งคือ นิด นรารักษ์ ซึ่งเธอตั้งขึ้นมาหลังกลับมาจากปารีส อ่านวรรณกรรมมากมายหลากหลาย พบเจอผู้คนในสลัมและระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นบทกวี

ด้วยแก่นแกนเช่นนี้ อุชเชนีจึงสะท้อนออกมาเป็นบทกวีหลายต่อหลายบท

“ฉันอยู่เพื่อยุคทองของคนยาก      ที่เขาถากทรกรรมซ้ำปั่นหัว
เพื่อความถูกที่เขาถมจมทั้งตัว       เพื่อความกลัวกลับบ้าบั่นอาธรรม
เพื่อโลกใหม่ใสสะอาดพิลาศเหลือ  เมื่อคนเอื้อไมตรีอวยไม่ขวยขำ
เพื่อแสงรักส่องรุ่งพุ่งเป็นลำ           สว่างนำน้องพี่มีชัยเอย”
(ส่วนหนึ่งของบทกวี: “อยู่เพื่ออะไร”)

2.

“ที่จะโลดเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน  ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน      ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ
ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก         ที่จะจากผมนิ่มปิ่มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง”

อุชเชนีเติบโตในครอบครัวคนค้าขายและเป็นคาทอลิก จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ภายหลังจะเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษในรั้วสถาบันที่จบมา

และพื้นฐานทางศาสนานี่เองที่เป็นเรี่ยวแรงผลักดันให้เธอเขียนงานถึง “ผู้อื่น” มากกว่าตัวเอง

ทรรศนะที่ปรากฏในงานเขียนของเธอแนบแน่นแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับหลักการของศาสนาคริสต์ ในการจะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความรักและการช่วยเหลือเกื้อกูลเห็นหัวอกหัวใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน งานเขียนของเธอจึงไม่ก้าวแกร่ง แต่อ่อนหวานนุ่มนวลเพื่อเน้นย้ำถึงความรักที่ควรมอบให้แก่กันและกัน ผ่านความต่างทางชนชั้นและความเป็นอยู่

“ดิฉันชอบเขียนเรื่องคนจน อันนี้ มันฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนที่เป็นคาทอลิก… คือคนจนนี่เป็นรากฐานของคริสตศาสนามาอีกทีหนึ่ง ผูกพันอยู่กับคนจน มีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่…” เป็นคำให้สัมภาษณ์กวีหญิงต่อบทบาทการเป็นกวีของเธอและการเป็นคริสตศาสนิกชนเมื่อครั้งตีพิมพ์ลงนิตยสารโลกหนังสือ

กระทั่งนามปากกานี้ ก็มาจากชื่อของเออเชนี (Eugenie) ซึ่งเป็นชื่อของนักบุญในศาสนาคริสต์

ความจริงนี้ถูกย้ำให้หนักแน่นขึ้นด้วยคำให้สัมภาษณ์ของสิงห์สนามหลวงอย่างสุชาติ-ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 36 ปีก่อน เขาคือคนที่นั่งสัมภาษณ์เธอในวันนั้น ที่ห้องทำงานของอุชเชนีในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นตำแหน่งของเธอในเวลานั้น


“เข้าใจว่าในประเด็นนี้ ท่านคงได้อิทธิพลมาจากความรู้สึกผูกพัน และความรู้สึกที่เป็นคาทอลิกที่มีต่อคนด้อยโอกาส”

“คุณอุชเชนีเป็นกวีที่เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมที่โดดเด่นที่สุดในช่วงปี 2500 ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจอมพล ป.และจอมพลสฤษดิ์ ในแง่ที่ว่าพูดถึงผู้ที่ถูกกระทำ ตกเป็นเหยื่อ คนเสียเปรียบ ด้อยโอกาส ส่วนหนึ่งอาจมีพื้นฐานจากการที่ท่านเป็นคาทอลิกด้วย”

“ในบทกวีของอุชเชนี พูดถึงคนที่เสียเปรียบหรือผู้ถูกกระทำในลักษณะเป็นบทกวีที่มีจิตสำนึกขบถ แต่ไม่ได้มาจากนักคิดทางการเมืองอย่างนักเขียนนักกวีท่านอื่นๆ แต่พื้นฐานของอิทธิพลงานเขียนของอุชเชนีนั้นมาจากศาสนาคริสต์ การที่ท่านเป็นคาทอลิกทำให้ท่านมีใจจะเสียสละเพื่อคนที่เสียเปรียบอยู่เสมอ”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี


3.

“ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก                       ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะลุจุดหมายปลายทะนง                   ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา
เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น  เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อรวงข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา         เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ”
(จากบทกวีขอบฟ้าขลิบทอง)

การเป็นนิสิตและเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยภาควิชาภาษาฝรั่งเศส ทำให้อุชเชนีได้อ่านและศึกษาวรรณกรรม เหยื่ออธรรม (Les Miserables) งานเขียนถึงการต่อสู้ทางชนชั้นอันลือลั่นและทรงพลังของวิคเตอร์ ฮูโก

“ถ้ายังจำได้ ในเรื่องนี้ วัลฌองขโมยขนมปังแล้วถูกศาลตัดสินให้ได้รับโทษอย่างหนัก คิดว่าอุชเชนีคงได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องนี้ ท่านรู้วรรณกรรมเยอะโดยเฉพาะวรรณกรรมฝรั่งเศส”

“และอิทธิพลส่วนหนึ่งนั้น มาจากการอ่านงานของวิคเตอร์ ฮูโก” สุชาติกล่าว

วรรคทอง “เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือน…” ใน ขอบฟ้าขลิบทอง นั้น อุชเชนีขยายความว่า เธอนำมาจากประโยคของฮูโก-ใครเอาเคียวมาทิ้งไว้ในท้องฟ้า

“มันโรแมนติซิซึ่มแท้ๆ มันก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์คอมมิวเนอะอะไรใช่ไหม” อุชเชนีให้สัมภาษณ์โลกหนังสือไว้เช่นนั้นถึงที่มาของถ้อยคำถ้อยความอันงดงาม “ดูซิว่ากวีเก่าเขายังเขียนขนาดนี้”

เป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลจากวรรณกรรมฝรั่งเศสที่อุชเชนีได้รับเสมอมา ทั้งจากการเล่าเรียน ศึกษา และได้ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับปารีส ฝรั่งเศส โดยเฉพาะนักเขียนที่พูดถึงคนจนและการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีขึ้นอย่างวิคเตอร์ ฮูโก

งานเขียนของอุชเชนีแพร่หลายในช่วงปี 2500 เป็นครั้งแรก ก่อนจะเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้งในช่วง 14 ตุลา 2516 จากการที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นนำงานเขียนสมัยศตวรรษ 2490 ซึ่งมีนักคิดนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองมาตีพิมพ์อีกหนเพื่อสะท้อนภาวะบ้านเมืองและบรรยากาศอันคุกรุ่นไปด้วยความอึดอัดหัวใจ

“งานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในช่วง 14 ตุลา มีทั้งปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงษ์, งานเขียนของศรีบูรพา งานของอุชเชนีก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน” สิงห์สนามหลวงกล่าว

“งานของท่านมีความรู้สึกนะครับ สำหรับผม มันไม่ใช่ความรู้สึกเชิงการเมือง ไม่ใช่ความรู้สึกเชิงปลุกระดม แต่เป็นความรู้สึกจริงๆ ของคนที่มีฐานรากของความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนยากคนจน เป็นจิตใต้สำนึกของการเป็นคาทอลิก ประสานกับจิตสำนึกขบถของคนในช่วงก่อน 14 ตุลาด้วย”

“งานของอุชเชนีเป็นเช่นนั้น”

ไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า งานของอุชเชนีนั้นอยู่ข้ามพ้นกาลเวลามาหลายยุคสมัย ผ่านทั้งความยินดีและความขมขื่นของบ้านเมืองในวันที่บรรยากาศหม่นมัว และลมฝนอันกระโชกแรงต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม

และยังคงเป็นบทกวีที่ให้ความหวังที่จะเห็นสิ่งที่ดีกว่าในบ้านเมือง

เพื่อสักวันหนึ่ง เราจะได้เห็นเส้นรุ้งและแสงทองที่ขลิบขอบฟ้านั้นอย่างเท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image