5 พรรคการเมืองขึ้นเวทีให้คำมั่น ‘สิทธิมนุษยชน’เป็นวาระชาติ 3 จว.ชายแดนใต้ การเมืองต้องนำการทหาร

ยิ่งใกล้โค้งสุดท้าย เวทีดีเบตยิ่งเข้มข้น ประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้นโยบายเศรษฐกิจก็คือ ประเด็นของสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริมคุ้มครองและปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ ตั้งแต่การปลอดจากการทรมานไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จึงเป็นโอกาสที่จะได้เห็นการเคารพต่อพันธกิจเหล่านี้และความพยายามจะขับเคลื่อนพันธกิจเหล่านี้ให้เป็นกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ

นับหลังถอยหลังอีกไม่เกินอึดใจจะถึงวันที่ 24 มีนาคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกันเปิดเวที “เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน” รวมตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศให้เข้มแข็ง และสอดคล้องกับพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ภายในงานมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มาร่วมฟังโดยมีการทำบัตรเลือกตั้งวาระสิทธิมนุษยชนให้โหวตเลือกประเด็นที่อยากให้ผลักดันมากที่สุด ประกอบด้วย 1.ยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย 2.ยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ 3.คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 4.ส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ 5.คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 6.คุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยรวมถึงแรงงานข้ามชาติ 7.ส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวในการใช้คอมพิวเตอร์ 8.ให้การเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน 9.ยกเลิกโทษประหารชีวิต

Advertisement

ประเด็นที่ได้รับคะแนนโหวตมากสุดคือ “การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

นโยบายของพรรคและสิ่งที่จะทำเป็นสิ่งแรก

วัฒนา เมืองสุข ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน นโยบายสำคัญที่จะทำหลังเลือกตั้ง 3R คือ 1.Restore Economy พลิกฟื้นเศรษฐกิจ 2.Return Power to the People คืนอำนาจให้ประชาชน 3.Reform Government Authority สิ่งที่เป็นปัญหาต้องถูกปฏิรูปก่อน

“นโยบายสำคัญอย่างแรกคือการเคารพสิทธิการแสดงออก อะไรที่กระทบสิทธิพื้นฐานของความเป็นคนต้องยกเลิก ระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักประกันราคาถูกสุดที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่พรรคต้องทำควบคู่คือการปฏิรูปองค์กรที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมากที่สุด เช่นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมและกองทัพ รวมถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหารด้วยที่ไม่สอดคล้องกับบริบทภัยคุกคามรูปแบบใหม่ มากกว่านั้นกฎหมายใดที่ออกมาโดยขัดหลักนิติธรรม พรรคเพื่อไทยจะยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องบริบทสิทธิมนุษยชนโลก คือเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ”

Advertisement

อลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเหมือน 2 ด้านของเหรียญที่ขาดกันไม่ได้ แต่จะขับเคลื่อนไปในบริบทภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ประเพณี ธรรมเนียม ระบบกฎหมาย และความเชื่อที่ต่างกันในแต่ละประเทศ

“สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะทำถ้าได้เป็นรัฐบาล คือ 1.จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำกรอบสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครอบคลุมประเด็นสำคัญ 21 สิทธิตามแนวทางยูพีอาร์ 2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะปฏิรูปตำรวจให้เหลือแต่ตำรวจส่วนกลาง นอกนั้นเป็นตำรวจจังหวัด ถ้าเราให้ต้นน้ำกระบวนการยุติธรรมอยู่ในกรอบการตรวจสอบและมีส่วนร่วมจากประชาชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสิทธิมนุษยชน 3.การปฏิรูปกฎหมาย”

พาลินี งามพริ้ง ตัวแทนพรรคมหาชน กล่าวว่า นโยบายพรรคมุ่งให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมกันในทุกมิติ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความเป็นพลเมืองและวัฒนธรรมซึ่งครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชนครบถ้วน ความเท่าเทียมทางการเมืองคือ มุ่งเน้นการทำการเมืองแบบไม่แบ่งฝ่ายไม่เลือกข้าง สนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะถ้ามุ่งเน้นฝักฝ่ายจะแก้ปัญหาประเทศไม่ได้

“เรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจต้องให้มีการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้เท่ากันโดยมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจออนไลน์ เรื่องสิทธิมนุษยชนความเท่าเทียมต้องมีการปลดล็อก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนด้อยโอกาสที่ทำงานในภาคบริการ ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเรายึดมั่นแน่นอน”

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าวว่า อุดมการณ์ 3 ข้อของพรรคสามัญชนคือ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม นโยบายทุกข้อจึงเป็นนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีนโยบายที่โดดเด่นต่างจากพรรคอื่นคือ 1.สร้างกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย 2.ผลักดันเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ผู้หญิงต้องมีสิทธิตัดสินใจเรื่องร่างกายของตัวเองรวมถึงเรื่องการทำแท้ง 3.ทบทวนกฎหมายอาญาที่จำกัดสิทธิและกีดดันแรงงานข้ามชาติและพนักงานทางเพศไม่ให้เข้าถึงสวัสดิการ รวมทั้งกฎหมายที่กีดกันผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้าถึงสิทธิการทำงาน นอกจากนี้ยังมีนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ แรงงานพลัดถิ่น ผู้พิการ

“หากเป็นรัฐบาลสิ่งแรกที่จะทำคือแก้กฎหมายที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ยกเลิกคำสั่ง คสช.ทั้ง 35 ฉบับ ยุติการดำเนินคดีกับใครก็ตามที่พยายามพูดความจริงในสังคม ยกเลิกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นทางการเมืองของคนไทยทุกคนและคนที่ลี้ภัยในต่างประเทศ”

พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า โครงสร้างนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ประกอบด้วย 3 นโยบายฐานราก 8 นโยบายเสาหลัก และ 1 ปักธงประชาธิปไตย มุ่งหมายในการสร้างสังคมที่คนเท่าเทียมกัน นำประเทศไทยไปเท่าทันโลก เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เร่งด่วนที่สุดคือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ เช่น กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วใช้กฎหมายปกติ อย่าให้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติและยิ่งสร้างความคับแค้นใจเติมเชื้อไฟให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วต้องมีการทำกระบวนการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านที่รวมถึงประชาชนไทยทุกคนที่ถูกละเมิดโดยรัฐต้องได้รับการเยียวยา

“เราต้องการการปรองดอง แต่การลืมทุกอย่างแล้วจับมือกันเรียกว่าหมกเม็ดซุกขยะใต้พรม หากทำความยุติธรรมให้ปรากฏแล้วความปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในประเทศนี้ เราต้องกำจัดกฎหมายไม่เป็นธรรมที่รัฐใช้อำนาจละเมิดประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่บัญญัติให้คำสั่ง คสช.ถูกต้องชอบธรรม ประกาศคำสั่ง คสช.ต้องถูกพิจารณาใหม่หมด ประกาศคำสั่งที่มีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริตให้เปลี่ยนเป็นกฎกระทรวงหรือกฎหมายอื่น ประกาศใดที่ละเมิดประชาชนต้องยกเลิกและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย”

เสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วัฒนา เมืองสุข ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นแรก ต้องเปลี่ยนแนวคิดเอาการเมืองนำการทหาร ผมเชื่อว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาทางการเมือง มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกทำร้าย ฉะนั้น สงครามไม่มีวันจบได้ด้วยสงคราม แต่ต้องจบได้ด้วยการเจรจา พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดว่าถ้าเราได้เข้าไปบริหารประเทศจะต้องใช้หลักการเมืองนำการทหาร

รวมทั้งต้องยอมรับความหลากหลายความแตกต่างทางวัฒนธรรม เรายอมรับภาษาอื่นๆ ได้มากมาย แต่น่าสนใจว่า ภาษาที่พูดกันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ภาษายาวี เราไม่ยอมรับ เราจำกัด เราพยายามกีดกัน

“นโยบาย 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความละเอียดอ่อน คนทุกคนต้องยอมรับและช่วยกันดูแลอย่างระมัดระวัง แต่เรายังไม่เคยทำให้คนในประเทศรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย เรารู้แค่ว่ามีความรุนแรง มีระเบิดเท่านั้น เราจะทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา”

อลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ภาคใต้แทบจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเลย ไม่มีระเบิด ไม่มีการยิงกัน แต่เหตุการณ์มาปะทุและลามมาตลอด หลังจากปี 2541 เป็นต้นมา

“แนวทางของเราคือ 1.การยกเลิกกฎหมายพิเศษ ไม่ว่า พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ไม่ว่ากฎอัยการศึก คือเป้าหมายของพรรค 2.การใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการมาแล้ว”

พาลินี งามพริ้ง ตัวแทนพรรคมหาชน กล่าวว่า การทำงานเรื่องการแก้ปัญหากับประชาชนเรามองเรื่องจุดร่วมเหมือนกัน เป็นคนเหมือนกัน ถ้าเรามองในเรื่องสิทธิมนุษยชน เขามีความเชื่อของเขา วัฒนธรรมของเขา มีภาษาของเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราแตกต่างกัน ถ้าพรรคมหาชนได้เป็นรัฐบาลจะนำกีฬาฟุตบอลไปแข่งขันเชื่อมสัมพันธ์ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ตัวแทนพรรคสามัญชน บอกว่า พรรคสามัญชนเรามีปรัชญาว่าเราจะทำนโยบายจากล่างขึ้นบน เรื่องประชาธิปไตยฐานรากเรายืนยันในหลักการ และจะใช้หลักการนี้ในภาคใต้ ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดขึ้น สอดคล้องกับแนวทางอื่นคือ กำจัดบรรยากาศของความกลัวออกไปก่อน ทบทวนยกเลิกกฎหมาย ไม่ว่ากฎอัยการศึก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาตามปกติ และสนับสนุนให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงนับตั้งแต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และให้มีกระบวนการเยียวยา ต้องมีการสร้างกลไกที่คนในพื้นที่รู้จักปลอดภัยที่จะพูดถึงเรื่องนี้

ปิดท้ายด้วย พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า จะต้องมีการแก้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัย ทั้งนี้ในส่วนของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นยังมีอยู่ได้ แต่พรรคอนาคตใหม่จะทำให้เคร่งครัด คือ ถ้ารัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 7 วัน ทำได้ แต่ถ้าเลยกว่านั้นต้องส่งให้รัฐสภาพิจารณา หากเลย 30 วัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีสิทธิฟ้องร้องศาลปกครอง

“เราต้องการให้มีกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเยียวยาผู้ที่สูญเสียไปแล้วจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น การสร้างความจริงให้ปรากฏ ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา ไม่ใช่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ เป็นปัญหาทางการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง รัฐบาลที่มาจากพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จึงจะสามารถเดินหน้าการเจรจาได้ เพราะจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้ก่อการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาล ควบคู่กับการเยียวยา ควบคุมการใช้อำนาจไม่เกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เติมเชื้อไฟ เมื่อนั้นความขัดแย้งภาคใต้ยุติลงได้”

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาน่าสนใจบนเวทีกับแนวนโยบายของ 5 พรรคการเมือง ที่เห็นพ้องต้องกันว่า การปกป้องสิทธิในการแสดงออกซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ต้องหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image