อาศรมมิวสิก : อาลัยอังเดร เปรวิน ผู้เปื้อนเปรอะทางดนตรี : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

คงไม่มีประโยชน์อันใดที่บทความนี้จะมาทำหน้าที่เพียงแจ้งข่าวมรณกรรมของศิลปินดนตรีใหญ่ระดับโลกอย่าง อังเดร เปรวิน (Andre Previn) เพราะหลังจากมรณกรรมของเขาในวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ที่บ้านพักของเขาในแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกาผ่านไปไม่ถึง 24ชั่วโมง
ราวสายๆ ของวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม ก็มีข่าวของเขาปรากฏขึ้นในเฟซบุ๊ก ของผู้รักดนตรีชาวไทยมากมายให้ได้อ่านกันจากหลากหลายสำนัก

ยุคนี้ไม่มีใคร “ไกลปืนเที่ยง” อีกต่อไป คนเมืองหลวงมิได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วกว่าคนในชนบท ข้อมูลข่าวสารส่งกันในแบบ “Real Time” รับรู้ได้พร้อมๆ กันทั่วโลก ใครที่ยังคิดว่าคนเมืองหลวงรับรู้ (เรียนรู้) ได้เร็วกว่าคนชนบทหรือ “คนอยู่ไกล” ต้องรีบปรับเปลี่ยน “การรับรู้” ใหม่ทั้งหมดโดยเร่งด่วน

ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่แฟนเพลงชาวไทยได้รับรู้ข่าวมรณกรรมของ อังเดร เปรวินไปได้พร้อมๆ กันหรืออาจจะเร็วกว่าคนในสหรัฐอเมริกาหลายๆ คนด้วยซ้ำไป เหลือเพียง “รสนิยม” เท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสินในการเลือกเสพข้อมูลข่าวสาร และเมื่อข้อมูลข่าวสารเท่าทันกันหมดก็มิได้มีหลักประกันอันใดเลยว่า คนที่อยู่ท่ามกลางแสงสี จะมีรสนิยมที่สูงกว่าหรือดีกว่าคนที่อยู่แดนไกล

เมื่อบทความนี้ไม่ควรพูดถึงในแง่เพียงข่าวมรณกรรมของศิลปินใหญ่ระดับโลกแล้ว ผู้เขียนจึงคิดว่าจะมาชวนท่านผู้อ่านคุยกันในแง่ของความเป็นศิลปินดนตรีของเขา,การศึกษา (ในความหมายที่กว้างขวางกว่า “ในระบบ”) และความเป็นมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดคนหนึ่ง ที่น่าจะหยิบยกพูดคุยถึงมากที่สุด เพราะมันเป็นสิ่งที่เราอาจเรียกว่า “พื้นที่ว่าง” ที่สร้างสรรค์ความพิเศษทางดนตรีอะไรบางอย่างในตัวเขา (และในตัวศิลปินผู้ยิ่งใหญ่หลายต่อหลายคนในอดีต) ขึ้นมา

Advertisement

อันเป็นบริบททางสังคมที่แปรเปลี่ยนไปในยุคนี้ มันอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างสรรค์หล่อหลอมศิลปิน ที่การศึกษาในระบบยุคนี้ไม่อาจตอบสนอง,จัดหามาให้ หรือชดเชยได้ด้วยวิธีการใดๆ

แง่มุมหนึ่งที่เราน่าจะนำมาพิจารณาถึงปัจจัยในการสร้างความยิ่งใหญ่,ความกว้างขวางเชี่ยวชาญหลากหลายทางดนตรีของเขา หรือศิลปินใหญ่ๆ ในรุ่นของเขาก็คือ “พื้นที่ว่าง” นั่นก็คือ เมื่อเราได้อ่านเรื่องราวของเขาเราจะพบส่วนที่เป็นประวัติทางการศึกษาน้อยกว่าส่วนที่เป็นประวัติในการทำงาน

ยิ่งไปกว่านั้นความพิเศษหรือความมหัศจรรย์ทางดนตรีของอังเดร เปรวินอีกประการหนึ่งก็คือ เราแทบจะจำแนกแยกแยะไม่ออกว่าเขาเป็นนักแต่งเพลงในสาขาอะไรกันแน่ คลาสสิก,แจ๊ซ,ป็อป,ละครเวที,อุปรากร หรือเขาเป็นนักเปียโนหรือจะเป็นวาทยกร บทบาททั้งในขั้นปฐมภูมิในการสร้างสรรค์แต่งเพลงเอง หรือบทบาทในขั้นทุติยภูมิคือผู้บรรเลงถ่ายทอดผลงานดนตรีดูว่ามันไม่มีพรมแดนหรือขีดแบ่งชนิด,ประเภทอะไรที่แน่ชัดทั้งสิ้น

Advertisement

แต่ที่เราต้องยอมรับโดยดุษณีก็คือ เขามีความเป็นเลิศในทุกพื้นที่และทุกบทบาททางดนตรีที่เขาได้รับ

นอกจากนั้น เขายังมีความเข้มข้นและลีลาเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Originality) ทางดนตรีที่เขาสามารถสังเคราะห์มันขึ้นมาได้โดยสัญชาตญาณอย่างเป็นธรรมชาติ ประวัติชีวิต,ประวัติการศึกษา และประสบการณ์ทางดนตรีของเขาจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทั้งนำมาบูรณาการและแยกแยะ เผื่อว่าเราอาจจะได้เห็นกระบวนการขั้นตอนแห่งความสำเร็จของเขาได้อย่างเป็นระบบ ..

ช่วงชีวิตในวัยก่อน 10 ขวบของเขาที่เสมือนถูกชะตากรรมแห่งธรรมชาติกดดันเพื่อสร้างพลังแห่งการอยู่รอด ในปี ค.ศ.1938 ครอบครัวของเขาที่มีเชื้อสายยิวต้องอพยพลี้ภัยจากกรุงเบอร์ลินบ้านเกิดในเยอรมนีในตอนที่เขาอายุได้เพียง 8 ขวบ และเพิ่งจะเริ่มเรียนดนตรีที่สถาบันดนตรีแห่งกรุงเบอร์ลินได้เพียง 2 ปี (อายุเพียง 6 ขวบเขาก็เริ่มเรียนดนตรีอย่างจริงจังแล้ว) ครอบครัวอพยพไปสู่กรุงปารีส,ฝรั่งเศส เขาได้เรียนอยู่ที่สถาบันดนตรีแห่งกรุงปารีส (กับ Marcel Dupre) ได้เพียงปีเดียว ก็ต้องอพยพเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ณ เมืองลอสแองเจลิส ในปี ค.ศ.1939
ณ ที่นี้เขาได้มีโอกาสเรียนกับ Mario Castelnuovo Tedesco และนักไวโอลิน-นักแต่งเพลงที่ชื่อ “โยเซฟ
แอครอน”(Joseph Achron) และนี่ก็ดูจะเป็น “ทั้งหมด” แห่งการศึกษาดนตรี “ในระบบ” ที่เขาได้รับในชีวิต ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันขาดๆ วิ่นๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปกับชีวิตช่วงนั้นที่ต้องลี้ภัยอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และที่นครลอสแองเจลิสนี่เองที่ชีวิตของหนูน้อย อังเดร เปรวิน เริ่มจะนิ่งและมั่นคงขึ้นบ้าง เขาเจริญเติบโตขึ้นที่เมืองนี้ ได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันในปี ค.ศ.1943 (ในวัย 13 ปี)

ช่างคล้ายกับชีวิตของมาห์เลอร์ (Gustav Mahler) ศิลปินนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ของโลกที่หาบ้านและสัญชาติที่แน่ชัดของตัวเองไม่เจอเป็นทั้ง ยิว,โบฮีเมีย (เช็ก) และออสเตรีย (และก็น่าประหลาดใจที่เมื่อสืบสายเลือดดูแล้ว เขาเป็นญาติห่างๆ ของมาห์เลอร์อีกด้วย)

นับจากนี้ต่อไปชีวิตของเขาก็เริ่มโลดแล่นอยู่บนถนนสายดนตรีด้วย “ประสบการณ์” นับแต่เริ่มแตกเนื้อหนุ่มในวัย 16 ปี สมัยที่ยังอยู่ในโรงเรียนมัธยมในเบเวอร์ลีฮิลส์ (Beverly Hills) เขาเริ่มต้นด้วยงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง MGM และในวัยเพียง 18 ปีเขาก็ได้เซ็นสัญญาในฐานะนักแต่งเพลงและผู้อำนวยเพลงให้กับบริษัท ซึ่งตัวอังเดร เปรวินเองได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังต่อมาว่า

“ …….พวกบริษัทภาพยนตร์ในตอนนั้น ต้องการหาคนทำงานดนตรีที่ทั้ง เก่งฉลาด,ทำงานเร็ว และค่าจ้างถูกๆ ซึ่งผมมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ และก็พิสูจน์ได้ว่าทำงานได้ดีด้วย……..” เขาต้องทำงานอย่างหนักและหลากหลาย ทั้งการแต่งเพลงใหม่,การเรียบเรียง-ดัดแปลงบทเพลงคลาสสิก
ดั้งเดิมเพื่อให้เหมาะสมกับภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นใหม่,การบรรเลงเปียโนประกอบภาพยนตร์,บรรเลงเปียโนฝึกซ้อมให้กับศิลปินนักแสดง…..ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นงานที่หนักหนาสากรรจ์และไร้รูปแบบกระบวนยุทธ์ใดๆ คนที่ติดยึดกับแนวคิดแบบใดแบบหนึ่งจึงไม่อาจรับมือกับภารกิจเช่นนี้ได้ นอกจากดนตรีประกอบภาพยนตร์แล้วในช่วงเวลาแห่งการผจญภัยทางดนตรีนี้นั้น เราต้องไม่ลืมว่าในวัยเด็กแรกรุ่นนั้น เขาหลงใหลและได้รับอิทธิพลทางดนตรีเป็นอย่างมากจากศิลปินเปียโนแจ๊ซอย่าง “Art Tatum”จนพัฒนาความเป็นนักเปียโนแจ๊ซในตัวไปได้
เป็นอันมาก มีโอกาสร่วมงานกับราชินี แจ๊ซรุ่นคลาสสิกอย่าง “ป้าเอลลา” (Ella Fitzgerald),การต่อตั้งวงดนตรีแบบคอมโบร่วมกับ Red Mitchell และ Frank Kapp ออกอัลบั้มแจ๊ซหลายชุดร่วมกับ Shelly Manne

อังเดร เปรวินทำงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ (อีกทั้งดนตรีในรูปแบบอื่นๆ อีก) อยู่ราว 15 ปี จึงคิด “เสี่ยง” เปลี่ยนเส้นทางชีวิตดนตรี

ที่น่าสนใจก็คือเขาอำลาวงการดนตรีประกอบภาพยนตร์ด้วยภาวะ “อิ่มตัว” อย่างแท้จริง ดังที่เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “The Guardian”ในปี ค.ศ.2008 ว่า”……ที่ MGM นั้นมีหลักประกันที่แน่นอนว่าคุณจะมีงานทำในปีต่อไป,คุณจะได้เงินค่าจ้างแน่นอน แต่ผมก็มีความทะเยอทะยานทางดนตรีมากกว่านั้นและก็ต้องการจะลองเสี่ยงโชคชะตากับพรสวรรค์ทางดนตรีในตัวที่ผมอาจจะมีอยู่…..” ..

วิถีชีวิตทางดนตรีคลาสสิกเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1967 ด้วยการสวมตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรี(Music Director)ของวง “ฮูสตันซิมโฟนีออเคสตรา”(Houston Symphony Orchestra)แทน เซอร์ จอห์น บาร์บิรอลลิ (Sir John Barbirolli) ซึ่งอยู่ได้เพียงปีเดียว ในปีถัดมา (ค.ศ.1968) เขาก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ดูจะดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือการได้รับตำแหน่งวาทยกรหลัก (Principal Conductor) ของวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา ซึ่งดำรงความสัมพันธ์ทางดนตรีมาได้ยาวนาน 11 ปี เป็นช่วงเวลาที่เขานำพาวง LSO บรรเลงเผยแพร่ออกสื่อให้แฟนเพลงชาวอังกฤษได้สัมผัสกับวงผ่านทางรายการโทรทัศน์ “ค่ำคืนแห่งดนตรีกับอังเดร เปรวิน” (Andre Previn’s Music Night)

และช่วงอำลาหน้าที่การงานกับ LSO ใน ปี ค.ศ.1979 อังเดร เปรวินฝากผลงานหนังสือ “กึ่งวิชาการ” สำหรับผู้มีหัวใจรักดนตรีคลาสสิกทุกคนนั่นคือหนังสือ “Orchestra” ที่นำเรื่องราวเบื้องหลังชีวิตการทำงานของนักดนตรีในวงออเคสตรา มาตีแผ่ไว้ได้อย่างน่าสนใจและเปี่ยมด้วยความสนุกสนานมีชีวิตชีวาจากบทสัมภาษณ์,ประวัติ,การศึกษาและการทำงานของบรรดานักดนตรีในวงออเคสตราหลายๆ วง เป็นหนังสือที่เรียกได้ว่าควรอ่านเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้รักดนตรีโดยทั่วไป

หรือแม้แต่ควรเป็น “หนังสืออ่านนอกเวลา” สำหรับผู้เรียนดนตรีทั้งหลายอีกด้วย

ในโลกของดนตรีคลาสสิกเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จัดเป็นวาทยกรชั้นแนวหน้าคนหนึ่งแห่งยุคสมัย กล่าวคือได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีของวงพิตส์เบิร์กซิมโฟนีออเคสตรา ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1976-1984 ตำแหน่งวาทยกรหลักของ “ราชดุริยางค์” (Royal Philharmonic Orchestra)ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1985-1988 และผู้อำนวยการดนตรีของ ลอสแองเจลิสฟิลฮาร์โมนิกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ความสำเร็จในฐานะวาทยกรนี้กล่าวได้ว่า เขามีครูที่สำคัญเพียงคนเดียวนั่นก็คือ “ปิแอร์ มองโต” (Pierre Monteux) ที่เขามีโอกาสได้เรียนด้วยราวสองปี (ค.ศ.1951-52) ในตอนที่เป็นทหารเกณฑ์ประจำการอยู่ที่ซานฟรานซิสโก

ในสมัยวัยหนุ่มเขาได้รับฉายาจากนักวิจารณ์ที่ใช้วลีสั้นๆ พรรณนาถึงความเป็นตัวเขาได้อย่างชัดเจน เช่น “เด็กอัจฉริยะผู้สวมเสื้อคอเต่า” (Wunderkind in a Turtleneck) สะท้อนภาพความเป็นคนที่มีใบหน้าดูอ่อนเยาว์กว่าวัย,จิ้มลิ้ม,สดใสราวกับเป็นเด็กผู้ชาย และเขาก็โปรดปรานการสวมเสื้อยืดคอเต่าอยู่เสมอๆ หรือฉายา “ท่านมิกกี้เมาส์” (Mickey Mouse Maestro) ที่สะท้อนภาพวาทยกรหน้าอ่อน,ปากนิดจมูกหน่อยน่าเอ็นดูเหมือนตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์ และบ่อยครั้งเขาก็ถูกนำไปเปรียบเทียบเรื่องอัจฉริยภาพทางดนตรีแบบหลากหลายไร้พรมแดนนี้ กับ เลโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) ซึ่งเบอร์สไตน์ก็คือคนสำคัญทางดนตรีคนหนึ่งที่อังเดร เปรวินให้การยกย่องนับถือในฐานะบุคคลต้นแบบ

การใช้ชีวิตโดยใช้การทำงานดนตรีเป็นที่เรียนรู้,พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีวงดนตรีเป็นเสมือนห้องทดลองทางดนตรีของตัวเอง ทำงานไปเรียนรู้ไปจาก “ของจริง” ช่างเป็นวิถีดนตรีที่ละม้ายคล้ายคลึงกับวิถีดนตรีในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 ในยุคสมัยที่ศิลปินดนตรีอย่างไฮเดินหรือโมซาร์ท (สองท่านนี่ก็เรียนดนตรีในระบบน้อยมากและก็ขาดๆ วิ่นๆ แบบอังเดร เปรวินนี่แหละ) ต้องทำทุกอย่างที่เป็นดนตรีในมือของคนคนเดียว เป็น “One Man Show” นับตั้งแต่แต่งเพลงเอง,ควบคุมการฝึกซ้อมเอง,อำนวยเพลงเอง และบ่อยครั้งก็บรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีด้วยตนเองอีกด้วย (ในยุคนั้นดนตรีแจ๊ซยังมิได้ปรากฏขึ้นบนดุริยางคพิภพ)

นับจากราวๆ ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เมื่อการศึกษาดนตรี “ในระบบ” เริ่มพัฒนาขึ้นมากอย่างเข้มแข็งตามกาลเวลา ศิลปินดนตรีที่มีความช่ำชอง,เปิดกว้างหลากหลายและโชกโชนด้วยดนตรีแบบ ไฮเดิน,โมซาร์ท หรือเบอร์นสไตน์ และอังเดร เปรวินก็เริ่มพบเห็นยากมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อดนตรีถูกแบ่งแยกเป็นชนิด,ประเภท หรือแขนงแตกย่อยต่างๆ มากขึ้น (ตามระบบการศึกษาที่ต้องการสร้าง “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง”) เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ศิลปินดนตรีสายพันธุ์ที่ “เปื้อนเปรอะ” (แต่ไม่เลอะเทอะ!) ไปด้วยดนตรีแบบนี้จะพบเห็นได้ยากมากขึ้นๆ ทุกที (ไม่อยากฟันธงลงไปว่า “สูญพันธุ์” ไปแล้ว)

ทั้งในฐานะศิลปินดนตรีและทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อังเดร เปรวิน มีเรื่องเล่าที่น่าเรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งไม่อาจนำมากล่าวไว้ได้หมดในหน้ากระดาษนี้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างโลก 5 ใบ (มีภริยาถึง 5 คน) และโลกบางใบก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาทับซ้อนกันบ้าง อีกทั้งโลกใบล่าสุดกับศิลปินไวโอลินสาวใหญ่ระดับโลก “อานเนอะ-โซฟี มุตเตอร์” (Anne-Sophie Mutter) ที่มีวัยห่างกัน 30 กว่าปี ก็ดูว่าจะเป็น “ความสามารถเฉพาะตัว” ที่บริหารจัดการได้เป็นอันดี แต่คงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวไว้โดยละเอียด ณ ที่นี้

เรื่องผู้ชายมีภริยาหลายคนนี้ขอให้มันเป็นเรื่องตัวใครตัวมันแล้วกันนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image