คาถาสามัคคีปรองดอง

สมเด็จพระสังฆราช (สา) ภาพจาก wikipedia.org

วันนี้สังคมไทยพูดถึงเรื่องการปรองดอง ซึ่งพูดกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อนที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองแผ่ขยายออกไปถึงชาวบ้านร้านตลาด แบ่งสีแบ่งกลิ่นออกเป็นสองฝักสามฝ่าย

กระทั่งรั้วของชาติต้องก้าวเข้ามาเป็นใหญ่ในแผ่นดินเสียเอง เพื่อจัดการทั้งสองฝักสามฝ่ายให้อยู่ในความสงบสักระยะหนึ่ง แรกเริ่มว่าจะสัก 2 ปี ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 5 ปี และอาจจะยืดยาวไปเป็น 20 ปีก็ได้

หากเป็นเช่นนั้นจริง น้องหนูที่เพิ่งเริ่มเข้าเรียนอนุบาลจะอายุ 25 ปี หรือเรียนจบปริญญาตรีพอดี

ครั้งก่อนเมื่อ พ.ศ.2500 บุรุษผู้หนึ่งนามว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อยังครองยศนายพลใหม่ๆ เคยร่วมปฏิบัติการรัฐประหารมาหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ ภายใต้คำขวัญ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่เกิดจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศ

Advertisement

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป เขตดุสิตซึ่งเป็นเขตทหารกลับมีการเลือกตั้ง “สกปรก” เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเดินขบวนเรีกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่

วันนั้น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (น่าจะเป็นยศในขณะนั้น) คืออัศวินขี่ม้าขาวออกมารับนิสิตนักศึกษาสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในอนาคต และยืนยันกับประชาชนว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

กระทั่งเดือนกันยายน วันที่ 16 ปีนั้น พลเอกสฤษดิ์ใช้กำลังทหารออกมายึดอำนาจจากจอมพล ป. เป็นเหตุให้จอมพล ป. ต้องเตลิดหนีออกนอกประเทศ แล้วไม่ได้กลับเข้ามาอีกเลย เช่นเดียวกับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อัศวินคู่ใจจอมพล ป. วันรุ่งขึ้นเข้าพบพลเอกสฤษดิ์ ได้รับการร้องขอให้ออกไปอยู่ต่างประเทศสักพัก

Advertisement

หลังจากนั้นไม่ได้กลับเข้ามาอีกเช่นกัน

วันที่มี (น่าจะเป็น) โทรเลขถึงครอบครัวว่า “เผ่า พาสส์ อเวย์” ครอบครัวของพลตำรวจเอกเผ่าไม่ทันได้พิจารณาให้รอบคอบ จึงพากันไปรอรับที่ดอนเมือง

กระทั่งพิจารณาอีกครั้งจึงรู้ว่าข้อความนั้นบอกว่า “เผ่าตายแล้ว” (เท็จจริงอย่างไรเป็นเรื่องของผู้เล่า)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติตัวเองอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีกับอธิบดีกรมตำรวจ กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506

จากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์

จอมพลถนอมครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง พ.ศ.2511 จึงให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งใช้เวลายกร่างมายาวนานกว่า 10 ปี จัดให้มีการเลือกตั้ง พ.ศ.2512 แล้วปฏิวัติตัวเองอีก 2 ปีต่อมา กระทั่งเกิดความไม่พอใจในหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชน จนเกิดเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา 16 จอมพลถนอมกับพวกจึงต้องระเห็จออกไปอยู่ต่างประเทศ ก่อนบวชเณรกลับเข้ามา เป็นหตุให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

จากนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองกระท่อนกระแท่นเรื่อยมา ถึงวันนี้

เพื่อให้พี่น้องคนไทยได้รับรู้รับทราบว่าประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ที่ทรงให้สมเด็จพระสังฆราชผูกคาถาเรื่องความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ เป็นคติเตือนใจ หากนำมาประพฤติปฏิบัติได้น่าจะดีกว่าออกกฎหมายมาบังคับ

คาถาบทแรกเป็นของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงผูกขึ้นประจำตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ความว่า

สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิ สาธิกา

ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ยังความเจริญให้สำเร็จ

อีกบทหนึ่ง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงผูกจารึกลงบนพระพุทธรูป ภปร. ความว่า

ทัยยะชาติยา สามัคคียัง สติสัญชานุงเนน โภชิสิยัง รักขันติ

คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกในสามัคคี

หวังว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ด้วยความพร้อมและความสามัคคีอย่างมีสติของพวกเราคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image