มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ กรณี “โพธิสัตว์ประโคนชัย” เสวนาสุดปัง ไม่ไปฟัง ไม่ได้แล้ว!

ยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องสำหรับกรณีทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรมศิลปากรเพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายพระโพธิสัตว์แจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนวคิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่พักและร้านค้า กระทั่งมีการเสวนาเรื่อง “ประติมากรรมสำริดจากอำเภอประโคนชัย” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สถาบันการศึกษาสายตรงก็ออกมาแอ๊กชั่นด้วยการแบ่งปันความรู้สู่ประชาชนไทย โดยการจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประติมากรรมสำริดจากอำเภอประโคนชัยมรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” ซึ่งเปิดให้ร่วมงานฟรีในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.

มีอะไรน่าฟังบ้าง มาลองชิมลางกันดู

พระอวโลกิเตศวรสำริด จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่The Metropolitan Museum นิวยอร์ก โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)
พระอวโลกิเตศวรสำริด จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่The Metropolitan Museum นิวยอร์ก โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)

กระแสมี”โบราณคดี”ต้องแอ๊กชั่น!

ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดีบอกว่า งานนี้ทางคณะร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี, สำนักพิมพ์มติชน และศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษจัดขึ้น เนื่องจากคณะโบราณคดีเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแห่งเดียวที่สอนด้านโบราณคดีโดยตรง เมื่อเกิดกระแสเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ที่ปราสาทปลายบัดค่อนข้างมาก คณาจารย์มีความเห็นตรงกันว่าควรให้ความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับความเป็นมาของประติมากรรม จึงจัดเสวนาขึ้นโดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลทางวิชาการ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งจารึก โลหะวิทยา รวมถึงกฎหมาย ซึ่งเป็นหัวกะทิของประเทศมาให้ความรู้

Advertisement

“กระแสนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่กระตุ้นให้สังคมเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนเรียกร้องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากอเมริกา อาจจะดูว่ากรณีมีแนวโน้มอย่างไร เหมือนและต่างกันหรือไม่ ความรู้แบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากสังคมละเลย เพราะเป็นรากฐานของประเทศ”

ปราสาทปลายบัด 2 ยังมีร่องรอยหลุมขนาดใหญ่จากการลักลอบขุดเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา
ปราสาทปลายบัด 2 ยังมีร่องรอยหลุมขนาดใหญ่จากการลักลอบขุดเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา

การค้นพบอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งจะรับหน้าที่ดำเนินรายการ กล่าวว่า พระโพธิสัตว์ประโคนชัยมีความสำคัญเชิงวิชาการสูงมาก เพราะเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ในโลกโบราณ และที่สำคัญคือค่อนข้างน่าเสียดายที่พบมากมาย แต่ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแม้แต่องค์เดียว คนไทยรู้จักน้อยมาก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่มีงานเสวนา ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆ รวมถึงการพูดคุยเรื่องบทบาทของประชาชนที่มีความรู้สึกต่อประติมากรรมชุดนี้

“การค้นพบประติมากรรมชุดนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในเชิงวิชาการ เพราะเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะเดียวกันก็น่าแปลกใจว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่นภาพถ่าย ไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม นักวิชาการบางท่านเลยเกิดคำถามว่า ที่บอกว่าพบ 300 องค์ จริงๆ แล้วพบกี่องค์ และมีการทำเทียมเลียนแบบเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งต้องมานั่งถกกัน นอกนั้นอาจมีเรื่องของบทบาทภาครัฐและภาคประชาชนว่าควรมีทิศทางอย่างไรต่อกรณีนี้”

Advertisement
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ภาพจากเฟซบุ๊ก 'เที่ยวทั่วไทยไปกับนายเอก ยอดชาย'
ภาพจากเฟซบุ๊ก ‘เที่ยวทั่วไทยไปกับนายเอก ยอดชาย’ สะท้อนกระแสทวงคืนจากภาคประชาชน

โลหะวิทยา กะเทาะปัญหา”จริง-ปลอม”

สำหรับนักโลหะวิทยาอย่าง ผศ.ดร.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี บอกว่า เนื้อหาที่ตนเตรียมไว้พูดในงานเสวนา เกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งกรณีที่ประติมากรรมบางชิ้นถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นของทำเลียนแบบหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.ศึกษาด้านกายภาพ คือโครงสร้าง รูปแบบผลึกและพิจารณาจากสนิม ซึ่งต้องมีการตัดตัวอย่างชิ้นโลหะเพื่อพิสูจน์ 2.วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี คือส่วนผสม โดยนำตัวอย่างจากชิ้นที่มั่นใจว่าเป็นของเก่ามาเปรียบเทียบกับตัวอย่างจากชิ้นที่สงสัย หากถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน สกุลช่างเดียวกัน ส่วนผสมจะเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก จึงสามารถแยกได้ว่าชิ้นใดเป็นของใหม่ ชิ้นใดเป็นโบราณวัตถุจริง

ผศ.ดร.สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยา
ผศ.ดร.สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยา

เปิดคำอ่านจารึก แง้มนามเทพเจ้า “ภัทเรศวร”เผยปริศนาอาณาจักรขอม

ด้าน ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ในงานเสวนาครั้งนี้จะนำเสนอคำอ่าน คำแปล และการตีความจารึกปราสาทปลายบัดครั้งใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากนักวิชาการที่เคยอ่านไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะชื่อของเทพเจ้าที่ปรากฏในจารึก ซึ่งสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักเขมรโบราณ กล่าวคือ นายชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร อ่านไว้ว่า “จันทเรศวร” ซึ่งเป็นชื่อเทพเจ้าที่ไม่เคยพบมาก่อน

ส่วนนักวิชาการเชื้อชาติกัมพูชาที่ทำงานในสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ประเทศฝรั่งเศสอย่าง Savaros Pou อ่านว่า “วัชเรศวร” ซึ่งเชื่อมโยงได้ถึงความเชื่อในพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนได้อ่านจารึกหลักนี้พบว่าพยัญชนะต้นของคำดังกล่าวไม่ใช่ อักษร จ. หรือ ว. แต่เป็น ภ. ดังนั้น ชื่อเทพเจ้าควรเป็น “ภัทเรศวร” ซึ่งก็คือพระศิวะ เทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู

“จารึกปราสาทปลายบัดพบ 2 หลัก อายุราว พศว.15 หลักสำคัญคือหลักที่มีชื่อกษัตริย์ซึ่งออกพระบรมราชโองการ ชื่อขุนนาง รวมถึงเทพเจ้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บอกถึงความเชื่อทางศาสนาของผู้คน ความจริงมีนักวิชาการ 2 ท่านอ่านไว้แล้ว โดยคำแปลส่วนหนึ่งตรงกัน แต่ส่วนสำคัญต่างกัน คือชื่อเทพเจ้า ซึ่งสำคัญต่อการตีความเรื่องศาสนา อาจารย์ชะเอมอ่านว่า จันทเรศวร ส่วน Savaros อ่านว่า วัชเรศวร ซึ่งลากเข้าพุทธนิกายวัชรยาน แต่ผมเห็นว่าอักษรขึ้นต้นไม่ใช่ ว หรือ จ แต่เป็น ภ น่าจะอ่านว่าภัทเรศวร ภัทร แปลว่า พระผู้เจริญ เป็นชื่อที่ใช้เรียกพระศิวะ ซึ่งแสดงถึงการนับถือศาสนาพราหมน์ฮินดู ไม่ใช่พุทธ จึงเป็นการตีความที่แตกต่างคนละศาสนากันเลย”

ผศ.ดร.กังวล คัชฌิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ
ผศ.ดร.กังวล คัชฌิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ

จ่อไขปม”มหิธรปุระ”อยู่ที่ไหน?

ผศ.ดร.กังวลยังบอกอีกว่า จะพูดถึงประเด็นใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนั้นด้วย จารึกเขาปลายบัด 2 หลัก สร้างหลังจากการสร้างพระพุทธรูปประมาณ 200 ปี กล่าวถึงพระบรมราชโองการ เป็นลักษณะคำสั่งพิเศษว่าห้ามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเก็บส่วยภาษี ไม่ต้องขึ้นกับเจ้าเมืองท้องถิ่น ให้คนเหล่านี้ดูแลศาสนสถาน เป็นเหมือนคำสั่งส่วนกลาง พระบรมราชโองการสมัยก่อน เป็นสิ่งสูงสุดที่คนต้องทำตาม ใครทำลายจารึก ต้องถูกผ่าอก ลงโทษรุนแรง น่าสนใจตรงชื่อคนสั่ง คือ “ศรีมหิธรวรมัน” ซึ่งนักประวัติศาสตร์หาว่าเมือง “มหิธรปุระ” อยู่ที่ไหนในภาคอีสานของไทย ดังนั้นตนเชื่อว่าคงอยู่บริเวณนี้

“ทวงคืน”สดใสหรือไร้ความหวัง?

สำหรับ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระซึ่งมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทวงคืนพระโพธิสัตว์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของงานนี้นอกจากในแง่โบราณคดีแล้ว คือประเด็นการอนุรักษ์ และแนวทางการทวงคืนซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้ร่วมออกความเห็นว่าจะมีการจัดการมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในต่างประเทศอย่างไร จึงขอเชิญชวนให้มาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้

ถือเป็นอีกหนึ่งงานพลาดไมได้ สำหรับผู้สนใจในมรดกวัฒนธรรมของชาติ

 

ฟังฟรี รวม”หัวกะทิ”ของชาติ

ร่วมงานเสวนาฟรี พร้อมรับแจกคำอ่าน-แปลใหม่ “จารึกปราสาทปลายบัด 2” อาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. ห้องประชุม 305 ม.ศิลปากร วังท่าพระ วิทยากรได้แก่ ผศ.ดร.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยา, ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกภาษาเขมรโบราณ, ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง อาจารย์ภาควิชาโบราณดี คณะโบราณคดี, นางสาวภัคพดี อยู่คงดี นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร, นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ และนางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษม หัวหน้าฝ่ายนิติการ กรมศิลปากร

เสวนาโพธิสัตว์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image