อาศรมมิวสิก : เมื่อฟ้าสีทอง : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อปี พ.ศ.2546 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการจัดงาน “30 ปี 14 ตุลา” โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมขึ้น มีอยู่กิจกรรมหนึ่งที่คณะกรรมการได้ทำ คือ การรวบรวมบทเพลงของ “ชาวป่า” ที่แต่งขึ้นเพื่อขับร้องและเล่นกันตอนที่อยู่ในป่า นำมาแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรำลึกความหลัง เป็นภาพของการโหยหาอดีต

ผมได้รับการทาบทามเป็นด่านหน้า ในการจัดการแสดงดนตรีเป็นครั้งแรก โดยการเชิญนักร้อง นักดนตรี และศิลปินชาวป่าทั้งหลาย ขึ้นเวทีอย่างจริงจังมาก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทุกคนที่มาล้วนแสดงด้วยความรู้สึกฮึกเหิมและภูมิใจในภาพของอดีต ทั้งร้องไห้เพราะดีใจ น้ำตาไหลเพราะภูมิใจ ที่ผลงานที่แต่งกันเล่นกันในป่าได้มีโอกาสแสดงบนเวทีที่ได้ชื่อว่า ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพราะหลายคนและส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นอดีตและเป็นความหลังที่ได้รำลึกเป็นครั้งสุดท้าย

ต่อมา เพลงที่ถูกจัดให้ขับร้องและแสดงบนเวที ก็มีเรื่องราวสืบเนื่องมาหลายๆ เรื่อง รู้สึกดีบ้าง โด่งดังบ้าง เป็นคดีบ้าง กลายเป็นศิลปินแห่งชาติบ้าง อาทิ เพลงมีเจ้าของที่ต้องถกเถียง ลิขสิทธิ์เพลงจะตกเป็นของใคร ผลประโยชน์ของเพลงที่ต้องนำไปต่อยอดอีกหลายเพลง ซึ่งในเวลานั้น เรื่องลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีราคาแพงมาก มีการซื้อขาย นักรบที่อยู่ในป่าหลายท่านได้กลายเป็นศิลปินใหญ่อยู่ในเมืองและกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า ขายได้ นักต่อสู้อำนาจนิยมกลายเป็นนายทุนรุ่นใหม่

บทเพลงได้ถูกนำไปขับร้องในร้านอาหาร เป็นสินค้า เป็นคาราโอเกะ เป็นต้น

Advertisement

ในการจัดงาน “30 ปี 14 ตุลา” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนั้น ได้นำบทเพลง 60 เพลงมาขับร้อง โดยนักร้องต้นฉบับ (ยกเว้นผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว) ซึ่งขณะนั้น วงดนตรีอาชีพก็ไม่มี ผมได้รวบรวมนักเรียนและนักศึกษามาฝึกซ้อมและเล่นกับศิลปินชาวป่า โดยที่มีชาวป่ามาร่วมงานเต็มเวที เต็มหอแสดง ไม่มีใครจะฟังเสียงนักร้องบนเวทีเท่าไหร่นัก เพราะผู้ฟังที่เป็นชาวป่าทั้งหลายร่วมร้องดังกึกก้องในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประหนึ่งว่าได้กลับบ้าน ได้เป็นเสรีชนอีกครั้งหนึ่งอย่างทระนง
หลังจากนั้นไม่นาน คณะจัดงาน (รัฐสภา) ได้เอาบทเพลงดังกล่าวไปบันทึกเสียงใหม่ โดยนักร้อง นักดนตรีอาชีพ และศิลปินแห่งชาติทั้งหลาย ผลงานเพลงถูกทำขึ้นใหม่ มีเพลงทั้งหมด 55 เพลง บรรจุในแผ่นซีดี 4 ชุด โดยอาศัยบทเพลงต้นฉบับดั้งเดิม แล้วทำให้เป็นบทเพลงที่มีความประณีตให้มากขึ้น ไพเราะมากกว่าเดิม แต่ไม่ใช่ดวงวิญญาณเพลงเดิมอีกต่อไป

ในการจัดแสดงครั้งแรกก่อนที่จะบันทึกเสียงนั้น ผมเองติดใจบทกวีของคุณวิสา คัญทัพ เป็นบทกวีที่ลึกซึ้งกินใจมาก ชาวป่าทั้งหลายถือว่าเป็นกวี “วรรคทอง” ซึ่งชาวป่าทั้งหลายท่องกันได้ทุกคน ผมจึงได้ขันอาสานำบทกวีดังกล่าวมาใส่ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานใหม่เพื่อให้เป็นบทเพลง แล้วให้ “นักร้อง” ที่เป็นนักเรียนมาร้อง เผื่อว่าเมื่อเป็นเพลงแล้วทำลายความเป็นบทกวี ก็จะได้ร้องเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าทำให้บทกวีแข็งแรงขึ้น ก็จะอยู่อีกต่อไป ตั้งชื่อเพลงว่า “เมื่อฟ้าสีทอง”

เข้าใจว่า คณะกรรมการก็คงจะชอบ เมื่อคณะกรรมการชุดจัดงาน “30 ปี 14 ตุลา” ได้นำเพลงไปบันทึกเสียงใหม่ ก็ได้นำบทเพลงนี้ไปบันทึกเสียงใหม่ด้วย โดยมอบให้นักร้องและนักดนตรีอาชีพเล่น แต่ก็ได้เปลี่ยนชื่อเพลงเสียใหม่ให้เป็น “เมื่อท้องฟ้าสีทอง” ใช้ทำนองเดิม เนื้อเพลงมีอยู่ว่า

Advertisement

“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

การจัดแสดงผลงานเพลงของชาวป่าในครั้งนั้น ได้สร้างชื่อเสียงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เพลงของชาวป่ามากขึ้น เป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองอย่างมาก หลายเพลงได้กลายเป็นเพลงประวัติศาสตร์ อาทิ เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงเปิบข้าว เพลงทะเลชีวิต ของจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงนกสีเหลือง ของวินัย อุกฤษณ์ เพลงการะเกด เพลงหนุ่มสาวเสรี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เพลงเดือนเพ็ญ ของอัศนี พลจันทร เพลงคนกับควาย ของสมคิด สิงสง เพลงคนทำทาง ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น

บทเพลงเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่ยังเหลืออยู่ แม้จะไม่มีใครศึกษาหรือติดตามแล้ว แต่เป็นอารมณ์ร่วมของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ่ายทอดผ่านเสียงเพลง เป็นชีวิตที่บรรยายความรู้สึกไว้ในบทเพลง เป็นจิตวิญญาณที่เข้มแข็งและทระนง

เมื่อได้สร้างวิทยาลัยดนตรีเสร็จ มีหอแสดงดนตรีดีและใหญ่โต มีระบบแสงสีเสียงที่ดี มีวงดนตรีทุกชนิด มีวงออเคสตรา มีนักดนตรีที่มีฝีมือ มีนักร้องที่มีความสามารถสูง มีวงดนตรีที่สมบูรณ์มากขึ้น สิ่งแรกก็คือได้นำเพลงของชาวป่ามาถ่ายทอดใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ นักศึกษาดนตรี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและฝึกฝนบทเพลง การนำบทเพลงชาวป่ามาเรียบเรียงใหม่ โดยที่ยังรักษาจิตวิญญาณของเพลงเอาไว้นั้น ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีสำหรับผู้ชมที่ไม่เคยรู้จักเพลงในมิติของงานศิลปะ เพราะคนส่วนใหญ่ถูกฝังใจว่า เพลงชาวป่าเป็นเพลงเพื่อการต่อสู้ การแย่งชิงอำนาจ และเป็นเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งในเวลาต่อมา เพลงเพื่อชีวิตส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อขาย “ความดิบถ่อยเถื่อน” ขายเป็นสินค้า แต่ไม่มีจิตวิญญาณในเพลง

วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้นึกถึง “เมื่อฟ้าสีทอง” และบทเพลงอื่นๆ ขึ้นมาจับใจ มีความรู้สึกว่า สักวันหนึ่งเมื่อมีโอกาสจะนำบทเพลงเหล่านี้มาชุบชีวิตอีกครั้ง มอบให้นักร้องโอเปร่าเป็นผู้ขับร้อง บรรเลงบทเพลงโดยวงซิมโฟนีออเคสตราขนาดใหญ่ และแสดงในหอแสดงดนตรีที่ดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ยินมิติวิญญาณของบทเพลง ได้สัมผัสจิตใจของเสรีชน และการปลุกชีวิตของเพลงให้กังวานอยู่ในใจคน

แม้วันเวลาจะผ่านไปหลายสิบปี แต่จิตวิญญาณของเสรีชนนั้น ยังดำรงคงอยู่อย่างมั่นคง ความฝันที่อยากจะเห็นความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ความรู้สึกอยากเห็นความก้าวหน้าของสังคม ความหวังความอบอุ่นที่มีอยู่ในสังคมไทย ความคิดสร้างสรรค์ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ความมั่นคงทางการศึกษาที่ไม่ต้องอาศัยหรือรอคอยการศึกษาจากต่างประเทศ การสืบทอดและรักษาทุนทางวัฒนธรรมของสังคมเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะซึมซาบได้จากบทเพลงของชาวป่าเหล่านั้น จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์และจิตใจที่สามารถสัมผัสได้

กาลเวลาอาจจะทำให้คนเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่สำหรับดวงวิญญาณที่จารึกอยู่ในเสียงเพลงนั้น ยังสามารถสัมผัสได้ว่า “แม้สายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย” ซึ่งก็เป็นชื่อรายการแสดงดนตรีในครั้งนั้น (พ.ศ.2546) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เหตุการณ์ของสังคมอาจจะคล้ายคลึงกัน ในสังคมของ “อำนาจนิยม” บ้างก็เรียกว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ความจริงแล้ว จิตวิญญาณของสังคมในแต่ละห้วงเวลา เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ซึ่งคนในปัจจุบันอาจจะถ่ายทอดความรู้สึกที่แตกต่างออกไป แต่ก็ยังไม่พบบทเพลงที่งดงาม ยกเว้นเพลงโฆษณานโยบายพรรคการเมืองทั้งหลาย ซึ่งเป็นเพลงจากโรงลิเกโรงเดียวกัน แต่กลับไม่มีบทเพลงที่เป็นประวัติศาสตร์สังคม เมื่อเทียบกับบทเพลงของชาวป่า

บทเพลงเมื่อฟ้าสีทอง เป็นเรื่องราวของอดีต (เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) ผ่านไปแล้วร่วม 46 ปี จิตวิญญาณยังคงดำรงอยู่ ยังรับรู้ สัมผัส และเข้าใจได้ แม้สังคมจะไม่เหมือนเดิมแล้วก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image