42 นาที 18 วินาที ใน 100 ปีของชีวิต ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักปราชญ์แห่งยุคสมัย

“ผมไปทุกครั้ง เป็นคนที่่ไปเลือกตั้งตลอดเวลา”

คือคำตอบพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า ก่อนที่ปุ่มเลข 3 ในลิฟต์ตัวเล็กๆ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จะขยับด้วยแรงกดของนิ้วมือชายคนหนึ่งซึ่งมีอายุครบ 100 ปีในพุทธศักราช 2562 จุดมุ่งหมายคือห้องประชุมที่เหล่าผู้รู้ร่วมถกปัญหาวิชาการด้านจารึกและเอกสารโบราณ เป็นกิจวัตรของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปราชญ์คนสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นักอ่านจารึกผู้จบปริญญาเอกด้านสถิติ หลงใหลในตัวเลขและเสียงดนตรี

เจ้าของถ้อยความในบทสัมภาษณ์ซึ่งตีพิมพ์ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม หนึ่งในวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ห้วงเวลา 1 ศตวรรษ อาจเทียบเท่าบางยุคสมัยของประวัติศาสตร์ในดินแดนใดดินแดนหนึ่งของโลก ขณะที่บุคคลท่านนี้จารึกประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเองด้วยการไขปมประวัติศาสตร์มากมายผ่านการอ่าน วิเคราะห์ ตีความถ้อยคำในศิลาจารึก ได้รับการยกย่องเป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษาผู้ขมวดรวมหลากหลายสาขาวิชาก่อนคำว่า “สหวิทยาการ” จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

ค้นคว้าความเป็นมาถิ่นเดิมของผู้คนและตระกูลภาษาไทอย่างลุ่มลึก มีคุณูปการอย่างสูงต่อแวดวงการเรียนการสอนภาษาและวรรณคดี ผลักดันให้เห็นความสำคัญของภาษาถิ่นอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาความหมายของคำศัพท์ในจารึกและวรรณกรรมโบราณ เป็นผู้คำนวณวันสร้างกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตความผิดพลาดของวันกระทำยุทธหัตถีของพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา นำไปสู่การเปลี่ยนวันกองทัพไทยจาก 25 มกราคม เป็น 18 มกราคม ทักท้วงคำอ่านศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏยุคพระยาลิไทของ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักอ่านจารึกคนสำคัญชาวฝรั่งเศส ที่ว่า “อันตนชนก” เป็นคำว่า “อันตนหาก”

กระทั่ง ศ.เซเดส์ยอมรับและเขียนจดหมายขอบคุณ ชำระประวัติศาสตร์ไทยและคลี่คลายปริศนามากมายในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ประพันธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 หลายต่อหลายเพลง อาทิ ใกล้รุ่ง, ชะตาชีวิต และเกษตรศาสตร์ เป็นต้น บรรทัดต่อไปนี้อาจไม่ใช่บทสนทนาขนาดยาว แต่เปี่ยมความหมายด้วยเป็นส่วนหนึ่งของห้วงเวลา 42 นาที 18 วินาที ใน 100 ปีของชีวิตราชบัณฑิตคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมี

เข้ามาทำงานที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาทุกวัน? เดี๋ยวนี้ยังมาราชบัณฑิตทุกวัน แต่บางทีวันจันทร์ไม่มีประชุม เพราะเขาเพิ่มค่าเบี้ยประชุม แต่งบประมาณเท่าเดิม เลยต้องประชุมน้อยลง เหลืออังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ นอกนั้นก็มีประชุมที่หอสมุดแห่งชาติบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ ประชุมช่วงหนึ่ง 2 ชม. บางวันถ้ามากที่สุดอาจจะมีตั้ง 4 รายการ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ประชุมหลายอย่าง

เดินทางอย่างไร ทราบว่าเมื่อครั้งอายุ 90 กว่าอาจารย์ก็ยังนั่งรถเมล์อยู่ ? ครับ ความจริงตอนนี้ถ้าจะขึ้นรถเมล์ก็ขึ้นได้ ผมไปไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่คนอื่นเขาไม่อยากให้ขึ้น เพราะไปตกรถเมล์ โดยปกติจะลงจากรถเป็นคนแรก แต่คราวนั้นมีผู้หญิง 3 คนมาลงก่อน ทีนี้ พอจะเอามือจับราวบันไดไว้ ยังไม่ทันลง รถเมล์ก็ออกเลย ผมก็เลยตกลงไป ทำให้กระดูกที่โคนขาร้าว เขาบอกว่าอายุมากแล้วกระดูกอาจจะไม่ต่อกัน เลยเฉือนออกแล้วเอาเหล็กใส่ไว้ ใช้เหล็กดามมา 6 ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ต้องกินยาพวกกระดูกวันละเม็ด อาทิตย์หนึ่งก็กินไวตามิน 1 เม็ด เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ลูกชายก็เลยต้องไปรับที่บ้าน 6 โมงครึ่งทุกวัน ตอนจะกลับก็มารับ อยู่คนละบ้าน ตอนนี้ผมอยู่บางเขน ตรงข้ามมหา’ลัยเกษตรฯ แต่ลูกชายอยู่ที่ถนนประดิพัทธ์

ยังสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่ไหม?

ที่ผ่านมาเคยสอน 5 มหาวิทยาลัย ลูกศิษย์ทั่วประเทศสัก 2 หมื่นคนได้ แต่เลิกสอนไป 2 ปีแล้ว เขาบอกอายุมากแล้ว (หัวเราะ)

สำหรับคนอายุ 100 ปี อาจารย์ยังแข็งแรงมาก ดูแลตัวเองอย่างไร? ก็ไม่มีอะไรครับ แต่ก่อนเวลาจะนอนก็คิดว่าวันนี้ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศชาติบ้าง พรุ่งนี้ก็จะทำให้มันดีขึ้น อะไรต่ออะไรอย่างนี้ แต่บางวันก็เป็นห่วงว่านอนไม่หลับ ประเดี๋ยวพรุ่งนี้มะรืนนี้ ไม่หลับอีก เป็นโรคประสาทแย่ แต่ปรากฏว่ามีฝรั่งคนหนึ่งไม่นอนเลย 15 ปี ยังอยู่ได้ จากนั้นมาผมหัวถึงหมอนก็หลับเลย (หัวเราะ) ไม่มีความเป็นห่วงแล้ว เขาไม่นอน 15 ปี ยังไม่เป็นไรเลยครับ

หนึ่งในภาพจำของลูกศิษย์คือเวลาอาจารย์เข้าสอน ต้องมีถุงถั่วลิสงต้ม วางคู่กับเป๊ปซี่ 1 ขวด เดี๋ยวนี้ยังรับประทานเมนูเซตนี้อยู่ไหม? ถั่วต้มไม่ค่อยได้กินแล้ว แต่เป๊ปซี่ วันละขวด (ยิ้ม)  

“ครูบอกว่าให้นักเรียนทั้งหลายในโรงเรียนดูตัวอย่างเด็กชายประเสริฐ ณ นคร ที่เดินเป็นผ้าพับไว้ แต่เด็กผู้หญิงปีนต้นไม้ อะไรต่ออะไร ผมก็เลยเป็นแบบอย่าง”

ประวัติศาสตร์แห่งชาติจำเป็นไหม มองอย่างไรกับงานประวัติศาสตร์แนวสุจิตต์ วงษ์เทศ หรือไมเคิล ไรท์ ซึ่งมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับจารึกสุโขทัยหลายประการ?

มันก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันนะครับ เพราะว่าเราทำคนเดียวก็ไม่ไหว (หัวเราะ) แล้วอีกอย่างหนึ่งมันก็ต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง มารวบรวมวินิจฉัย คนอื่นเขามาดูความเห็นของเราแล้วอาจจะไม่เชื่อ เขาก็หาทางศึกษาค้นคว้าต่อไป

ประวัติศาสตร์ผ่านจารึกช่วงไหนน่าศึกษาที่สุดในมุมมองของอาจารย์?

ฝรั่งเขาบอกว่า ถ้าจะศึกษาภาษาอังกฤษ ควรจะขึ้นต้นด้วยการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเสียก่อน ผมก็แนะนำว่าคนไทยควรอ่านจารึกพ่อขุนรามคำแหงเสียก่อน จะทำให้ซาบซึ้งในภาษาไทยมากขึ้น (ยิ้ม)

ในยุคหนึ่งดูเหมือนภาษาถิ่นถูกมองเป็นภาษาที่ 2 รองจากภาษากลาง หรือภาษากรุงเทพฯ แต่จริงๆ แล้วในการอ่านจารึก มีความสำคัญมาก?

ภาษาถิ่นทำให้เข้าใจภาษาของศิลาจารึก อย่างศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเรารู้ภาษาถิ่นเหนือจะตีความอะไรต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อ่านแล้วเข้าใจข้อความในนั้นได้ดีกว่าคนที่เกิดในภาคกลาง เมื่อก่อนนี้มีคนที่อ่านจารึกแต่ว่าไม่รู้ความหมาย เพราะไม่ได้รู้ว่ามีความหมายพิเศษอยู่ ก็ตีความหมายผิดไป

จุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจจารึกและเอกสารโบราณ จริงๆ แล้วเริ่มต้นจากเห็นความผิดพลาดของนักวิชาการภาคกลางในการแปลความวรรณกรรมท้องถิ่น?

ครับ ก่อนที่จะมาศึกษาจารึก ในชีวิตของผมเริ่มต้นจากการอ่านวรรณกรรมของภาคเหนือ อย่างโคลงนิราศหริภุญไชย อ่านแล้วรู้สึกว่าพวกนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย บางคนไม่รู้ภาษาถิ่น เลยอาจจะตีความหมายผิดไปได้ เช่นที่บอกว่า อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า นักปราชญ์ของทางภาคกลางอ่านแล้วแปลว่า ขอให้ส่งนายศรีทิพย์ไปหานาง แต่ความจริงทางเหนือนั้น ศรีทิพย์เป็นชื่อผู้หญิง อี่นาย อี่น้อง ก็คือผู้หญิง เพราะฉะนั้นจึงหมายความว่า ขอเชิญให้ส่งนางศรีทิพย์มาให้ผู้แต่ง เมื่อคนที่อ่านไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของทางเหนือ หรือไม่รู้ศัพท์เหนือเป็นอย่างดี อาจจะแปลความผิดไป ทำให้เข้าใจผิดไปได้อย่างนี้ พวกมังทราตีเชียงใหม่ มังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายของภาคเหนือ อะไรต่ออะไรอย่างนี้ผมก็อ่าน  

“ผมเลยคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าเซเดส์ตาย จะไม่มีใครอ่านจารึกภาษาไทยได้เชียวหรือ ถ้าไม่มีใครอ่าน ผมก็จะอ่านเอง ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มมาอ่านจารึก”

 

หลายคนคงสงสัยตรงกันว่า นามสกุล ณ นคร ทำไมเชี่ยวชาญภาษาเหนืออย่างลึกซึ้งถึงขนาดเข้าใจศัพท์โบราณ?

ผมไปเกิดทางเหนือครับ ต้องย้อนเล่าว่า พวก ณ นคร เขาเป็นใหญ่ เป็นเจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช มีเมืองขึ้น 12 นักษัตร คุณปู่ผมตายตอนอายุ 35 ปี ตอนนั้นพ่อผมอายุ 3 ขวบ ไม่สามารถรักษาเกียรติของ ณ นครได้ เลยต้องหนีไปอยู่เสียทางเหนือ ผมเลยไปเกิดที่จังหวัดแพร่ กลายเป็นชาวเหนือไป เราก็อาศัยว่าเกิดในท้องถิ่นแล้วได้ศึกษาภาษาอีสาน ต่อมาก็ศึกษาถึงไทถิ่นต่างๆ ก็ช่วยในการอ่าน อย่างพวกไทไต้คง ไทพ่าเก ไทอาหม ลงไปจนถึงลังกา

ย้อนกลับไปในช่วงต้นของชีวิต เด็กชาย ประเสริฐ ณ นคร ซนไหม เป็นเด็กแบบไหน?

ก็…(นิ่งคิด)… เวลาเรียนอยู่ที่โรงเรียนนารีรัตน์ โรงเรียนประจำจังหวัดแพร่ ชั้นประถม 1 ถึงประถม 3 เพราะว่าโรงเรียนประจำจังหวัดของชายมันเริ่มตั้งแต่มัธยม 1 ผมก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียนผู้หญิงก่อน ครูบอกว่าให้นักเรียนทั้งหลายในโรงเรียนดูตัวอย่างเด็กชายประเสริฐ ณ นคร ที่เดินเป็นผ้าพับไว้ แต่เด็กผู้หญิงปีนต้นไม้ อะไรต่ออะไร ผมก็เลยเป็นแบบอย่าง เพราะเวลาอยู่ที่บ้าน ถ้าเดินเสียงดังก็จะถูกทุบตาตุ่ม คุณป้าไม่ยอมให้เดิน ต้องเดินอย่างระมัดระวัง เดินเป็นผ้าพับไว้เป็นตัวอย่างของนักเรียนหญิงในโรงเรียนจังหวัดแพร่ (หัวเราะ)

ความชอบในดนตรีมาจากวัยเด็กด้วย?

เมื่อแรกตอนเป็นเด็กๆ ถ้าจะไปดูหนัง ก็อ่านหนังสือเอา จะมีความสุขมากกว่า ไม่ต้องไปดูหนัง แต่เวลาอ่านหนังสืออยู่ พอวิทยุส่งเสียงดนตรีมา ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ใจไปอยู่ที่เพลงหมด เพราะว่าคุณแม่ผมเป็นนักร้องส่งวงดนตรีไทยของข้าราชการที่จังหวัดแพร่เพราะฉะนั้นพอผมเข้าประถมหนึ่ง ผมก็รู้จักเพลงไทยเดิม 2 ชั้น 3 ชั้น ตั้งร้อยสองร้อยเพลง รู้ดีเลย แต่ละปีในโรงเรียนในจังหวัดแพร่เขาจะมีเล่นละคร โรงเรียนชายเรื่องนึง โรงเรียนหญิงก็เรื่องนึง เปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย ผมมีหน้าที่ไปช่วยบรรจุเพลง คือจะมีคนแต่งเนื้อร้อง ทีนี้ผมก็ดูว่าเพลงนี้เป็นเพลงดุ ก็ต้องเอาเพลงที่ดุดันใส่ไป เพลงนี้อ่อนหวาน อะไรอย่างนี้เพื่อให้มันเหมาะสม

นอกจากรู้จักเพลงแล้ว ยังเล่นดนตรีด้วย ยุคนั้นฝึกจากไหน?

อ่านจากหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันจันทร์ แล้วปฏิบัติตามนั้นด้วยตนเอง (ยิ้ม) ทำให้ดีดเปียโน เล่นออร์แกน สีซอด้วง เป่าขลุ่ยได้ ตอนนี้ไม่ได้เล่นแล้ว

แล้วจุดเปลี่ยนอะไรในชีวิตที่ทำให้นักคณิตศาสตร์ ผู้ชำนาญการด้านสถิติ นักอ่านและบุคคลที่หลงใหลในเสียงดนตรี ลงมาศึกษาจารึกโบราณอย่างจริงจังและทุ่มเท ไม่ได้หยุดอยู่แค่การอ่านวรรณกรรมท้องถิ่น?

เพราะเมื่อก่อนนี้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เข้ามาอ่านจารึกอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ 2 ปี แล้วก็เข้าไปหาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกว่าไม่รู้จะอย่างไรดี ฝรั่งเศสอยากให้ไปอ่านจารึกที่ซัวเถา สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตรัสว่า เมื่อชาติต้องการ ก็ต้องไปสิ แต่การที่เซเดส์มาอยู่ 2 ปีก็ทำให้คนไทยสามารถอ่านจารึกได้แล้ว เซเดส์ไปได้ ทางนี้คนไทยจะอ่านจารึกกันเอง ปรากฏว่าพอมีจารึกภาษาไทยที่ค้นพบใหม่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ก็ต้องส่งไปให้เซเดส์อ่านที่ฝรั่งเศสโน่น ผมเลยคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าเซเดส์ตาย จะไม่มีใครอ่านจารึกภาษาไทยได้เชียวหรือ ถ้าไม่มีใครอ่าน ผมก็จะอ่านเอง ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มมาอ่านจารึก

ระดับ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่ทุกคนต้องมาขอคำปรึกษา แล้วถ้าอาจารย์มีปัญหาให้ขบคิด คุยกับใคร?

ก็พวกที่อ่านจารึกในหอสมุดแห่งชาติซึ่งเป็นภารกิจของเขา อย่างคุณเทิม มีเต็ม ที่ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ และยังศึกษาจารึกอยู่จนทุกวันนี้ มีปัญหาอะไรก็อาจจะไต่ถามกัน ช่วยกันคิด อะไรอย่างนี้

หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน? ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ก็ยังสนใจอ่านอยู่นะครับ เวลามีคนเอาหนังสือมาให้ผมก็อ่าน (ยิ้ม)

กล่าวกันว่าประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า ?ถ้า? แต่ถ้าได้ย้อนไปเปลี่ยนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะเปลี่ยนช่วงไหน และอยากคุยกับบุคคลใดที่ปรากฏในจารึก จะถามอะไรเขาไหม?

อ๋อ ผมคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เลยไม่ได้คิด (หัวเราะ)

“เวลาจะนอน ก็คิดว่าวันนี้ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศชาติบ้าง พรุ่งนี้จะทำให้มันดีขึ้น”

ถ้าอาจารย์จะจารึกประวัติศาสตร์ของชีวิตตัวเอง จะจารึกด้วยอักษรอะไร?

(หัวเราะ) ก็ต้องจารึกด้วยอักษรไทยปัจจุบัน ไม่งั้นใครจะอ่านออกล่ะครับ ถ้าอ่านไม่รู้เรื่อง จะมีประโยชน์อะไร

ความรู้สึกตอนอายุ 99 กับ 100 ต่างกันไหม?

ก็เหมือนเดิมฮะ ไม่มีปัญหาอะไร (หัวเราะ)

อาจารย์เชี่ยวชาญปีหนไท แม่นปฏิทิน และคำนวณโหราศาสตร์ด้วย แล้วส่วนตัวเชื่อเรื่องดวงไหม?

ก็น่าเชื่อถือเหมือนกันนะฮะ มันสามารถที่จะทายเหตุการณ์ภายหน้าได้ก่อน ก็เตรียมรับ อย่างสมมุติว่าจะป่วยปีนึงอะไรอย่างนี้ เราดูดวงก็ดูได้

100 ปีของชีวิตที่ยาวนาน ยังมีสิ่งที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำหรือไม่ ?

ไม่มีนะครับ มันมีความสุขที่ได้ทำตัวให้ดีที่สุดในแต่ละวันไปแล้ว

ความสุขในวันนี้และพรุ่งนี้ที่ได้ตื่นขึ้นมาคืออะไร? ได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้.  

100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกคนสำคัญของไทย

ภาพจากสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2461 ที่จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายบุญเรืองและนางกิมไล้ เรียนหนังสือที่โรงเรียนนารีรัตน์แพร่ โรงเรียนพิริยาลัยแพร่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ตามลำดับ ต่อมา ได้ทุน ก.พ.ไปเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเกษตรที่ ม.ฟิลิปปินส์จนสำเร็จการศึกษา พ.ศ.2486 ได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต พ.ศ.2496 และ พ.ศ.2500 ได้ทุน ก.พ. สำเร็จปริญญาโทและเอกทางสถิติจาก ม.คอร์แนล สหรัฐฯ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาต่างๆจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งอักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี รวมถึงดนตรี เข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ.2482 ตำแหน่งนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยา และอาจารย์วิทยาลัยเกษตร บางเขน กรมเกษตรและการประมง เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ, รองอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และอื่นๆอีกมากมาย เคยเป็นอาจารย์พิเศษวิชาประวัติศาสตร์ภาษาถิ่นไทย การอ่านศิลาจารึกสุโขทัย และล้านนา พันธุศาสตร์ประชากร ที่ ม.เกษตรศาสตร์, ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.ศิลปากร ได้รับรางวัลเกียรติยศนับไม่ถ้วน อาทิ แผ่นเสียงทองคำ ประพันธ์เนื้อเพลง, นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2531, กิตติเมธี สาขาศิลปศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2531-2533, ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำ ในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น พ.ศ.2532, รับโล่เกียรติยศ ผู้สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2540 และเมื่อ พ.ศ.2544 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งชื่อโรงละคร สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรว่า โรงละคร “ประเสริฐ ณ นคร” เป็นต้น มีผลงานสร้างรากฐานการศึกษาด้านภาษา จารึก และเอกสารโบราณจำนวนมาก อาทิ ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท, การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน, ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก, เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง, หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย, ประวัติศาสตร์ล้านนาจากจารึก และความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น ชีวิตส่วนตัวสมรสกับนางเยาวลักษณ์ ลีละชาติ มีบุตรชายคือ ดร.ปิยพร ณ นคร.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image