ล่า ‘เพชร’ อันดามัน ภารกิจสุดท้าทาย ความหวังครั้งใหม่ ‘ยูธโอลิมปิก’

แข่งเรือมังกร 10 ฝีพาย

ท่ามกลางแสงแดดที่แผดจ้า ลานปูดำ สวนสาธารณะหน้าเมืองกระบี่ คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนและเสียงเชียร์กันสนั่นกับการชิงชัยตรงหน้า…การแข่งขันกีฬาเรือพายเยาวชนชิงแชมป์ภาคใต้ ครั้งที่ 1 ปี 2559

ที่ลุ้นกันจนลืมร้อนคือ การแข่งเรือซีคยัค พายผลัด 4X300 เมตร เชื่อมมิตรภาพระหว่างนักกีฬาเยาวชนจากภาคใต้รวม 120 คน

นับเป็นงานใหญ่ระดับภาค ที่จังหวัดกระบี่เป็นเจ้าภาพ หนึ่งในสีสันของการเฉลิมฉลองวาระ 144 ปีจังหวัดกระบี่ โดยมีทัพนักกีฬาเรือพายเยาวชนจากระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และปัตตานี กรีฑาทัพมาร่วมชิงชัย โดยเจ้าบ้านส่งนักกีฬาฝีพายแกร่งต้อนรับขับเคี่ยวอย่างไม่ยอมกัน

รางวัลคือความภาคภูมิใจของผู้มีชัย แต่เหนืออื่นใดคือ การสร้างแรงฮึด สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนหันมามุ่งมั่นในกีฬาอย่างมีเป้าหมาย ทั้งพัฒนาทักษะตนเอง สร้างความแกร่งให้กับร่างกาย และมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางกีฬา

Advertisement

ที่นี่คือ สนามประลองกำลังของว่าที่ “เพชร” ที่รอการเจียระไน

(บน) แดดจะแรงแค่ไหนก็พ่ายความแกร่งของลูกอันดามัน (ล่าง) มิตรภาพที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มหลังสิ้นสุดจากการแข่งขัน

กุศโลบาย-ปลุกสำนึกรักสิ่งแวดล้อม

“กระบี่” มุกเม็ดงามแห่งอันดามัน เป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวผู้รักการเที่ยวทะเลต้องปักธง อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต

ทว่า เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบูม สิ่งที่ตามมามีทั้งขยะ น้ำเสีย มลภาวะต่างๆ ปี 2554 มูลนิธิเอ็นไลฟ จึงจัดตั้งขึ้นโดยมีภารกิจหลักคือ การส่งเสริม สนับสนุน และปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

เป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และสร้างองค์ความรู้ระบบนิเวศอย่างเป็นวิชาการเพื่อนำไปสู่การบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการโดยการสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งในส่วน

ภาครัฐและท้องถิ่น การเชื่อมโยงและสร้างเครือข่าย โดยการร่วมเป็นภาคี

ตัวอย่างเช่น การสร้างปะการังเทียม ร่วมกับจังหวัดกระบี่ กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณชวน ภูเก้าล้วน ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายการพัฒนาจังหวัดกระบี่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช วางเรือหลวงปลดประจำการ จำนวน 4 ลำ บริเวณเกาะยาวาซำและเกาะพีพีเล

ยังร่วมมือกับกลุ่มจังหวัดอันดามัน คุณชวน ภูเก้าล้วน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ และกรมประมง ในการบริหารจัดการการอนุรักษ์พันธุ์หอยชักตีน ในแปลงอนุรักษ์ บริเวณเกาะศรีบอยา จ.กระบี่ และรณรงค์ไม่จับ

ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่บริโภค หอยชักตีนในขนาดที่เล็กกว่า 6 ซม. เป็นต้น


ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่มูลนิธิทำควบคู่กันไปคือ การปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้รักษ์ธรรมชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การปลูกป่า ฯลฯ รวมทั้งการจัดค่ายอบรมการพายเรือซีคยัคให้กับเยาวชนในจังหวัดกระบี่

“เพราะเด็กคือเยาวชนของชาติที่จะมารับไม้ต่อในการดูแลสิ่งแวดล้อม”

จะรวย จันทร์ทอง กรรมการมูลนิธิเอ็นไลฟ บอกว่า เด็กกระบี่ 80% ไม่ได้เรียนต่อเพราะครอบครัวยากจนจึงต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ที่น่าสนใจคือ กระบี่เป็นสนามแข่งเรือพายที่สวยที่สุดและดีที่สุด มูลนิธิจึงจับมือกับสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย เทศบาลเมืองกระบี่ เปิดค่ายอบรมพายเรือซีคยัค โดยชักชวนเด็กๆ ในจังหวัดกระบี่ที่มีความสนใจเข้ามาร่วมอบรม

แม้ว่าเมื่อแรกพ่อแม่เด็กจะไม่ไว้ใจเรา มาแอบดูว่าเราพาลูกๆ มาทำอะไรที่สนามหน้าเมืองกระบี่ ซึ่งใช้เป็นสนามฝึกพายเรือ กระทั่งล่าสุด เมื่อ จิราภรณ์ เริงสมุทร์ หรือ “หนูนา” (ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตกระบี่) มีโอกาสได้เข้าชิงชัยในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดด้วยการคว้า 1 เหรียญทองแดง กลายเป็นไอดอลของเด็กๆ ในจังหวัด ประตูสู่การเป็นนักกีฬาของเยาวชนกระบี่จึงเปิดกว้าง

นอกจากการก้าวสู่ความเป็นเลิศ ได้รับการคัดตัวจากสมาคมเรือพายเข้าไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสทางการศึกษาที่ตามมา ทักษะที่มีติดตัวยังใช้ประกอบอาชีพได้ เช่น เป็นไกด์ เป็นคยัคเซฟตี้ ฯลฯ ซึ่งเมืองท่องเที่ยวอย่างกระบี่ยังต้องการอีกมาก

ทางด้าน สุรเดช บุณยวัฒน รองประธานกรรมการมูลนิธิเอ็นไลฟ บอกว่า แนวคิดของมูลนิธิคือ การปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีการที่ได้ผลที่สุดคือ การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ

“เมื่อ 5 ปีก่อน เรามองในเรื่อง Sport tourism ผมเองก็เป็นนักกีฬาไปดูรักบี้ที่ฮ่องกงเห็นคนมากันที 2 หมื่นคน ในเมื่อเรามีคลอง มีทะเลสวยน้ำใส เป็นสนามแข่งเรือพายที่เยี่ยมที่สุด ขณะที่สมาคมเรือพายมีเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศ แต่เราอยากสร้างกระบี่ให้เป็นเมืองน่าเที่ยวน่าอยู่ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ จึงร่วมมือกันจัดการแข่งขันขึ้น”

ครั้งแรกเราเชิญนานาชาติมาแข่งระยะทาง 23 กิโลเมตร ไกลมากคนดูไม่สนุก จึงคิดถ้าจะให้ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนน่าจะมุ่งที่เด็ก สอนให้มีพื้นฐานการพายเรือที่ดี ขณะเดียวกันก็ปรึกษากับทางสมาคมเรือพาย ไปคัดเด็กตามโรงเรียนมาเข้าค่ายซ้อม และจัดแข่งขันกีฬาเรือพายระหว่างโรงเรียน เด็กชนะได้เหรียญรางวัล โรงเรียนก็ได้ถ้วยรางวัลก็เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งการเปิดค่ายอบรมเช่นนี้ นอกจากเด็กจะเป็นกีฬา ยังมีวินัยมากขึ้น ขณะที่ทางสมาคมก็ได้นักกีฬาไปต่อยอด

 

ภารกิจ (ไม่) ลับ
ค้นหา “เพชรแท้” เมืองกระบี่

จากต้นทางมือชงให้เกิดโครงการเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนหลากหลายโครงการ มาฟังภารกิจไม่ลับ ค้นหา “เพชร” เพื่อเจียระไนเป็นนักกีฬาทีมชาติ

ล่าสุดเป็นที่ฮือฮากับการค้นพบ 2 ลูกน้ำเค็ม ผู้สร้างความคึกคักให้กับวงการกีฬาเรือพาย

น.อ.นรพัชร์ ทาอินทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย หัวหน้าโครงการยูธโอลิมปิกเกมส์ เตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งขันในปี 2018 ที่เบลารุสเล่าว่า การจัดอบรมและจัดการแข่งขันกีฬาเรือพายเยาวชนชิงแชมป์ภาคใต้ เป็นการดำเนินการโดยศูนย์กีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของสมาคมในการที่จะพัฒนา 2 ส่วน คือ 1.พัฒนานักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ และ 2.พัฒนาคนโดยใช้เรือพายเป็นเครื่องมือ ซึ่งปัจจุบันเราได้นักกีฬาไปโอลิมปิกแล้ว 2 คน ในประเภทเรือกรรเชียง

สำหรับที่กระบี่ ผู้การนรพัชร์บอกว่า เริ่มจากเรือซีคยัค เพิ่งมาเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนเมื่อปีที่แล้ว เพราะเราเล็งเห็นว่าถ้าเราจัดการแข่งขัน เมื่อแข่งเสร็จก็จบไป แต่ถ้าเราใช้การแข่งขันเป็นอีเวนต์ในการพัฒนาเด็ก ซึ่งถ้านำไปสู่การเป็นทีมชาติได้น่าจะดีกว่า ปรากฏว่าปีที่แล้วจังหวัดกระบี่สร้างผลงานที่ดี ชนิดที่เหนือความคาดหมาย สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติได้จากประเภทเค 2 คยัคคู่ ทั้งๆ ที่ใช้เวลาซ้อมเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น

ปีนี้จึงคัดเยาวชนจากกระบี่เพิ่มอีก 6 คน ซึ่ง 2 ใน 6 คนนี้เราเพิ่งส่งไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมการแข่งขันประเภท Junior and U23 Championship ที่เบลารุสในอีก 2 ปีข้างหน้า

“เราพบว่าเด็กที่กระบี่มีความสามารถในเรื่องการพายเรือสูงมาก ผมกับโค้ชบอย (พ.จ.อ.สิทธิชัย อุทัยศรีผู้ช่วยผู้ฝึกสอนเรือแคนูคยัค ทีมชาติไทย) ไปเกาะจำ ไปเชิญชวนเด็กที่มีความประพฤติดีและมีความสนใจมาเข้าค่ายที่สัตหีบ 2 คน คือ ทรงกลด วันทุมา (กลด) อายุ 16 ปี และวินัย ช้างน้ำ (เขต) อายุ 14 ปี

ปรากฏว่า 1 เดือนครึ่งของการฝึกซ้อม ผลจากการทดสอบเด็กทั้งสอง เราพบว่าค่าความคงทนของร่างกายสูงมากกว่าเด็กทุกคนเท่าที่เคยเก็บตัวมา และการทรงตัวบนเรือพายเร็วมาก ใช้เวลาฝึกแค่ 1 เดือนสามารถทรงตัวและพายเรือได้เลย ที่สำคัญคือความประพฤติดีมาก ขยันขันแข็ง ว่านอนสอนง่าย และไม่เคยปริปากบ่นเลย ทั้งๆ ที่ต้องฝึกหนักมาก”

การจัดการแข่งขันกีฬาเรือพายเยาวชนชิงแชมป์ภาคใต้ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสของการมองหาช้างเผือก ไม่ว่าจะเป็นทีมจากนครศรีธรรมราชหรือชุมพร ล้วนเป็นที่น่าจับตามอง

ขณะที่โค้ชขวัญ วิชญ์ธินันท์ ขาลสุวรรณ ผู้ฝึกสอนเรือแคนูคยัค ทีมชาติไทย ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ทั้งสองหนุ่มมีพัฒนาการในเรื่องของการพายเรือที่เร็วจนน่าทึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการทรงตัว ฝึกแค่ 2-3 วันสามารถทรงตัวบนเรือได้แล้ว เมื่อเทียบกับนักกีฬาบางคนใช้เวลาอยู่เป็นเดือน ทั้งเรื่องพละกำลังก็เหนือกว่า ด้วยอายุเพียงแค่ 15 ปี

“ผมว่าในประเทศนี้จะมีนักกีฬาที่วิ่ง 3,000 เมตรภายในเวลา 12 นาทีน้อยมาก เด็กสองคนนี้ทำลายสถิติอย่างราบคาบ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฝึกเลย”

โค้ชขวัญเล่าอย่างประหลาดใจ พร้อมกับบอกว่า ทีแรกที่เดินทางมากระบี่กับโค้ชบอย เพราะทางโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาบอกว่า ที่โรงเรียนเกาะจำ มีเด็กรูปร่างสูงใหญ่ และมีทักษะการพายเรือ เนื่องจากโรงเรียนนี้มีการจัดแข่งขันเรือพายอยู่แล้ว ตอนคัดเด็กเราคัดจากสรีระอย่างเดียว ปรากฏว่าเจอ “เพชร” ทั้งสองคนเลย

ความประหลาดใจในความอึดทำให้ต้องค้นหาที่มา ซึ่งในส่วนของวินัยนั้น อาจจะไม่แปลกด้วยเป็นลูกชาวเล บ้านอยู่เกาะจำ และคุ้นชินกับการพายเรือข้ามเกาะอยู่แล้ว แต่กับทรงกลดนั้น โค้ชขวัญบอกว่า วันที่ตามไปดูที่บ้าน กำลังช่วยพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพช่างก่อสร้างผสมปูนอยู่เลย

“ผมว่าน่าจะเป็นที่ดีเอ็นเอ”

ถามถึงสมรรถนะของเด็กไทยในสายตาของโค้ชต่างประเทศ โค้ชบอยยืนยันว่า ทั้งทรงกลดและวินัยถือว่าเป็น “เพชร” เพราะถ้าสมรรถนะร่างกายดี แต่การทรงตัวไม่ดีอนาคตก็ลำบาก และเรามาที่กระบี่ครั้งนี้ก็ตั้งใจมาหาเพชร

“วันก่อนผมให้โค้ชยาโนส ซึ่งเป็นชาวฮังการี ดูการฝึกซ้อมของเด็กทั้งสองคน โค้ชบอกว่า ความเร็วในการวิ่งระดับนี้เทียบเท่ากับของเขา ซึ่งที่ฮังการีมีนักกีฬาเยาวชนเป็นพันคน คัดตัวมาเป็นทีมชาติ จากการฝึกซ้อมตั้งแต่ 8 ขวบ พออายุ 18 ปีก็ได้แข่งแล้ว ของเราไม่ได้มีมากขนาดนั้น เราก็เลยต้องคัดเฉพาะเพชร”

แม้ว่าจะได้มาตอนอายุ 15 ปี แต่โค้ชบอยย้ำว่า อนาคตน่าติดตามแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image