เดินไปในเงาฝัน : คิดแบบ‘แอกเนส ชาน’ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริงๆ แล้ว แอกเนส ชาน นักร้อง นักดนตรี และคุณแม่ลูกสาม ไม่ใช่พึ่งจะมาเมืองไทย หากเธอมาหลายครั้งแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้เธอไม่ได้มาในหลายสถานะดังที่กล่าวมา
หากเธอมาในสถานะนักเขียน

ที่จะมาเปิดตัวหนังสือทั้ง 2 เล่มของเธอคือ “อัตชีวประวัติแอกเนส ชาน” และ “50 วิธีสอนลูกทั้งสามเข้าเรียนสแตนฟอร์ด”

ซึ่งมี เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ เป็นผู้แปลทั้ง 2 เล่ม

สำหรับหนังสือเล่มแรก “อัตชีวประวัติแอกเนส ชาน” ได้กล่าวถึงเส้นทางชีวิตของเธอนับแต่วัยเด็กที่เกิด และเติบโตในครอบครัวชาวจีนฮ่องกง โดยเธอเป็นลูกสาวคนที่ 3 ของครอบครัว

Advertisement

“ย่า” ของเธอจึงตั้งชื่อว่า เฉิน เหม่ยหลิง ทั้งนี้เพราะคำว่า “เหม่ยหลิง” แปลว่า “หาง” อันมีความหมายแฝงที่ “ย่า” ของเธออยากให้ “เหม่ยหลิง” เป็นหลานสาวคนสุดท้ายเสียที

เนื่องจากเธอต้องการหลานผู้ชายมากกว่า

กล่าวกันว่าชีวิตวัยเด็กของ เฉิน เหม่ยหลิง ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่นัก เพราะเธอถูกเปรียบเทียบกับพี่สาวทั้งสองคนที่ไม่เพียงพวกเธอจะเรียนหนังสือเก่ง หากยังหน้าตาดีอีกด้วย

Advertisement

จนทำให้ “เฉิน เหม่ยหลิง” กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง
จนวันหนึ่งเมื่อเธอมีโอกาสพบ “ครู” และมีโอกาสเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเด็กพิการ จึงทำให้เธอลบปมในใจออกทันที พร้อมกับหันมาอุทิศตนด้วยการร้องเพลงหาเงินเพื่อนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือบ้านสงเคราะห์

กระทั่งมีค่ายเพลงหนึ่งสนใจเสียงอันทรงเสน่ห์ของเธอ

ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ไม่เพียงจะทำให้ เฉิน เหม่ยหลิง กลายเป็นไอดอลของเกาะฮ่องกง หากเพลงของเธอยังฮิตติดชาร์ต เพราะทุกๆ อัลบั้มต่างได้รับการตอบรับจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม จนทำให้ชีวิตของเธอก้าวไปสู่โลกของภาพยนตร์อย่างบังเอิญ

ไม่เท่านั้น เฉิน เหม่ยหลิง ยังถูกค่ายเพลงในประเทศญี่ปุ่นทาบทามให้เธอไปแสดงความสามารถด้วย จนทำให้เธอถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “แอกเนส ชาน” และนับจากนั้นวัยรุ่นทั่วญี่ปุ่น และเอเชียก็ต่างคลั่งไคล้ลีลาการร้องเพลงพร้อมกับเล่นกีตาร์ของเธอ

ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่นในประเทศไทยขณะนั้น

ในหนังสือ “อัตชีวประวัติแอกเนส ชาน” ไม่เพียงจะบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตในวงการดนตรี และวงการบันเทิงเท่านั้น หากยังบอกเล่าถึงความเป็นคนรักการเรียนหนังสือของเธอด้วย

เพราะเธอจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน เธอก็อุทิศตนทำงานรับใช้สังคมอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการระดมทุนจัดคอนเสิร์ตที่ประเทศจีน เพื่อใช้เสียงเพลงสร้างสันติภาพ เพราะขณะนั้นจีนพึ่งจะปฏิรูปเปิดประเทศใหม่ๆ

หรือการเข้าไปเป็นอาสาสมัครในประเทศที่มีสงครามอย่างเอธิโอเปีย, ซีเรีย, ซูดาน และประเทศอื่นๆ และการเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่เป็นเหยื่อขององค์การค้ามนุษย์ทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

ที่สำคัญ ในหนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงการสร้างครอบครัวกับ “ชิการะ คาเนโกะ” โปรดิวเซอร์และสามีชาวญี่ปุ่นของเธอที่ต่างมีการวางแผนในการเลี้ยงดูลูกชายทั้ง 3 คน จนที่สุดลูกๆ ของเธอต่างประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคน

จนกลายเป็นที่มาของหนังสือเรื่อง “50 วิธีสอนลูกทั้งสามเข้าเรียนสแตนฟอร์ด”

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้พูดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นภาคต่อจากหนังสือเล่มแรกก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสียทีเดียว เพราะหนังสือเล่มนี้ต้องการโฟกัสถึงวิธีการเลี้ยงลูก

การสอนลูกและกฎ กติกาต่างๆ ที่ลูกๆ ไม่ควรทำตลอดช่วงวัยเด็ก

แอกเนส ชาน บอกว่าการแสดงความรักดีที่สุดคือการสัมผัสตัว เพราะเธอเลี้ยงลูกชายทั้ง 3 คนด้วยนมแม่ และตอนที่พวกเขายังเด็ก เธอกอด และอุ้มลูกๆ เป็นประจำเพื่อให้ลูกได้รับความอบอุ่น และกลิ่นอายจากแม่ ทั้งเธอยังนอนกับลูกๆ จนวันหนึ่งเมื่อพวกเขามาร้องขอว่าอยากนอนคนเดียว เธอถึงจะให้แยกห้อง

นอกจากนั้น แอกเนส ชาน จะไม่ทำโทษลูกๆ ด้วยการตีเด็ดขาด เพราะเธอเชื่อว่าเด็กที่ถูกทำโทษทางร่างกายอยู่เสมอจะเข้าใจผิด และมีความคิดว่าคนใช้กำลังคือคนเก่ง แต่เธอกลับใช้วิธีนั่งคุยกัน และครั้งหนึ่งเธอเคยนั่งคุยกับลูกถึง 8 ชั่วโมง

เธอเรียกการคุยแบบนี้ว่า “การอบรมสั่งสอน”

ที่สำคัญ ภายในครอบครัวยังมีกฎเหล็กหนึ่งข้อคือ “การไม่โกหก” เพราะเธอเชื่อว่าหากพวกเขาโกหกเพียงครั้งเดียว เขาก็จะโกหกต่อไปอีกเรื่อยๆ จนที่สุดจะกลายเป็นระยะห่างระหว่างพ่อแม่ลูก และพี่น้องด้วยกันเอง

แอกเนส ชาน จึงมีความเชื่อว่าถ้าการจะสอนลูกให้ประสบความสำเร็จ จะต้องสอนให้เขารู้จักวาดความฝัน และจะต้องเป็นความฝันยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะความฝันเป็นบ่อเกิดของพลังงานแฝงที่จะผลักดันให้เราพยายามเดินไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง

แต่กระนั้น เธอก็มีกฎ กติกาเล็กๆ ด้วยการห้ามเล่นเกม และอ่านหนังสือการ์ตูนจนกว่าพวกเขาจะเรียนชั้นมัธยมปลาย เพราะเธออยากให้ลูกๆ ให้ความสำคัญต่อเรื่องการออกกำลังกาย และการอ่านมากกว่า เพราะสองสิ่งนี้ไม่เพียงจะทำให้เขามีร่างกายที่แข็งแรง หากยังช่วยเสริมสร้างให้พวกเขามีพลังแห่งจินตนาการอีกด้วย

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ลูกๆ ของเธอทั้ง 3 คนจึงประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะคนโตและคนกลางตอนนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ขณะที่คนเล็กกำลังเรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเช่นกัน ทั้งยังวางแผนที่จะเรียนปริญญาโทที่นี่อีกด้วย

ถามว่า “แอกเนส ชาน” ทำเช่นนี้ได้อย่างไร ?

ต้องลองไปค้นหาคำตอบจากหนังสือทั้ง 2 เล่มครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image