สุจิตต์ วงษ์เทศ : วัฒนธรรมในโลกไม่เหมือนเดิม

สุจิตต์ วงษ์เทศ

วัฒนธรรมในโลกไม่เหมือนเดิม

ระบบเจ้าขุนมูลนาย กับ วิชาความรู้แบบอาณานิคม กล่อมเกลาครอบงำวิธีคิดของผู้มีอำนาจในกรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม

ส่งผลถึงวิธีปฏิบัติอย่างย้อนยุคย้อนเวลาในการบริหารจัดการทางศิลปะและวัฒนธรรมในไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์และโบราณคดี กีดกันคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอหน้า [เช่น เชื้อชาติซึ่งไม่มีจริงในโลก, ยุคสมัยแยกจากกันเหมือนขนมชั้น ก็ไม่มีจริงในไทย เป็นต้น]

ทำให้กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม ในโลกไม่เหมือนเดิมของไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นที่กล่าวขวัญวิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่เป็นคุณตลอดปีมีตลอดชาติ

ทางแก้มีกว้างเสมอและไม่ปิดกั้น ได้แก่ ผู้มีอำนาจในกรมศิลปากรและในกระทรวงวัฒนธรรม ต้องหลุดให้พ้นจากการครอบงำเหล่านั้น จึงจะรู้เท่าทันแล้วปฏิบัติเท่าเทียมนานาอารยประเทศ อย่างรื่นรมย์และร่มเย็นในโลกที่ไม่หยุดหมุนไปข้างหน้า

Advertisement

[จาก ซัพพลีเมนต์ 108 ปี กรมศิลปากร ในมติชน ฉบับวันพุธที่ 27 มีนาคม 2562]

ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารกรมศิลปากร ที่ผมเขียนให้ตามคำขอของอธิบดีฯ แล้วคัดมาข้างบนนี้ มีผู้อ่านบางคนทักท้วงว่าห้วนและกระชับจนสั้นเกินไป แล้วขอให้ขยายความ ซึ่งถ้าทำกันจริงๆ จะยาวมาก จึงทำตามคำขอพอสมควร ดังนี้

เจ้าขุนมูลนาย

ระบบเจ้าขุนมูลนายส่งผลให้มีวิธีคิดย้อนยุค มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม ยกตนเป็นเจ้านายแล้วเหยียดประชาชนพลเมืองเป็นบ่าวไพร่

Advertisement

1. ขาดสำนึกแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะ เพราะตั้งกำหนดไว้เองว่าข้อมูลความรู้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสมบัติราชการที่พวกตนในกรมศิลปากรเท่านั้นเป็นผู้พิทักษ์ จึงสร้างกฎกติการะเบียบราชการขึ้นมาใช้กีดกันคนไม่ราชการ

2. ประชาชนพลเมืองเข้าถึงข้อมูลความรู้ยากมาก หรือเข้าถึงไม่ได้เลย บางทีต้องวิงวอนร้องขอเหมือนบ่าวไพร่ร้องขอความเมตตาจากเจ้านายราชการ คล้ายเปรตขอส่วนบุญ

วิชาความรู้แบบอาณานิคม

วิชาความรู้แบบอาณานิคม มีลักษณะคับแคบและล้าสมัย-พ้นสมัย เพราะข้อมูลมีจำกัด ทำให้วิธีคิดนิยามความหมายต่างๆ ของกรมศิลปากร ยังเป็นชุดเก่าชุดเดียวที่ทำไว้เมื่อศตวรรษก่อนๆ หรือมากกว่า 100 ปีมาแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ทางศิลปวิทยาการ

วิธีคิดแบบอาณานิคมเน้นเรื่องเชื้อชาติ, เขตแดน, อาณาจักร, สงครามยึดครองดินแดน, สร้างศัตรูทางประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ฯลฯ

ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ชี้ขาดด้วยศิลปกรรม ได้แก่ สมัยทวารวดี, สมัยศรีวิชัย, สมัยเชียงแสน, สมัยลพบุรี, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา ฯลฯ

ทุกเรื่องถูกกำหนดจากส่วนกลาง และล้วนไม่มีอยู่จริงอย่างนั้น การเล่าเรื่องมีชุดเดียวที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งเหมือนนิยายจากส่วนกลาง แล้วกีดกันผลักไสคนท้องถิ่นเผ่าพันธุ์ต่างๆ ออกไป

โลกไม่เหมือนเดิม

ก่อน 14 ตุลาคม 2516 โลกยุคสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม ส่วนไทยเป็นยุคเผด็จการทหาร สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส

กรมศิลปากรแรกสถาปนาโดย “คณะราษฎร 2475” ได้รับยกย่องเป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้ทาง “ศิลปวิทยาการ” ทั้งมวล

หลัง 14 ตุลาคม 2516 โลกไม่เหมือนเดิม ส่วนไทยขับไล่เผด็จการทหารถนอม-ประภาส

ข้อมูลความรู้กระจายทั่วประเทศอยู่ตามสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยจนถึงระดับต่างๆ ลดหลั่นลงไป เพราะมีนักวิชาการหลากหลายจบการศึกษาจากต่างประเทศ และมีนักค้นคว้าอิสระทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น มีข้อมูลความรู้ทันสมัย แล้วต่างสร้างสรรค์ศึกษาค้นคว้าวิจัยข้อมูลความรู้ต่างๆ อย่างเป็นระบบสากล มีคุณภาพเหนือกว่ากรมศิลปากร

กรมศิลปากรปรับตัวไม่ทันโลกไม่เหมือนเดิม สังคมไทยลดระดับความเป็นศูนย์กลางทาง “ศิลปวิทยาการ” ของกรมศิลปากร โดยไม่มีศูนย์กลางที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไป เพราะข้อมูลความรู้กระจายอยู่ทั่วไทยและทั่วโลก

ผู้บริหารกรมศิลปากร บางคน “รู้ตัว” แต่ปรับตัวไม่ทัน ส่วนหลายคน “หลงตัว” แล้วไม่ยอมปรับตนเอง จึงอาศัยกินบุญเก่าหลอกสังคมไทย และหลอกสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง

ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสกลมกลืนกับความเป็นอุษาคเนย์และพลเมืองโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image