เริงโลกด้วยจิตรื่น : ‘คิดรู้’ไม่‘รู้คิด’ : โดยจันทร์รอน

การที่คนในสังคมเดียวกันยอมรับความคิดที่แตกต่างได้เป็นคุณสมบัติสำคัญของสังคมที่เป็นอารยะ
ลึกๆ แล้วทุกคนต่างรู้ว่า เสรีภาพทางความคิด อิสระในการใช้ชีวิตอยู่ที่สามารถมีความคิดที่แตกต่างได้ การถูกบังคับไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ตั้งแต่ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือใช้กำลังอาวุธบังคับให้ต้องคิดในทางเดียวกับผู้มีอำนาจมากกว่า เป็นการคุกคามต่อเสรีภาพ ทำลายอิสระของเพื่อนร่วมสังคม

ทว่าแม้จะมีสำนึกเช่นนั้นอยู่ลึกๆ ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ทนไม่ได้กับความคิดที่แตกต่างจากตัวเอง

ความวุ่นวายอันเกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ณ วันนี้รุนแรงจนน่านำมาขบคิดว่า เหตุที่ความเป็นจริงขัดกับสำนึกลึกๆ ในใจนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร

ถ้าลองเริ่มกันจากการทำความเข้าใจเรื่องที่มาของความคิดที่แตกต่าง อาจจะทำให้พอมองเห็นเหตุแห่งความยุ่งยากนั้น

Advertisement

หากแบ่งต้นทางของความคิดคนออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ โดยใช้คำเปรียบเทียบให้เห็นความต่างง่ายจาก “สิ่งที่มาก่อน” กับ “สิ่งเกิดขึ้นตาม” ว่า “คิดรู้” กับ “รู้คิด”

ให้ “คิดรู้” หมายถึงมี “ความคิด” อยู่ แล้วเอาความคิดนั้นไป “ตีความความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่”

ที่สุดแล้วได้บทสรุปที่เกิด “ความเห็น” ไปในทางที่ “ความคิดเดิม” ครอบงำ “ความรู้”

Advertisement

จากนั้นก็ยึดเอา “ความเห็น” นั้นเป็น “ความถูกต้อง”

คนที่ใช้กระบวนการหาข้อสรุปให้เกิด “ความเห็น” แบบนี้ ย่อมมีแนวโน้มไปในทางที่ยากจะยอมรับ “ความเห็นอย่างอื่น” เพราะฐานของความเห็นอยู่กับ “ความคิด” อันเกิดจาก “ทัศนคติดั้งเดิม” ที่ยึดถือไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

เป็น “ความถูกต้อง” ที่ยืดหยุ่นเป็นอื่นไม่ได้

ใครที่เห็นต่างเลยถูกตีค่าว่า “ผิด”

ในเรื่องเดียวกันนั้น หากมองจากคนที่ “ทัศนคติ” อยู่ที่ “ว่างจากความคิดดั้งเดิม” หรือ “ไม่มีทัศนคติที่ตายตัว” มายึดมั่นไว้

เป็นคนประเภทที่เริ่มต้นจาก “ความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น” มองเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงดิบๆ ของเรื่องนั้นก่อน จากนั้นค่อย “คิด” ว่าในความเป็นจริงดิบๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ควรใช้ “ความคิด” หรือ “ทรรศนะแบบใด” เข้ามาจับ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง และสังคมโดยรวมให้มากที่สุด

ยิ่งเป็นคนพวกที่เห็น “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ประโยชน์ส่วนตัว” เป็นเรื่องเดียวกันไม่แบ่งแยก

หรือเรียกว่าเป็นคนประเภท “รู้คิด” คือตั้งต้นที่ “ความรู้” แล้วค่อยเลือกความคิด และความคิดที่จะเลือกมาใช้นั้นอาจจะใช้วิธีค่อยๆ ฟังและพินิจพิจารณาจากความคิดอื่นๆ มาประมวลเข้า

โดยไม่มี “ความคิด” ที่ “ทรรศนะ” ที่ยึดถือไว้ตายตัวไม่ยืดหยุ่น

คนในแบบ “รู้คิด” นี้ ไม่เพียงเป็นผู้ยอมรับความแตกต่างได้ง่ายเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับเปลี่ยนความคิดไปในทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดได้ตลอด

การประกอบร่างระหว่าง “ความรู้” จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น กับ “ความคิดที่ประมวลมา” นั้น จะ “ใหม่” และ “เหมาะสมกับสถานการณ์” อยู่เสมอ

จะเป็นผู้ที่มีใจเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และยอมรับความถูกต้องกว่าของความคิดอื่นได้ตลอด

คนในแบบ “รู้คิด” จึงเหมาะสมกับ “สังคมอารยะ” มากกว่า

แต่อย่างว่า “สังคมอารยะ” จะเกิดขึ้นได้ คนแบบ “รู้คิด” จะต้องมีบทบาทมากกว่าพวก “คิดรู้”

ถ้าพวก “คิดรู้” มีอำนาจและบัญชาการให้สังคมโดยรวมสยบยอม กำจัด “คิดต่าง” ให้อยู่ไม่ได้

โอกาสที่จะเกิด “สังคมอารยะ” ย่อมเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น

แสงสว่างปลายอุโมงค์จะมีให้เห็นได้ ก็เมื่อคนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มที่มีชีวิตแบบ “รู้คิด” จะต้องกล้าหาญที่จะหาทางลดบทบาทของพวกที่ “คิดว่ารู้” ลง

อย่างน้อยในระดับที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมคุกคามคนอื่นไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image