ข่าวเสมือนจริง (2)

สัปดาห์ก่อนเล่าถึงโลกข่าวสารในต่างประเทศที่กำลังหา “โมเดล” ใหม่ๆ มาเรียกร้องความสนใจจากผู้คนในยุคมิลเลนเนียมที่มีการแข่งขันกันรุนแรง และไม่ใช่แค่การเสพข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย หรือออนไลน์เท่านั้น แต่มีความพยายามสร้าง “ประสบการณ์ใหม่” ให้กับผู้รับสาร

ทำให้เกิดไอเดียการ “รายงานข่าวเสมือนจริง” ขึ้นมา

เป็นแนวคิดของ “ดอนนี่ เดอ ลา ปีญ่า” ชาวสหรัฐที่ทำงานในสายเทคโนโลยีการผลิตภาพยนตร์ แต่ลองนำเทคโนโลยีวีอาร์ ที่เรียกว่า (ความเป็นจริงเสมือน) มาใช้รายงานข่าว

วิธีการ คือ ผู้ใช้ต้องสวมแว่น (ขนาดใหญ่) เพื่อให้ตัวเองเข้าไปเหมือนอยู่ในสถานการณ์จำลองที่มีมุมมองแบบ 360 องศา (จากคอมพิวเตอร์)

Advertisement

การรับชมข่าวในแบบรับอรรถรสจากการรายงานข่าว ด้วยเทคโนโลยีวีอาร์ เป็นการออกแบบให้เกิดการกระตุ้นเร่งเร้ามายังประสาทสัมผัสของผู้ชม

คล้ายๆ ดูข่าวในสไตล์แบบดูหนัง-เล่นเกม…

ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ คนดูข่าวนั้นแล้ว “อิน” “รู้ซึ้ง” ขณะที่ “ดอนนี่” เชื่อว่าจะทำให้ข่าวที่รายงานผ่านรูปแบบนี้สร้างพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นความรู้สึกของผู้ชมได้

Advertisement

แต่สิ่งสำคัญคือ การเลือกประเด็นและประเภทข่าวที่หวังผลจากการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ รวมทั้งยังต้องใช้ทักษะการทำงานแบบสื่อสารมวลชนมาทำให้การรายงานข่าวผ่าน “วีอาร์” เป็นเรื่องนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่การสร้างเรื่องราวขึ้นมาลอยๆ

จึงมีการริเริ่มนำวีอาร์มาใช้เล่าข่าวแนวสังคม หรือข่าวเชิงเหตุการณ์ที่ต้องการให้ผู้รับสารรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกจากเหตุการณ์นั้นได้โดยตรง

ข่าวที่ “ดอนนี่” นำมาทดลองคือ ข่าวประชาชนยากจนผู้หิวโหยในแอลเอ ที่ต้องต่อแถวรอรับอาหารด้วยแถวที่ยาวเหยียด ทำให้คนที่มีโรคประจำตัวคนหนึ่งถึงกับเป็นลมระหว่างต่อแถว ซึ่งนี่เป็นเหตุการณ์จริงที่ทำให้เธอกับทีมงานลองรายงานผ่านเทคโนโลยีวีอาร์ ด้วยการลงพื้นที่จริงของเรื่อง ทำการบันทึกวิดีโอ ถ่ายภาพนิ่ง และจำลองภาพกราฟิกบรรยายสภาพการรอรับอาหารที่เข้าแถวยาวเหยียด กระทั่งมีกราฟิกคนเป็นลมขึ้นมา

เมื่อสร้างภาพจำลองขึ้นเสร็จ และนำมาทดสอบให้ผู้คนได้ชมแบบวีอาร์ ทำให้เห็นปฏิกิริยาแท้จริงของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยาที่เหมือนอยากจะเข้าไปช่วยเหลือ การส่งเสียงเรียก บางคนถึงกับร้องไห้

ด้วยวิธีนี้ทำให้ดอนนี่เชื่อว่าได้พาผู้รับสารเข้าไปอยู่ใจกลางเรื่อง นั่นคือทันทีที่สวมแว่นและต่อเชื่อมกับเทคโนโลยีวีอาร์ ทำให้ผู้ชมเหมือนอยู่ในสถานที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และเหมือนเป็น “ผู้เห็นเหตุการณ์” จริงตรงหน้า ไม่ใช่แค่คนรับสารธรรมดาต่อไป

วิธีเล่าข่าวแบบนี้ดึงดูดคณบดีคณะภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยเซาธ์แคลิฟอร์เนีย ที่เชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาชมรายงานข่าวชิ้นนี้ด้วยเทคโนโลยีวีอาร์เพื่อให้เข้าถึงความหิวโหย

ขณะเดียวกันภาพยนตร์ข่าววีอาร์เรื่องนี้ได้ถูกตีตราเป็นภาพยนตร์เสมือนจริงเรื่องแรกในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ เมื่อปี 2012

ทีมของดอนนี่ยังได้ทดลองรายงานประเด็นข่าวอื่นๆ มาคุยกันต่อสัปดาห์หน้า…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image