‘ไลลา พิมานรัตน์’ ภัณฑารักษ์ ศิลปะ การเมืองและเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทย

กลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่ข้องเกี่ยวทั้งวงการศิลปะและการเมือง สำหรับกรณีพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ นำผลงานของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการชุด “The Truth_ to Turn It Over” รำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวเกาหลีใต้ร่วมเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ

สำหรับแนวทางศิลปะของ รศ.สุธี กับจุดยืนทางการเมือง ซึ่งอาจสวนทางประสานงานกับจิตวิญญาณการต่อสู้ของชาวกวางจูนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่สำคัญและสมควรที่จะถูกตั้งคำถามไม่แพ้กันคือ เหตุใดภัณฑารักษ์หรือ Curator จึงเลือกจะนำงานซึ่งดูจะขัดจากบริบทของเทศกาลขึ้นไปเสนอให้ค้านสายตาคนดู

นี่เป็นข้อกังขาที่ “ไลลา พิมานรัตน์” ภัณฑารักษ์และเจ้าของแกลเลอรี่ Lyla Gallery ตั้งคำถาม ทั้งในสายตาของคนชื่นชอบ ติดตามงานศิลปะ และในฐานะภัณฑารักษ์

“การที่อาจารย์สุธีจะ Take side เลือกข้างไหนไม่ใช่ประเด็นเลย”

Advertisement

“แต่ประเด็นคือการที่ภัณฑารักษ์นำงานที่ผิดบริบทไปใส่เวทีตรงนั้น เราคิดว่านั่นเป็นประเด็นค่ะ”

เป็นความเห็นที่เธอย้ำบ่อยๆ ในการสนทนา

แม้จะเป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจศิลปะระดับเข้าเส้น แต่ไลลาก็ไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะมาโดยตรง ในระดับมัธยมนั้น เธอจบจากรั้วนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ก่อนจะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นั่นเป็นเรื่องราวก่อนที่เธอจะก้าวเข้ามาทำงานสายศิลปะอย่างเต็มตัว ไล่ตั้งแต่การเป็นผู้ช่วยศิลปิน ขยับมาเป็นภัณฑารักษ์และเปิดแกลเลอรี่ของตัวเองด้วยความตั้งใจจะสนับสนุนศิลปินและช่วยผลักดันไปจนถึงในเวทีนานาชาติ-นั่นคือเป้าหมายของเธอในระยะยาว

แต่เป้าหมายในระยะสั้นกว่ามากๆ ของหญิงสาวในตอนนี้คือการตั้งคำถามต่อการทำงานของภัณฑารักษ์ในนิทรรศการชุด “The Truth_ to Turn It Over”

ซึ่งไปไกลกว่าการถอดหรือไม่ถอดงานของศิลปินจากไทย แต่คือการพูดคุยเพื่อตั้งคำถามถึงความเหมาะสม-และให้ไกลที่สุด ใช่หรือไม่ว่านี่ย่อมเป็นแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการบิดเบือนประวัติศาสตร์ขึ้นได้-ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

fun01220559p2

– เริ่มสนใจศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่

เป็นคนชอบดูศิลปะ ติดตามศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เลย ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องศิลปะหรอก มีแต่ความชอบ ชอบที่จะดู ชอบความสวยๆ งามๆ มันเริ่มมาจากความชอบล้วนๆ ตอนเรียนก็ไม่ได้เรียนศิลปะเพราะไม่รู้ว่าจบมาจะทำอะไร (ยิ้ม) กระทั่งตอนแรกก็ยังไม่ได้ทำงานสายศิลปะ เป็นคนดูศิลปะ ตามไปดูงานศิลปะอย่างเดียว

– ความน่าสนใจของศิลปะสำหรับเราคืออะไร

ของเราเองมันเริ่มจากความชอบ ชอบดูความสวยงาม ตอนแรกไม่รู้จักประวัติศาสตร์ศิลป์เลย ตอนเด็กๆ ก็ชอบงานแบบงานสวยๆ เช่น งานของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ, โคล้ด โมเน่ต์, วิลเลียม เทอร์เนอร์ แล้วจากนั้นก็เริ่มสนใจมากขึ้น เลยเริ่มดูงานสายอื่นๆ แล้วพอมาคลุกคลีกับงานศิลปะมากๆ ก็เริ่มสนใจงานสาย Conceptual (ศิลปะเชิงแนวคิด) มากขึ้น คือเน้นทางด้านเนื้อหามากกว่า

– อยากผลิตงานเองไหม

ไม่เลยค่ะ (ตอบเร็ว) เราชอบทำนิทรรศการ คิดธีมนิทรรศการ แต่ไม่มีความสามารถในเรื่องการผลิตผลงาน เรียกว่าเราเป็นคนทำนิทรรศการดีกว่า

เราคิดว่ามันต่างกันนะ เราชอบทำสิ่งที่เป็นนิทรรศการมากกว่า ชอบคิดกระบวนการที่เกิดเป็นนิทรรศการจริงๆ มากกว่าผลิตตัวผลงานเป็นชิ้นๆ

– หน้าที่หลักของภัณฑารักษ์

เหมือนเป็นคนทำนิทรรศการ พูดอย่างง่ายที่สุดคือเป็นคนทำนิทรรศการขึ้นมา คือการจะทำหนึ่งนิทรรศการมันเริ่มจากการคิดธีมขึ้นมาว่าเราอยากทำประเด็นอะไร เจาะประเด็นด้านไหน สมมุติเป็นงานกลุ่ม ก็เป็นเรื่องของการจับงานศิลปินเข้ามาแสดงร่วมกัน โดนที่งานต้องไปทิศทางเดียวกันกับธีมและเนื้อหาที่เราตั้งไว้ งานที่เข้ากันได้ หรือบริบทของงาน ชิ้นงาน ภาพรวมของงานที่ต้องไปด้วยกันได้ ทั้งตัวศิลปินเองและตัวงาน

ก็ต้องอาศัยการรีเสิร์ช ค้นคว้าข้อมูลเยอะ เราต้องดูเบื้องหลังของศิลปิน ศึกษางานของศิลปินแต่ละคนที่เราทำงานด้วย เสร็จแล้วก็คิดถึงภาพรวมนิทรรศการ การติดตั้ง การจัดการ กระบวนการต่างๆ ด้วย

– ความสำคัญของหน้าที่ตำแหน่งนี้

ทำให้คนสนใจศิลปะก็ใช่ แต่อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญมากคือการทำให้คนเข้าใจศิลปะ บางทีตัวภัณฑารักษ์ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้อธิบายงานแต่ละชิ้น แต่ละชุด หรืองานในลักษณะงานกลุ่มหรืองานเดี่ยว ตัวภัณฑารักษ์เป็นคนมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ ความเข้าใจในการอธิบายตัวงาน

– นับเป็นอาชีพที่แพร่หลายในไทยไหม

น้อยมาก มีหยิบมือ (ยิ้ม)เข้าใจว่าคงจะเป็นเรื่องของระบบการศึกษา มีหลักสูตรมหาวิทยาลัยทั้งหมด เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ มีหลักสูตรศิลปะ ผลิตศิลปินออกมา แต่ว่ามหาวิทยาลัยที่ผลิตภัณฑารักษ์ แทบจะไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เอาเท่าที่นึกออกคร่าวๆ คือจะเป็น Arts Management ไม่มีหลักสูตรเป็น Curatorial Studies คือไม่มีหลักสูตรภัณฑารักษ์ อย่างต่างประเทศจะมีหลักสูตรนี้หรือ Arts ที่ใกล้ที่สุดอาจจะเป็น Artistry หรือ Arts Management ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะมี Arts and Culture Management

ด้วยความที่การศึกษาในประเทศไทยค่อนข้างมีเรื่องนี้น้อย คือเน้นไปทางผลิตศิลปิน แต่ไม่ได้เน้นส่วนอื่นที่จะมาเสริมกับภาพรวมของวงการศิลปะ ซึ่งต้องมีทั้งศิลปิน ทั้งภัณฑารักษ์ ทั้งคนจัดการงานศิลปะ ทั้ง Art Review ทั้ง Art Critic อะไรแบบนี้ องค์ประกอบอื่นๆ มันค่อนข้างน้อย (ยิ้ม)

– ความยากของการเป็นภัณฑารักษ์

(นิ่งคิด) มันเป็นงานที่ต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ อยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถที่จะแค่รู้ประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วเราจะจับประเด็นได้ มันจำเป็นมากค่ะที่จะต้องรู้ศาสตร์อื่นๆ เพราะปัจจุบัน ศิลปินอาจจะทำหลายๆ ประเด็น แตะงานการเมือง แตะงานเชิงสังคม คือศิลปะมันเข้าไปแตะกับทุกประเด็น ฉะนั้น ตัวภัณฑารักษ์เองก็จำเป็นจะต้องมีความรู้ของศาสตร์รอบๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะแค่ประวัติศาสตร์ศิลปะ

เรื่องรายได้ก็เป็นปัญหานะ (ยิ้ม) เพราะมันมีไม่กี่องค์กรที่แข็งแรงพอจะจ้างภัณฑารักษ์ประจำ หรือจ้างภัณฑารักษ์มาทำนิทรรศการได้ อันนี้ต้องบอกว่ามีหยิบมือมากๆ อาจจะต้องเป็นองค์กรใหญ่อย่างเช่น จิม ทอมป์สัน ที่มีภัณฑารักษ์ทำงานประจำ หรือมิวเซียมบางแห่งก็มี เป็นต้น

– ที่ไม่ค่อยมีจ้างเพราะคนดูศิลปะน้อยด้วยไหม

(คิด) เรื่องของรายได้ หรือตัวแกลเลอรี่เอง เราคิดว่าน่าจะมองว่าการจ้างภัณฑารักษ์ประจำเป็น Course ที่แพง คือภัณฑารักษ์ทำงานหนึ่งชิ้นนั้นใช้เวลาที่นานนะคะ (ยิ้ม) ก็ต้องหลายเดือน อยู่ที่ขนาดงานด้วย

เทียบเป็นภัณฑารักษ์อิสระหรือ Freelance Curator ทำงานนิทรรศการหนึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน หรือบางทีเป็นปีในการรีเสิร์ชหาข้อมูล ดูกระบวนการทำงาน ในการทำงานกับศิลปิน แล้วพอเทียบดูแล้ว หนึ่งงาน ค่าจ้างภัณฑารักษ์มันเยอะเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ต้องใช้ ชั่วโมงการทำงานด้วย

– กรณีการท้วงติงภัณฑารักษ์ที่นำงานของอาจารย์สุธีไปแสดงในกวางจู คิดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน

ต้องเรียกว่าภัณฑารักษ์ทำการบ้านไม่ดีพอมากกว่า คือมันเริ่มจากมีคนท้วงติงงานชุดหนึ่งของอาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ซึ่งโชว์อยู่ที่กว่างโจว แต่ว่าที่ท้วงติงคือท้วงติงกับภัณฑารักษ์ และตั้่งคำถามกับภัณฑารักษ์ว่า ทำไมจึงนำงานของอาจารย์สุธีซึ่งไม่เข้ากับบริบทเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 ที่เป็นเรื่องของประชาชน และประชาชนก็เสียชีวิต และเป็นจุดรำลึกว่าเกิดประชาธิปไตยขึ้นตรงนั้น

คือการที่อาจารย์สุธีจะ Take side เลือกข้างไหนไม่ใช่ประเด็นเลย (เน้นเสียง) แต่ประเด็นคือการที่ภัณฑารักษ์นำงานที่ผิดบริบทไปใส่เวทีตรงนั้น เราคิดว่านั่นเป็นประเด็น ที่ภัณฑารักษ์ทำงานไม่ดีพอ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ถ้าคุณอยากได้งานชุดนี้ไป มันก็จำเป็นที่ว่าคุณต้องทำการบ้านด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้บ้าง มีอะไรในเหตุการณ์นี้เมื่อสามปีที่แล้ว มันต้องเช็กว่าเข้ากับบริบทไหม และประเด็นนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้หลายคนออกมาไม่พอใจและออกมาท้วงติงเรื่องนี้

เราไม่ได้วิจารณ์อาจารย์สุธี เพราะงานนี้สิ่งที่เราวิจารณ์จริงๆ-ย้ำ ขีดเส้นใต้ 38 เส้นดำนะคะ (หัวเราะ)-คือเราตั้งคำถามกับภัณฑารักษ์ ว่าทำไมเขาจึงเลือกงานชุดนี้เข้าไป ทำไมเลือกงานที่บริบทสวนทางกันสุดสุด ไปอยู่ในงานตรงนั้น และที่เรียกร้องกันจริงๆ คือตัวภัณฑารักษ์ต้องแสดงความรับผิดชอบ แล้วมีคนหลายๆ ส่วนที่ได้รับผลกระทบ คนเกาหลีเองที่มาจากเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม เองเขาจะรู้สึกอย่างไรกับการที่มีงานชุดนี้ เพราะงานชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูกับ The May18 Memorial foundation ฉะนั้น ภัณฑารักษ์เองก็ต้องรับผิดชอบต่อคนเกาหลีที่อยู่ในเหตุการณ์กวางจู และตัวมูลนิธิที่เขาเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อจะบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยของเขา

– คือเราเองมองว่าไม่เกี่ยวกับอาจารย์สุธี?

ใช่ค่ะ เรามองว่านี่ไม่เกี่ยวกับอาจารย์สุธี คืออาจารย์สุธีจะเอางานชุดอื่นไปโชว์ก็จะไม่มีใครพูดอะไร ไม่ว่า ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ แต่ที่มีประเด็นนี้เพราะงานชุดที่นำไปโชว์นั้นเป็นงานที่ทำในช่วง Art Lane ทำในม็อบ อันนี้เรารู้สึกว่ามันผิดบริบท แล้วก็อธิบายผิดๆ พอมาถึงตอนนี้ก็ให้เหตุผลที่ไม่เพียงพอที่จะบอกว่าเหตุใดงานเขาจึงไม่ควรถูกตั้งคำถาม

– แปลว่าเรามองว่าศิลปะเองควรถูกตั้งคำถามได้ด้วย?

ศิลปะควรเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้ในวันที่มันอยู่ในพื้นที่สาธารณะ มันต้องถูกตั้งคำถามได้ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาของสังคมไทยอีกเช่นกันเพราะเราตั้งคำถามกับอะไรไม่ได้สักอย่าง

– ความรับผิดชอบของภัณฑารักษ์ที่จะทำได้ในกรณีนี้คืออะไร

คงไม่ได้ถึงกับมีการเรียกร้องให้ถอดงานนะคะ แต่คิดว่าภัณฑารักษ์จะต้องยอมรับก่อนว่า สิ่งที่เขาทำคือข้อผิดพลาด ผิดที่ผิดทางมากๆ ในการนำเอางานชุดนี้ไปโชว์ในบริบทนั้น และควรจะทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

มันเป็นประเด็นอ่อนไหวเพราะคนที่ออกมาเรียกร้องหลายๆ คนคือเจ็บปวดกับเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ตามมา หรือแม้แต่กระทั่งทุกวันนี้ หลายๆ คนก็ไม่พอใจกับรัฐบาลทหาร แล้วม็อบคือการออกบัตรเชิญทหารให้เข้ามา แล้วพอตอนนี้จะมาบอกว่าผมไม่ได้เป็นออกบัตรเชิญทหาร ไม่ใช่ กปปส.

เราว่ามันไม่ได้หรอกนะคะ

– กรณีอาจารย์สุธีเองมีคนกล่าวว่า จริงๆ แล้วศิลปะควรวางตัวอยู่เหนือการเมือง เห็นด้วยหรือไม่

(นิ่งคิด) จริงๆ แล้ว ถ้านับมาตั้งแต่ต้น พูดอย่างง่ายที่สุดคือศิลปะนั้นมันไม่เคยอยู่เหนือการเมือง มันข้องเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปมันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง ศิลปะเองก็ถูกใช้ในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเมืองแบบไหน มันรับใช้อะไรสักอย่างมาโดยตลอด

จะบอกว่าต้องอยู่เหนือการเมืองนั้นเราไม่เห็นด้วยนะ เพราะตัวศิลปินเองก็มีสิทธิคิด มีสิทธิใช้ศิลปะบ่งบอก เสนอมุมมองของศิลปินเอง ฉะนั้น ถ้าศิลปินจะนำศิลปะไปใช้ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะทางสังคม ทางวิชาการ เราคิดว่ามันทำได้

– คือศิลปะผูกเป็นเนื้อเดียวกับกับทุกเรื่องรอบตัวเรา?

ใช่ค่ะ ถ้าเราจะยกศิลปะเป็นสิ่งสูง มันก็จะอยู่บนหิ้ง แต่ความเป็นจริงคือเรามีความสุขกับการอยู่กับศิลปะทุกวัน บางคนมีความสุขกับการทำศิลปะ บางคนมีความสุขกับการเสพ อ่านงานศิลปะทุกวัน มันไม่ใช่ของสูงอย่างที่หลายๆ คนพยายามทำให้มันเป็นสิ่งบริสุทธิ์ เป็นของสูง

– จริตคนไทยด้วยไหมที่มีความพยายามทำให้ศิลปะเป็นของสูง

เราว่าที่มีความพยายามยกให้ศิลปะเป็นเรื่องบริสุทธิ์เพราะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกมากกว่า คุณอย่าไปยุ่งกับมัน อะไรก็แล้วแต่ที่อยากให้บริสุทธิ์ อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย รวมถึงตัวศิลปินเองก็ทำตัวสูงส่ง

ปัญหาอย่างหนึ่งของศิลปะไทยคือการยกตัวศิลปินขึ้นเป็นเทพ อยู่ในสถานะอีกสถานะหนึ่ง อาจจะด้วยเรื่องความอาวุโสหรือเรื่องอื่นๆ ที่เราต้องเคารพผู้ใหญ่ พอเป็นศิลปินรุ่นใหญ่เราก็ต้องนอบน้อมถ่อมตน เช่น งานพุทธศิลป์ก็ต้องทำให้ตัวเองบริสุทธิ์ ทำตัวเองให้ดูสะอาด มันเป็นรากฐานที่เป็นปัญหามาจนทุกวันนี้

– ในฐานะภัณฑารักษ์เคยเวียนหัวกับอะไรแบบนี้ไหม วิธีคิดแบบนี้

ปวดหัวมากค่ะ เพราะเราคิดว่าศิลปะที่ดีไม่ควรถูกอยู่ในกรอบ เมื่อไหร่ที่มันถูกจำกัดกรอบอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะความอาวุโส สิ่งไหนดีไม่ดี ซึ่งในฐานะภัณฑารักษ์เรามองว่าสิ่งไหนน่าสนใจ อะไรน่าสนใจ งานศิลปินที่ทำออกมาแล้วอธิบายในสิ่งที่เป็นตรรกะที่ถูกต้อง เราคิดว่าอันนี้โอเค

เรื่องน่าปวดคือพอตัวศิลปินมีกรอบอะไรบางอย่าง มันทำให้ตัวงานไม่สามารถพัฒนาได้ดีเท่าที่ควร

– ตัวเราเองในฐานะภัณฑารักษ์เคยแตะประเด็นอ่อนไหวบ้างไหม

เคยนะคะ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

– รู้สึกสุ่มเสี่ยงไหม

มีนะคะ (ยิ้ม) มีงานนิทรรศการที่พูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองในยุคปัจจุบัน งานชื่อ “Silent No More ไม่เงียบอีกต่อไป” เป็นนิทรรศการโดย ปพนศักดิ์ ละออ เรื่องของการเปรียบเทียบเหตุการณ์ความไม่สงบ เป็นเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นและตัวศิลปินเองรู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเหล่านั้น จนกระทั่งเกิดรัฐประหารแล้วเหมือนเป็นจุดที่ทำให้ตัวศิลปินรู้สึกว่าไม่พอใจกับที่นี่มากๆ เหมือนเปรียบเทียบความรู้สึกไม่พอใจของเขาไปเทียบกับเมืองร้างฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น หลังเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วเมืองนั้นเลยถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง คนต้องอพยพออก กลายเป็นเมืองร้างเพราะคนอยู่ไม่ได้ สภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อแล้ว อยู่อาศัยไม่ได้ เขาเปรียบเทียบจุดนั้นกับประเทศนี้ที่ยังอาศัยอยู่ได้แต่ไม่สงบสุขเลย

มันเป็นงาน Painting วาดเป็นภาพที่ดูสงบสุขแต่จริงๆ ไม่สงบสุขเลย

– ความอ่อนไหวในสังคมมันทำให้ทำงานยากไหม

นิดหนึ่งนะคะ เพราะเราว่ามันอาจเป็นทุกวงการแล้วนะตอนนี้ที่สังคมมันแตกแยกเหลือเกิน คิดต่างก็โดนหมายหัว โดนวาทกรรมต่างๆ เราคิดว่าในส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอุปสรรค

ไม่ใช่แค่การทำงาน แต่เป็นการใช้ชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image