ทาสเทวี หรือทาสเทพีแห่งเสรีภาพ :)

เพียงเพราะโกรธที่สยามถูกสหรัฐและประเทศอื่นๆ รุมเรื่องสิทธิมนุษย์ชน จึงมีคนหงุดหงิดบ่นว่า “ฤ ไทจะกลับไปเป็นทาส” ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกเรื่อยเจื้อยไปถึง ‘ทาสเทวี’ เพลงฮิตสมัยคุณยายยังเด็ก

ไทยไม่มีทาสมานานแล้ว เราเรียนรู้แต่เด็กว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า โปรดเกล้าฯให้ทาสทั่วราชอาณาจักรสยามได้เป็นไทกันถ้วนหน้าในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448

ประเทศไทยเราใช้เวลาเลิกทาสนานกว่า 30 ปี

ค่อยเป็น-ค่อยไป

Advertisement

แม้จะอยู่ในช่วงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ไม่ได้กระทำการ ‘หักดิบ’ เอาแต่ใจในเรื่องละเอียดอ่อนเช่นการเลิกทาส

เคยมีนักศึกษาตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อทรงมี ‘อำนาจเบ็ดเสร็จ’ (สำนวนผู้สงสัย) แล้วทำไมจึงต้องใช้เวลานานนัก

ใครที่สงสัยอย่างเดียวกัน หากไปศึกษาเรื่องการเลิกทาสของไทยอย่างละเอียด ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้ง

Advertisement

ที่แน่ๆ คือ จะเข้าใจว่าในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพียงแต่จะแค่ ‘ดูเหมือน’ ว่ามี เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น

*’ผู้นำ’ ที่แท้จริง จะไม่ใช้อำนาจสุรุ่ยสุร่าย เพราะตระหนักดีว่าอำนาจนั้นคล้ายกับเงินทอง ยิ่งใช้มาก ใช้เร็ว ก็หมดเร็ว อำนาจจะได้ผลก็ต่อเมื่อรู้ว่าจะใช้เมื่อใด อย่างใด และเท่าใดเท่านั้น*

หากใช้อย่างถูกต้อง พอเหมาะพอควร อำนาจกลับจะยิ่งพอกพูนขึ้นอีก เหมือนกับ ‘เงินต่อเงิน’ ให้คนที่ใช้เงินเป็นนั่นเอง

การเลิกทาสนั้น ล้นเกล้าฯรัชกาลที่สี่ทรงให้ความสำคัญถึงขนาดมีพระราชสาส์นไปถึงประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐ ว่าสยามยินดีจะส่งช้างไปช่วยในการรบหากต้องการ ซึ่งเคยเล่าไปแล้วเมื่อเขียนถึงเพลงในสมัยสงครามกลางเมืองของสหรัฐ

บางทีการที่รัชการที่ห้า โปรดเกล้าฯให้เริ่ม ‘โครงการ’ เลิกทาสย้อนไปตั้งแต่ปีแรกที่ทรงขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.2411) อาจจะเป็นการ ‘สืบทอดเจตนารมณ์’ ของพระราชบิดา ตามสำนวนที่ลูกศิษย์ผู้เขียนเคยใช้

**”พระราชบัญญัติที่ตราขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 ผลย้อนหลังไปถึงปีที่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ: ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี โดยกำหนดว่า เมื่อแรกเกิด ชายมีค่าตัวแปดตำลึง หญิงมีค่าตัวเจ็ดตำลึง เมื่อลดค่าตัวไปทุกปีแล้ว พอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง”**

กว่าจะถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448 ทาสก็เป็นไทไปมากแล้ว ที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้าง ก็ได้เป็นไททั้งหมดในวันนี้

ก่อนจะ April Fool ตามฝรั่ง คนสยามมีวันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 แต่ปีใหม่ พ.ศ. 2448 นับว่าเป็นปีใหม่ที่นำชีวิตใหม่มาสู่คนสยามอย่างแท้จริง

51 ปีหลังจากที่แอกหลุดจากบ่าทาสในสยาม ‘ลุงแจ๋ว’ สง่า อารัมภีรก็ประพันธ์เพลงชื่อ ‘ทาสเทวี’ ขึ้น

เพลงดังทั่วประเทศไทย คนไทยรุ่นที่ไม่เคยเป็นทาส พากันร้องเพลงทาสเทวีกันได้ถ้วนหน้า ราวจะสื่ิอว่า แม้ไม่มีใครบังคับให้เป็นทาสแล้ว คนเรายังเลือกที่จะเป็นทาสได้ทุกเวลา

และที่แน่ๆ คือเป็นทาสความปรารถนา

ครูสง่าเขียน ‘ทาสเทวี’ อันแสนไพเราะด้วยตัวเองทั้งทำนองและเนื้อร้อง

ในเนื้อแสดงถึงความแตกต่างทาง ‘ชนชั้น’ ระหว่างทาสกับเทวี พูดง่ายๆ ใช้สำนวนในยุคประเทศไทยเล่นกีฬาสี คือเจ้าหนุ่มนั้นเป็นรากหญ้า ส่วนสาวคงเป็นอีลีต มาจากตระกูลที่สูงกว่า รวยกว่า มีการศึกษาดีกว่า(เพราะ) มีโอกาสดีกว่า–แม้ไม่จำเป็นต้องฉลาดกว่า

ครูสง่าเองนั้นเป็นเครื่องยืนยันความสามารถของรากหญ้า เพราะครูสร้างอาณาจักรเพลงได้ยิ่งใหญ่มหาศาล ทั้งๆ ที่มีโอกาสในชีวิตเพียงน้อยนิด

เขียนเนื้อเพลงได้เก่งก็เพราะรักการอ่านโคลงกลอนมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กชายแจ๋ว อ่านจนความงามของภาษาเคล้าเข้าไปในจิตและวิญญาณ จนดูเหมือนว่าจะกลั่นออกมาใช้ได้ทุกยามที่ต้องการ

ส่วนหนึ่งในความสามารถเขียนทำนองเพลงได้พริ้งเพรา ก็เพราะสมัยที่น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ (พ.ศ.2485) หนุ่มน้อยแจ๋วเคยมีหน้าที่พายเรือนำปิ่นโตจากถนนสุรวงศ์ไปส่งให้คุณพระเจนดุริยางค์ที่โรงเรียนดุริยางค์ ทอ. ทุ่งมหาเมฆทุกเย็น จนท่านเมตตาสอนการดนตรีเพิ่มเติมให้

ส่วนนักร้องเสียงนุ่มแต่ทรงพลังที่ร้องเพลง ‘ทาสเทวี’ ใน พ.ศ.2499 เป็นหนุ่มเชียงใหม่ชื่อ ‘บุญมัย งามเมือง’ ที่เข้ากรุงเทพฯมาเรียนต่อที่อัสสัมชัญพาณิชยการ และมีโอกาสได้เรียนร้องเพลงกับครูไสล ไกรเลิศ นักไวโอลินและนักแต่งเพลงผู้โด่งดังในสมัยโน้น

แม้จะเรียนทางค้าขายและทำงานบัญชีมาก่อน แต่หัวใจคุณชรินทร์ นันทนาคร คงอยู่ที่การเต้นกินรำกิน อย่างที่คนยุคนั้นดูถูกนักหนา

ในประวัติ คุณชรินทร์ นันทนาคร เริ่มร้องเพลงสลับฉากละครเวทีมาตั้งแต่ พ.ศ.2492 หรือ 60 กว่าปีมาแล้ว ลองนับจากปีเกิดดู ก็จะเห็นว่าเริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุเพียง 16-17 ปี

ปีที่คุณชรินทร์ร้องเพลง ‘ทาสเทวี’ นั้น คุณชรินทร์กำลังเป็นหนุ่มในวัยต้นยี่สิบ

เพลงดัง แต่เรื่องราวชีวิตรักของคุณชรินทร์กลับดังยิ่งกว่า เพราะคุณชรินทร์ไปตกหลุมรัก ‘ดอกฟ้า’ นักเรียนนอก ที่ชื่อ ‘สปัน เธียรประสิทธิ์’ ซึ่งกำลังเป็นเทวีสวยตระการ หอมหวานอยู่ในสังคมกรุงเทพฯ

คุณสปันไม่ได้เมตตาคุณชรินทร์แค่ “เพียงธุลี” อย่างที่ครูสง่าเขียนไว้ในเนื้อเพลง หากเต็มใจที่จะขัดขืนคำคัดค้านของผู้ใหญ่ และตามคุณชรินทร์ไปด้วยความรัก

สังคมเล็กๆ ของกรุงเทพฯกระเพื่อมด้วยข่าวของคุณชรินทร์และคุณสปันอยู่นานโข

คุณสุวัฒน์ วรดิลก นักประพันธ์อาวุโสผู้ล่วงลับ เคยเขียนเกี่ยวกับเพลง ‘ทาสเทวี’ ไว้ว่า

“…เป็นเสมือนตาข่ายครอบคลุมสังคมให้อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความรักระหว่างทาสและเทวี…”

ทุกวันนี้ข่าวและกลิ่นอายความรักนั้นจางหายเหมือนริ้วรอยในสายน้ำข้าง ‘เรือนแพ’ ในเพลงโด่งดังที่คุณชรินทร์ขับร้องไว้

ดอกฟ้ากับทาสเทวีแยกจากกันไปแสนนานแล้ว แต่ที่อยู่ยงคือความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ตามคำให้สัมภาษณ์พร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคุณสปัน

ความรักที่กลายเป็นมิตรภาพ

ไม่ว่าจะมองในมุมของดอกฟ้าหรือทาสเทวี ก็น่าจะเรียกได้ว่าแฮปปี้เอนดิ้ง

HAPPY ENDING?

แล้วในชีวิตคนเราจะหวังอะไรมากไปกว่านั้นเล่า

ทาษเทวี – ชรินทร์ นันทนาคร

https://youtu.be/x8-nbNPF4Vo

เรือนแพ (House Boat) -ชรินทร์ นันทนาคร.

https://youtu.be/3v7bADAEsrQ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image