ศึก”กัญชา” เปิดใจ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย

เสียงตะโกนชื่อ ‘เดชา’ ซ้ำๆ กึกก้องสนามบินดอนเมือง พร้อมชูป้าย Save Decha เพื่อให้กำลังใจต่อ ‘เดชา ศิริภัทร’ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ กลายเป็นข่าวดังที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทย ต่อการออกหมายเรียกผู้ที่ได้ชื่อว่าศึกษาและผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อเยียวยาผู้ทุกข์ทรมานจากการป่วยไข้มาแล้วนับหมื่นราย สืบเนื่องจากประเด็นร้อนแรง เมื่อมีการบุกเข้าตรวจค้นมูลนิธิซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ยึดกัญชา 200 ต้น ทั้งยังรวบตัว พรชัย ชูเลิศ หรือ อ.ซ้ง เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ทั้งที่อยู่ในช่วงนิรโทษกรรมตามกฎหมายซึ่งให้ระยะเวลา 90 วัน พาให้ผู้คนตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย คือผู้มีบทบาทอย่างสูงในการเข้าประกันตัว อ.ซ้ง ท่ามกลางมวลชนที่แห่แหนส่งแรงใจล้นหลาม ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น องค์กรดังกล่าวเปิดหน้าชน รณรงค์ขับเคลื่อนในประเด็นกัญชาเพื่อการแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วยวัตถุประสงค์หลักคือ กัญชาต้องไม่ถูกผูกขาด ภายใต้แนวคิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในการเข้าถึงยา

กระโดดสู่สนามรบทางความคิดอย่างเต็มตัว ยินยอมพร้อมใจเดินทัพในสงครามกัญชาซึ่งมีทีท่าเป็นมหากาพย์อันยืดเยื้อยาวนาน

เสียงสั่นเครือในบางช่วง และหยดน้ำตาที่ปรากฏบนใบหน้าของผู้ชายคนนี้ในบางจังหวะของการสนทนา อาจบ่งชี้ถึงความรู้สึกบางอย่างในใจ ทว่า ไม่ว่าความรู้สึกนั้นคืออะไร ย่อมไม่ใช่ความหวั่นไหวในการต่อสู้ศึกในครั้งนี้ที่เจ้าตัวเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ความจริง จะเป็นผู้ให้คำตอบ

Advertisement

คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงของการบุกตรวจค้นและจับกุมในครั้งนี้?

หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ต้องการแสดงสัญญาณแรงๆ เพื่อเตือนว่าการมีกัญชาไว้ครอบครองแม้ในทางการแพทย์ ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ขออนุญาตจากรัฐ แม้ว่าสิ่งที่เขาทำอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอยู่ในการบังคับใช้กฎหมายเก่าคือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับเดิม แต่ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่หลายท่านไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าต้องการผ่อนปรนให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจตนาที่แท้จริงของการมีบทเฉพาะกาลซึ่งนิรโทษกรรมเพื่อให้ผู้ที่มีไว้ในครอบครองหรือผู้ป่วยสามารถมีไว้ได้ แต่การจับเกิดขึ้นในช่วงนี้ แปลกไหม? ทั้งที่ควรจะจับก่อนหน้านี้นานแล้ว นั่นก็หมายความว่า นอกเหนือจากเหตุผลที่ว่ามา อาจจะมีเหตุผลอื่นด้วยก็ได้

กำลังจะบอกว่ากลุ่มทุนมีเอี่ยว?

Advertisement

ถ้าพูดตรงไปตรงมาคือ การจับกุมอาจารย์เดชาครั้งนี้ ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดจะทำให้มีผู้ได้ประโยชน์จากกัญชาแค่เพียงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ หรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น อันนี้ชัดเจนมาก เพราะคุณจับคนที่สังคมเห็นชัดเจนว่าเขาผลิตกัญชาเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนโดยไม่หวังผลตอบแทน ชื่อเดชา ศิริภัทร น้อยคนที่จะไม่ทราบว่าท่านมีบทบาททางสังคมในด้านการเกษตร วิถีสุขภาพ การไม่ใช้สารเคมี และความรู้ในการเป็นนักเกษตรที่รู้เรื่องอาหาร และยามากที่สุดคนหนึ่ง

ทัศนคติเกี่ยวกับกัญชาในด้านการเป็นยาเสพติดมีส่วนไหม?

ถ้าเราดูหน่วยงานของรัฐในกระบวนการพัฒนากฎหมาย ผมเห็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทัศนคติในเชิงลบว่ากัญชาคือยาเสพติด เราคงเห็นนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องเลอะเทอะ นี่ไม่ได้สะท้อนแค่นายกฯคนเดียว แต่สะท้อนหน่วยงานรัฐ และข้าราชการบางส่วนที่อยู่ภายใต้โลกทัศน์ของการมองว่ากัญชาคือยาเสพติด แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายเปลี่ยนแล้วด้วย แต่ก็ไม่ยอมทำความเข้าใจเรื่องนี้ ข่าวสารที่ออกมาในช่วงนี้จะทำให้หลายคนได้คิดใหม่ว่า สังคมมองกัญชาแบบไหน มันพัฒนาไปแล้ว และแน่นอน รัฐใกล้ชิดกับกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ซึ่งสนใจเข้าร่วมในการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งก็ริเริ่มในเรื่องกัญชาไปแล้วหลายระดับ ยังไม่ได้พูดถึงบริษัทข้ามชาติซึ่งเราเห็นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา ก็ยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว และร่วมกับบริษัทที่จดทะเบียนในไทยด้วย ในช่วงไม่กี่เดือนที่กฎหมายผ่านแล้ว บริษัทต่างชาติหลายแห่งก็ร่วมทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐและสถาบันการศึกษาด้วย

เหตุการณ์นี้เข้าข่ายโศกนาฏกรรมของรัฐไทยหรือไม่ ที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อบุคคลซึ่งสร้างประโยชน์ต่อสังคม?

เป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทยที่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการแบบนี้ ซึ่งผิดหลักการในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 1946 หรือแม้ไม่อ้างหลักการในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่การที่ประชาชนจะเข้าถึงยาล่ะ? ผู้ป่วยที่ถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาล เมื่อมารักษาตัวด้วยกัญชาแล้วพบว่าดีขึ้น ทุเลา บางคนหายเลย คุณจับคนที่ทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงยาได้ โดยไม่ต้องเสียเงิน ไม่หวังสิ่งตอบแทน คุณละเมิดสิทธิผู้ป่วยอย่างร้ายแรง นี่คือเรื่องทางศีลธรรม นี่ไม่ใช่วัตถุอันตราย แต่เป็นยาใช้รักษาชีวิตของผู้คน สิ่งที่อาจารย์ซ้งโดน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ คุณเอาเขาไปขัง 6 วัน อยู่เซฟเฮาส์ 2 วัน ปฏิบัติกับเขาเยี่ยงนักค้ายาเสพติด

อ.เดชามีผู้ป่วยเป็นหมื่นราย มีฐานความรู้จากการทดลองมหาศาล ต่างประเทศเชิญให้ไปสอน แต่คุณบอกคนพวกนี้ทำผิดกฎหมายต้องได้รับโทษ ในขณะที่บริษัทใหญ่ไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงจุดหนึ่งเขาก็จับมือหน่วยงานรัฐ ขอสัมปทานโดยจับมือต่างชาติ

สามารถใช้คำว่า เป็นการขู่ได้หรือไม่?

แน่นอนนี่คือการขู่ และคุกคามหมอยาพื้นบ้านที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามกฎหมายและสิทธิทางศีลธรรม ที่จะแจกจ่าย ปรุง พัฒนายาให้กับผู้คน สิทธิเหล่านี้มีมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนหน้า 40 ปีที่แล้ว ที่กัญชาหรือกระท่อมจะกลายเป็นยาเสพติด ในอนุสัญญาระหว่างประเทศ เขาทำกันมาแล้ว ครอบครองอยู่แล้ว คุณหมอมงคล ณ สงขลา ท่านเคยเล่าในวงประชุมว่าตอนเด็กคุณย่าท่านก็ใช้ใบกระท่อมมารักษาอาการป่วยไข้ ไม่ต้องพูดถึงที่คนเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อให้มีกำลัง

วินาทีแรกที่รู้ข่าวเรื่องการจับกุม อ.ซ้ง และ อ.เดชา นี่เป็นสิ่งที่คาดเดาไว้อยู่แล้วไหมว่าวันหนึ่งจะเกิด?

เคยคิดว่าเขาอาจทำได้ในบางระดับเพื่อแสดงอำนาจ เช่น เข้าไปอธิบายว่าแบบนี้ทำไม่ได้นะในทางกฎหมาย แต่ไม่คิดว่าจะบุกเข้าไปจับในมูลนิธิ ทั้งตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. คุณใส่เสื้อเกราะไปจับหมอยาพื้นบ้านที่แจกยาให้ผู้คน ไม่ใช่อาชญากร นี่เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้ ตอนไปประกันตัวที่สุพรรณฯ เห็นแล้วขนลุก มวลชนเต็มไปหมด เขาตั้งโต๊ะเอาอาหารมาแจกจ่าย เอาน้ำมาเลี้ยงกัน ผู้ป่วยจากไหนไม่รู้เดินทางมาร่วมกัน มากระซิบว่าเดี๋ยวถ้านักข่าวมาถาม จะขอพูดด้วย ทุกคนลุกขึ้นมาพูด บางคนให้ลูกไปบวชอุทิศส่วนกุศลให้ทั้ง 2 ท่านปลอดภัย ผมน้ำตาซึม เขาไม่รู้จักผมมาก่อน แต่รู้ว่ามาช่วย (ร้องไห้) เขามาขอถ่ายรูป ให้เกียรติเรามาก พูดตรงๆ ผมก็เบื่อคำว่า ต้องช่วยคนดี แต่มันเป็นความจริง เราไม่รู้จะอธิบายอย่างไร พอ อ.ซ้งออกมายังบอก ว่าจะสู้เพื่อผู้ป่วย ไม่มีคำไหนพูดถึงตัวเองหรือกล่าวโทษคนอื่น

คาดว่าสถานการณ์นี้จะนำไปสู่อะไร กระแสสังคมตอนนี้จะช่วยผลักดันไหม?

ถูกต้องแน่นอน ข้อดีที่สุดของเรื่องนี้ คือทำให้คนเห็นมิติของกัญชาในแง่มุมรอบด้านมากขึ้น แต่นี่เป็นความรู้สึกทางสังคม ไม่ได้เป็นหลักประกันใดๆ ว่าหน่วยงานพวกนั้นจะไปแก้ไขอะไร อ.ซ้งไม่ได้ถูกปล่อยตัว แต่เป็นการปล่อยตัวชั่วคราว อ.เดชาอาจโดนหนักกว่า เพราะเป็นเจ้าของ

สังคมไทยจะสูญเสียอะไรไป ถ้ากัญชาถูกปลดล็อกไม่จริง?

โอ้โห! หัวใจสำคัญคือสูญเสียโอกาสในการรักษาชีวิตของผู้คนซึ่งโอกาสในการเป็นมะเร็งคือ 3 ใน 10 คน แต่ละปีมีคน 80,000 ถึง 100,000 คนที่ตายเพราะมะเร็ง ลองนึกดูว่าคนที่ป่วยไข้ ทรมานในขั้นตอนต่างๆ จำนวนเท่าไหร่ เรากำลังพูดถึงชีวิตของผู้คน คนเหล่านี้ไปรักษาที่ รพ. จำนวนมากถูกปฏิเสธเพื่อรอความตาย หลายคนอยู่ท่ามกลางความเจ็บปวด แต่กัญชาช่วยได้

อย่างที่ 2 คือความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประชาชน ถ้าคุณบังคับให้คนต้องซื้อยากัญชาจากต่างประเทศ 10 ml ราคาเป็นหมื่น แต่ถ้าเปิดโอกาสให้กัญชาทางการแพทย์เป็นเศรษฐกิจ นี่คือเศรษฐกิจทุกระดับ หมอยาพื้นบ้าน คนปลูก คนปรุง คนบริการทางแพทย์ ยังไม่ต้องพูดถึงเศรษฐกิจระดับใหญ่กว่านั้นเป็นแสนล้าน

การจับกุมครั้งนี้ยังเป็นการทำลายความรู้ ทำลายศักยภาพของผู้คนในประเทศที่ความรู้เรื่องกัญชาในด้านการรักษาพยาบาลแทบจะเป็นศูนย์ในระบบทางการของรัฐ หรืองานวิจัยในมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ต้องพูดถึงต่างประเทศ ที่เขาดำเนินการเรื่องนี้มา 10 กว่าปีแล้ว มีพัฒนาการงานวิจัยที่พัฒนาไปจนถึงขั้นจดสิทธิบัตรได้

มองปรากฏการณ์เซฟเดชาอย่างไร ไบโอไทยเองก็สนับสนุนให้ประชาชนร่วมจับตาและออกมาเรียกร้อง?

ปรากฏการณ์เซฟเดชา ความหมายไม่ใช่แค่เซฟเดชา เซฟอาจารย์ซ้ง แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับยาจากกัญชา และไม่ควรต้องไปขออนุญาตจากใครที่ไหน เป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คุณเจ็บป่วย เป็นมะเร็ง กำลังจะตาย ต้องการยาที่จะบรรเทาช่วงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตแต่กลับทำไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องขออนุญาตหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลจากผู้ให้อนุญาต สังคมไทยเป็นแบบนั้น จับตาดูได้เลย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสิทธิของหมอยาพื้นบ้านและของประชาชนที่ควรมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพืช เราต้องต่อสู้อย่างถึงที่สุด ต้องมีส่วนร่วมในทุกรูปแบบ ทุกช่องทาง เราได้เห็นคนเอาตัวเองมาเป็นผู้ปฏิบัติการต่อสู้ครั้งนี้โดยการเล่าเรื่องของตัวเอง ผมก็ยุ่งๆ เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน ยังไม่มีเวลารวบรวม ซึ่งต้องทำ

ในช่วง 3-4 วัน เราได้รับเงินบริจาคล้านกว่าบาท มีคนบริจาคตั้งแต่ 5 บาท 9 บาท 90 สตางค์ 999 บาท มีคนหนุ่มในภาคธุรกิจไอทีบริจาคคนเดียวแสนกว่าบาท และชุมชนที่สงขลารวบรวมเงินได้ 5 หมื่น มาบริจาคให้เรา

ในต่างประเทศช่วงเปลี่ยนผ่านประเด็นกัญชา มีสถานการณ์แบบนี้ไหม?

แน่นอน การเปลี่ยนผ่านเรื่องพวกนี้ สังคมต้องถกแถลงกัน สังคมจะเป็นคนตัดสินใจ ขอตัวอย่างเรื่องพาราควอต มาเลเซียเคยแบนเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ท้ายสุดไม่สำเร็จเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่และรัฐบาลขณะนั้นเอาด้วย ก็ต้องยกเลิกการแบน แต่กระแสโลกไม่แบนไม่ได้ ไม่งั้นขายปาล์มไม่ได้ มันมีมาตรฐานโลกอยู่ ท้ายสุดก็ต้องเปลี่ยน พารา

ควอตที่เราสู้ตอนนี้ รัฐบาลไม่เปลี่ยนแต่ประชาชนเปลี่ยนแล้ว ไม่เอาแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานก็ต้องแบน เช่นเดียวกับเรื่องกัญชา ที่เคยมีคนบอกเลอะเทอะแต่ตอนนี้ดูเหมือนคิดได้แล้ว

ไบโอไทยประกาศยินดีทำงานกับพรรค การเมืองที่หนุนกัญชาเสรี?

ใช่ครับ พูดอย่างตรงไปตรงมา คุณเนวิน ชิดชอบ กับผม และ อ.เดชา เราไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกันมาเลย ในช่วงการเคลื่อนไหวสมัชชาคนจน เคยเชิญเราไปนั่งกินข้าวเพื่อถกทางออก ผมยังบอก อ.เดชาว่าอย่าไปกินอะไรของเขานะ ยกเว้นน้ำ เพื่อไม่ต้องการผูกพันใดๆ หิวก็หิว (หัวเราะ) แม้กระทั่งเรื่องจีเอ็มโอ ตอนคุณเนวินเป็น รมต.ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เราก็ยืนคนละฝ่าย พอเวลาผ่านไปเมื่อคุณเนวินและคุณอนุทิน ชาญวีรกูล เห็นว่าเรื่องกัญชานี้มีประโยชน์ เราคิดว่าไม่สมควรปฏิเสธ จึงยินดีพร้อมทำงานร่วมกัน แต่ถ้าการเปิดเสรีกัญชานำไปสู่การผูกขาดเราก็ไฟต์กับเขาแน่ๆ ไม่ต้องกลัว

ความคาดหวังสูงสุดที่มีต่อประเด็นกัญชาและอื่นๆ?

ไบโอไทยปกป้องสิทธิของเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ใช้เรื่องนี้เป็นคำตอบของชีวิต อย่างเรื่องการป่วยไข้ เศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้สิ่งนี้นำไปสู่ระบบเกษตร ระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมี และยาจากอุตสาหกรรมข้ามชาติในราคาแพง เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ ด้านการค้า เราเห็นว่าจำเป็นต้องมีด้วยซ้ำ แต่ต้องเกื้อกูลคนเล็กคนน้อยด้วย

 

แกะสีอื่น ในหมู่แกะขาว

ภาพจาก KonAward5 VTR รางวัลผู้ปิดทองหลังพระวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ


“ไม่มีสักเสี้ยวเดียว แม้แค่แว่บของความคิด”

คือคำตอบของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย ต่อคำถามถึงความหวั่นไหวเมื่อต้องออกมาไฝว้ในสงครามแต่ละครั้ง ไม่เพียงเรื่องของกัญชาหากแต่รวมถึงประเด็นต่างๆ มากมายจนเป็นที่ประจักษ์ชัดในสังคมไทยขณะนี้

ยืนยันหนักแน่นในเส้นทางของตัวเอง แม้เพื่อนๆ ที่ร่ำเรียนด้วยกันมา ณ รั้วเกษตรศาสตร์ จะเติบโตในหลากสายงาน ทั้งภาคธุรกิจและหน่วยราชการที่อาจพรั่งพร้อมทั้งเงินทองและอำนาจ แม้หลายครั้งโดนวิพากษ์หนักในไลน์กรุ๊ป

“การเลือกเส้นทางนี้ไม่ใช่ว่ามองตัวเองเหนือกว่าทางจริยธรรม คนอื่นเลือกแบบอื่นก็มีประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน แต่ก็ต้องพิสูจน์ว่าจะมีผลดีต่อโลกอย่างไร ในบางช่วงก็เป็นที่รักในหมู่เพื่อนฝูง เคยได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น แต่บางคราวก็เป็นแกะสีอื่นในหมู่แกะขาวในรุ่น (ยิ้ม)”


เกิดที่พังงา เป็นลูกชาวสวน เดินตามแม่ไปปลูกทุเรียนตั้งแต่เด็ก มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกษตรกระทั่งหล่อหลอมความเข้าใจในวิถีทั้งความจริงและปัญหา

“เคยไปไร่ ไปนา กับแม่ ยังจำภาพพวกนั้นได้ ถึงจุดหนึ่งพ่อกับแม่บอก ทำนาไม่ได้แล้ว เราต้องทำสวน ยางพาราให้ผลทางเศรษฐกิจดีกว่า แล้วพอยางไปไม่ไหว ก็ต้องทำอย่างอื่นด้วย เราเห็นมาตลอด”

เมื่อถามตรงๆ ว่าสมัยเรียนเคยคิดไหมว่าวันหนึ่งต้องมาไฝว้หนักขนาดนี้ เจ้าตัวยอมรับว่า ไม่เคยคิดถึงขนาดต่อสู้กับบริษัทใหญ่ คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่เมื่อทำไปแล้วพบว่าอุปสรรคมาจากรัฐด้วย ท้ายสุดก็ต้องไฝว้อีก จากนั้นจึงย้อนเล่าเรื่องราวครั้งเป็นนิสิต

“ผมเรียนคณะเกษตร ด้านพืชไร่ เข้าปี 2523 เป็นยุคแห่งกิจกรรมนักศึกษา ทำค่ายอาสา มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวว่าจบมาต้องไปช่วยชาวนา ช่วยเกษตรกร เป็นอุดมคติ แต่พอกลับมาปั๊บ พบว่าที่เรียนมา ใช้ไม่ค่อยได้เลย (หัวเราะ) ผมกลับทึ่งกับชาวนาเก่งๆ ที่เขาแก้ปัญหาได้จริง ยุคนั้นยังไม่มีคำว่าปราชญ์ชาวบ้าน”

อยู่ในตำแหน่งแห่งที่เช่นนี้ ไม่รู้ไม่ได้ ว่ามีเอกชนรายไหนอยากขอดีลด้วยหรือเปล่า

“เขาไม่กล้าเสนอตรงๆ อยู่แล้ว เขารู้ว่าเราเป็นอย่างไร เคยมีเสนอช่วยสร้างอาคารสำนักงาน เราไม่เอา แต่รับจากบริษัทที่ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน และแบบที่บุกมาให้ของขวัญทีสองที ปีใหม่มาหา เอาอาหารสำเร็จรูปมาให้ ผมเลยให้ข้าวปลอดสารพิษเขาไป คุณจะให้เราก็ได้ แต่เราจะให้คุณด้วย (หัวเราะ) มีประธานบริหารคนใหม่ของบริษัทใหญ่พยายามนัด เพราะเราวิจารณ์เขาเยอะ ผมบอก เจอได้ แต่ขอเจอในเวทีสาธารณะ”

ผอ.ไบโอไทยท่านนี้ นิ่งคิดอยู่นาน ถึงความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต ก่อนจะตอบว่า นึกไม่ออก

หากจะมีก็ไม่ใช่รางวัลอื่นใด แต่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่มีความหมาย ดังเช่นคราวต่อต้านอเมริกามาจดสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิ เมื่อราวปี 2540 แล้วมีชาวร้อยเอ็ดเดินมาหา เกาะแขนแล้วกล่าวยกมือไหว้ขอบคุณ ซึ่งเป็นเรื่องที่จดจำไม่ลืม.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image