ดราม่าวงการศิลปะ จดหมายเปิดผนึกถาม ‘ภัณฑารักษ์’ ขัดจิตวิญญาณ ‘กวางจู’

(ซ้าย)โปสเตอร์งาน The Truth_ to Turn It Over (ขวา) ผลงานของสุธีที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู

เปิดปมดราม่าที่ยืดยาวมาตลอดทั้งอาทิตย์ในแวดวงศิลปะ เมื่อศิลปิน นักวิชาการ และผู้ทำงานด้านวัฒนธรรม 118 ราย รวมตัวกันในนาม นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

ชนวนเหตุเกิดที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูนำผลงานของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ จัดแสดงร่วมกับศิลปินอีก 4 ประเทศในนิทรรศการ “The Truth_ to Turn It Over” ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980

“พวกเราขอแสดงความกังวลเกี่ยวเนื่องกับแนวทางศิลปะของเขา กับจุดยืนทางการเมือง และจิตวิญญาณการต่อสู้ของชาวกวางจู เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสุธีเข้าร่วมกับ กปปส. ซึ่งนำมาสู่วิกฤตทางการเมืองและรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557”

โดยสุธีเคยจัดกิจกรรม Art Lane ร่วมกับเพื่อนศิลปินเพื่อระดมทุนให้ขบวนการเคลื่อนไหว กปปส. และผลงานที่นำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เป็นผลงานที่ทำขึ้นระหว่างร่วมชุมนุมกับ กปปส.

Advertisement

กลุ่ม กวป. จึงส่งจดหมายถาม ลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์นิทรรศการ และคณะกรรมการถึงกระบวนการคัดเลือกและเหตุผลที่เชิญสุธีเข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้

“พวกเราเชื่อในเสรีภาพในการแสดงออกว่ามีความสำคัญต่อศิลปิน แต่พวกเราต้องการแสดงความกังวลที่นิทรรศการของสุธีมีข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณการต่อสู้ของกวางจู”

เหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ที่กวางจู
เหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ที่กวางจู

 

Advertisement

จิตวิญญาณ กวางจู
จิตวิญญาณ ประชาธิปไตย

การเรียกร้องประชาธิปไตยกวางจู เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 18-27 พฤษภาคม 1980 ที่กวางจู ทางตอนใต้ของเกาหลีใต้ เกิดจากการลุกฮือของนักศึกษาและประชาชนเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร หลังจากที่ นายพลชุน ดูฮวาน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจไปเมื่อ 12 ธันวาคม 1979 ทำให้ประชาชนทั่วประเทศเคลื่อนไหวต่อต้าน จนทางกองทัพต้องใช้มาตรการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

กวางจูก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีการประท้วง มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของนักศึกษาและประชาชน เริ่มจากการรวมตัวประท้วงของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนมัน ที่ถนนหน้าศาลากลางจังหวัด จาก 6,000 คน มีประชาชนและนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นร่วมสมทบเป็น 30,000 คน ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1980 ต่อมาคืนวันที่ 17 พฤษภาคม มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ตามด้วยการจับกุมผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นชาวกวางจู

เช้าวันที่ 18 พฤษภาคม นักศึกษาได้มารวมตัวกันเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและให้นายพลชุน ดูฮวาน ลาออก
เจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามผู้ชุมนุมจนการปะทะขยายลุกลามไปทั่วเมือง มีประชาชนเข้าร่วมสมทบมากกว่าหนึ่งแสนคนในวันที่ 20 พฤษภาคม จนเกิดการสังหารและจับกุมประชาชนครั้งใหญ่ในวันที่ 27 พฤษภาคม

รัฐบาลออกมาให้ข่าวว่า จลาจลครั้งนี้เกิดจากผู้ที่ถูกครอบงำโดยสายลับเกาหลีเหนือและผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองภายหลังเรื่องราวการล้อมปราบที่กวางจูจึงได้รับความสนใจและพูดถึงว่าเป็นการลุกฮือของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร และมีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยมีผู้เสียชีวิตราว 200 ราย และผู้บาดเจ็บและพิการราวพันคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่แน่ชัด

ภายหลังการพยายามเรียกร้องให้ไต่สวนความจริงกว่า 20 ปี ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตนายพลชุน ดูฮวาน และจำคุกนายพลที่เกี่ยวข้องกับคดีสังหารหมู่ประชาชน

ในการรำลึกครบรอบเหตุการณ์กวางจู ปีที่ 18 ได้มีการก่อตั้ง รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู มอบให้กับบุคคล คณะทำงาน หรือสถาบันที่อุทิศตนให้กับการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพ ทั้งภายในประเทศเกาหลีใต้และในระดับนานาชาติ

สำหรับในปีนี้ เทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พ.ค.-15 ส.ค. โดยที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูได้จัดแสดงนิทรรศการชุด “The Truth_ to Turn It Over”

สุธี คุณาวิชยานนท์ กับผลงานศิลปะซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู (ภาพจากเฟซบุ๊ก sutee. kunavichayanont)

ไม่ได้เรียกร้องรัฐประหาร
สู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด

ภายหลังการประท้วงของ กวป. รศ.สุธี คุณา วิชยานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย และการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งผลงานที่นำไปจัดแสดง เป็นบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น โดยเป็นงานเก่าตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ที่นำมาทำใหม่ ซึ่งหากทางพิพิธภัณฑ์จะปลดผลงานส่วนหนึ่ง ตนจะขอคัดค้าน เพราะไม่มีเหตุผลจะถูกปลด

“ผมและเพื่อนๆ กลุ่ม Art Lane ซึ่งมีทั้งศิลปิน นักร้อง นักแสดง เรียกร้องการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐประหาร ทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีใครหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพรรคการเมือง เราทำของเราเอง กรณีที่มีการทำเสื้อยืดและของที่ระลึกขาย ก็มอบรายได้ให้กลุ่มไปแล้วเขาไปจัดการกันเอง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีการใช้สนับสนุนกิจกรรมการเคลื่อนไหว และมอบให้ กปปส.จริง แต่ผมไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม กปปส. แค่มีแนวคิดบางอย่างร่วมกัน เช่น ต้านรัฐบาลที่ทุจริต ค้านนิรโทษกรรมสุดซอย”

06
ผลงานของสุธี

ต่อมา มานิต ศรีวาริชภูมิ และ วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินชื่อดัง ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เรื่องสนับสนุนการแสดงผลงาน The Truth – to Turn It Over ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ว่า

“ข้าพเจ้า, ศิลปินไทยผู้รักประชาธิปไตยเช่นกัน ขอส่งสารฉบับนี้มาสนับสนุนการคัดเลือกและแสดงผลงานชุดนี้ที่ท่านเป็นผู้คัดเลือกว่า เหมาะสมและสะท้อนภาพการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยโดยศิลปินไทยได้เป็นอย่างดี การกล่าวหาผลงานชุดนี้ว่า ‘ต่อต้านประชาธิปไตย’ เพียงเพราะศิลปินเป็นพันธมิตรเข้าร่วมประท้วงกับกลุ่ม กปปส. จนเป็นเหตุอันนำไปสู่การรัฐประหารนั้น นับเป็นข้อกล่าวหาอันตื้นเขิน ไร้เหตุผล ไม่อาจยอมรับได้”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ท่านมีสติและมีความอดทนต่อกระบวนการ ‘ใส่ร้ายป้ายสี’ ทำลายเกียรติยศและชื่อเสียงของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด และต้องขออภัยที่ท่านและองค์กรของท่านต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอันสลับซับซ้อน สงครามสร้างภาพลักษณ์ การแย่งชิงมวลชน, อำนาจ และผลประโยชน์ของไทย”

ขัดประชาธิปไตย-ผิดที่ผิดทาง

ธนาวิ โชติประดิษฐ
ธนาวิ โชติประดิษฐ

ธนาวิ โชติประดิษฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า การคัดเลือกผลงานชุด Thai Uprising ของคุณสุธีขัดกับวาระของการรำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจูอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก Thai Uprising ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมศิลปะ Art Lane (2556) ที่มีการประมูลงานเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ กปปส. ที่ไม่ได้เพียงเป็นการต่อต้านคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ไม่โปร่งใสเท่านั้น หากยังนำไปสู่การล้มรัฐบาลเลือกตั้งโดยอำนาจนอกระบบ ถางทางแก่รัฐประหารในปี 2557 และยังได้ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารต่อมาหลังจากนั้น

“งานศิลปะของศิลปินที่สนับสนุน กปปส. กลายเป็นส่วนหนึ่งของการล้มกระบวนการประชาธิปไตยด้วยการเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามาสู่การเมืองได้โดยปราศจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตย เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจกรรมทางศิลปะของ กปปส. ไม่ว่าจะมีเจตนาที่ดีอย่างไรก็ตาม จึงเป็นสิ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยโดยรากฐาน ซึ่งนั่นนำไปสู่ความผิดที่ผิดทางในเทศกาลที่กวางจู”

ส่วนจดหมายสนับสนุนสุธีที่ออกมานั้น ธนาวิให้ความเห็นว่า หลังรัฐประหารปี 2557 ศิลปิน กปปส. โดยเฉพาะคุณสุธี คุณมานิต และคุณวสันต์ไม่มีปฏิกิริยาอะไรต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดสองปีอย่างการจับกุม การดำเนินคดีต่างๆ ที่ดำเนินอย่างมาอย่างต่อเนื่อง ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่มีปัญหาอะไรกับรัฐบาลทหาร ซึ่งขัดกับเนื้อความในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

“ความเห็นต่างและการวิจารณ์ไม่ได้เป็นเรื่องของ ‘กระบวนใส่ร้ายป้ายสี ทำลายเกียรติยศชื่อเสียง’ เรากำลังพูดกันถึงข้อเท็จจริงล้วนๆ ที่โลกออนไลน์ปัจจุบันสามารถเก็บบันทึกเอาไว้ได้ทั้งหมด ในยุคนี้ยากที่จะบิดเบือนได้ หากคุณสุธีประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในประเด็นนิรโทษกรรมและปัญหาคอร์รัปชั่นอื่นๆ เพียงเท่านั้นเองจริง กิจกรรมทางศิลปะทั้งหมดก็ต้องจบเมื่อยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพื่อทำการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ หากสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงก็คือว่า กิจกรรมของ Art Lane ไม่ได้จบแค่นั้น ดังที่คุณสุธีเองก็เขียนชี้แจงว่า ผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นงานตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ที่นำมาทำใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณสุธีและ Art Lane จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการเกิดขึ้นของรัฐประหารที่ตามมาในเดือนพฤษภาคมได้ เนื่องจากได้ปฏิเสธที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งมาแต่แรก ทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน และไม่จำเป็นต้องอาศัยขบวนการใดๆ มาทำการบิดเบือน” ธนาวิกล่าว

แนะถอนงาน-ประกาศจุดยืน

อีกหนึ่งศิลปิน ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องที่ถกเถียงกันนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่อยู่ที่กระบวนการคัดสรรผลงานของผู้จัดงาน โดยภัณฑารักษ์ให้สัมภาษณ์ในวงแคบว่า เป็นความผิดของเขาเองที่ไม่ได้ศึกษาตัวผลงานและบริบทของผลงานอย่างรอบคอบ

ทัศนัย เศรษฐเสรี
ทัศนัย เศรษฐเสรี

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรม Art Lane อยู่ในกระบวนการ กปปส. และสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง นำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด ผมไม่ได้บอกว่าเขาไปคุยกับทหารแล้วเชื้อเชิญให้มารัฐประหาร แต่เป็นการนำไปสู่จุดนั้น และ 2 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหารในวงการศิลปะก็จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้ยังทำงานอย่างเหนียวแน่นกับ กปปส.และคุณ สุเทพ เทือกสุบรรณ”

“การเขียนจดหมายของ มานิต-วสันต์ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ การออกไปฉายแสดงภาพว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในอาร์ตเลน และ กปปส. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ ประเด็นเคลื่อนย้ายจากการตั้งคำถามกับภัณฑารักษ์ มาตั้งคำถามกับคุณสุธีเองว่า ท่านทราบบริบทประวัติศาสตร์กวางจูอยู่แล้ว และไม่ว่าท่านทำงานแบบไหนในอดีต แต่งานชุดที่นำไปแสดงไม่น่าสอดคล้องกับบริบทของเมืองกวางจูในทางประวัติศาสตร์และสปิริตการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย 20 ปี ที่มีคนตายเป็นร้อย เป็นมโนสำนึกที่ศิลปินน่าจะคิดเองตั้งแต่ต้น ไม่ต้องรอให้เกิดความผิดพลาดในการคัดสรรผลงานของภัณฑารักษ์ ศิลปินต้องมีมโนสำนึกไม่ใช่เห็นแก่รางวัล ชื่อเสียง เกียรติยศ”

ทัศนัยเห็นว่า แทนที่ อ.สุธีจะมาตอบจดหมาย พยายามให้เหตุผลเหมือนกับการทิ้งเพื่อนว่าตนเองไม่ใช่ กปปส. อ.สุธีควรถอนผลงานและประกาศจุดยืนของตัวเองอย่างสง่างาม ประกาศความเชื่อทางการเมืองของตน แม้จะไม่สอดคล้องกับบริบทเมืองกวางจู แต่คิดว่าคนจะปรบมือให้

“ไม่ใช่ทำจนลงมาเป็นเรื่องส่วนตัวบอกว่าเป็นเรื่องป้ายสีกัน ผมว่าไม่ใช่วิถีของสุภาพบุรุษ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image