จากงานทดลองวิศวกรนาซา สู่”ปืนฉีดน้ำ” วิศวะ มธ.ไขที่มาไอเท็มเด็ดวันสงกรานต์

ปืนฉีดน้ำในมือสั่นไปหมด! เมื่อ “คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (Thammasat School of Engineering : TSE) เปิดเผยที่มาของอุปกรณ์เล่นน้ำชิ้นนี้ที่ไม่ธรรมดาเสียเลย

ใครเล่าจะคิดว่าไอเท็มยอดฮิตตลอดสงกรานต์อย่าง “ปืนฉีดน้ำ” จะมาจากไอเดียการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของวิศวกรชาวต่างประเทศรายหนึ่ง

เขาคนนั้นคือ “ลอนนี จอห์นสัน” วิศวกรชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการทดลองจรวดให้กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) หรือนาซา ผู้ปิ๊งไอเดียปืนฉีดน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ การทดลองเทคโนโลยีอวกาศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1982 ลอนนีกำลังพัฒนาปั๊มความร้อนโดยใช้น้ำอัดความดันเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิแทนสารเคมีชนิดหนึ่ง ระหว่างที่เขานำงานชิ้นนั้นกลับไปทดลองต่อที่บ้าน โดยการเปิดปั๊มดังกล่าวในอ่างอาบน้ำ ปรากฏว่ามีน้ำพุ่งออกมาจากบริเวณหัวฉีดของปั๊ม โดยฉีดได้ไกลจากผนังด้านหนึ่งไปถึงผนังอีกด้าน จากความบังเอิญที่เกิดขึ้นทำให้ลอนนีนึกสนุก อยากพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “ปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศ” ในขณะนั้นให้กลายของเล่นสำหรับเด็ก แถมยังคิดต่อยอดในเชิงธุรกิจอีกด้วย

Advertisement

หลังจากค้นพบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้โดยบังเอิญแล้ว ลอนนีอ้างว่าเขาคือผู้คิดค้นต้นแบบ “ปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศ” ไม่นานลอนนีจึงเริ่มออกแบบการประดิษฐ์ชิ้นส่วน ก่อนจะประกอบแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน จนได้ผลงานต้นแบบชิ้นแรกออกมา

ลอนนีนำผลงานชิ้นนั้นไปให้ลูกสาวกับเพื่อนทหารได้ทดลองเล่น และทุกคนประทับใจปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศอย่างมาก ทำให้ลอนนีอยากเปิดบริษัทและโรงงานผลิตของเล่นด้วยตัวเอง แต่ด้วยโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินทุนสูง จึงตระเวนหาบริษัทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ต่อมา บริษัท ลารามิ คอร์ปอเรชั่น (Larami Corporation) ยักษ์ใหญ่แห่งการผลิตของเล่นได้ซื้อลิขสิทธิ์ปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศที่มีชื่อว่า “เพาเวอร์เดรนเชอร์” (Power Drencher) ก่อนผลิตออกสู่ตลาดเป็นเวลากว่า 8 ปี

Advertisement

ทว่า “เพาเวอร์เดรนเชอร์” กลับทำตลาดได้ไม่ดีนัก บริษัทผู้ผลิตจึงตัดสินใจยกเครื่องแผนการตลาดใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อปืนฉีดน้ำแรงดันอากาศเป็น “ซุปเปอร์โซกเกอร์” (Super Soaker) จนทำให้ยอดขายในปี ค.ศ.1991 สูงขึ้นแบบถล่มทลายถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดอันดับ 1 ใน 20 ของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลกในปีนั้นทันที แน่นอนว่าชื่อเสียงของ “ซุปเปอร์โซกเกอร์” โด่งดังข้ามซีกโลก จนมาถึงประเทศไทยในไม่ช้า

“และทั้งหมดนี้เป็นที่มาของ “ปืนฉีดน้ำ” ไอเท็มเด็ดครองใจนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์มานานเท่านาน”

วัชระ อมศิริ

แม้จุดเริ่มต้นของ “ปืนฉีดน้ำ” จะมาจากความบังเอิญ (ที่ไม่ธรรมดา) แต่ต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เป็นเรื่องบังเอิญอย่างเดียว หลายสิ่งประดิษฐ์บนโลกนี้ล้วนสะท้อนวิวัฒนาการของการพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญยิ่งของการเป็นวิศวกรมืออาชีพ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า คนไทยก็สามารถทำเรื่องบังเอิญที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ และพร้อมที่จะส่งเสริมผลักดันให้นักศึกษาก้าวสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในทุกด้าน

ท้ายที่สุดนี้ “วัชระ อมศิริ” อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การเล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแรงดันน้ำของปืนฉีดน้ำที่มีขนาดใหญ่ หรือแบบท่อพีวีซี ที่อาจทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บถึงขั้นบอดได้ โดยควรเลือกซื้อปืนฉีดน้ำที่มีแรงดันน้อย ฉีดน้ำออกมาเป็นลักษณะฝอยกระจาย ไม่พุ่งไปไกลเป็นเส้นตรงอย่างเดียว ซึ่งเพียงพอต่อการเล่นเพื่อความสนุกสนาน และยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย

และแล้วสายตาที่มอง “ปืนฉีดน้ำ” ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image