อาศรมมิวสิก : พลังเสียงดนตรีช่วยพัฒนาชีวิต พลังรักของแม่สามารถขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง : โดย สุกรี เจริญสุข

ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ ได้รับจดหมายจากนายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย (คุณสุชาติ โอวาทวรรณสกุล) มาถึงผม ในฐานะที่เป็นอดีตคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาก่อน เนื้อหาเกี่ยวกับคุณแม่น้องวุฒิ (ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์) ขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณากระบวนการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีดนตรีในมหาวิทยาลัยมหิดล

ใจความมีอยู่ว่า น้องวุฒิเป็นนักเรียนดนตรี ชอบตีกลอง เป็นเด็กพิเศษ (ดาวน์ซินโดรม) ได้เรียนจบหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรีแล้ว ได้คะแนนสูง (2.75) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้โดยอัตโนมัติ โดยมีคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ คณะกรรมการทั้ง 3 ท่านได้ลงความเห็นว่า น้องวุฒิสอบผ่าน และได้บอกพ่อแม่ด้วยวาจาแล้ว

แต่เมื่อประกาศผลการสอบ ปรากฏว่าน้องวุฒิไม่มีชื่อ คุณแม่ก็ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับคำชี้แจงว่า “ผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ผ่าน” คุณแม่น้องวุฒิก็ได้ขอนัดพบกับคณบดี เพื่อขอคำชี้แจง ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงว่า การสอบสัมภาษณ์นั้น ไม่ผ่านจริงๆ

คุณแม่น้องวุฒิจึงได้ทำหนังสือไปร้องเรียนต่อนายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ต่อมาทางสมาคมสภาคนพิการฯก็ได้ทำหนังสือยื่นร้องเรียนไปยังผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จดหมายร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ส่งถึงรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งถึงคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และส่งให้ผมด้วย รวม 7 ฉบับ

Advertisement

ผมได้แนะนำคุณแม่น้องวุฒิไปว่า ให้พาลูกไปสมัครเรียนที่อื่น สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่เปิดสอนดนตรีมีอยู่ 50 สถาบัน ไม่ควรไปมุ่งมั่นที่ใดที่หนึ่งที่เดียว เพราะการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในสังคมไทย ในระบบการศึกษาของไทยนั้น ต้องใช้เวลานานแสนนาน ซึ่งจะมีจดหมายชี้แจงจากผู้บริหาร พูด
วกไปเวียนมาเพื่อให้ดูดี ความจริงของคำตอบก็คือ “ไม่ได้” ทั้งหมดจะเสียเวลากับคุณแม่มาก

ที่สำคัญที่สุดก็คือ น้องวุฒิจะไม่มีที่เรียน จดหมายที่ส่งไปแล้ว ก็ขอให้จดหมายและองค์กรที่รับผิดชอบได้ทำหน้าที่ของตัวมันเอง ให้สังคมพิสูจน์ด้วยตัวมันเองจะดีกว่า หากต้องใช้ชีวิตของน้องวุฒิไปพิสูจน์ ก็สูญเสียชีวิตไปเปล่าๆ

ในประเทศที่เจริญนั้น จดหมายร้องเรียนถึงคนเพียงคนเดียวหรือองค์กรเดียวก็สามารถจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ในประเทศที่ด้อยพัฒนานั้น ยังด้อยเรื่องมนุษยธรรม จริยธรรม เมตตาธรรม จรรยาบรรณ ความรัก และความกตัญญู แม้จะได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปถึง 7 ฉบับ ก็จะแก้ปัญหาให้คุณแม่ไม่ได้ อย่าได้เสียใจเลย ฝึกอยู่กับมันให้ได้ และเดินหน้าดูแลลูกต่อไป เพราะจะมีโวหาร (ขี้ฟัน) ออกมาแก้ตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งคุณแม่ควรเอาพลังความรักที่มีต่อลูกที่เหลืออยู่ ไปช่วยน้องวุฒิจะดีกว่า ทำจิตใจให้ผ่องใส แล้วก็จะมีความสุข

Advertisement

อาจมีอีกช่องทางหนึ่งที่คุณแม่จะทำได้ คือ คุณแม่ได้เก็บบันทึกตัวละคร เก็บบทสนทนา เรื่องราวต่างๆ เอาไว้ตลอด น่าจะมอบให้แก่ผู้กำกับหรือผู้สร้างภาพยนตร์ หรือส่งให้คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ส่งให้คุณจอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ เพื่อจะได้นำบันทึกเหล่านี้ไปเล่าต่อให้สังคมฟัง ผ่านรูปแบบข่าวหรือภาพยนตร์ เพื่อที่จะตีแผ่ชีวิตการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนพิการ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ อาจจะตั้งชื่อเรื่อง “ความรักของแม่” เพื่อให้ข้อคิดแก่สังคมในเรื่องมนุษยธรรม จริยธรรม เมตตาธรรม จรรยาบรรณ ความรัก และความกตัญญู

ซึ่งกำลังหาได้ยากในสังคมปัจจุบัน ความจริงน้องวุฒิเขาไม่รู้หรอกว่าใครรักใครรังเกียจเขา แต่เขาเรียนรู้ว่าเขาคุ้นเคยและไว้วางใจใคร

วันนี้ (11 เมษายน) ได้คำตอบแล้วว่า น้องวุฒิสอบเข้าเรียนต่อได้ในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทุกคนในครอบครัวดีใจมาก โดยเฉพาะบรรดาพ่อแม่เด็กพิเศษทั้งหลาย เพราะมองเห็นช่องทางออกของการศึกษาของลูกที่เป็นเด็กพิเศษ สำหรับน้องวุฒินั้น เป็นหนูตะเภาที่ถูกส่งไปสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเป็นหน่วยหน้าของการต่อสู้เรื่องการศึกษาของเด็กพิเศษ

ปัญหาของการไปเรียนที่ใหม่ ซึ่งน้องวุฒิต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ อาคารสถานที่ใหม่ ความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับเด็กพิเศษ เพื่อนใหม่ ครูคนใหม่ และที่สำคัญก็คือทัศนคติใหม่ที่อยู่ในสังคมใหม่ด้วย แต่อย่างน้อยที่สุด น้องวุฒิมีโอกาสเรียนได้ มีโอกาสพัฒนาเพื่อที่จะอยู่กับสังคมให้ได้

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษหรือพิการในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตาบอด หูหนวก ออทิสติก หรือดาวน์ซินโดรม หากเสียงดนตรีหรือการเล่นดนตรีของเด็กพิเศษสามารถช่วยเด็กที่บกพร่องทางกายและจิตใจได้ ก็จะได้พัฒนาให้เกิดความเจริญงอกงามขึ้นในสังคม ดนตรีก็จะเป็นพลังกุศลที่ยิ่งใหญ่ ดนตรีสามารถพัฒนาเด็กได้จริง ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ ให้เจริญขึ้นได้ และหากทำได้ก็จะเป็นบทพิสูจน์และเป็นทางออกที่สำคัญของสังคมไทย ทั้งนี้ เพราะมีเด็กพิเศษอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้อยู่อย่างยถากรรม เพราะพ่อแม่เองก็ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร เด็กพิเศษเหล่านี้ไปที่ไหนก็ถูกตั้งข้อรังเกียจ แม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศก็ตั้งข้อรังเกียจกับเขาด้วย

สมัยเมื่อครั้งที่ผมเป็นคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้สร้างสิ่งที่เอื้ออำนวยให้แก่เด็กพิเศษ มีครูที่เข้าใจและดูแลเด็กพิเศษ มีสาขาวิชาดนตรีบำบัดเพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กพิเศษ และที่สำคัญได้จัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กพิเศษ เพราะไม่ได้มีเป้าหมายให้เขาออกไปเป็นนักดนตรีเอกของโลก แต่เพื่อให้เขาได้อยู่ในโลกที่สามารถช่วยตัวเองได้ และสังคมมีความเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ ปรัชญาก็คือ เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ น้องวุฒิก็ยังอยู่ช่วยตัวเองได้

เมื่อก่อนพ่อแม่มีลูกเยอะ หากมีลูกเป็นเด็กพิเศษ 1 คน ก็ปล่อยให้เด็กอยู่อย่างยถากรรม เพราะพ่อแม่ไม่มีกำลังพอที่จะเลี้ยงดูลูก วันนี้พ่อแม่มีลูกน้อยลง พ่อแม่มีกำลังมากขึ้น มีเวลาและมีความตั้งใจ ทุ่มเทชีวิตเพื่อดูแลลูกเป็นกรณีพิเศษคนเดียว พ่อแม่ส่วนใหญ่ลงทุนให้กับลูก โดยให้พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งลาออกจากงาน เพื่อที่จะดูแลลูกเป็นพิเศษ รายได้เกือบทั้งหมดของครอบครัวนำไปใช้เพื่อการศึกษาพัฒนาลูกให้สามารถช่วยตัวเองได้ พ่อแม่ก็ต้องผ่านการทดสอบจากสังคมที่ดูถูก เหยียดหยาม และตั้งข้อรังเกียจ

พ่อแม่เด็กพิเศษอย่างน้องวุฒิ ผ่านชีวิตเหล่านี้มาหมดแล้ว น้อยเหลือเกินที่จะได้รับการต้อนรับ พ่อแม่เด็กพิเศษจึงได้รวมตัวกันเป็นสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เพื่อจะส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากสังคม เพื่อสังคมจะได้หันมาดูแลเอาใจใส่การศึกษาคนพิการบ้าง ซึ่งในขณะนี้ก็มีกฎหมายเฉพาะสำหรับคนพิการ มีสิทธิคนพิการที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

น้องวุฒิ เป็นหนังสือปกดำของสังคมไทย อย่างน้อยก็เป็นต้นแบบให้พ่อแม่เด็กพิเศษคนต่อๆ ไปได้ศึกษา ได้เตรียมตัว ได้เห็นแนวทาง และสามารถที่จะจัดการศึกษาให้แก่ลูกที่พิการได้ ประเด็นสำคัญก็คือ การช่วยเหลือคนพิการ (เด็กพิเศษ) ให้สามารถที่จะดำรงชีพอยู่ในโลกนี้ได้ สังคมได้ให้โอกาสกับเด็กพิการ ได้มีพื้นที่ให้ยืน มีที่นั่ง มีที่นอน และมีอาชีพให้อยู่ในสังคมได้

ฉากต่อไปของน้องวุฒิ เมื่อได้เข้าไปศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จะต้องเตรียมตัวกันอย่างไร โดยเฉพาะวิชาการศึกษาทั่วไป ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

โดยปกติแล้ว การศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้ปริญญาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยนั้น มีกล่องความรู้อยู่ชุดหนึ่ง นักศึกษาทุกคนจะต้องเข้าไปอยู่ในกล่องความรู้ (มหาวิทยาลัย) แล้วเรียนรู้ความรู้จากกล่องความรู้นั้นให้ได้ แล้วจึงถือว่าได้เรียนจบและได้ใบปริญญา

แต่สำหรับเด็กพิเศษ (คนพิการ) แล้ว ตัวเด็กที่พิการเป็นกล่องความรู้ใหม่ของสังคมเสียเอง คนอื่นๆ ที่อยู่ในสังคม (ที่ไม่ได้พิการ) จะต้องศึกษาว่า เด็กพิเศษที่พิการนั้น เรียนรู้และพัฒนาอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างไร อะไรที่สังคมจะต้องช่วย อะไรที่สังคมเปิดโอกาสให้คนพิการทำได้ ความรู้เกี่ยวกับคนพิการที่สังคมควรจะรู้ สำหรับการตีกลองของน้องวุฒิ สามารถที่จะประกอบอาชีพนักดนตรีได้ ซึ่งน้องวุฒิได้ขึ้นเวทีแสดงมามากแล้ว แต่เมื่อเข้าเรียนในวิทยาลัยดนตรีก็ต้องจัดวางให้เหมาะสม มีหลักฐานที่สามารถติดตามดูน้องวุฒิเด็กดาวน์ซินโดรม (ตีกลอง) ได้ ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 3 ล้านวิว

การเรียนร่วมกับเด็กปกติจะช่วยให้น้องวุฒิเด็กดาวน์พัฒนาได้เร็วขึ้น เพราะเด็กเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ โดยเลียนแบบจากคนปกติ องค์กรที่เกี่ยวกับทุนการศึกษา การวิจัยพัฒนาการคนพิการ น่าจะให้น้องวุฒิเป็นเนื้อหาที่สำคัญในการวิจัย เพื่อให้นักวิจัยได้ค้นหาองค์ความรู้ที่จะดูแลคนพิการต่อไป

แม้พลังเสียงดนตรีจะช่วยพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของน้องวุฒิผ่านการเล่นดนตรี (ตีกลอง) ได้อย่างอัศจรรย์แล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังก็คือ พลังความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นพิเศษ ลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรม ความรักของพ่อแม่สามารถขับเคลื่อนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าอัศจรรย์กว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image