เดินไปในเงาฝัน : เสวยราชสมบัติกษัตรา : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ต้องยอมรับว่าหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีอยู่เพียงจำกัด เนื่องเพราะข้อมูลที่เกี่ยวกับพระราชพิธีโบราณกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ
อีกทั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2493 หรือเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้วในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9
ดังนั้นการที่ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี และ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เสวยราชสมบัติกษัตรา” เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา จึงนับเป็นคุณูปการอย่างอเนกอนันต์

ทั้งยังมี อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ มาช่วยเขียนคำนำเสนอด้วย ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากขึ้น เพราะเบื้องต้น “อาจารย์ธงทอง” บอกว่าหนังสือเล่มนี้ประมวลข้อมูลสำคัญที่น่ารู้ และเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยตรงมาไว้ด้วยกันอย่างครบถ้วน

ตั้งแต่ความหมายและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยอธิบายถึงที่มาของพระราชพิธีดังกล่าว จนถึงความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชพิธีอินทราภิเษก และพระราชพิธีปราบดาภิเษก ความสำคัญที่สุดของเนื้อหาส่วนนี้คือการย้ำบอกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นสัญญาณที่แสดงถึงการเปลี่ยนสถานะ และหน้าที่ทางสังคมที่มีอยู่เดิมของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เพื่อเข้าสู่ฐานะความเป็นพระผู้เป็นเจ้าโดยสมบูรณ์

ทั้งยังผสมผสานความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเข้าไว้ด้วยกันกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์อย่างกลมกลืน ดังปรากฏในขั้นตอนต่างๆ ของพระราชพิธี เช่น การสรงพระมุรธาภิเษก และการเฉลิมพระปรมาภิไธยดังที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ

Advertisement

นอกจากนั้น “อาจารย์ธงทอง” ยังบอกว่าสำหรับเนื้อหาส่วนที่สองว่าด้วยรายละเอียดของงานพระราชพิธี ด้วยการแบ่งเป็นลำดับขั้นตอนก่อนหลัง ตั้งแต่ขั้นตอนในการเตรียมการ ได้แก่ การพลีกรรมตักน้ำตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อนำมาเสกทำน้ำอภิเษก

จารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพ และแกะตราพระราชลัญจกร จากนั้นจึงถึงพระราชพิธีส่วนสำคัญคือการสรงน้ำพระมุรธาภิเษก การถวายน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องบรมราชอิสริยยศราชูปโภค ไปจนถึงการเสด็จออกมหาสมาคม และการเฉลิมพระราชมณเฑียร และต่อท้ายด้วยพระราชพิธี หรืองานสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทั้งทางสถลมารค และชลมารค

ขณะที่ส่วนที่สามจะเกี่ยวข้องกับรายละอียด และความเป็นมาของบรรดาเครื่องพระบรมราชอิสริยยศราชูปโภค ตลอดจนสิ่งของสำคัญต่างๆ ที่ใช้ในงานพระราชพิธี เช่น พระมหาสังข์องค์ต่างๆ พระแสงต่างองค์ต่างชื่อ รวมทั้งอาคารสถาปัตยกรรมที่ใช้ประกอบพระราชพิธี ได้แก่ พระที่นั่งองค์ต่างๆ ภายในพระบรมมหาราชวัง

ซึ่งรายละเอียดล้วนมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้น

ขณะที่ “ดร.นนทพร” กล่าวในคำนำผู้เขียนบอกว่าการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการปฏิบัติต่อเนื่องกันมา แม้จะเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองมาหลายสมัย เนื่องจากเป็นพระราชพิธีที่สำคัญ ไม่เฉพาะการปรับเปลี่ยนสถานภาพของผู้ปกครองให้เป็นดั่งองค์สมมุติเทพเท่านั้น

หากยังเป็นการประกาศให้อาณาประชาราษฎรและแว่นแคว้นต่างๆ รับรู้ถึงพระบารมีของผู้ปกครองพระองค์ใหม่ด้วยเช่นกัน ความสำคัญดังกล่าวเห็นได้จากปี พ.ศ.2326 หรือเพียงปีเดียวหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชานี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้มีการรวบรวมแบบแผนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กระจัดกระจายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พร้อมทั้งให้จัดสร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องประกอบพระราชพิธีขึ้นใหม่ ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีต่อผู้ปกครองเสมอมา

นอกจากนั้น “ผศ.ดร.พัสวีสิริ” ยังกล่าวถึงเรื่องการศึกษาระเบียบแบบแผนของพระราชพิธีในคำนำผู้เขียนเช่นกันว่าระเบียบแบบแผนของพระราชพีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางประการ ซึ่งทำให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละรัชกาลมีความแตกต่างกันไปบ้างตามกาลสมัย และเหตุอันควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประกอบพระราชพิธีที่มีเป็นจำนวนมาก และเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งอุดมมงคล เพื่อแสดงถึงพระราชอิสริยยศแห่งองค์พระมหากษัตริย์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ละรัชกาล

ทั้งยังเป็นสิ่งที่น้อยคนนักจะรู้

ทั้งๆ ที่ความหมายสำคัญอย่างยิ่งในพระราชพิธี ล้วนเป็นมรดกอันมีค่า และสำคัญของแผ่นดินที่แสดงถึงภูมิปัญญา ตลอดจนฝีมืออันประณีตวิจิตรบรรจงของงานช่างในราชสำนักสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ ขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญของพระราชพีบรมราชาภิเษกก็เป็นราชประเพณีที่ปฏิบัติเป็นการเฉพาะภายในพระบรมมหาราชวังอันเป็นพื้นที่รโหฐาน ซึ่งยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงการศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ และความสำคัญของสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวัง

ยิ่งเฉพาะอย่างยิ่งภายในหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นมณฑลพระราชพิธี อันเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

พูดง่ายว่าต้องหาซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน

แล้วคุณจะเข้าใจพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้มากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image