หวยล็อก เส้นสาย ไม่โปร่งใส? เปิดปมคาใจ ‘เวนิส เบียนนาเล่’

เขย่าวงการศิลปะร่วมสมัยที่ดูเหมือนเงียบสงบตลอดมา ทว่า กลับมีเรื่องราวลับลมคมในให้เหล่าอาร์ติสต์ตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์กันขนาดหนัก เมื่อผลการพิจารณาคัดเลือกทีมภัณฑารักษ์และศิลปินสำหรับร่วมเวทีระดับโลกอย่าง “เวนิส เบียนนาเล่” ครั้งที่ 58 ณ นครเวนิส อิตาลี “ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก” แม้ว่าจะมีผู้ส่ง “ชิงมง” เพียงทีมเดียว ทำเอาศิลปินรุ่นใหญ่หลายรายส่ายหน้าว่า “ไม่โอเค” ทั้งในแง่ผลการตัดสิน รวมถึงกระบวนการที่น่าเคลือบแคลง กระทั่ง “อภิศักดิ์ สนจด” ภัณฑารักษ์ซึ่งนับเป็นคนดังบนถนนสายนี้ชูป้ายประท้วงกลางกรุงดังกล่าวอันนับเป็นเมืองหลวงด้านศิลปะของโลก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำจดหมายอย่างเป็นทางการขอคำชี้แจงจาก “สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)” กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อสื่อมวลชนจ่อไมค์สอบถาม ได้คำตอบสั้นๆ ว่า “จบแล้ว” ไม่มีอะไรชีแจง จึงยิ่งสร้างสภาวะอันคลุมเครือมากขึ้นตามลำดับ คลื่นใต้น้ำจึงทยอยกระฉอกผ่านโลกโซเชียลส่งเสียงครืนๆ จนสุดท้าย สศร.ออกมาชี้แจงเป็นข้อๆ ว่าเหตุที่ทีมดังกล่าวไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะสิ่งที่นำเสนอมานั้น “ไม่ตอบโจทย์” ของทางเวนิส เบียนนาเล่ พร้อมเปิดตัวทีมงานที่ได้รับการ “เชิญ” ไปโชว์ศักยภาพ “ความเป็นไทย” ให้โลกตะลึง

เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ แม้ไม่ได้เป็นข่าวอย่างครึกโครม แต่เป็นที่ทราบกันดีในวงการ ว่าถูก “ตั้งคำถาม” มานานนมเน ตั้งแต่การเปิดรับสมัคร “อย่างเงียบๆ” การผ่านหรือไม่ผ่านด้วยเหตุผลที่ศิลปินหลายรายยัง “คาใจ” ลุกลามไปจนถึงประเด็น “เส้นสาย” ที่มีรายละเอียดชวนขบคิดอย่างยิ่ง

โวย’ไม่มีใครผ่าน’แต่พาคนดูงานอิตาลี คาใจปม’สร้างความเสียหายต่อชาติ’

Advertisement

ย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่ทำเอาไฟลุกโชนในวงการ 31 มกราคมที่ผ่านมา อภิศักดิ์ สนจด ภัณฑารักษ์ ดีกรีอดีต ผอ.หอศิลป์ตาดู ผู้ส่งผลงานเข้าชิง เปิดเผยถึงความคลางแคลงใจใน “มาตรฐาน” และ “กระบวนการ” ของการคัดสรรภัณฑารักษ์เพื่อจัดแสดงงานเทศกาลศิลปะนานาชาติ “เวนิส เบียนนาเล่” 2562 โดยระบุว่า มีการเปิดรับสมัครแบบเงียบๆ โดยมีเพียงทีมงานของตนเพียงทีมงานเดียวที่นำเสนอผลงาน กระทั่งผ่านไปถึงขั้นตอนการเข้าพูดคุยกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ และอดีตคณบดีมหาวิทยาลัยชื่อดัง เป็นต้น สุดท้ายได้ทราบผลว่า “ไม่มีผู้ผ่านการคัดสรร” ตนและทีมงานมีความสงสัยบางประการในคำตัดสิน จึงทำจดหมายเพื่อรับทราบคำชี้แจงเพื่อความกระจ่าง ซึ่งทาง สศร.ได้อธิบายเป็นข้อๆ หนึ่งในนั้นคือคำอธิบายที่ว่า

“ผลงานของศิลปินบางชิ้นไม่อาจเผยแพร่และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติ บ้านเมือง หากมีผู้ตีความผิด”

ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความไม่ชัดเจนว่าเป็นผลงานชิ้นใด ของศิลปินรายใด เนื่องจากไม่มีการระบุรายละเอียด

และเมื่อเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณภาครัฐอันมาจากภาษีประชาชน อภิศักดิ์ จึงตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า หน่วยงานดังกล่าว นำคณะทำงานเพื่อเตรียมตัวจัดแสดงนิทรรศการในเทศกาลดังกล่าว โดยไม่มีประกาศใดๆ หลังจากประกาศไม่มีผู้ใดได้รับการคัดสรร ยิ่งสร้างความสงสัยในธรรมาภิบาลของหน่วยงานและตัวบุคคล

“ในการบริหารจัดการ กิจกรรมอันเป็นที่สนใจของประชาชน และศิลปินหลากสาขาดังกล่าว จึงควรที่ได้รับการติดตาม ตรวจสอบ ถึงรายละเอียด ความถูกต้อง และมาตรฐานในการคิดและการปฏิบัติคืออะไร ตลอดจนความไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เสนอโครงการ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำซาก อันจะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับคนสร้างสรรค์ รุ่นใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไป”

เรื่องราวดังกล่าว กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของแวดวงศิลปินร่วมสมัยทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว ครั้นเมื่อนักข่าวพบผู้บริหาร สศร. ในงานเปิดตัวนิทรรศการศิลปะงานหนึ่ง เมื่อสอบถามถึงประเด็นนี้ ได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า “จบแล้ว” และไม่มีอะไรที่จะชี้แจง

 

อภิศักดิ์ สนจด ภัณฑารักษ์ ดีกรีอดีต ผอ.หอศิลป์ตาดู ถือป้ายประท้วงกลางเวนิส


คัดแล้วคัดอีก แต่’ยังไม่ใช่’ สุดท้ายใช้วิธี’เชิญ’

แม้ไม่มีการโต้กลับให้เกิดวิวาทะ ทว่า คำถามในใจคน ไม่อาจจบลงอย่างง่ายดาย

4 เมษายน คณะกรรมการตัดสินฯ ชี้แจงประเด็นดังกล่าวโดยมีสื่อมวลชนรับฟัง 1 คน ซึ่งเป็นผู้ “ได้รับเชิญ” ส่วนนักข่าวอีกราย ได้ทราบด้วยความบังเอิญ จึงขอเข้าร่วมด้วย รวมมีสื่อ 2 ราย

รศ.ดร.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ ตัวแทนคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า คณะกรรมการได้ทำการพิจารณาตามโจทย์ซึ่งปีนี้ค่อนข้างรัดกุมมาก โดยมีการกำหนดข้อบังคับ 5 ประเด็นสำคัญซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น ภายใต้หัวข้อ “May You Live in Interesting Times” โดยต้องการให้พูดถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ซึ่งมีมากมาย ไม่ว่าจะประเด็นการเมืองหรือกรณีอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก พบว่ามีทีมภัณฑารักษ์เสนอเข้ามาเพียง 1 โครงการ แต่ “ไม่ตอบโจทย์” ไม่เข้าเกณฑ์ที่เวนิส เบียนนาเล่ กำหนดมา ไม่ใช่งานในแนวคิด “ใหม่ๆ” อีกทั้ง “ความเชื่อมต่อ” ระหว่างผลงานของศิลปินแต่ละท่าน ไม่ชัดเจน และมองไม่เห็นว่าจะ “สื่อสาร” กับผู้ชมได้อย่างไร

“ทางเวนิส ไม่ต้องการ ‘ออฟเจ็กต์มาวางๆ’ เหมือนทุกปีที่เกิดขึ้น แต่อยากได้สิ่งใหม่ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างชิ้นงานซึ่งทีมภัณฑารักษ์นำเสนอศิลปินมา 3 ท่าน ก็มีความเชื่อมต่อระหว่างงานไม่ชัดเจน มองไม่เห็นภาพว่าจะมีวิธีการสื่อสารกับผู้ชมอย่างไร”

นอกจากนี้ ยังระบุว่า เมื่อไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก จึงต้องใช้วิธี “เลือกเอง” หรือ “เชิญ” ภัณฑารักษ์ และศิลปินเพื่อจัดงานตามธีมที่ทางเทศกาลฯกำหนดไว้ เพื่อให้พร้อมและสามารถจัดงานได้ทันที กล่าวโดยสรุปว่า ถ้าเปิดให้มีผู้ส่งมาคัดเลือกอีกครั้ง โดยใช้เวลา 3 เดือน ย่อมไม่ทันการณ์อย่างแน่นอน พร้อมเน้นย้ำว่า นี่คืองานสำคัญที่จะเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยเผยแพร่ความดีงาม อัตลักษณ์ ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย

สศร. เปิดตัวภัณฑารักษ์และทีมศิลปินที่ได้รับเชิญร่วมเทศกาลเวนิส เบียนนาเล่ครั้งล่าสุด 9 เมษายน 2562

ศิลปินคาใจ ร่ายบทความโต้  ยัน’ตอบโจทย์’ ขยี้ อย่าตีความ’ตื้นเขิน’

หลังคำชี้แจงจาก สศร.ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ ศิลปินที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว พากันเขียนบทความชี้แจงประเด็นต่างๆ อย่างละเอียด อาทิ วิทยา จันมา ซึ่งมองประเด็น “ไม่ตอบโจทย์” ตามที่ สศร.ระบุมานั้น ว่าแท้จริงแล้ว โจทย์ที่ Ralph Rugoff ภัณฑารักษ์เทศกาลกำหนดมานั้น เป็นเพียงแนวทาง ไม่ใช่ “กรอบ” หรือข้อบังคับ นอกจากนี้ ผลงานที่ศิลปินนำเสนอไปก็ไม่ได้มีแนวคิด “เชิงลบ” ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยแต่อย่างใด ส่วนที่ สศร.บอกว่าทางเทศกาลฯไม่ต้องการให้ “เอาออฟเจ็กต์มาวางๆ เหมือนทุกปี” นั้น วิทยาโต้กลับว่า

“ดูเป็นการตัดสินใจโดยที่ยังไม่เข้าใจในผลงานที่ทีมงานเสนอไป โดยเฉพาะผลงานของผม ที่นำเสนอเป็น interactive installation (ผลงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม) ซึ่งใช้ศาสตร์ขององค์ความรู้หลายแขนงประกอบกัน”

ศิลปินท่านนี้ ยังยืนยันว่ายอมรับผลตัดสิน แต่การอธิบายประเด็นต่างๆ ของคณะกรรมการ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงเกณฑ์การคัดเลือก ว่าภัณฑารักษ์ ศิลปิน และผลงานที่สุดท้าย “ตัดสินใจเลือกกันเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ” ตรงตามจุดประสงค์ และโจทย์ที่ทางเทศกาลฯอยากได้อย่างไร?

ร่องรอย…เวลาเสมือน โดย วิทยา จันมา

สอดคล้องกับความเห็นของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปินชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจาก “เส้นผม” ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ สศร.ระบุว่าผลงานของศิลปินไม่ตรงโจทย์ อีกทั้งยังมีข้อสงสัยต่อคำว่า “สิ่งใหม่ๆ” ในงานศิลปะ โดยตั้งคำถามว่า คณะกรรมการวัดจากอะไร เพราะตนมั่นใจว่าสิ่งที่นำเสนอไป มีเนื้อหา รูปแบบ และเทคนิคที่ไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน แต่หากตีความอย่าง “ตื้นเขิน” จะทำให้มองเห็นเพียงประเด็น “เพศสภาพ” ศิลปินท่านนี้ยังวิเคราะห์ด้วยว่า กรรมการยังไม่ได้พิจารณาผลงานอย่างรอบด้าน และ “หมกมุ่น” กับการชี้วัดความเก่า-ใหม่ของงานศิลปะ จนทำให้ละเลยประเด็น “เนื้อหา” ของงาน

“ผลงานของดิฉันมีความชัดเจน เป็นการตั้งคำถามกลับไปยังผู้ชมต่อการมีอยู่ของอาชีพพนักงานบริการในสังคมไทยในฐานะที่เธอเหล่านั้นเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา งานจึงทำหน้าที่เหมือนกระบอกเสียงที่สะท้อนข้อเท็จจริง และความจริงไปพร้อมๆ กัน มั่นใจว่าผลงานศิลปะภายใต้แนวคิดนี้ มีความเป็นสากล และมีศักดิ์ศรีเทียบเท่างานศิลปะจากนานาประเทศ…….

ในฐานะศิลปินที่มีความเชื่อว่าผลงานศิลปะต้องเป็นพยานวัตถุที่สะท้อนความจริง ไปจนถึงเปิดเผยความจริงอย่างกล้าหาญและจริงใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ RalphRugoff ได้อธิบายในบทความของงานเวนิส เบียนนาเล่”

แบบร่างผลงานของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ Good Girls Go To Heaven, Bad Girls Go Everywhere No.2, การจัดวางสื่อผสม, ขนาดผันแปรตามพื้นที่

ที่น่าสนใจคือ ศิลปินทั้ง 2 ราย รวมถึงบุคคลในแวดวงศิลปะร่วมสมัยจำนวนมาก ต่างกล่าวตรงกันว่าประเด็นสำคัญในสถานการณ์นี้ คือ ความสงสัยในกระบวนการคัดเลือก ซึ่งอย่างน้อยที่สุด สศร.ควรออกมาให้ความกระจ่าง

– No More Sewing Machine No.2, การจัดวางสื่อผสม, ขนาดผันแปรตามพื้นที่ ตัวอย่างที่ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์นำเสนอ ด้วย ‘เส้นผม’ จากกลุ่มผู้หญิงไทยที่มีอาชีพค้าประเวณี โดยมีความคาดหวังที่จะให้ผู้ชมมีความเห็นอกเห็นใจพวกเธอในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่ใช้แนวคิดจากสังคมมาตัดสินสิ่งที่พวกเธอเป็น

มา (อีก) แล้ว’วิถีไทย วิถีพุทธ ชุดประวัติศาสตร์’

ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามที่ล่องลอยในอากาศพร้อมๆ PM2.5 ในที่สุด 9 เมษายน สศร.จัดแถลงข่าวงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ในปี 2562 อย่างเป็นทางการ เปิดตัวผู้ได้รับเชิญให้ร่วมงานอันทรงเกียรติครั้งนี้ ได้แก่ ธวัชชัย สมคง รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ พร้อมด้วยศิลปินอีก 3 ราย คือ ปัญญา วิจินธนสาร, กฤช งามสม และสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์

ม้ากัณฐกะ สัญลักษณ์ของการก้าวข้ามโลกียะสู่โลกุตตระผลงาน กฤช งามสม

ในงานแถลงข่าว มีการนำเสนอคอนเซ็ปต์ในประเด็น โลกยังคงหมุนไป (The Revolving World) เนื่องจากคนไทยอยู่ในวิถีพุทธ ทั้งจารีต ขนบธรรมเนียม โดยคอนเซ็ปต์ของงานทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงทั้งไทยและตะวันตก โดยให้ความสำคัญกับ “เรื่องเล่า ความจริง ประวัติศาสตร์” ที่อยู่คู่โลกมาอย่างยาวนานไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ถูกเล่าอยู่ในมิติอื่นๆ ด้วย โดยภัณฑารักษ์ท่านนี้ ระบุในตอนหนึ่งว่า

“เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ไปประกาศแนวคิด และประกาศถึงความเป็นไทย”

สำหรับตัวอย่างผลงาน ถ้าให้กล่าวโดยสรุปง่ายๆ ก็คือการนำเสนอสิ่งดีงามของความเป็นไทยตามนิยามของภาครัฐและประวัติศาสตร์กระแสหลัก เห็นได้ชัดจากงานของ ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินรุ่นใหญ่ ซึ่งนำความประณีตงดงามของจิตรกรรมบนผนังหอไตร วัดบางแคใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม มาโชว์ให้ชาวโลกประจักษ์แก่สายตา

จากแนวคิดและผลงานเหล่านี้ ก็ชวนให้เกิดคำถามเพิ่มเติมอีกว่า สุดท้ายแล้ว วงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ยังหนีไปไม่พ้นความเป็นไทยในนิยามแบบเดิมๆ หรือไม่? ศิลปินที่ถ่ายทอดความเป็นจริงในอีกด้านหนึ่งของซอกหลืบในสังคมไทย ไม่สามารถเข้าร่วมนำเสนอในเทศกาลนานาชาติใช่หรือไม่? และสุดท้าย งานศิลปะทำหน้าที่อะไรกันแน่ ?

ผลงานของ “ปัญญา วิจินธนสาร” หนึ่งในศิลปินที่ได้ “รับเชิญ” ร่วมเทศกาลเวนิส เบียนนาเล่ เผยความงดงามของจิตรกรรมฝาผนัง ตามนิยามความเป็นไทยที่คุ้นเคย
‘ตู้ประวัติศาสตร์’ โดย กฤช งามสม ผนวกทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ผสมไปกับวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกตะวันตก เปรียบแทนบริบทประสานทางวัฒนธรรมอันเฟื่องฟูในสมัยนั้น
สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ สร้างผลงานแนวนามธรรมจากโจทย์ เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์และความจริง นำเสนองานศิลปะที่เป็นเสมือนภาพ 2ด้าน ระหว่างภาพจริงที่ถูกวาดขึ้นกับภาพที่ถูกก็อปปี้เสมือนเป็นรูปที่อยู่คู่ขนานกัน ประกอบด้วยเรื่องราวของ แม่นาคพระโขนง และโศกนาฏกรรมยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ย้อนอดีต’หวยล็อก’ซ้ำ คำถามเดิมที่ยังไม่มีคำตอบ ?

คำถามมากมายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ คำถามใหม่ สถานการณ์ใหม่ หากแต่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้อนหลังไปเมื่อ พ.ศ.2559 นวภู แซ่ตั้ง ตีแผ่ประเด็นนี้ผ่านบทความ “ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘เวนิส เบียนนาเล่’ กับคำถามถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ” เผยแพร่ในเว็บไซต์ “ประชาไท” โดยยกเหตุการณ์ที่ ทิพย์ แซ่ตั้ง ทายาทศิลปินดัง จ่าง แซ่ตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกศิลปินไปร่วมเทศกาลเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 56 ซึ่งแม้ใกล้ถึงเทศกาลแต่ไม่มีความเคลื่อนไหวจาก สศร. กระทั่งปรากฏภาพของ กมล ทัศนาญชลี ถ่ายคู่กับผลงานศิลปะชิ้นใหม่ พร้อมคำบรรยายจากเฟซบุ๊กของศิลปิน วัฒนโชติ ตุงคะเดชะ ว่า “เสร็จสมบูรณ์ Painting ขนาด 2.00×7.00 เมตร สำหรับไปแสดงที่ Venice Biennale ที่ประเทศ Italy ในอีก 2 เดือนข้างหน้า”

นวภู ระบุว่า ประเด็นนี้คงไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครได้ไปเทศกาลฯ แต่อยู่ที่กระบวนการการคัดสรรศิลปิน ทิพย์ไม่ได้วิจารณ์ผลงานของกมล แต่ตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกศิลปินที่จะไปแสดงผลงานในเวนิส เบียนนาเล่ ซึ่งมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เมื่อ สศร.ยังไม่มีการแถลงข่าวหรือแม้กระทั่งการประกาศเกี่ยวกับการคัดเลือก แต่มีศิลปินบางคนที่กำลังจะได้ไปแสดงผลงานที่เวนิส เบียนนาเล่ ในนามตัวแทนของประเทศไทยแล้ว นี่ดูจะเป็นเรื่องที่น่า

กังขาอยู่ไม่น้อยคำถามคือ กมล กลายเป็น “ผู้ถูกเลือก” ได้อย่างไร ?

“อาจจะดูเป็นเรื่องที่ชินเสียแล้ว สำหรับผู้เกี่ยวข้องในวงการศิลปะที่ในการแข่งขันหรือการประกวดเกี่ยวกับศิลปะ โดยเฉพาะในระดับประเทศ จะมีหวยล็อกเกิดขึ้น ….. เวนิส เบียนนาเล่ สมควรเป็นเวทีที่ศิลปินทุกคนมีโอกาสจะพัฒนางานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และมีโอกาสได้รับคัดเลือกไปแสดงในมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างเท่าเทียมกันมากกว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการนำใครก็ได้ที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือมีเส้นสายไปแสดงผลงานมิใช่หรือ” นวภูระบุ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิวาทะและประเด็นคาใจ ที่ศิลปินไทยตั้งคำถาม แต่ดูเหมือนคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมยังไม่เคยถูกส่งเสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image