จาก ‘ล้อปมด้อย’ สู่ การยิงตัว ชนวนเวลาที่รอการปลด

เหมือนเป็นประเด็นเล็กๆ ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก

กรณีของข่าวหน้า 1 ซึ่งชายพิการถูกล้อปมด้อย ที่สุดนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในปัจจุบัน ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า กลายเป็นสังคมบกพร่องไปตั้งแต่เมื่อไหร่

การล้อชื่อพ่อชื่อแม่ การตั้งฉายา หรือแม้กระทั่งในภาพยนตร์ ละครทีวี ที่นำเอาบุคลิกของคนจีน คนอีสาน คนข้ามเพศ ตลอดจนความบกพร่องของคนมาเป็นจุดสร้างเสียงหัวเราะ ส่วนหนึ่งอาจมองกันว่าเป็นเรื่องล้อกันเล่น

Advertisement

ทว่า ใครจะทราบว่าสิ่งนี้อาจเป็นปัญหาที่ตกค้างเป็นตะกอนในใจ นานวันเข้าที่สุดอาจระเบิดกลายเป็นเรื่องเศร้าก็เป็นได้

เช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมของสามดอกเตอร์ ซึ่งที่สุดนำไปสู่การยิงตัวนั้น ล้วนสะท้อนถึงปมปัญหาภายในจิตใจ

เพราะการที่คนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมามีบุคลิกภาพอย่างไรนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ สภาพแวดล้อม และการเรียนรู้ทักษะของการแก้ปัญหาตั้งแต่เด็ก

Advertisement

พ่อแม่ต้องใส่ใจในทุกๆ เรื่อง ต้องเป็นคนช่างสังเกต เช่น ถ้าลูกไม่อยากไปโรงเรียน เป็นเพราะอะไร ช่วยกันแก้ปัญหา อธิบายด้วยเหตุผล ให้เด็กรู้จักการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อว่าเมื่อมีสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจจะสามารถจัดการกับสิ่งที่เผชิญตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม

กรณีการล้อปมด้อย แม้ว่าจะยังไม่สามารถด่วนตัดสินว่าที่มาของเหตุที่แท้มาจากอะไร แต่น่าจะสะท้อนอะไรบางอย่างกับสิ่งที่หลายคนมองข้าม และอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก เป็นการแซวกันเล่นๆ สนุกๆ

เราได้บทเรียนอะไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว?

พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ผู้ใหญ่ โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า กรณีนี้ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ ชายพิการอาจจะไม่ได้ใช้การโต้ตอบ (ด้วยวาจา) แบบนี้ทุกครั้ง

คนที่ผ่านชีวิตมามาก มีครอบครัว มีลูก แม้ว่าจะถูกล้อถูกด่ามากๆ ย่อมโกรธ แต่โกรธอย่างไรเพื่อรักษาชีวิตตัวเราและไม่ให้เป็นเรื่อง ก็ต้องพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น หรือเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์นั้นเพราะเราต้องรักตัวเอง มีคนที่รักเรามากมายไปหมด คนที่มาล้อมาแกล้งเรา คนเหล่านี้ไม่ได้รักเรา เราไม่ต้องแคร์ เรายังมีคนที่รักเราอีกมากมาย

ขณะที่สังคมรอบข้างก็ต้องประเมินและช่วยกันแก้ปัญหา รวมทั้งการตั้งคำถามว่าผู้กระทำมีปัญหา มีปมอะไรหรือเปล่า เราต้องช่วยกัน ซึ่งคนที่เราคิดว่าเขามีปม เขาอาจจะไม่เป็นปมก็ได้


สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ การตอบโต้ด้วยอารมณ์มันเกิดผลเสียมากกว่าเกิดประโยชน์ เราอาจจะได้ความสะใจ แต่ผลกลับเป็นอันตรายทั้งกับตัวเราและคนที่กระทำ

พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว

 

ที่มาของปมในใจ

ประเด็นของการล้อปมด้อยนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุด้วย

พ.ญ.ภัทรวรรณบอกและอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นวัยเด็กจะไม่ค่อยมีปมด้อย ส่วนหนึ่งเพราะเด็กมีความผูกพันกับโรงเรียนน้อย และมีพ่อแม่พี่น้องตลอดจนญาติๆ ให้ความเข้าใจ และอาจจะชื่นชมด้วยซ้ำ เช่น แม้ว่าจะตัวเล็กแต่ก็คล่องแคล่ว หรือเด็กพิการแม้จะไม่มีแขนแต่ก็ยังสามารถใช้ขาทำหน้าที่แทนได้ทุกอย่าง

แต่พอเป็นวัยรุ่น เด็กใช้เวลาอยู่โรงเรียนนานขึ้น อาจจะเกิดการเปรียบเทียบกับเพื่อน

เพราะวัยรุ่นต้องการมีสิ่งที่เหมือนเพื่อน ต้องการการยอมรับจากเพื่อน

จากที่ไม่เคยมองเรื่องรูปร่างหน้าตาก็เริ่มคิดเริ่มตั้งคำถาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการที่ทุกคนต้องมีการพัฒนาด้านร่างกายและบุคลิกภาพ การที่เราจะไม่มีปมด้อยเราป้องกันได้จากสิ่งที่เราเป็น ต้องเริ่มต้นสร้างตั้งแต่เด็กๆ

พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิดสนิทสนม จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ แม้จะพิการทางการมองเห็นก็มีประสาทการได้ยินดีกว่าคนอื่น เมื่อสิ่งนี้มีในตัวเองจะกลายเป็นความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจ เป็นวัคซีนอย่างหนึ่งในใจเขา

นั่นเป็นประการแรก ประการต่อมาคือ ต้องส่งเสริมให้ลูกมีความถนัด พาไปฝึกความถนัดเพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีสิ่งพิเศษทดแทนสิ่งที่ขาด หรือแม้จะไม่มีอะไรเด่น แต่การที่รู้สึกว่าตนเองเป็นที่รักของพ่อแม่ ก็จะช่วยให้ไม่รู้สึกมีปมด้อย

ขณะเดียวกันควรหากิจกรรมให้ทำ เพื่อให้มีเวทีได้แสดงออก มีความเชื่อมั่น เกิดความภาคภูมิใจ เพราะถ้าเขามีทักษะ มีความสามารถพิเศษอื่นๆ เพิ่ม เข้าใจตัวเองมากขึ้น จะทำให้เขาผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดจากการล้อเลียนไปได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ พ่อแม่ก็ต้องมีความภาคภูมิในตัวเอง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก

ขณะที่สังคมก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องมองว่าเรื่องการล้อปมด้อยเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะละเลย

ยกตัวอย่างเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน คุณหมอภัทรวรรณบอกว่า เป็นไปได้ว่าเด็กอาจจะถูกล้อ ควรถามหาเหตุผลที่ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกแกล้งเพราะอะไร แล้วเราจะช่วยกันแก้ปัญหา เช่น ถ้าพูดเสียงเบาเพื่อนจึงล้อ ก็ให้พูดเสียงดังฉะฉาน เป็นการปรับบุคลิกให้ไม่ถูกแกล้ง ให้สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีอัธยาศัยดี ทำให้มีเพื่อนไปเป็นกลุ่มจะลดการถูกล้อ ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เป็นการเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องอธิบายด้วยเหตุผลว่า การโต้ตอบกลับไปอย่างรุนแรง ได้แค่ความสะใจ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้าม การไม่โต้ตอบแบบรุนแรงก็ไม่ใช่ว่าเรากลัวหรือขี้ขลาด แต่เป็นการเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นที่สร้างสรรค์ มากกว่าการกระทำที่รุนแรง

ฉะนั้น บางคนทำไมโตมาก็อ้วนก็พิการแต่ไม่มีปัญหา เพราะเขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา

 

ทำอย่างไรเมื่อผู้ใหญ่มีปม

ประเด็นสำคัญคือ การรู้จักตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด และการกระทำของตนเอง

ถ้าเราแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการพูดคุย คือการทำจิตบำบัดให้รู้ที่มาที่ไปของปมปัญหา

“ปัจจุบันการพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ในเมื่อเรายังต้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี สภาพจิตเราก็ต้องตรวจเหมือนกันŽ”

ทั้งนี้ เราสามารถประเมินสภาพจิตตัวเองคร่าวๆ ก่อนได้ เช่น ถ้าเราคุยกับคนรอบข้างแล้วความเครียดหาย ถือว่าเป็นความเครียดปกติ เป็นความคับข้องใจทั่วไป

แต่ถ้าทำแล้วไม่หาย แนะนำให้ลองไปทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระตามศาสนาที่เราศรัทธา ออกกำลังกายเพื่อให้ความเครียดลดลง จะช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้ดีขึ้น

แต่…ถ้าทำ 3 อย่างนี้แล้วไม่ดีขึ้น ให้ตระหนักว่าอาจมีความเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการแก้ไข ด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ บางกรณีถ้าเป็นโรคก็จะมียาช่วยเพื่อให้อาการเหล่านี้ทุเลาเบาบาง และมีการพูดคุยให้สามารถจัดการกับปัญหาได้

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็ต้องได้รับการแก้ไข เพราะทุกช่วงอายุจะต้องมีการพัฒนา จนเราเป็นผู้ใหญ่ก็ยังต้องมีการพัฒนา ฉะนั้น ถ้าเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาตลอดชีวิต เราก็จะแก้ไข ถ้าเรามองว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ เราจะหาทางออกให้กับปัญหานั้นได้

 

รู้ตัวแต่จัดการอารมณ์ไม่เป็น

ดังที่กล่าวมาเบื้องต้น การรู้จักตนเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา

เราต้องรู้ตัวก่อนว่าตนเองมีพื้นฐานทางอารมณ์อย่างไร ถ้ามีพื้นฐานทางอารมณ์รุนแรง มีแนวโน้มการแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกว่าคนอื่น คุณหมอภัทรวรรณแนะนำว่า 1.อย่าพกอาวุธ 2.อย่าพาตัวเองไปถึงจุดสูงสุดของปรอท

ตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ว่า เวลาอยู่กับนาย เอ อารมณ์จะขึ้นเร็วมาก ถ้าต้องเข้าประชุมร่วมกันต้องพยายามดึงอารมณ์ตัวเองกลับมาโดยเร็วที่สุด หรือใช้วิธีหาตัวช่วย อาจจะขอร้องเพื่อนว่าถ้ารู้สึกว่าเราอารมณ์ขึ้นให้ช่วยสะกิดเตือน

แต่ถ้าคนอื่นช่วยจัดการไม่ทัน อาจจะขออนุญาตไปห้องน้ำ ไปดื่มกาแฟก่อน เพื่อให้อารมณ์สงบลง เป็นการเตะถ่วงเวลาให้นาย เอ พูดจบลงก่อน ถ้าประเด็นนั้นไม่เกี่ยวกับเรา แต่ถ้าประเด็นนั้นเกี่ยวกับเรา อาจจะให้คนข้างๆ ช่วยพูดกับนาย เอ ให้ คือตัวเราเองต้องควบคุมตัวเองให้มากที่สุด ต้องสร้างความอดทนให้สูงขึ้นๆ

ถ้าเราคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ต้องพบแพทย์ เพราะอาจจะมีอะไรที่นอกเหนือจากการควบคุมอารมณ์

 

อาย-เครียด เส้นทางสู่ความรุนแรง

ความโกรธ ความเครียดก็เหมือนลูกโป่ง เมื่อสะสมมากๆ เข้าสักวันย่อมต้องแตก

จิตใจของคนเราก็เช่นกัน คุณหมอภัทรวรรณบอกว่า เป็นไปได้ที่เมื่อคนเราเครียด เก็บกดสะสม นานวันเข้าสามารถแปรเป็นความป่วยทางจิตได้

เพราะ บางทีการถูกแกล้งจนอาย รู้สึกโกรธแต่เก็บไว้ในใจ วันหนึ่งอาจจะแปรเป็นการกระทำรุนแรงกับคนที่มาทำร้ายก่อนก็ได้ เพราะตัวเองเคยตกเป็นเหยื่อ จึงอยากทำให้คนที่มาทำร้ายตกเป็นเหยื่อบ้าง เช่น ใช้ปืนยิงเพื่อความสะใจ

นั่นเป็นเพราะคนๆ หนึ่งถูกกดดันจนถึงที่สุดแล้ว และหาทางแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังกรณีของเด็กบางคนที่ไม่บอกผู้ปกครอง เลือกที่จะเก็บเอาไว้กับตนเอง และหาทางออกด้วยตัวเองอย่างไม่เหมาะสม ก็เกิดเป็นปัญหาสังคม

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การล้อปมด้อยจะนำไปสู่ปัญหาทางจิตเวชเสียทั้งหมด

การล้อปมด้อย เป็นหนึ่งในสาเหตุแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะโรคทางจิตเวชนั้นต้องประกอบด้วยไบโอไซโคโซเชียล (Biopsychosocial) พันธุกรรมเป็นส่วนประกอบหนึ่ง บวกกับการเกิดปัญหาในสังคม เช่น การล้อเลียน แต่ถ้าเด็กคนนี้มีภูมิต้านทานดี ก็ไม่ป่วย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคลิกมีแนวโน้มจะเป็น สังคมก็ไม่ได้ปกป้อง เขาก็มีโอกาสโดยการล้อเลียนเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคทางจิตเวช แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ฉะนั้น ประเด็นของการล้อปมด้อยห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะอาจนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม จึงต้องมีการฝึกฝนตั้งแต่เด็ก แม้จะโตขึ้นมาแล้วก็ยังสอนได้ คือให้ประสบการณ์เหล่านี้เป็นตัวสอน เขาก็จะค่อยๆ ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตเหล่านี้ไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image