แดดเดียว : ‘แจก’ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เห็นหน้าเห็นหนวดกันชัดเจนแล้ว 249 ส.ส.เขต และ 149 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากจำนวนเต็ม 250 และ 150 รวมเป็น 500 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

กกต.ประกาศรับรองผล ประกาศชื่อไปเมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคมที่ผ่านมา

หมายเหตุไว้นิดว่า กว่าจะประกาศชื่อ ส.ส.หรือรับรองผล เวลาผ่านไปเดือนกว่าๆ เรียกว่ารอกันหายอยากไปเลย

คนไทยจะจดจำการเลือกตั้งครั้งนี้ไปอีกนาน ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีอะไรพิเศษๆ เกิดขึ้นเยอะแยะ

Advertisement

และเหตุการณ์ที่เกิดหลังเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผลช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องไปรณรงค์กันให้สิ้นเปลืองเวลา

กลับมาที่ผลเลือกตั้ง ที่เรียกแขกได้คับคั่ง คือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะมีรายการ “แจก” ส.ส.ให้พรรคเล็ก รวม 13 พรรค

ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน มาจากพรรคการเมืองต่างๆ ถึง 26 พรรคด้วยกัน

Advertisement

ย้ำเลยว่า 26 พรรค

ส่วนพรรคใหญ่สุดได้ ส.ส.เขต 136 คน ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว

กฎกติกาและวิธีคำนวณ ส.ส.อย่างที่เกิดขึ้น ทำให้อดีต ส.ส.เก่งๆ ของพรรคนี้หลายคน ที่ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ ตั้งแต่ คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ และอีกหลายคน ต้องไปนั่งนอกสภา

มีนักวิชาการฟันธงมาแล้วว่า สภาชุดนี้มี ส.ส.ที่มาจากพรรคต่างๆ มากที่สุด ถึง 27 พรรคด้วยกัน

ทุบสถิติสภาเมื่อปี 2518-2519 ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลัง 14 ตุลาฯ 2516 ที่เคยมีพรรคเล็กพรรคน้อยมากมาย

ย้อนกลับไปตรงจุด “เรียกแขก” ก็คือ เกณฑ์เฉลี่ยคะแนนเสียงผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่อ ส.ส. 1 คน คือ 7.1 หมื่่นคะแนน ซึ่งมาจากการนำเอาคะแนนเสียง

ผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด 35 ล้านเสียง มาหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน

ตามหลักสามัญสำนึก พรรคที่จะได้ ส.ส. ควรมีคะแนนรวม 7 หมื่นคะแนนขึ้นไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ในบรรดาพรรคเล็กๆ ที่ได้ ส.ส. 1 คน มีพรรคจำนวนหนึ่งที่ได้คะแนนไม่ถึง 7 หมื่นคะแนน

กกต.อ้างว่าใช้สูตรคำนวณตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีคนแย้งว่า มีเนื้อหาขัดแย้งกัน แต่ กกต.ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และวินิจฉัยออกมาในช่วงเช้าก่อนประกาศชื่อปาร์ตี้ลิสต์แล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

สูตรคำนวณแบบ 26 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์ถ้วนหน้า แม้ว่าบางพรรคคะแนนที่ได้ไม่ถึงเกณฑ์เฉลี่ย 7 หมื่นนี้ ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ เชื่อว่าสาธุชนคงติดตามอ่านข่าวมาเป็นประจำ และพอจะรู้ๆ กันอยู่แล้ว

และด้วยวิธีคำนวณ ส.ส.แบบนี้ ตอนนี้ ขั้วพรรคพลังประชารัฐ บวกกับพรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง มีเสียงรวมอยู่ที่ 200 ต้นๆ คือ 202-203 เสียง

ส่วนขั้วเพื่อไทย กับอนาคตใหม่ มี 240 กว่าเสียง

ตัวแปรอยู่ที่ “ประชาธิปัตย์” หรือ “ปชป.” เจ้าเก่าซึ่งมี ส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 52 เสียงนั่นเอง

52 เสียงของ ปชป. ถ้าไปบวกกับขั้ว พปชร. ก็จะเกิน 250 เสียง หรือครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ไป 2-3 เสียง ประมาณ 253 เสียง ปริ่มๆ

และ 52 เสียงของ ปชป. ถ้าไปบวกกับขั้วเพื่อไทย จะได้ 297 เสียง พ้นน้ำ พ้นจากภาวะปริ่มๆ ไปพอสมควร

แต่ ปชป. เขายืนยันมานานว่ายังไงก็ไม่ร่วมกับเพื่อไทย เพราะไม่เอา “ทักษิณ”

โอกาสของ 297 เสียงจึงยากมาก ส่วนโอกาส 253 เสียงมีมากกว่า

มีมากกว่า เพราะ ส.ส.ปชป.ส่วนหนึ่ง มาจากกลุ่ม “กปปส.” ที่กำนันเทือกนำเป่านกหวีด ก่อนจะเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 นั้นเอง

แต่ก็ยังไม่ 100% เพราะในพรรค ปชป.เอง ยังมี ส.ส.ที่ไม่เอาด้วยกับ กปปส. ไม่เอา “กำนันเทือก” นำโดย ชวน หลีกภัย – บัญญัติ บรรทัดฐาน

กลางเดือนพฤษภาคมนี้ ปชป.จะเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนชุดของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ลาออกไปหลังจากพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

ที่เรียกกันว่า เป็นการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ นั่นเอง

จะเป็นการช่วงชิงกันระหว่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่มี “นายหัวชวน” สนับสนุน กับคู่ต่อสู้ ได้แก่ “กรณ์ จาติกวณิช, อภิรักษ์ โกษะโยธิน และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”

3 คนหลังนี้ มีแบ๊กไม่ธรรมดา และเชื่อมโยงถึงท่าทีในการร่วมรัฐบาล

พูดกันในพรรคว่า ถ้าเลือกจุรินทร์ อาจจะคิดมากหน่อยในการเข้าร่วมรัฐบาล พปชร.

แต่ถ้าเลือก 3 คนหลัง อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถึงตอนนี้ ต้องจับตาดูว่า ปชป.จะเอายังไง จะหนุน “บิ๊กตู่” หรือหยุดตัวเองไว้ในจุดที่ไม่ต้องเปลืองตัวมากกว่านี้

ที่ผ่านมา ปชป.เสียหายยับเยิน สังเกตได้จากผลการเลือกตั้ง ที่แพ้ไปทั่วทุกภาค

ถ้ายังไปหนุนบิ๊กตู่ต่อไปอีก คนในพรรคคงสงสัยว่า คงไม่มีคลองให้เดินถอยหลังลงไปได้อีก

เลยเสนอกันในพรรคและแฟนคลับทั้งหลายว่า ให้ ปชป.อยู่นิ่งๆ แบบ “อิสระ” ไม่หนุนไม่ค้านใคร ฟังดูแปลกๆ ครึ่งน้ำครึ่งบกไปอีกแบบ

แต่มนต์เสน่ห์และแรงกดดันของการเข้าร่วมรัฐบาล พปชร. ก็รุนแรงเย้ายวนเหลือเกิน

ไฮไลต์ของการเมืองสัปดาห์นี้คือ ปชป.จะอยู่ยังไงดี จะเกาะฝ่ายใด จะยึดหลักการไหน เพื่อสร้างความอยู่รอดให้พรรคตนเองและสามารถคัมแบ๊กกลับมาอย่างสง่างามได้ในอนาคต

เป็นโจทย์ที่ยากมากๆ จะแก้ได้แค่ไหน ได้คะแนนหรือโดนโห่ฮา น่าจะได้เห็นกันในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image