โฉมหน้า ‘ฟิลิปปินส์’ หลังเลือกตั้ง เบียดเครือข่ายตระกูลดัง สู่การเมือง ‘ถึงลูกถึงคน’

วัฒนธรรมการเมืองทางประชาธิปไตยสะท้อนผ่านพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเลือกตั้ง ที่มีในทุกประเทศประชาธิปไตยบนโลกใบนี้

“โรดริโก ดูเตอร์เต” หรือ “ดิกอง” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่และสำคัญที่สุดบนเกาะมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ คว้าชัย เตรียมพร้อมกับการรับหน้าที่ประธานาธิบดีต่อจาก เบนิกโน อาคีโน ดูเตอร์เตเองถือว่าเป็นพ่อเมืองดาเวาที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน และขึ้นชื่อในเรื่องการใช้ความรุนแรงเพื่อสยบอาชญากรรมในเมืองใหญ่

เขาเสนอความคิดในการนำโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอกลับมาอีกครั้ง แทนที่การประหารด้วยการฉีดยาเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าอาชญากรรม อีกทั้งยังเสนอให้หน่วยทหารและตำรวจสามารถจับตายเหล่าอาชญากรรมได้ทันที พร้อมกับลิสต์รายชื่อของบรรดาผู้ค้ายาเสพติด

ตั้งแต่การเปิดตัวก็เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ติดตามการเมืองฟิลิปปินส์ จนทำให้อดคิดถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ลงชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันไม่ได้ ด้วยถ้อยคำคล้ายก้าวร้าว ดุดันบวกกับท่าทีตรงไปตรงมา อาจโดนใจบรรดาฮาร์ดคอร์การเมืองหลายคน

Advertisement

ประกอบกับความเบื่อหน่ายของชาวฟิลิปปินส์ต่อผู้นำประเทศที่เป็นเครือข่ายชนชั้นนำสืบทอดอำนาจทางการเมืองมานาน ปรากฏผ่านภาพการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของ มาร์ โรซาส หลานชายของอดีต ปธน. มานูเอล โรซาส

ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การนำของลูกหลานชนชั้นนำหลายปี ตั้งแต่ปี 2544 อดีต ปธน.กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ที่เป็นลูกสาวของอดีต ปธน.ดิออสดาโด มาคาปากัล และนายเบนิกโน อาคีโน ที่เป็นลูกชายของนางคอราซอน อาคีโน อดีต ปธน.

แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสมัยของเบนิกโน แต่ประเด็นเรื่องการทุจริต ความยากจน อาชญากรรม ความไม่เท่าเทียม ฯลฯ ยังมีอยู่อย่างเด่นชัด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์เบือนหน้าจากผู้ดีในเครือข่ายชนชั้นนำตระกูลดัง ไปสู่ตัวบุคคลที่มีแนวโน้มเอาจริงเอาจัง ถึงใจ ดุดัน สไตล์นักเลง

Advertisement

อีกสิ่งที่น่าสนใจในการชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ คือ ในประวัติศาสตร์การเมืองฟิลิปปินส์มีชาวมินดาเนา และเซบูน้อยคนที่จะได้เป็น ปธน. แต่ดูเตอร์เตได้รับชัยชนะในมะนิลาเกือบทั้งหมด เว้นเสียแต่เขตมากาติที่คู่ท้าชิงจากมะนิลาเก็บไป ยังรวมถึงเขตเมืองรอบๆ มะนิลา

ปัญหามากมายรอดูเตอร์เตเข้ามาสะสาง หลังการชูนโยบายซื้อใจชาวปินอยไว้มากมาย แต่ทั้งเรื่องอาชญากรรม ความขัดแย้ง อีกทั้งปัญหาทะเลจีนใต้ที่รออยู่ ดูจะไม่ใช่ของง่ายสำหรับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่

(บน) ดูเตอร์เตกับบัตรเลือกตั้งฟิลิปปินส์ที่ยาวเหยียด เพราะนอกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วชาวฟิลิปปินส์ยังต้องลงคะแนนให้ตำแหน่งอื่นๆ อีกกว่า 18,000 ตำแหน่ง (กลาง) เซลฟี่กับผู้สนับสนุนในเมืองดาเวา ภาพจาก AP (ล่าง) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญ จากซ้าย เจโจร์มา บิเนย์, โรดริโก ดูเตอร์เต, มิเรียม ดีเฟนเซอร์ ซานติเอโก, เกรซ โป และ มานูเอล "มาร์" โรซาส
(บน) ดูเตอร์เตกับบัตรเลือกตั้งฟิลิปปินส์ที่ยาวเหยียด เพราะนอกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วชาวฟิลิปปินส์ยังต้องลงคะแนนให้ตำแหน่งอื่นๆ อีกกว่า 18,000 ตำแหน่ง (กลาง) เซลฟี่กับผู้สนับสนุนในเมืองดาเวา ภาพจาก AP (ล่าง) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนสำคัญ จากซ้าย เจโจร์มา บิเนย์, โรดริโก ดูเตอร์เต, มิเรียม ดีเฟนเซอร์ ซานติเอโก, เกรซ โป และ มานูเอล “มาร์” โรซาส

 

ลีลาแค่น้ำจิ้ม

เป้าหมายคือมุ่งสู่”สหพันธรัฐ”

อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ มองความสำเร็จของดูเตอร์เตว่า เริ่มมาจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีที่เปลี่ยนเมืองที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลกให้กลายเป็นเมืองที่ปลอดภัย ดูเตอร์เตเปลี่ยนเมืองให้คล้ายศาลเตี้ย ถ้ามีการข่มขืนเกิดขึ้น ผู้ต้องหาจะหายไปในวันต่อไป คล้ายนโยบายฆ่าตัดตอน กลุ่มปัญญาชนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนจึงไม่ชอบ โดยเฉพาะวิธีการพูดที่กร่างดูเตอร์เตมีวิธีการพูดที่เอาคนหลายฝ่ายมาเป็นพวกให้หมด กรณีทะเลจีนใต้ เขาบอกว่า “อยากรบ แต่เรามีเงินเหรอ งั้นก็เจรจาก่อน” 
เรื่อง LGBT ที่แมนนี ปาเกียว พูดถึงแล้วโดนโจมตีหนัก ดูเตอร์เตไม่เห็นด้วยแต่บอกว่า “เสียใจกับคนที่มีความหลากหลายด้วย แต่ประเทศนี้ไม่อนุญาตให้แต่งงานกัน” เป็นวิธีการพูดที่เอาคนมาเป็นพวกให้หมด

“นโยบายที่แข็งแกร่งสุด คือเปลี่ยนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ให้เป็น สหพันธรัฐ รณรงค์ว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีกว่า เพราะพื้นที่ในเขตภูมิภาคอื่นๆ นอกกรุงมะนิลาได้รับงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาล เช่น เมืองดาเวา ที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีส่งภาษีเข้ารัฐ 5 ล้านเปโซ แต่รัฐบาลมะนิลาส่งกลับมา 2-3 ล้านเปโซ เขาประกาศว่าเงินภาษีที่จ่ายเข้ารัฐนั้นถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนักการเมืองขี้โกง หลังได้รับเลือกตั้งใน 2 ปี เขาจะขอให้มีการทำประชามติเปลี่ยนเป็นระบอบสหพันธรัฐ โดยมีผู้ให้การสนับสนุนเยอะมาก

“เชื่อว่านโยบายนี้ทำให้เขาชนะเลือกตั้ง เนื่องจากเขตภูมิภาคในชนบทหวังว่าจะมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารตนเองได้ เป็นการกระจายอำนาจไม่ให้กระจุกอยู่ที่รัฐบาลกลางเท่านั้น ส่วนเรื่องการปราบคอร์รัปชั่นและยาเสพติดเป็นน้ำจิ้มเท่านั้น เพราะคนฟิลิปปินส์เองก็ชอบดราม่าเหมือนคนไทย” อัครพงษ์กล่าว

 

(จากซ้าย) โรดริโก ดูเตอร์เต, อัครพงษ์ ค่ำคูณ, กมลพร สอนศรี
(จากซ้าย) โรดริโก ดูเตอร์เต, อัครพงษ์ ค่ำคูณ, กมลพร สอนศรี

 

เด็ดเดี่ยวกินใจคนหมู่มาก

จับตามองปั้นนโยบายให้เป็นจริง

ผศ.ดร.กมลพร สอนศรี คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า โครงสร้างทางการเมืองฟิลิปปินส์ มีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่น่าสนใจคือรองประธานาธิบดีก็มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน จึงสามารถมาจากคนละพรรคได้ แต่โดยปกติปินอยเป็นคนรักชาติ แม้มาจากคนละพรรคก็ร่วมใจกันทำเต็มที่
“ดูเตอร์เตมีนโยบายกินใจคนชั้นกลางลงไปถึงรากหญ้า เป็นนโยบายประชานิยม เขาเป็นชาวเซบู ขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวดาเวา ดูเตอร์เตเป็นผู้นำเด็ดเดี่ยวกินใจคนในประเทศ ให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มมุสลิม เป็นนายกเทศมนตรีที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก เป็นนักเลงพูดจาแข็งกร้าว แต่เมื่อมีแนวโน้มจะได้เป็นประธานาธิบดีก็มีการปรับการแต่งกายและใช้คำพูดอ่อนน้อมลง

“นโยบายสำคัญ คือ สัญญาว่าจะปราบทุจริตคอร์รัปชั่นใน 6 เดือน แต่ดูแล้วท่าจะยาก เพราะเมืองดาเวาเป็นเมืองเล็กแต่ฟิลิปปินส์เป็นหมู่เกาะ นอกจากนี้เขาจะพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคนอกเหนือจากเมืองมะนิลา และจะสนับสนุนแรงงานปินอยในต่างประเทศ”

ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อดูเตอร์เตได้เป็นประธานาธิบดี คือ บุคลิกและท่าทางของดูเตอร์เตมีแนวโน้มการบริหารงานแบบเผด็จการ เป็นที่น่ากังวลสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ อีกทั้งอาจนำการลงโทษประหารชีวิตโดยแขวนคอกลับมาใช้

ประเด็นอื่นที่น่าจับตา คือ การสานสัมพันธ์กับจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทหมู่เกาะสแปรตลี, การเติบโตด้านเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในเอเชีย, การขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมที่น่าจะยาก และการลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะธุรกิจรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ (BPO) เช่น คอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องสานต่อ เพราะทำรายได้ให้ฟิลิปปินส์ค่อนข้างเยอะ

“นโยบายของฟิลิปปินส์กับไทยไม่ต่างกันมาก แต่เขาโดดเด่นเรื่องการเลือกตั้งทุกระดับ และ การขับเคลื่อนด้วยภาคประชาสังคม เขาให้ความสำคัญกับเอ็นจีโอสูงมาก เป็นส่วนสำคัญในการดึงพลังประชาชน และระบบการบริหารแรงงานต่างด้าวฟิลิปปินส์ค่อนข้างดี กระทรวงแรงงานไทยน่าจะเอารูปแบบของฟิลิปปินส์มาเป็นแบบอย่าง” ผศ.ดร.กมลพรกล่าวลงท้าย

ด้าน อัครพงษ์ กล่าวเสริมถึงสิ่งที่ควรเรียนรู้จากฟิลิปปินส์ว่าคือเรื่อง การเชื่อมั่นในประชาชน

“บางคนไม่เข้าใจว่าคนฟิลิปปินส์เลือกคนแบบดูเตอร์เตเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร เราไม่เข้าใจเขา ฟิลิปปินส์เป็นเมืองไม่ปลอดภัย คนนี้มาแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตได้ การันตีจากความสำเร็จในดาเวา

“การเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่เชื่อว่าคนเท่ากัน ในฟิลิปปินส์ทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน และต้องเลือกตั้งทุกระดับ ควรจะทำในประเทศไทยเช่นกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image