ปฏิวัติ”ดิจิตอล”ความตื่นเต้นในรอบร้อยปี

รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล (ดิจิตอลอีโคโนมี)

ซึ่งหลายโครงการจะเริ่มต้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ เช่น การขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไปยังทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสได้เข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจโดยระบุว่าภายในปี 2560 ทั้ง 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศจะต้องใช้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้

“เดือนมิถุนายนนี้จะเริ่มต้นคิกออฟโครงการนำร่องภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเกือบทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประชาชนเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น และถือเป็นความท้าทายของกระทรวงไอซีที เพราะการวางโครงข่ายบรอดแบนด์ไปถึงทุกหมู่บ้าน จากการสำรวจทั้ง 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศพบว่ามีประมาณ 3 หมื่นแห่งเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ใช้เวลาวางโครงข่ายเกือบ 10 ปี ขณะที่โครงการนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ในการลากสายไฟเบอร์ออปติก รวมแล้วกว่า 2 แสนกิโลเมตรไปให้ครบทุกหมู่บ้านที่เหลือ”

Advertisement

การขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องเดินคู่ขนานกันไป

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ, การยกระดับศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนเดิม เป็นศูนย์การเรียนรู้ดิจิตอลชุมชน และการขยายอินเตอร์เน็ตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เป็นต้น

“ปีนี้กับปีหน้าเป็นสองปีแห่งการวางรากฐานของประเทศ โดยทุกโครงการมุ่งไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 การสร้างประเทศไทยในอนาคตที่มั่งคั่งและยั่งยืน ภายใน 20 ปีต่อจากนี้จะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยดิจิตอล”

Advertisement

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีส่วนสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันและในโลกธุรกิจ ไม่ต่างไปจากการก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง แต่จะไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยังรวมไปถึงด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม เรียกว่า ในทุกมิติจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

รัฐมนตรีไอซีทีย้ำว่า ถ้าไม่อยากตกขบวน ประเทศไทยต้องก้าวตามให้ทัน

“ความท้าทายของประเทศไทยเวลานี้คือการปฏิรูปให้ทัน เพราะหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกล้วนมาจากเทคโนโลยีดิจิตอลและไอซีที และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างเมืองใหญ่และชนบทด้วย”

บิ๊กกลุ่มทรู ศุภชัย เจียรวนนท์ ต้นตำรับผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรภายใต้ยุทธศาสตร์ธุรกิจ “คอนเวอร์เจนซ์” ก็คิดคล้ายกัน และว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอลสมบูรณ์แบบจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่พัฒนาไปมาก เช่น ระบบ 4G ทำให้เกิดบริการใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ ที่จะต้องมีความสะดวกมากขึ้น เกิดศักยภาพใหม่ๆ ที่เข้าถึงและตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าเดิม

แต่ขณะเดียวกันก็จะทำลายบริการเดิมๆ และธุรกิจเดิมด้วย

“เมื่อก่อนจะมีบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวเต็มไปหมด แต่ทุกวันนี้เป็นไง ทุกคนออนไลน์ จองตั๋ว จองที่พัก ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้บริษัทห้างร้านต่างๆ รวมทั้งเอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้อยู่ในระบบที่เป็นดิจิตอลแพลตฟอร์มให้ได้ ทั้งการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ, มาร์เก็ตเพลส หรือการมีช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น เป็นต้น”

“บิ๊กกลุ่มทรู” มองว่ายุคดิจิตอลถือเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปีนี้ น่าตื่นเต้นแบบเดียวกับตอนที่มนุษย์สร้างเครื่องบินและเปลี่ยนระบบคมนาคมขนส่งของโลก เดินเข้าสู่โกลบอลไลเซชั่น แต่ยุคนี้เป็น “ซุปเปอร์โกลบอลไลเซชั่น”

เป็นยุคที่พลังสมองนำมาใช้สร้างคุณค่าได้ไม่จำกัด เป็นยุคของมนุษย์สายพันธุ์สตาร์ตอัพ

ในอดีตการสื่อสารจะไม่รวมการส่งต่อ คือต้องไปที่โลจิสติกส์ก่อน แต่เดี๋ยวนี้การเชื่อมต่อดิจิตอลจะรวมการส่งต่อด้วยทั้งคอนเทนต์และโปรดักส์ทิวิตี้ต่างๆ สตาร์ตอัพไม่ต้องมีทุนมาก มีทุนสมองก็สามารถขายดิจิตอลเซอร์วิสต่างๆ ได้แล้ว คนรุ่นนี้จึงจะเป็นรุ่นที่สามารถถ่ายทอดพลังสร้างสรรค์ได้สูงสุด

“คนรุ่นผมไปอเมริกาจะติดต่อกลับบ้านต้องเขียนจดหมาย เพราะโทรศัพท์แพงมาก ไม่มีทางเห็นหน้ากัน ไม่มีสไกป์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต อยากแปลศัพท์ภาษาอังกฤษต้องเปิดดิกเล่มเบ้อเร่อ แต่ยุคนี้การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ สมบูรณ์แบบ และจะสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มีการส่งต่อ และทำลายของเก่าที่สู้ไม่ได้ มาถึงจุดที่มีข้อมูลมหาศาลก็จะอยู่ที่ว่า ใครตีความข้อมูลได้ดีกว่ากัน”

ในจังหวะที่โลกเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าตลอดเวลา ใช่หรือไม่ว่า แค่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ก็เท่ากับเดินถอยหลังแล้ว ถ้าอยากสร้างคุณค่าและเติบโตอย่างยั่งยืนต้องไม่หยุดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image