เดินไปในเงาฝัน : หากโลกขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

พลันไปอ่านเจอบทความของ “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเขียนถึงเรื่อง “Internet of Everything” หรือ “อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง” จึงทำให้เกิดความน่าสนใจ
จนอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

ซึ่งมีทั้งหมด 2 เรื่องด้วยกัน แต่อยู่ในบทความเดียวกัน

เรื่องแรก “อภิวุฒิ” เขียนบอกไว้ดังนี้…ผมเดินทางโดยสายการบินของตะวันออกกลางแห่งหนึ่ง แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในเมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่นี่ทางการอเมริกาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศของเขา สามารถผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองได้เลย โดยไม่ต้องไปทำเมื่อถึงจุดหมาย ส่วนหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวก อีกส่วนเป็นการลดความแออัดที่สนามบินปลายทางด้วย

ผมและครอบครัวเข้าคิวตามปกติเพื่อตรวจลงตราพาสปอร์ต ไม่มีช่องทางพิเศษใดๆ สำหรับ VIP หรือผู้โดยสารที่เดินทางชั้นธุรกิจหรือชั้นหนึ่ง ทุกคนเท่ากันหมด เมื่อถึงคิว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นคนอเมริกันขอพาสปอร์ตไปทั้งครอบครัว

Advertisement

แต่ยังไม่ทันได้เปิดดู จากนั้นขอให้พวกเราถ่ายรูปทีละคน เมื่อกล้องจับภาพได้ ก็สแกนหาข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ทันที ระบบสามารถระบุได้เลยว่าเราคือใคร ชื่อเรียงเสียงใด เข้าประเทศมากี่ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดมาเมื่อไรกับใคร ฯลฯ เป็นเทคโนโลยีการจดจำหน้า (Facial Recognition) เหมือนที่เฟซบุ๊กใช้ในการจำเราและเพื่อนๆ เมื่อ upload รูปภาพขึ้นไป ระบบจะถามทันทีว่าอยาก Tag บุคคลที่อยู่ในภาพด้วยหรือไม่ โดยระบุชื่อได้ถูกต้องเกือบ 100%

หากทุกอย่างปกติดี เจ้าหน้าที่จะหยิบพาสปอร์ตตามชื่อที่ระบบระบุขึ้นมาประทับตรา เสร็จแล้วก็นำบัตรโดยสาร (Boarding Pass) ไปสแกนที่อุปกรณ์อีกตัวหนึ่ง ไม่นานนักกระเป๋าเดินทางของเรา ซึ่งรอต่อเครื่องอยู่บริเวณที่ขนถ่ายสัมภาระ (Cargo Area) ในสนามบินด้านล่างก็ปรากฏขึ้นบนหน้าจอมอนิเตอร์
เจ้าหน้าที่ถามว่าใช่กระเป๋าของคุณไหม ?

มีอะไรบรรจุอยู่ในนั้นบ้าง ?

Advertisement

และหากจำเป็นต้องมีการเปิดกระเป๋า ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านล่างทำการเปิดกระเป๋า แล้วให้เรายืนดูเป็นสักขีพยานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องกระดิกตัวไปไหน หรือเดินไปที่กระเป๋าให้เสียเวลา

ส่วนเรื่องที่สอง “อภิวุฒิ” เขียนเล่าบอกว่าตอนที่ลูกสาวเรียนจบปริญญาตรี เธออยากสมัครงานในอเมริกา เพราะอยากลองหาประสบการณ์สักปีสองปีก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท การเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน (Resume) ที่นี่นิยมเขียนสั้นๆ เพียงแค่ 1 หน้า แล้วจะมีจดหมายนำส่ง (Cover Letter) อีกหนึ่งแผ่น เป็นอันเสร็จพิธี ไม่ต้องอารัมภบทนาน

เอกสารสมัครงานจะถูกคัดกรอง (Screen) โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้น การเขียนต้องมีเทคนิคพอสมควร เพราะถ้าเขียนวกไปวนมา หรือเขียนแกรมม่าผิดๆ ถูกๆ คอมพิวเตอร์อ่านไม่รู้เรื่อง เป็นอันว่าใบสมัครนั้นถูกคัดทิ้งทันที

สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อระบบอ่านข้อมูลของผู้สมัครแล้ว จะไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในแหล่งข้อมูลสาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instragram, Tweeter และ LinkedIn เป็นต้น

ทั้งนั้น เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ระบุในใบสมัครกับข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไปว่าตรงหรือต่างกัน และมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุในใบสมัครอีกหรือไม่

จากนั้นหากใบสมัครผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น จะมีอีเมล์ส่งออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง เพื่อนัดหมายให้สัมภาษณ์กับหุ่นยนต์ (Robot) ผ่านทางช่องทางอินเตอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเดินทางหรือไปเจอตัวให้วุ่นวาย

การสัมภาษณ์เบื้องต้นใช้เวลา 15 นาที เป็นการพูดคุยระหว่างคนกับหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ ระหว่างการสัมภาษณ์นอกจากระบบจะวิเคราะห์คำตอบของผู้สมัครแล้ว ยังตรวจสอบคุณสมบัติอื่นๆ ไปในตัวด้วย เช่น บุคลิก, การแต่งกาย, หน้าตา, ภาษาท่าทาง ฯลฯ

หลังสัมภาษณ์เสร็จ ระบบจะแจ้งผลให้ทราบทันทีว่าผ่าน หรือไม่ผ่าน และมีข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ให้ด้วยว่าระหว่างการสนทนา ตรงไหนที่ทำได้ดี และตรงไหนที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม เด็กๆ ชอบมาก เพราะถึงแม้จะไม่ได้ไปต่อ แต่ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด เพื่อนำมาปรับปรุงสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย

เพราะหากผ่านรอบนี้ไปได้ ถึงจะมีโอกาสเจอคนจริงๆ แต่ถ้าตกรอบคัดเลือก ก็จะได้คุยกับเครื่องเท่านั้น

ผมไม่ทราบว่าผู้อ่านๆ แล้วรู้สึกอย่างไร แต่สำหรับผม, รู้สึกว่าโลกของเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมๆ ของตัวเราอย่างสิ้นเชิง

มองในแง่ดี ผมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

แต่ถ้ามองในแง่ร้าย การที่โลกของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในการตรวจสอบการเดินทางเข้า-ออกประเทศของนักท่องเที่ยวแทนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองนับว่าเป็นการเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

เพราะอย่าลืมว่าโลกของเทคโนโลยีย่อมถูกหักล้างด้วยโลกของเทคโนโลยีเช่นกัน

ฝ่ายหนึ่งประดิษฐ์ ก็ย่อมมีอีกฝ่ายหนึ่งทำลาย

ลักษณะคล้ายเกลือจิ้มเกลือ

เฉกเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์งานกับหุ่นยนต์ แม้ผู้คิดค้นโปรแกรมจะออกแบบในการดักทุกทางเกี่ยวกับคำถาม-คำตอบของผู้สมัครงานเพื่อทำการคัดสรรพนักงานให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด

แต่ผมยังมีความเชื่อว่าน่าจะมีช่องโหว่อยู่บ้าง เพราะหุ่นยนต์กับมนุษย์ยังไงก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้สึกแรกสัมผัสว่าคนนี้ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ที่จะเป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ

ซึ่งผมไม่อยากใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงในบทความชิ้นนี้มากเกินไป

เพียงแค่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังว่าโลกของเราตอนนี้พัฒนาไปไกลมาก และเชื่อแน่ว่าอีกไม่กี่ปีเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ

ลองอ่านดูนะครับ

และลองพิจารณาดูว่าเราจะปรับตัวอยู่กับโลกใบนี้อย่างไร? ต่อไป?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image