“กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล นักสร้าง “สตาร์ตอัพ” ธุรกิจเปลี่ยนโลก

นับเป็นอีกรูปแบบธุรกิจที่ทวีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต สำหรับ “สตาร์ตอัพ” (Startup) ธุรกิจเริ่มต้นที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ที่ปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย “สตาร์ตอัพ” เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการเปิดโรงเรียนเพื่อผลิตผู้ประกอบการและมีการก่อตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพโดยเฉพาะขึ้น

มีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในผู้ผลักดัน สตาร์ตอัพประเทศไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก อย่าง “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล

บุคคลต้นแบบที่คนในวงการตั้งฉายาให้เป็น“ก็อดฟาเธอร์ของไทยสตาร์ตอัพ” ผู้ก่อตั้ง Disrupt University โรงเรียนบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ต อัพ และกองทุน 500 TukTuks กองทุนร่วมลงทุนของกลุ่ม 500 สตาร์ตอัพ จาก ซิลิคอน แวลลีย์ สหรัฐอเมริกา

Advertisement

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ชีวิตของ “เรืองโรจน์ พูนผล” ต้องผ่านบททดสอบมากมาย

เกิดวันที่ 19 สิงหาคม 2520 ที่จังหวัดกำแพงเพชร เด็กชายเรืองโรจน์ แรกคลอดเป็นเด็กตัวเล็ก ต้องเข้าตู้อบ แม่อยากให้แข็งแรงเลยตั้งชื่อว่า “กระทิง”

เรืองโรจน์ เป็นเด็กธรรมดาที่เรียนไม่เก่ง เพราะเป็นคนตัวเล็กแล้วยังเข้าเรียนเร็ว ทำให้เขาเป็นเด็กไม่มั่นใจในตัวเอง เข้าสังคมไม่เก่ง ตอนอยู่ชั้นประถมโรงเรียนวัดคูยาง ได้รับรางวัลอ่านร้อยแก้วที่ 2 ของจังหวัด เริ่มรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเริ่มรู้ตัวว่าชอบวิชาวิทยาศาสตร์

Advertisement

“ตอนนั้นมีการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิก พอเราพูดว่าอยากได้ที่ 1 ของประเทศ ก็มีแรงเสียดทานจากหลายคน เสียงดูถูกเยอะมาก เพราะจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดเล็กๆ ความฝันสูงสุดของเด็กในสมัยนั้นคือได้โควต้าเรียนต่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันเลย พอถูกดูถูกผมก็พยายามทำทุกอย่างเต็มที่”

จากเด็กธรรมดาอาศัยความพยายามสุดท้ายก็ได้เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิก เหรียญทองแดงคณิตศาสตร์โอลิมปิก และได้ที่ 3 ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ตอนเรียน ม.5 โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ยังสอบติดแพทย์ศิริราช แต่ไม่ได้เรียนเพราะกลัวผี กลัวเลือด เลยตัดสินใจเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาได้

จุดเปลี่ยนของชีวิตเรืองโรจน์ เกิดขึ้นตอนทำงานที่บริษัทในเครือพีแอนด์จี แล้วได้รู้จัก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่จบจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา เป็นลูกศิษย์ของ ฟิลิป คอตเลอร์ ซึ่งเป็นเหมือนบิดาด้านการตลาดโลก คิดว่าเขาเท่มาก อยากเป็นเหมือนเขา ก็เลยไปเรียนการตลาด หลักสูตรอินเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอเรียนจบก็ได้ทำงานฝ่ายขายและการตลาดของพีแอนด์จี

จนถึงจุดหนึ่ง กระทิงเริ่มรู้สึกอิ่มตัว เป็นจังหวะเดียวกับที่อินเตอร์เน็ตเข้ามา

“ผมรู้สึกว่าอินเตอร์เน็ตจะเป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ตอนนั้นมี Yahoo เป็นฮีโร่ของโลกอินเตอร์เน็ตสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้านเหรียญได้ในชั่วพริบตา คือมันเป็นอะไรที่มันเท่มาก นักศึกษา 2 คนที่เรียนไม่จบออกมาก่อตั้ง Yahoo มันเป็นการเปลี่ยนชีวิตคนธรรมดาให้สามารถสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ผมเลยอยากไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน”

เรืองโรจน์ จึงปักหมุดเป้าหมายต่อไปไว้ที่ศูนย์กลางของนวัตกรรมโลกอย่าง “ซิลิคอน แวลลีย์” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ Google, Yahoo, Instagram บริษัทด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งหมดอยู่ที่นี่และจบจากที่โรงเรียนบริหารธุรกิจสแตนฟอร์ด พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เข้าเรียนที่นี่

“แต่ติดปัญหาทั้งภาษาอังกฤษ และค่าเทอมประมาณ 4 ล้านกว่าบาท ผมเป็นคนธรรมดา มีเงินไปเรียนได้แค่เทอมเดียวเลยสมัครขอทุนการศึกษาและทำงานพิเศษไปด้วย โชคดีที่ได้ไปฝึกงานที่บริษัทแมคแคนซี่ ซึ่งเป็นบริษัทรับปรึกษาทางด้านกลยุทธ์อันดับหนึ่งของโลก ทำให้เรามีรายได้พอที่จะเรียนจนจบ”

ซึ่งการได้มาเรียนที่สแตนฟอร์ดเป็นการเปิดมุมมองความคิดใหม่เกี่ยวกับสตาร์ตอัพ

เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วันนี้ “กระทิง” เลือกสนับสนุนและก่อตั้งโรงเรียน “สตาร์ตอัพ” ในประเทศไทย

ได้รับอะไรจากการเรียนที่สแตนฟอร์ด?

ตอนนั้นมีวิชาหนึ่งมี อีริค ชมิดท์ ประธานกรรมการบริหารของ Google และ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มาสอนแต่ตอนนั้น Facebook ยังไม่โต แต่เราเห็น Google แล้วเชื่อว่ามันจะเป็นบริษัทที่เปลี่ยนแปลงโลก คิดว่านี่แหละเป็นบริษัทที่เราอยากจะทำงานด้วย เลยสมัครงานผ่านกระบวนการคัดเลือก 9 รอบสุดท้ายก็ได้ทำงานที่ Google สำนักงานใหญ่ ที่ซิลิคอน แวลลีย์ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดูแลทวีปเอเชียและละตินอเมริกา หลักๆ จะดูตลาดจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ทำงานได้ 7 ปีเริ่มรู้สึกอิ่มตัว ประกอบกับช่วงที่อยู่อเมริกา 7 ปี เราเสียญาติสนิทรวมถึงพี่สาว 4 คน แล้วเราไม่สามารถกลับมาทันทั้งหมดเลย จนถึงตอนคุณอา ที่เป็นคนดูแลเราเหมือนพ่อคนที่ 2 ป่วยเป็นมะเร็งตับ เราได้เห็นวินาทีสุดท้ายของท่านเป็นความรู้สึกที่เราเเลกกับอะไรไม่ได้แล้วคุณพ่อคุณแม่เราก็อายุมากแล้วกำลังจะเกษียณอายุ คุณแม่ก็ป่วยเป็นโรคหอบหืดคุณพ่อก็มีโรคเกี่ยวกับตับเป็นกรรมพันธุ์ของที่บ้าน เลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมาประเทศไทย

ทำไมสนใจสตาร์ตอัพและเลือกเปิดสอนในประเทศไทย?

จริงๆ สนใจสตาร์ตอัพตั้งแต่ตอนที่อินเตอร์เน็ตเข้ามาในประเทศไทย ผมมองว่าสตาร์ตอัพเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก คนธรรมดา เริ่มต้นจากศูนย์ สามารถใช้เทคโนโลยีมาเปิดบริษัทที่เปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างรวดเร็ว

ผมคิดว่าสตาร์ตอัพจะเป็นคำตอบหนึ่งของประเทศไทยในแข่งขันบนเวทีโลก ก่อนจะไปเรียนที่สแตนฟอร์ดเรายังมองไม่ชัดเท่าไหร่ พอได้มาอยู่ในที่ที่ผลิตสตาร์ตอัพจำนวนมาก บรรยากาศเหล่านั้นหลอมให้เราเห็นชัดว่าจะต้องทำอะไรเกี่ยวกับสตาร์ตอัพที่ประเทศไทย พอตกผลึกแล้วเราก็มาเปิดโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับสตาร์ตอัพ

TNS_3493

เริ่มทำธุรกิจสตาร์ตอัพยากไหม?

ยากมากครับ ตอนกลับมาไทยปี 2555 วงการสตาร์ตอัพไทยเพิ่งเริ่มต้น เปิดสอน 1 ปี 4 รุ่น ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนผ่านไป 2 ปีถึงเริ่มเห็นผล เริ่มมีตัวอย่างสตาร์ตอัพดีๆ ให้เห็นเพิ่มขึ้น เลยสร้างโครงการเร่งเครื่อง ด้วยการเปิดกองทุน 500 TukTuks เป็นกองทุนร่วมทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตอล ฟันด์ โดยการสนับสนุนจากซิลิคอน แวลลีย์ และนักลงทุนมากมาย เช่น ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ จากเถ้าแก่น้อย, โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ผู้บริหารบริษัท ดั๊บเบิลเอ และอีกมากมาย ลงทุนไปแล้ว 20 บริษัทสตาร์ตอัพ และมีการวางแผนที่จะลงทุนทั้งหมด 48 บริษัทในปีหน้า

สตาร์ตอัพเหมาะกับประเทศไทยอย่างไร?

ประเทศไทยเรามีทศวรรษที่หายไป เราตามหลังประเทศอื่นเยอะมาก การที่เราจะก้าวกระโดดทางธุรกิจได้ สตาร์ตอัพคือคำตอบ เพราะการที่คนธรรมดาจะก้าวกระโดดด้วยการเริ่มทำธุรกิจใหญ่โตมีรายละเอียดเยอะ เช่น เปิดโรงแรม อะไรแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้ แต่ธุรกิจสตาร์ตอัพต้นทุนมันคือสมองกับกำลังกาย อาจจะเพิ่มความบ้าและความอึดเข้าไป

ปัจจุบันสตาร์ตอัพไทยเริ่มอยู่ในเรดาร์ระดับโลกแล้วแต่ก่อนไม่ได้อยู่ในเรดาร์แต่ตอนนี้มันเริ่มขึ้นมาแล้ว ผมก็รู้สึกดีใจที่มันมาในทิศทางที่ถูกต้อง

สตาร์ตอัพคืออะไร ต่างจากเอสเอ็มอีหรือเปล่า?

ความจริงแล้วสตาร์ตอัพ คือ เอสเอ็มอีประเภทหนึ่ง แต่เป็นเอสเอ็มอีที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะต้องมีเทคโนโลยีมาช่วย และมีความเสี่ยงมากกว่าเอสเอ็มอี

แล้วสตาร์ตอัพเป็นธุรกิจเปิดใหม่ที่สามารถขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว เป็นการหาสูตรแล้วใช้เทคโนโลยีทำสูตรแบบซ้ำๆ บางธุรกิจอาจจะดูเหมือนไม่ได้เป็นสตาร์ตอัพแต่ความจริงแล้วใช่ เช่น เครื่องสำอาง อิปซี่ (Ipsy) สิ่งที่เขาทำคือเปิดเว็บไซต์ให้เราเข้าไปใส่โปรไฟล์ ให้เราเลือกว่าเราเป็นคนหน้าตายังไง แล้วจ่ายรายเดือนเดือนละ 300 บาท แล้วเขาจะส่งตัวอย่างเครื่องสำอางที่เหมาะกับเราเดือนละ 5 ชิ้น มาให้ทดลองใช้ถ้าชอบตัวไหนค่อยซื้อ นิสัยผู้หญิงส่วนใหญ่อยากได้เครื่องสำอางใหม่และชอบทดลอง แล้วเครื่องสำอางที่ส่งมาถูกจัดเลือกให้โดย มิเชล ฟาน ซึ่งเป็น ยูทูบ เซเลบิวตี้ บิวตี้ทางด้านการแต่งหน้าระดับโลกมียอดวิวสูงกว่า 40 ล้านวิว

กรณีนี้หลักๆ เป็นการใช้เทคโนโลยี คือเว็บไซต์ รวมกับเทคนิคการเลือกเครื่องสำอาง ผลคือนอกจากเครื่องสำอางสตาร์ตอัพจะแจกสินค้าตรงกลุ่มเป้าหมายแล้ว ลูกค้าที่ได้รับสินค้าทดลองแล้วชอบก็มาสั่งเพิ่มทำให้เขาได้ลูกค้าใหม่ แล้วยังเกิดกระแสบอกต่อด้วย ซึ่งปกติการแจกตัวอย่างสินค้าทดลองประเภทเครื่องสำอาง กลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิง แต่บริษัทอื่นเวลาแจกไม่ตรงตามเป้าหมาย เน้นแจกให้เร็วที่สุดให้หมดเร็วๆ บางทีผู้หญิงแก่ๆ หรือผู้ชายก็ได้รับแจกด้วย

มันเป็นการมองเห็นปัญหาบางอย่างแล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ถ้าพูดตรงๆ เด็กมัธยมก็สามารถทำเว็บไซต์แบบนี้ได้แล้ว เพราะสิ่งสำคัญคือไอเดีย นี่แหละคือ สตาร์ตอัพ

หัวใจของสตาร์ตอัพคืออะไร?

คือการสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถทำซ้ำได้แล้วขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว หลายครั้งมันเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยี พอเราเจอสูตรหรือปัญหาแล้วเอาเทคโนโลยีมาทำซ้ำไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

นอกจากจะหาสูตรให้เจอทัศนคติก็สำคัญ ทุกคนที่ทำงานจะต้องมีทัศนคติแบบผู้ร่วมก่อตั้ง คนทำงานสตาร์ตอัพห้ามมีทัศนคติแบบลูกจ้าง ต้องยอมทำงานเยี่ยงควายรายได้ไม่ดี แล้วไปมีอนาคตร่วมกันข้างหน้า

แล้วต้องมีความกระหายที่จะทำงาน ไม่กลัวความล้มเหลว จริงๆ สตาร์ตอัพเริ่มจากศูนย์อยู่แล้วมันไม่มีอะไรจะเสีย ล้มเหลวก็แค่เริ่มต้นใหม่ สตาร์ตอัพต้องอึดต้องเหมือนแมลงสาบห้ามตาย

สำหรับคนที่อยากเป็นสตาร์ตอัพ คุณสมบัติแรกที่ต้องมีคืออะไร?

คุณสมบัติแรกคือแพสชั่น (passion) จะต้องมีความชอบ ความหลงใหล ความกระตือรือร้น ก่อนเป็นอันดับแรกนำหน้าความเป็นครีเอทีฟ เหนือกว่าทุกอย่างเลย อย่างผู้ก่อตั้งชุดชั้นในสแปงซ์ เขาเคยขายเครื่องแฟกซ์มาก่อน แล้วตอนที่ต้องจดทะเบียนสิทธิบัตร ไม่มีเงินจ้างทนายเลยเข้าร้านหนังสืออ่านหนังสือเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิบัตร แล้วแอบฉีกแบบฟอร์มในหนังสือออกมาเขียน เขามีความมุ่งมั่นมากถึงขนาดไปใส่ชุดการ์ตูนเต้นตามสวนสนุกเพื่อหาเงินมาทำสตาร์ตอัพ

ดังนั้น คนอยากทำสตาร์ตอัพต้องถามตัวคุณเองก่อนว่าคุณมีแพสชั่นขนาดนี้หรือเปล่า ทำอะไรที่มันน่าอาย เพื่อที่จะทำสตาร์ตอัพได้ไหม แล้วคำตอบหลายคนอาจจะบอกว่าใช่ แต่ความจริงคุณโกหกตัวเองหรือเปล่า การทำสตาร์ตอัพมันเหมือนกับการกระโดดลงเหว แล้วมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่คุณจะต้องประกอบมันให้เสร็จก่อนจะตกถึงพื้น นี่คือสตาร์ตอัพ คนทำสตาร์ตอัพทั่วโลกประสบความสำเร็จจริงๆ ไม่มาก เพราะมันคือสตาร์ตดาวน์ 90 เปอร์เซ็นต์ สตาร์ตอัพจริงๆ แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกคนคิดเหมือนกันหมดว่าวันหนึ่งอยากจะเป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก คนต่อไป วันหนึ่งจะขึ้นปกนิตยสาร ลงหนังสือพิมพ์ คือคนมองเห็นแต่ด้านที่มันสำเร็จแล้วซึ่งมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะเป็นสตาร์ตอัพ หลายคนอาจจะเหมาะกับการเป็นพนักงานของสตาร์ตอัพ หลายคนเหมาะกับการเป็นเอสเอ็มอีที่ความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น เปิดร้านกาแฟ เราสามารถรู้ต้นทุนแทบทุกอย่าง แล้วสามารถคำนวณราคา กำไรต่อหน่วยได้ ต่างจากสตาร์ตอัพที่ไม่มีความแน่นอนเลย คุณไม่รู้เลยว่าลูกค้าจะเป็นใคร สินค้าจะเป็นอะไร จะโตได้แค่ไหนแล้วมีความเสี่ยงมาก

สตาร์ตอัพในประเทศไทยต้องระวังอะไรบ้าง?

สิ่งที่น่ากลัวคือมันจะเกิดฟองสบู่ ซึ่งมี 2 สาเหตุ คือ

1.ทุกคนใช้สตาร์ตอัพกันหมดโดยไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง คิดแค่ว่าสตาร์ตอัพมันเร็ว มันเท่ มันเซ็กซี่ เลยเอามาใช้หมดทุกเรื่อง แม้กระทั่งขายตรงเดียวนี้ก็เอาคำว่าสตาร์ตอัพมาใช้ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ มันคือการขายตรง สิ่งที่เกิดตามมาคือการดึงคนที่ไม่ควรเป็นสตาร์ตอัพและไม่เข้าใจว่า

สตาร์ตอัพคืออะไรมาทำสตาร์ตอัพ แล้วจะเกิดเงินสนับสนุนที่ไม่ถูกต้อง คือเห็นธุรกิจนี้กำลังดีก็เข้ามาลงทุนเยอะ พอมีเงินทุนเข้ามามากเกิน สิ่งที่เกิดตามมาคือสตาร์ตอัพโง่ๆ ที่ไม่ควรได้รับเงินสนับสนุนก็ได้รับเงินมาแล้วโดยไม่เข้าใจวิธีสตาร์ตอัพ แล้วทำให้เกิดตลาดสปอย ส่งผลให้ตลาดเสียฟองสบู่แตกทุกคนตายหมด นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น และน่ากังวล

2.จะเกิดโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการที่มันไม่ดีออกมา โครงการเหล่านี้มีผลเยอะมากเพราะมันคือการให้คำปรึกษา แล้วสตาร์ตอัพต้องการที่ปรึกษา ทีนี้พอเรามีที่ปรึกษาที่ไม่ประสบความสำเร็จมาสอน ก็เหมือนตาบอดจูงคนตาบอด

ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ควรจะทำในตอนนี้ไม่ใช่เร่งให้มีจำนวนสตาร์ตอัพออกมามากๆ แต่ต้องเน้นการสร้างรากฐานให้มั่นคง แข็งแกร่ง ส่วนที่ปรึกษาบางคนที่แสวงหาผลประโยชน์ เช่น ถ้าระดมทุนได้ต้องมีส่วนแบ่งให้ที่ปรึกษา 10 เปอร์เซ็นต์ ผมว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้ เพราะคนที่จะเป็นที่ปรึกษาต้องทำด้วยความชอบ

แม้จะมีฟองสบู่หรืออะไรก็ตามผมก็จะสนับสนุนสตาร์ตอัพต่อไป เพราะมันคือความฝันของผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image