แท็งก์ความคิด : ฟังเบอร์ลินฯ วินด์ส

วงเบอร์ลินฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา เป็นวงออเคสตราระดับโลก

นักดนตรีในวงเบอร์ลินฯ เฉพาะเครื่องเป่า 8 คน รวมกับนักดับเบิ้ลเบส 1 คน รวมตัวกันเป็น วงเบอร์ลิน ฟีลฮาร์โมนิก วินด์ส

กลายเป็นวงเครื่องเป่าระดับโลกเช่นเดียวกัน

วงเครื่องเป่า 8 คนนี้มีโอโบ 2 ตัว คลาริเนต 2 ตัว บาสซูน 2 ตัว เฟรนช์ ฮอร์น 2 ตัว

Advertisement

และดับเบิ้ลเบส 1 ตัว

ทั้งหมดเดินทางมาประเทศไทย และเปิดการแสดงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อสัปดาห์ก่อน

นักดนตรีระดับโลกบรรเลงบทเพลงในหอประชุมที่มีระบบเสียงระดับโลก

Advertisement

ด้วยเพลงที่ผู้ประพันธ์เพลงระดับโลก อย่าง โวล์ฟกัง อะมาดิอุส โมสาร์ต ชาวออสเตรีย และ ฟรานซ์ คลอมเมอร์ ชาวเช็ก

แหม พลาดไม่ได้

นักดนตรีที่มาแสดงในวันนั้นนำโดย คริสตอฟ ฮอร์ตแมน (Christoph Hartmann) นักโอโบประจำวงเบอร์ลินฯ

เพื่อนร่วมวงที่มาด้วย ได้แก่ Andreas Wittmann นักโอโบ Walter Seyfarth นักคลาริเนต

Gerti Frank นักคลาริเนต Andrej Zust นักฮอร์น Fergus McWilliam นักฮอร์น

Martin Kuuskmann นักบาสซูน Vaclav Vonasek นักบาสซูน

และ Janusz Widzyk มือดับเบิ้ลเบส

ส่วนเพลงที่ได้ฟังกันในวันนั้น คือ โอเวอร์เจอร์ โคซี แฟน ตูตุ๊ด (Cosi fan tute Overture) ของโมสาร์ต

บทเพลง Octed Op.57 ของ ฟรานซ์ คลอมเมอร์ (Franz Krommer) นักประพันธ์ชาวเช็ก

ฟรานซ์ คลอมเมอร์ นี่ไม่ธรรมดานะ

เขาเกิดในยุคใกล้เคียงกับ ลุกวิจ ฟาน บีโธเฟน และเป็นนักประพันธ์ดนตรีที่เทียบชั้นกับ Haydn

Haydn มีชื่อเรื่องสตริง ควอเต็ต ใช่ไหม?…ฟรานซ์ คลอมเมอร์ ก็มีชื่อเรื่อง “ฮาร์โมนี” ไม่ใช่น้อย

และจัดอยู่ในกลุ่มแคนดิเดตกับบีโธเฟนนี่ด้วย

ส่วนบทเพลงสุดท้าย คือ Serenade C minor KV 388 for wind Octet จากฝีมือการประพันธ์ของโมสาร์ต

ความสนุกของวงเครื่องเป่า 8 ชิ้นอยู่ที่การบรรเลงที่มีความหลากหลาย

ทั้งโซโล ทั้งตอบโต้ ทั้งสอดรับ และอื่นๆ

ในจำนวนเครื่องเป่าทั้งหมด ต้องแบ่งหน้าที่กันว่าจะทำหน้าที่อะไร

ปกติเครื่องเป่าจะถ่ายทอดทำนองในวงออเคสตรา แต่เมื่อมาอยู่กันเอง

เครื่องเป่าต้องมาแบ่งว่าใครจะทำหน้าที่ทดแทนเครื่องเล่นอื่นที่วงเครื่องเป่าไม่มี

ยกตัวอย่างเช่น การเคาะจังหวะ

…น่าสงสัยว่าไม่มีกลองแล้วจะใช้เครื่องเป่าตัวไหนแทนได้หากต้องการ

แล้วบทเพลงของฟรานซ์ก็ไขคำตอบให้หายสงสัย โดยเฉพาะมูฟเมนต์ที่ 3 ได้ยินชัด

บาสซูนนั่นเองที่เน้นย้ำจังหวะในการบรรเลง…ไม่มีเครื่องเคาะก็ใช้เครื่องเป่านี่แหละทำหน้าที่แทน

ส่วนบทเพลงที่เคยใช้วงออเคสตราบรรเลง อย่างบทเพลงโอเวอร์เจอร์ โคซี่ฯ นั้น

อาจจะรับอรรถรสได้ไม่ครบถ้วนเท่าฟังออเคสตราบรรเลง

แต่เมื่อมีการเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้เหมาะกับวงเป่า เสียงที่ได้ยินก็ถือว่าไม่เลวเลย

ทั้งตอนเริ่มต้นที่กระแทกคอร์ด ทั้งช่วงตอกย้ำโน้ตแทนชื่อเรื่อง Co-si-fan-tu-te

ทั้งช่วงไหลลื่นรวดเร็ว และการลื่นไหลของทำนอง

ทุกอย่างวงเครื่องเป่าทำได้…

ขณะที่บทเพลง Serenade ของโมสาร์ต ที่ประพันธ์เพื่อวงเครื่องเป่าอยู่แล้ว

ทั้งท่อนแรก จังหวะเร็ว ท่อนที่สอง จังหวะช้า

ท่อนที่สามใส่ลูกเล่นเป็นแคนอน (Canon) เข้าไป

รวมไปถึงท่อนที่สี่ที่เติมแต่งความคิดสร้างสรรค์ด้วย ธีม แอนด์ แวริเอชั่น (Theme and Veriantions)

นำทำนองแรกที่เสนอในช่วงต้นไปแปรผันดัดแปลงกัน 7 ครั้ง 8 ครั้ง

ฟังแล้วมหัศจรรย์ !

ดูวงเครื่องเป่าบรรเลงแล้วได้คิดนั่นคิดนี่

ได้คิดว่า โลกใบนี้อาจจะมีความสมบูรณ์ที่สุด แต่ส่วนใหญ่เราจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สมบูรณ์

เพราะชีวิตทุกวันล้วนมีข้อจำกัด ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ดังใจ

แต่เราก็ยังสามารถทำงาน เรียนหนังสือ และทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เต็มที่

แม้ชีวิตจะไม่อลังการเหมือนวงออเคสตราที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องดนตรีนานาชาติ

แม้ชีวิตจะเป็นแค่วงทริโอ คือ มีเครื่องดนตรี 3 ชิ้น

หรือเป็นวงควอเต็ต คือ มีเครื่องดนตรี 4 ชิ้น

หรือมีเครื่องดนตรี 5 ชิ้น 6 ชิ้น 7 ชิ้น

รวมทั้งเป็นแบบวงเบอร์ลิน ฟีลฮาร์โมนิก วินด์ส ที่เป็นอ๊อคเต็ต คือมีเครื่องดนตรี 8 ชิ้น

แต่ทุกๆ วงก็สามารถหาจุดเด่นในข้อจำกัดที่ตัวเองมีได้

ไปฟังดนตรีครั้งนี้ นอกจากความรู้ที่ได้จากสูจิบัตรที่บรรยายบอกกล่าว

และความสุนทรีอันเกิดจากบทเพลงที่นักดนตรีขับกล่อมแล้ว

พอไปสัมผัสบรรยากาศ ได้เห็นความเป็นไปเบื้องหน้า

ดนตรีก็บันดาลให้ได้ไอเดียอยู่เนืองๆ

เหมือนดั่งคราวนี้ที่ประทับใจความสมบูรณ์ในข้อจำกัด

ประทับใจในสิ่งที่เราเป็น ประทับใจในสิ่งที่เรามี

มีอย่างเพียงพอ มีอย่างพอเพียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image